"ธีรยุทธ"วิพากษ์การเมืองไทย40ปี14ตุลา
จาก โพสต์ทูเดย์
"ธีรยุทธ บุญมี"วิพากษ์การเมืองไทย 40ปี 14ตุลา เปรียบ"แม้ว"เป็นขี้ขำค้างคารูทวาร ชี้วิกฤตประชาธิปไตยคือปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่บทความเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ในชื่อ "40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" มีเนื้อหาดังนี้
มีคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำก็คือ “ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน” ที่แรงหน่อยก็ว่า “ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่” “อุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?”
ถ้าจะตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซึ่งเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษากว่าไทย ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดในปี 2516 ฟิลิปปินส์ซึ่งคุ้นเคยกับประชาธิปไตยมาก่อนไทย เพิ่งมาล้มล้างเผด็จการมาร์กอสได้ในปี พ.ศ. 2529 เกาหลีใต้ล้มเผด็จการทหารได้ในปี 2530 ปัจจุบันพม่ายังอยู่ใต้เผด็จการทหาร อินโดนีเซียยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่
ประการที่สอง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่พวกคณะราษฎร 2475 และ 14 ตุลา อัญเชิญมาจากฟากฟ้ามาประดิษฐาน แล้วประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่ม ต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้
ในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ทั้งขุนนาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ชาวบ้าน มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน
ในศตวรรษที่ 13 อัศวินและขุนนางอังกฤษต่อสู้ให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายสิทธิยอมรับและการสืบ ทอดมรดกเหนือปราสาทและที่ดินของตน ทำให้เกิดกฎหมาย Magna Carta ขึ้น ปัญญาชน บาทหลวงยุโรปจำนวนมากเผยแพร่ความคิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิธรรมชาติ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อต้านผู้นำที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ส่วนชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวนา ก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน การเลิกข้อจำกัดไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ ตัดฟืน การต่อสู้ให้เลิกล้มระบบไพร่ติดที่ดินของชาวนาในฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมัน ในศตวรรษที่ 14, 15, 16 การต่อสู้เพื่อประกาศถึงสิทธิในการชุมนุม เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก บางครั้งกองกำลังหลายพันคนถูกกวาดล้างจนหมดสิ้น เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วเช่นนี้ คนตะวันตกจึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย พยายามรักษาให้มันทำงานให้มันดำรงความเป็นระบบที่ดีเอาไว้ จนไม่มีทหารหรือนักการเมืองคนใดจะกล้ามาเบี่ยงเบนหรือบิดเบือน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง
แต่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน เป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง)
(ก) ในเรื่องอุดมการณ์ ข้อเท็จจริงก็คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจ ของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นั่นเอง
กลุ่มทุนดั้งเดิมของไทยนอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของ ตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้ กับพรรคการเมือง จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่ เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
(ข) ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย (สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้ คนไทยนิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่องขี้ เช่น เรื่องนี้ขี้ปะติ๋ว ขี้ผง มองคนคนเต็มไปด้วยขี้จากหัวจรดเท้า เช่น ขี้หัว ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้เต่า ขี้เล็บ ขี้ตีน มองอุปนิสัยพฤติกรรมคนด้วย “ขี้” ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้เหร่ ขี้หลี ขี้อาย ขี้ดื้อ ขี้ตืด ขี้เหนียว ขี้กะโล้โท้ ขี้เป้ ขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ขี้ตัวะ ขี้จุ๊ มองฐานะคนด้วยคำว่า “ขี้” เช่น ขี้ข้า ขี้ครอก ขี้ทึ้ง ขี้ถัง ขี้โอ่ ขี้อวด ขี้อ่ง คนเลวทรามผ่าน “ขี้” เช่น ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้จาบ
ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่
ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน)
ดังนั้น เมื่อกลุ่ม องค์กร สถาบันสำคัญๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมือง ไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น
ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน?
