สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของแบงค์ชาติ

จากสำนักข่าวอิสรา

teerachai

 

มีข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์วันที่ 7 ตุลาคม 2556 ว่านายอำพน กิตติอำพน ซึ่งเพิ่งเข้าไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการแบงค์ชาติ ให้ข่าวใหญ่สองเรื่อง  เรื่องที่หนึ่ง มีดำริที่จะใช้ทุนสำรองทางการ เพื่อตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) และเรื่องที่สอง มีดำริที่จะใช้ทุนสำรองทางการ เพื่อแบ่งเบาภาระที่รัฐบาลต้องกู้เงินจากต่างประเทศ

ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่สามารถมีผลกระทบต่อฐานะของประเทศได้อย่างมาก ผมจึงต้องขอวิจารณ์และฝากข้อคิดไว้เสียหน่อย

เรื่องกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund)

ในปี 2554 ช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้น ผมได้เอ่ยกับ ดร. ประสาร ผู้ว่าแบงค์ชาติ ขอให้แบงค์ชาติศึกษาความเหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ แต่เมื่อผมได้ให้ข่าวนี้ไปแก่สื่อมวลชน ปรากฏว่ากลุ่มลูกศิษย์หลวงตาบัวออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน รองนายกและรัฐมนตรีพาณิชย์ขณะนั้น (นายกิตติรัตน์) ได้แถลงข่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วน ผมจึงยุติเรื่องไป

ภายหลังจากพ้นตำแหน่ง ผมได้ศึกษากรณีของประเทศอื่นๆ แล้ว อยากให้ข้อมูลดังนี้

คำถามที่หนึ่ง ประเทศแบบไหนที่มีการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund)

คำตอบ ประเทศที่ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) นั้นมีไม่กี่ประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติมากๆ เช่น ส่งออกน้ำมัน ส่งออกก๊าซธรรมชาติ

สำหรับประเทศที่ไม่มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาตินั้น จะมีน้อยรายมากที่ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ประเทศที่จะยกขึ้นเป็นตัวอย่างอยู่เสมอคือสิงค์โปร์

แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาตินั้น จะตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นเกินดุลการค้ามาก และรัฐบาลเกินดุลงบประมาณอย่างมากเท่านั้น

ส่วนประเทศที่เกินดุลการค้าเพียงชั่วคราว หรือรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ ผมไม่เคยเห็นมีประเทศใดที่ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund)

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะทุนสำรองของประเทศดังกล่าว เกิดจากเงินทุนไหลเข้าเป็นสำคัญ เมื่อเงินไหลเข้าได้ ภายหลังก็ไหลออกได้ ถึงแม้จะเป็นเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อตั้งโรงงาน เมื่อเขามีกำไร เขาก็จะนำเงินไหลกลับออกไป ดังนั้น ประเทศที่ทุนสำรองไม่ได้เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ หรือไม่ได้เกิดจากเกินดุลการค้าเป็นเวลานาน ผมไม่ค่อยเห็นเขาตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) เพราะถ้าเกิดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แล้วเอาเงินไปลงทุนแบบระยะยาว ถ้าต่อไปเงินกลับไหลออก จะทำอย่างไรกัน

คำถามที่สอง ถ้าไทยไม่ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ประเทศไทยจะเสียโอกาสหรือไม่

บทบาทของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) นั้น ก็คือนำเงินของประเทศไปลงทุนเป็นทรัพย์สินต่างประเทศ (foreign asset) เพื่อให้เกิดผลตอบแทนแก่ประเทศในอนาคต  แต่ผู้ที่จะนำเงินของประเทศไปลงทุนเป็นทรัพย์สินต่างประเทศนั้น ทางการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ควรให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

ที่จริง การที่เอกชนเป็นผู้ออกไปลงทุนสร้างทรัพย์สินต่างประเทศนั้น เอกชนย่อมสามารถทำได้ดีกว่าทางการ ดังนั้น ถ้าเราดูประเทศที่บริษัทเอกชนของเขาสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้เอง ประเทศเหล่านี้จะไม่มีการตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ไม่ว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี

ประเทศเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าเขาจะมีฐานะจนกว่าประเทศไทย แต่เขามีทรัพย์สินต่างประเทศมาก ในรูปของทรัพย์สินเอกชน ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดิ้นรน เป็นผู้ออกไปทำหน้าที่ลงทุนเอง ด้วยการตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ใดๆ ทั้งสิ้น

คำถามที่สาม ทุนสำรองของประเทศไทย ทำไมจึงไม่เอามาลงทุนภายในประเทศไทย เพื่อพัฒนาประเทศไทย

ทุนสำรองที่อยู่ที่แบงค์ชาตินั้น ต้องลงทุนเฉพาะในต่างประเทศ  ไม่สามารถนำมาลงทุนภายในประเทศในรูปเงินบาทได้ เพราะจะทำให้แบงค์ชาติควบคุมปริมาณเงินไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเน้นการลงทุนไปต่างประเทศเท่านั้น

 คำถามที่สี่ ถ้ารัฐบาลไทยเกิดจะตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ขึ้นจริงๆ รัฐบาลควรจะเคลียร์บัญชีกับแบงค์ชาติอย่างไร

 แบงค์ชาติเป็นองค์กร ที่ไม่มีอำนาจและหน้าที่ ที่จะไปลงทุนแบบตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ด้วยตนเอง และผมก็ไม่เห็นว่า มีธนาคารกลางของประเทศใด ที่ทำหน้าที่นี้ เขาต้องแยกไป เพื่อให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกันทั้งสิ้น

การที่รัฐบาลไทยจะเอาเงินทุนสำรองจากแบงค์ชาติ เพื่อไปใช้ตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) นั้น รัฐบาลไม่ควรจะหยิบฉวยไปเอง ถ้าทำเช่นนั้น เท่ากับเป็นการทำลายวินัยทางการเงิน ต่างประเทศจะขาดความเชื่อถืออย่างฉับพลัน

หากรัฐบาลจะเอาทุนสำรองจากแบงค์ชาติ รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรเป็นเงินสกุลบาท ตามอัตราดอกเบี้ยตลาด เพื่อให้แก่แบงค์ชาติ เป็นการแลกกับทุนสำรองที่รัฐบาลต้องการ รัฐบาลต้องทำอย่างนี้เท่านั้น

และหากการบริหารกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ขาดทุน ก็ต้องให้เป็นภาระโดยตรงเฉพาะของรัฐบาล ต้องไม่ให้เป็นภาระของแบงค์ชาติ

หากกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ขาดทุน รัฐบาลก็ต้องไปหาวิธีขึ้นภาษีเอาเอง ดังนั้น เมื่อตั้งหลักการให้ถูกต้องไว้เช่นนี้ ก็จะเห็นได้ ว่าในขณะนี้ รัฐบาลไทยไม่ได้มีฐานะที่จะตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แต่อย่างใด

การที่นายอำพน ประธานแบงค์ชาติ ใฝ่ฝันให้แบงค์ชาติตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) จึงน่าจะเป็นความฝันมากกว่าความจริง

 

--------------------------

เรื่องการใช้ทุนสำรองทางการ เพื่อแบ่งเบาภาระที่รัฐบาลต้องกู้เงินจากต่างประเทศ  นอกจากเรื่องกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แล้ว นายอำพน กิตติอำพน ซึ่งเพิ่งเข้าไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการแบงค์ชาติ ยังให้ข่าวใหญ่ เรื่องที่สอง มีการศึกษาที่จะใช้ทุนสำรองทางการ เพื่อแบ่งเบาภาระที่รัฐบาลต้องกู้เงินจากต่างประเทศ

ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้น ผมได้รับคำแนะนำจาก ดร. วีระพงษ์ รามางกูร ว่า รัฐบาลควรจะใช้วิธีออกพันธบัตรรัฐบาล แต่แทนที่จะออกเป็นสกุลบาท ให้ออกเป็นสกุลดอลลาร์ เพื่อขายให้แบงค์ชาติ นำเงินทุนสำรองทางการไปลงทุน