ความฝันที่ยังเหลือของ 14 ตุลา คนหนึ่ง
14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ ผมอยากจะหวังอย่างเดียวคือ จากโอกาสที่เสียไป 40 ปี ผมอยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกได้
1. สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณหรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น
2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหาของมันมาแก้ไข การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหารพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ผิดพลาด ผู้ที่คิดจะแก้ไขโดยวิธีที่ไม่ใช้กฎหมาย เช่นจะนำเอาการเมืองมาแก้ไขก็ต้องพร้อมรับปัญหา หรือพวกที่จะนำเอารัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบเช่นกัน ทักษิณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบถ้าดึงดันใช้วิธีหักดิบ ไม่ยอมแก้ปัญหาไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เพราะทักษิณคือตัวปัญหา “ขี้ดัน” ของการเมืองไทย คนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกจะหงุดหงิดอย่างมาก คงจะออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากมายแน่นอน
3. นโยบาย “ประชานิยม” หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วย กันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
การมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง และซ้ำเติมปัญหาการไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยก็คือ การที่รัฐไทยโฟกัสปัญหาอยู่ที่การรักษาความเป็นชาติ หรือความมั่นคงของชาติอย่างผิดๆ ผิวเผิน หรือสุ่มเสี่ยงมากเกินไป คือ
(ก) เน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและความเป็นชาติไทยในทุกๆ ด้าน
(ข) การเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของศูนย์กลางนี้ในทุกๆ ด้าน คือพยายามอาศัยท่านให้เป็นใจกลางของความมั่นคงการเมือง เป็นใจกลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นใจกลางของคุณธรรม อย่างล้นเกินจนคล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่าง เป็นประวัติการณ์ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันว่า พระมหากษัตริย์อีหลายพระองค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป จะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร
(ค) ทั้งสองประเด็นข้างต้นส่งผลให้ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์ของ ตัวเอง ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คับแคบมากที่สุด การสำแดงออกซึ่งสัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ก็อยู่ในลักษณะที่คับแคบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ก็เน้นศูนย์กลางและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อย่างล้นเหลือ ละเลยประวัติศาสตร์เชิงสังคมว่า ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวบ้าน แรงงาน ได้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองมาอย่างไร ละเลยประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ประวัติศาสตร์เชิงภูมิวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือชุมชน ฯลฯ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรับรู้เชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ของคนไทยก็คับแคบตามไปด้วย
ผลเสียร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถ้าเราจะลองถามตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นอกจากกรณีโจรจีนมลายูแล้วเรารับรู้อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความเจริญก้าวหน้า การอยู่ดีมีสุข หรือเป็นปัญหาคับคาใจ ที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คำตอบก็คือไม่มีเลย หรือเกือบไม่มีเลย ที่ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาความทุกข์ความสุข ความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทราม แต่เป็นเพราะกรอบความรับรู้อันคับแคบที่รัฐไทยได้ตีไว้จนไม่สามารถมีการสื่อ สารใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าเราจินตนาการว่า ได้มีการรับรู้ มีความชื่นชม จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม พูดจาปราศรัยกันด้วยภาษาไทยปนภาษายาวีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน มีภาพข่าวเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมภาคใต้ มีภาพสุเหร่า มัสยิด ภาพสถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภาพผู้หญิง ผู้ชาย ในเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของพวกเขา มีนิยาย ละคร เพลง ปรากฏในสื่อต่างๆ สม่ำเสมอตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทุกวันนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยก็ได้
การไม่ยอมรับส่งเสริมสิทธิอำนาจของชาวบ้านก็ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลง ไปอีก เพราะชุมชนและชาวบ้านไม่มีช่องทางใดๆ ที่จะโต้เถียงหรือแสดงออกได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะเพียงภาคใต้เท่านั้น คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้กับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคใต้ส่วนบนเอง เพราะทิศทางใหญ่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียนภิวัตน์คือการตื่นตัวทางอัต ลักษณ์ วัฒนธรรม ของผู้คนทั่วโลกผ่านทางข่าวสารและ Social network ต่างๆ ความสนใจใคร่รู้ การเดินทางท่องเที่ยว แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ย่อมเพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าอย่างทวีคูณ ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ จะได้ประโยชน์ก็ต้องรับรู้ รื้อฟื้น หรือสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมา นี่เป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจการลงทุนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเคารพกัน ชื่นชมกัน ให้การยอมรับกัน (recognition) อย่างแท้จริงของการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน
ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหา ประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ที่ชัดเจนก็คือการรัฐประหารไม่อาจมีขึ้นได้แล้วในประเทศไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีใครสนับสนุน ถึงแม้จะรัฐประหารโดยใช้กำลังได้ พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมไม่คิดว่าเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเดิม ที่จะสามารถนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมคิดว่าแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของนักการเมือง นักคิด NGOs และขบวนการรากหญ้าของภูมิภาคและท้องถิ่น หรือมีพวกเขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้
ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง
มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่งได้
ที่มา : http://www.isranews.org/isra-news/item/24399-14oct.html
ความขัดแย้ง"ชนชั้น"นาฏกรรม40ปี14ตุลาฯ
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช
เวียนบรรจบครบ 4 ทศวรรษของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หมุดหมายประชาธิปไตยยุคใหม่ของไทย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตผู้นำขบวนนักศึกษาในครั้งนั้น ปาฐกถา “เจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ คือ ประชาธิปไตย” ฉายภาพการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ที่หวาดหวั่นต่อการถูกแย่งชิงอำนาจและชนชั้นที่เรียกร้องความเท่าเทียมตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
เสกสรรค์ ระบุว่า หลัง 14 ตุลาฯ ยังมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มพลังที่เรียกร้องประชาธิปไตย 40 ปี หลังมีรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ในปี 2519, 2534 และ 2549 มีการใช้กำลังรุนแรงโดยฝ่ายรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พฤษภาฯ ทมิฬ และพฤษภาฯ 2553
ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ เหตุใดประชาชนต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับผู้ กุมอำนาจ และเหตุใด 40 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยถึงไม่สามารถหยั่งรากมั่นคงในประเทศไทย
เขาชี้ว่าสาเหตุมี 3 ปัจจัย คือ 1.อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่ผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน 2.การครอบงำของวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และ 3.สภาพที่กำลังของฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา
“ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหาร ที่ผูกพ่วงมาด้วยการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง ประชาชนที่รักอิสระ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ต้องหลั่งเลือดพลีชีพครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ ยืน”
การที่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาฯ ทมิฬ หรือพฤษภาฯ 2553 เกิดขึ้นได้นั้น สะท้อนว่ากลุ่มพลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจนั้นมีมากพอที่จะผลัก ลัทธิอำนาจนิยมให้ถอยร่นออกไป แต่การจะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนได้ต้องอาศัยเงื่อนไขมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มใดจะทำหน้าที่ดังกล่าว
“ทุกวันนี้คนงานในระบบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึง 1% เพราะการจัดตั้งสหภาพทำได้ยาก ผู้นำคนงานมักถูกนายทุนกลั่นแกล้งกีดขวาง ถูกปลดออกจากงาน โดยฝ่ายรัฐยืนอยู่ข้างฝ่ายทุน หลังปี 2519 มหาวิทยาลัยก็ถูกอำนาจรัฐและพลังอนุรักษนิยมดัดแปลงให้เป็นแค่โรงเลี้ยงเด็ก ของคนชั้นกลาง ยิ่งถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่ประกอบด้วยการค้า การบริโภคเสรี ทำให้ลักษณะของประชากรในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป”
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า พื้นที่ในมหาวิทยาลัยหลังถูกยึดครองโดยบุตรหลานผู้มีรายได้สูง ซึ่งมีความใฝ่ฝันในชีวิตกระเจิดกระเจิง กระจัดกระจายไปตามจินตนาการส่วนตัว มากกว่าที่จะมีสายใยใดๆ กับสังคมต้นกำเนิด และยิ่งไม่มีสำนึกผูกพัน กับชนชั้นผู้เสียเปรียบ แต่จะปัดความรับผิดชอบ ทางศีลธรรมไปให้เยาวชนฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะ คนชั้นกลางระดับตัวพ่อตัวแม่ก็ไม่ได้ดีกว่าเท่าไร โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่มักแกว่งไกว อยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม
ด้วยเหตุที่ระบุมา ประชาธิปไตยไทยจึงขาดพลังผลักดัน แต่ที่น่าเสียดาย คือ คนชั้นกลางในเมือง ที่เคยเป็นกำลังหลักในการต่อต้านเผด็จการ ทั้งในปี 2516 และ 2535 แต่วันนี้กลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษนิยม จากพลังที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า กลายเป็นชนชั้น ที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ตรงจุดที่ตัวเองได้เปรียบ
“การขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นการส่งออกและการลงทุนแบบไร้พรมแดน ได้เพิ่มความมั่งคั่งให้ คนชั้นกลางมากกว่าเดิมหลายเท่า สิ่งนี้ได้เฉือนความสัมพันธ์ที่พึงมีระหว่างพวกเขากับชนชั้นอื่นที่เสีย เปรียบ”
ขณะเดียวกัน เสกสรรค์ ชี้อีกด้านของ “ทุนนิยมโลกาภิวัตน์” ว่า นอกจากจะเปลี่ยนฐานะของคน ชั้นกลางแล้ว ยังกวาดต้อนประชากรหัวเมืองเข้ามา ในกรอบทุนนิยมด้วย ทำให้เกิด “ชนชั้นกลางใหม่” ซึ่งผนวกกำลังรวมกับ “กลุ่มทุนใหม่”
“ชนชั้นนำของกลุ่มทุนนี้มีปัญหาคล้าย ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ในต่างจังหวัด คือต้องการพื้นที่ทางการเมือง และหนทางเดียวที่พวกเขาจะเข้าไปแทน ที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์อำนาจ คือต้องอาศัยเวทีประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายจึงมาบรรจบกัน และกำลังทางสังคมทั้งสองส่วน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วต่างกันอย่างยิ่ง ได้กลายเป็น ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ ที่เหลือเชื่อในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล”
สถานการณ์ที่มีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ เสกสรรค์ ระบุว่า ได้บ่มเพาะความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างคาดไม่ถึง นำไปสู่รัฐประหารในปี 2549 กลุ่มทุนเก่า ตลอดจนคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในเมืองหลวง ที่รู้สึกหวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยกลุ่มทุนใหม่ ประเมินคู่ต่อสู้ผิดไป !
“พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาล ที่ประกอบขึ้นเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางที่ค่อนไปทาง ล่างในเมือง ซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและคนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหน ประชาธิปไตย และมองไม่เห็นศักยภาพการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับระบบทุนโลกาภิวัตน์ แทนที่เรื่องจะจบลงง่ายๆ ด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามหลังมากลับยิ่งรุนแรงและซับซ้อน ความขัดแย้งในประเด็นประชาธิปไตยลุกลามสู่ระดับมวลชน หมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเมือง”
อดีตนักต่อสู้วัย 64 ปี ย้ำว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเจตนารมณ์เดียวกับการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ แต่อยากฝากไว้ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การเชิดชูอุดมคติเพียงอย่างเดียว หากยังมีเรื่องของวิธีการขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เติบใหญ่มั่นคงด้วย
“พลังประชาธิปไตยไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่แค่การพิทักษ์รัฐบาล หรือพรรคการเมืองที่ตัวเองพอใจเท่านั้น แต่มีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย เพื่อให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เเละนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของระบบการเมืองที่เราเชื่อว่าดีที่สุดหรือ เลวน้อยที่สุด”
การเมืองวุ่นวายเพราะปัญญาชนย้ายข้าง
จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ และอดีตคนเดือนตุลาฯ ก็ได้ปาฐกถาในเชิงวิเคราะห์บทบาทปัญญาชนไทยใน 2 ห้วงเวลาว่า การลุกขึ้นของนักศึกษาเดือนตุลาฯ 2516 เมื่อ 40 ปีก่อน จนถึงรัฐประหารปี 2549 เกิดปรากฏการณ์ การย้ายและเปลี่ยนข้างของ "ปัญญาชน" ที่เคยมีบทบาทเป็นพลังประชาธิปไตย
“14 ตุลาฯ ปัญญาชนกลุ่มนี้เป็นพลังสำคัญ แต่ก่อนรัฐประหารปี 49 กลับมีจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่สนับสนุนประชาธิปไตย มีข้อเสนอว่า รัฐบาลไม่ดีปล่อยไว้บ้านเมืองก็เสียหายจำเป็นต้องเปลี่ยน สุดท้ายเป็นการชักชวนให้เกิดรัฐประหาร”
จาตุรนต์ ชี้ว่า ปัญญาชนกลุ่มนี้ เสนอความเห็นเกี่ยวกับตุลาการภิวัฒน์ ต้องให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการกับการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองจัดการกันเองไม่ได้ ฝ่ายตุลาการในหลายประเทศที่ทำหน้าที่จัดการกับการเมือง มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากตุลาการไทย เพราะยึดโยงกับประชาชนทางใดทางหนึ่ง ในขณะที่ตุลาการไทยไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลย
จาตุรนต์ ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มจากการทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญกลับไปบั่นทอนอำนาจรัฐสภา ต้องแก้มาตรา 68 เพื่อปิดช่องทางไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวก่ายแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เเละนำไปสู่การแก้มาตรา 291 เพื่อแก้รรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อเป็นประชาธิปไตย
รำลึก 14 ตุลา - "ธีรยุทธ" ชี้สิ้นยุคปฏิวัติ
วันที่ 14 ต.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว มีการจัดกิจกรรม ครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดย มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป พิธีกรรมทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 พิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชน และขอให้สานต่อเจตนารมณ์ ของวีรชนเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อให้ประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมีผู้แทนนายกฯ ผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา องค์กรภาคประชาชน ผู้แทนองค์กรอิสระและวีรชน และญาติวีรชน เข้าร่วม นอกจากนี้มีการเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก ชุดตราไปรษณียากร วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ในฐานะผู้แทนนายกฯ กล่าวในพิธีถึงความเสียสละของวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศก้าวไปสู่อีกยุค และขอให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจประชาชน ให้ร่วมกันพัฒนาประเทศมีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ต่อมาเวลา 10.30 น. นายธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ปณิธานประเทศไทยŽ ตอนหนึ่งว่า หลังผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา มาถึง 40 ปีแล้ว แต่ทำไมประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงไหน ซึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้เปิดพื้นที่ให้แก่การเมืองระบอบรัฐสภา เข้ามาแทนที่การเมืองแบบเผด็จการของกองทัพและระบบราชการ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศษฐกิจทำให้ระบบทุนเก่าทรุดโทรมลง จึงเปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์การเมืองมาเป็นผู้ควบคุมรัฐโดยตรง กลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ ระหว่างกลุ่มทุนใหม่และกลุ่มอนุรักษนิยมในปัจจุบัน
นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ขอเรียก พ.ต.ท.ทักษิณว่า เป็น ขี้ขำŽ ทางการเมืองไทย เพราะคำว่า ขี้ขำ มาจากภาษาเหนือแปลว่า อุจจาระที่ค้างรูทวารอยู่ ซึ่งปัญหาเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ค้างคาในสังคมไทยอยู่กว่า 7 ปี ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น ขี้ย้องŽกับ ขี้แบ๊ะŽ หมายถึงหญิงที่ชอบแต่งตัวสวยงาม สำอาง และไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน กองทัพเป็น ขี้หักถ่องŽ แปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น กองทัพมีโอกาสและอำนาจแก้ไข นั่นคือการรัฐประหาร รสช.และการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 แต่ทำครึ่งๆ กลางๆ ดังนั้น การที่กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว เราจะมองเป็นวิกฤตทางการเมืองไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายก็ต่างรักษาผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น
นายธีรยุทธ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ประชาชน และทุกกลุ่มมองปัญหาให้ลึกและถูกจุด เริ่มต้นจาก 1.สังคมไทยต้องไม่มองเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ หรือคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดงเป็นวิกฤตอีกต่อไป เพราะทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่เท่านั้น 2.ปัญหาพ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาด้านธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล ต้องแก้ด้วยกลไกทางกฎหมาย ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหารเป็นวิธีที่ผิดพลาด 3.นโยบายประชานิยม หรือการที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทุกสมัย ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตยเช่นกัน แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ 4.แม่แบบความคิดของกองทัพ กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของไทย มองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ผิดพลาด ในการไม่ช่วยกันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
นาย ธีรยุทธกล่าวว่า รัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น แต่แนวคิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และกลุ่มคนทุกกลุ่ม บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดง อาจอยู่ที่กระจายอำนาจให้พ้นจากศูนย์กลางชนชั้นนำ ให้อำนาจไปสู่ชาวบ้านให้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้หากทำได้ จะเกิดการสมานฉันท์ปรองดองของทั้งสองขั้ว และจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้แก่ประเทศไทยของเราได้
ปาฐกถา"เสกสรรค์"40ปีความฝันเดือนตุลา
จาก โพสต์ทูเดย์
อ่านปาฐกถา ฉบับเต็ม "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" เรื่อง ความฝันเดือนตุลา 40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลนักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตผู้นำขบวนนักศึกษาได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ความฝันเดือนตุลา 40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย" ภายใน"งานเปิดหมุด 14 ตุลา" จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ บริเวณลานโพ ท่าพระจันทร์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักเรียนนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนเรือนแสนจากทุกชั้นชนและหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำย่ำยีประเทศชาติมานานนับ ทศวรรษ การต่อสู้ครั้งนั้นนับเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ สุดของปวงชนชาวไทย ที่ยืนยันว่าเราต้องการสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม
พูดอีกแบบหนึ่งคือ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนไทยได้ร่วมกันประกาศจุดยืนว่าต้องการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเปิด "หมุด 14 ตุลา" ขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะได้มาทบทวนกันว่าความฝันเมื่อปี 2516 ได้ปรากฏเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ก่อนอื่น ผมอยากจะเน้นย้ำว่าการต่อสู้ 14 ตุลาคมมิได้เป็นการปะทะกันโดยบังเอิญระหว่างผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองกับมวล ชนอันไพศาล หากเป็นการดิ้นรนหาทางออกจากคืนวันอันมืดมิดของประชาชนในทุกครรลองชีวิต ยามที่ทั้งประเทศถูกพันธนาการ ทุกผู้ทุกนามย่อมได้รับผลกระทบ แต่ละหมู่เหล่าย่อมฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าโดยรูปธรรมแล้วความฝันเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกัน
พูดให้ชัดเจนขึ้นคือ ประชาชนแต่ละชนชั้นและชั้นชนต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย
อันดับแรก ใช่หรือไม่ว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ นักศึกษาปัญญาชนและนักวิชาการล้วนถูกปฏิเสธพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำชีวิตทางทางปัญญาของพวกเขาปราศจากคุณค่าและความหมาย
ต่อมา คนชั้นกลางที่เริ่มมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ ย่อมไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไป หากอยากมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง
ชนชั้นกรรมกรซึ่งถูกใช้เป็นต้นทุนราคาถูกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ย่อมฝันถึงวันที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นคน หลายปีภายใต้ระบอบเผด็จการ รัฐบาลไม่เคยกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ครั้นเริ่มมีสิ่งนี้เมื่อต้นปี 2516 มันก็ต่ำกว่าค่าครองชีพจริงถึง 2 เท่า