ตามวิธีคิดของ ดร. วีระพงษ์นั้น ขณะนี้แบงค์ชาตินำเงินทุนสำรองไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก อยู่แล้ว ซึ่งสหรัฐก็จ่ายดอกเบี้ยต่ำ  แทนที่จะทำอย่างนั้น ดร. วีระพงษ์เห็นว่า แบงค์ชาติควรจะนำเงินทุนสำรอง ไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลไทยแทน  นัยว่าวิธีนี้ จะทำให้รัฐบาลมีแหล่งเงินกู้มหาศาล ไม่ต้องไปง้อนักลงทุนต่างประเทศใดๆ อาศัยแหล่งเงินจากทุนสำรองได้อย่างสบาย

รัฐบาลนอกจากจะมีแหล่งเงินกู้ที่สะดวกแล้ว ยังจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เท่ากับรัฐบาลสหรัฐอีกด้วย

นัยว่าวิธีนี้ รัฐบาลจะได้รับประโยชน์เต็มๆ ส่วนแบงค์ชาติก็ไม่เสียประโยชน์อะไร เพราะก็จะยังได้ดอกเบี้ยเท่าเดิม ส่วนในเรื่องความเสี่ยง ก็คงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะเท่ากับแบงค์ชาติให้กู้แก่รัฐบาลไทย

การที่นายอำพนให้ข่าวเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นไปตามแนวคิดของ ดร. วีระพงษ์นี้เอง กล่าวคือ ในการกู้เงินสองล้านล้านนั้น บางส่วนรัฐบาลจะออกพันธบัตรเป็นสกุลดอลลาร์ เพื่อขายให้แก่แบงค์ชาติ  ถ้าเอาเงินทุนสำรองไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่เคยออกขายไว้ก่อนหน้านานแล้ว ซึ่งเป็นสกุลดอลลาร์ ก็คงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

แต่ถ้าทำตามแผนดังกล่าวแบบเป็นล่ำเป็นสัน ก็ไม่แตกต่างอะไร จากการที่รัฐบาลบี้เอาเงินกู้ไปจากแบงค์ชาติ ซึ่งจะทำให้เสียวินัยทางการเงินอย่างหนัก

ผมเคยสอบถามความเห็นของ ดร. ประสาร ผู้ว่าแบงค์ชาติเกี่ยวกับแนวคิดนี้

ดร. ประสารแจ้งให้ผมทราบว่า ในอดีตเคยมีบางประเทศในลาตินอเมริกา ที่ทำแบบนี้

ปรากฏว่าเจ๊งอย่างหนักครับ

เพราะปัญหาที่หนึ่ง ทุนสำรองจะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลของประเทศตนเอง ย่อมไม่มีตลาดที่มีสภาพคล่องสูง ดังเช่นตลาดของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ปัญหาที่สอง นโยบายดังกล่าวยังทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ระหว่างธนาคารกลางกับรัฐบาล เพราะในบางช่วงเวลา ธนาคารกลางอาจจะจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อธนาคารกลางลดดอกเบี้ย จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนตัวลง

และเมื่อค่าเงินของประเทศนั้นอ่อนตัวลง หนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลดอลลาร์ เมื่อแปลงเป็นค่าเงินท้องถิ่น ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และจะกระทบต่อฐานะของรัฐบาลโดยตรง

ปัญหาที่สาม นโยบายดังกล่าวทำให้เงินลงทุนในทุนสำรอง ไม่ใช่ทรัพย์สินต่างประเทศอย่างแท้จริง

เพราะเป็นการวกวน เอาเงินกลับมาลงทุนภายในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นการเอาความเสี่ยงทุกอย่าง มากระจุกตัวอยู่ในที่เดียวกัน เป็นการเอาใข่ทั้งหมด เข้ามาอยู่ในตะกร้าเดียวกัน

นโยบายดังกล่าว หากเป็นจริง จึงจะเป็นอันตรายแก่ฐานะของประเทศอย่างมาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ไม่ใช่หน้าที่ แบงค์ชาติ

view