กล่าวสำหรับชาวนาในสมัยนั้น จำนวนไม่น้อยเพิ่งสูญเสียที่ดินทำกิน เนื่องจากภาระหนี้สินซึ่งเกิดจากนโยบายกดราคาข้าวของรัฐ ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยสำหรับพวกเขาจึงไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ หากหมายถึงโอกาสที่จะถามหาความเป็นธรรม
และพูดก็พูดเถอะภายใต้ระบอบเผด็จการ แม้แต่ชนชั้นนายทุน ผู้ประกอบการ นายธนาคาร หรือพ่อค้า ก็หาได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจของตน เพราะส่วนไม่น้อยของรายได้ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าคุ้มครอง
แน่นอน ถ้าเราถอดรหัสความฝันเหล่านี้ออกมาเป็นคุณค่าทางการเมือง ก็จะพบว่าปรารถนาของผู้คนหลายหมู่เหล่าล้วนรวมศูนย์ล้อมรอบจินตนาการว่าด้วย เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้จากระบอบอำนาจนิยม
ถามว่าแล้วทำไมประชาชนจึงหันมาฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตย คำตอบมีอยู่ว่าเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ด้วยพลังของตนเอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยวิธีการกับจุดหมายสามารถเชื่อมร้อยเป็นเนื้อ เดียว ไม่ว่าจะเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ หรือการเดินขบวนสำแดงกำลัง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงสะท้อนเจตจำนงของ ประชาชนในประเด็นต่าง ๆ หากยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามันคือเสรีภาพที่ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรม
ในความเห็นของผม เราจำเป็นต้องวัดความคืบหน้าของประชาธิปไตยด้วยบรรทัดฐานนี้ ตราบใดที่ประชาชนหมู่เหล่าต่าง ๆ สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเวทีแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ตราบนั้นเราคงต้องถือว่าระบอบการเมืองกำลังทำงานได้ดี
ในทางกลับกัน ถ้าความยากลำบากของประชาชนถูกมองข้าม อำนาจต่อรองของผู้คนจำนวนมากถูกจำกัด หรือพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธ ก็แสดงว่าระบอบการเมืองเองกำลังมีปัญหา ไม่ว่าระบอบนั้นจะชูธงประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม
เช่นนี้แล้ว 40 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ประชาธิปไตยเป็นเช่นใด
อันที่จริง ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก ท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่าตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยอยู่ในสภาพที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กระทั่งล้มลุกคลุกคลานจนแทบไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่การต่อสู้ในเดือนตุลาคม 2516 ได้สั่นคลอนระบอบเก่าอย่างถึงราก และทำให้ลัทธิเผด็จการไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างยาวนานหรือเต็มรูป
แน่นอน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไร้เสถียรภาพ เกิดจากความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาด้วยเหตุดังนี้ การเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคมจึงถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องความเป็นธรรมของชนชั้นผู้เสียเปรียบ หลังจากถูกกดขี่เหยียบย่ำมานาน
จริงอยู่ บ้านเมืองในช่วงนั้นอาจจะดูระส่ำระสายไร้ระเบียบอยู่บ้าง แต่ถ้าประเทศไทยให้เวลาตัวเองอีกสักหน่อย ก็จะเข้าใจได้ว่านั่นก็เป็นเพราะส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่ว เวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน อันนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลกยามเมื่อระบอบเผด็จ การถูกโค่นลง
มองจากมุมนี้ การปราบปรามกวาดล้างนักศึกษาประชาชนและรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงไม่เพียงเป็นบาดแผลของแผ่นดินเท่านั้น หากยังทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการ ทำงานของระบบรัฐสภา
จากนั้นเรายังต้องรบกันเองอีกหลายปี กว่าสงครามประชาชนจะสงบลงและประเทศไทยค่อยๆกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีก ครั้งหนึ่ง เวลาก็ผ่านไปแล้วราวหนึ่งทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีความแตกต่างจากการต่อสู้ในปี 2516 อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่จำกัดมาก และถูกกำหนดเงื่อนไขจากศูนย์อำนาจเดิม
อันนี้หมายถึงว่าฐานะการนำของชนชั้นนำภาครัฐยังคงถูกรักษาไว้ และแม้ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสิน ใจ กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับ เลือกจากประชาชน
สภาพดังกล่าวได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่าง ใหญ่หลวง เพราะพวกเขาถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำเสียแล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถแน่ใจได้ว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่ บริวารของผู้นำกองทัพ
ยิ่งไปกว่านี้ ในระยะดังกล่าว นักการเมืองจำนวนไม่น้อยยังเติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มี อิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง พฤติกรรมทางการเมืองของพวกเขาทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้า พ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้คน
ขณะเดียวกัน กองกำลังประชาธิปไตยที่เคยขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่างนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ชาวนา ต่างก็อ่อนพลังลงเพราะความผันผวนของประวัติศาสตร์ที่พวกตนพยายามขับเคลื่อน ทำให้บรรยากาศทางสังคมดูเหมือนสงบสันติ ปราศจากทั้งปัญหาและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระหว่างทศวรรษที่ 2 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ระบอบการเมืองในประเทศไทยจะดูเหมือนซอยเท้าอยู่กับที่และมีภาพปรากฏเป็น เสถียรภาพ แต่ตัวสังคมไทยเองกลับเปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น
สภาพเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสะสมตัวเงียบ ๆ ของแรงกดดันใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อเส้นทางเดินของประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
อันดับแรกคือการแย่งชิงฐานะการนำในพันธมิตรการปกครอง ระหว่างชนชั้นนำจากภาคธุรกิจกับชนชั้นนำภาครัฐที่กุมอำนาจมาแต่เดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นประเด็น แต่เมื่อทุนนิยมอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น ย่อมทำให้ฐานทางเศรษฐกิจสังคมของระบอบการเมืองเปลี่ยนไป รวมทั้งฐานคิดของนักการเมืองบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน
ในเวลาเดียวกันนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ทำให้ความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุน เริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมืองด้วย อันนี้ทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดมีพลังลดน้อยถอยลง นักการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรง อย่างเปิดเผยมากขึ้น แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ
แต่ก็น่าเสียดายที่นักการเมืองจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงนี้เคยชินแต่การ รับบทพระรอง ดังนั้นจึงไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และยิ่งไม่สามารถขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัว
รัฐบาลชุดแรกที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด นักการเมืองถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนกระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมืองที่ดูคล้าย ประชาธิปไตย ในที่สุดเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็ สุกงอม
ในเบื้องแรก ผลที่ออกมาจากความขัดแย้งดังกล่าว คือรัฐประหาร 2534 ซึ่งเป็นการฟื้นฐานะการเมืองของชนชั้นนำภาครัฐ พวกเขาต้องการพาประเทศไทยกลับไปยังปี 2521 อันเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และอยากให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้านเท่านั้น
สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจคือ ตอนนั้นโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไปเช่นกัน
ด้วยเหตุดังนี้ ภายในเวลาเพียงปีเดียว การสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพโดยผ่านกลไกรัฐสภาจึงถูกประชาชนต่อต้านอย่าง หนัก และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในระหว่างนี้เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมเท่ากับถูกนำมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงฐานะนำในศูนย์อำนาจระหว่างชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำจากภาคธุรกิจ ยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ หากจะหวนกลับมาอีกในบริบทที่ต่างไปจากเดิม
อันดับต่อมา แรงกดดันอีกแบบหนึ่งที่สะสมตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษที่ 3 หลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม คือความไม่พอใจของชนชั้นล่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม
กล่าวคือในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นและนำไปสู่ความมั่งคั่งขยายตัวของ ทั้งชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมือง แต่การเติบโตอันเดียวกันนี้ก็ได้นำไปสู่ความอับจนเสียเปรียบของคนอีกจำนวน มาก ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสียฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพ ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ผู้พ่ายแพ้เสียเปรียบในตลาดเสรี ไปจนถึงชุมชนคนชายขอบอีกหลายประเภทที่ขาดเงื่อนไขในการพยุงชีวิตให้สม ศักดิ์ศรีความเป็นคน
พูดอีกแบบหนึ่งคือในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ช่องว่างระหว่างชนชั้นนับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และช่องว่างนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องของรายได้ หากยังเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่ทางการเมือง และโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐ ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา สวัสดิการทางการแพทย์ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างสำหรับการมีชีวิตที่ดี
แน่นอน ประชาชนหลายหมู่เหล่าเชื่อว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้เดือดร้อนต่างๆจึงเกิดขึ้นด้วยความถี่ที่เหลือ เชื่อ แม้ว่าผู้ที่พวกเขาหันมาเผชิญหน้าจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือก ตั้ง ยกตัวอย่างเช่นในปี 2538 เพียงปีเดียว มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านถึงกว่า 700 ครั้ง (ประภาส ปิ่นตบแต่ง/ การเมืองบนท้องถนนฯ /2541)
ผมคงไม่ต้องพูดย้ำก็ได้ว่าการชุมนุมประท้วงเหล่านี้ บ่อยครั้งได้นำไปสู่การปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน กระทั่งมีกรณีที่ประชาชนต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวอันเนื่องมาจากการใช้ความ รุนแรงโดยรัฐยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าผู้นำการต่อสู้หลายคนได้ถูกลอบสังหารหรือ ถูกคุกคามทำร้าย โดยส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ดังนั้นเราจึงอาจพูดได้ว่าแม้การต่อสู้ 14 ตุลาคมจะผ่านไปถึงกว่า 20 ปีแล้ว และการมีสิทธิเสรีภาพกำลังกลายเรื่องธรรมดาในหมู่คนชั้นกลางแห่งเมืองหลวง แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศไทย ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมกลับยังไม่ปรากฏเป็นจริง
ตรงกันข้าม หลายครั้งที่พยายามยืนยันความฝันเหล่านั้น พวกเขากลับต้องพบกับกระบองของเจ้าหน้าที่และสุนัขตำรวจ กระทั่งบางทีก็ต้องวิงวอนขอความเมตตาด้วยใบหน้าที่อาบเลือดและน้ำตา ภาพย่อของ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ หรือแม้แต่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยโลกไม่ทันสังเกตหรือให้ความสนใจ โดยเฉพาะโลกของคนที่ได้เปรียบจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม
แน่นอน สภาพที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลำพังประชาธิปไตย แบบตัวแทนนั้นอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความใฝ่ฝันของ ประชาชนได้ครบทุกหมู่เหล่า
ต่อให้ผู้นำกองทัพหรือชนชั้นนำจากระบบราชการกลับคืนสู่กรมกอง นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังพอใจอยู่กับการเป็นแค่นักเลือกตั้ง ที่หมกมุ่นอยู่กับการต่อรองแบ่งผลประโยชน์กันเอง มากกว่าเป็นผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ หรือเป็นรัฐบุรุษที่ทำทุกอย่างเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน
เช่นนี้แล้ว สถานการณ์การเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ยามนั้นกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มพัดมาแรง ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมในการเผชิญกับสภาวะแปลกใหม่ แต่ใครเล่าจะรับผิดชอบในเรื่องนี้
พูดก็พูดเถอะ ในห้วงหนึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ชวนคับแค้นใจยิ่ง เพราะเราเพิ่งปฏิเสธระบอบอำนาจนิยมมาหมาด ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตั้งความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อได้
ดังนั้น ผู้ห่วงใยบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มคิดถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการ เมืองครั้งใหญ่ ซึ่งในปณิธานดังกล่าว มีแนวคิดที่จะหนุนเสริมการทำงานของระบบรัฐสภาด้วยการเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงรวมอยู่ด้วย
ถามว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ประชาชนผู้เดือดร้อนอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวผ่านระบบพรรคการเมือง หรืออาศัยนักการเมืองจากพื้นที่ของตนช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองหรือ ช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขา
ในความเห็นของผม เหตุผลที่ทำให้ความหวังดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือนักการเมืองจำนวนมากมีฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายผล ประโยชน์ซึ่งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้าน ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นผู้ปัดเป่าความเดือดร้อนเหล่า นั้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่มองเห็นได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหายไปของพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาเอง
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบสังคมนิยมหรือแบบรัฐสวัสดิการล้วนถูกทำให้เป็น องค์กรผิดกฎหมาย ครั้นต่อมาเมื่อสงครามอุดมการณ์สิ้นสุดลง ระบบทุนนิยมในประเทศไทยก็หยั่งรากแน่นจนไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องผล ประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมคงไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าสภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีด ไม่มีพรรคการเมืองที่เข้าข้างพวกเขาอยู่ในรัฐสภาเลย ยกเว้นนักการเมืองบางท่านที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบ ซึ่งก็มีอยู่น้อยนิดเกินกว่าจะสร้างผลสะเทือนในเชิงนโยบาย
ดังนั้น ประเด็นจึงต้องย้อนกลับมาสู่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือเชื่อมโยงจุดหมายกับวิธีการเข้าหากัน
ประชาชนจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองโดยตรง และสามารถแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองของพวกเขาปรากฏเป็นจริง รวมทั้งความเป็นธรรมที่พวกเขาปรารถนาก็ต้องอาศัยพลังของตนขับเคลื่อนผลักดัน เอาเอง
พูดกันตามความจริง กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในรูปของการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีความคิดไป ไกลถึงขั้นล้มระบบทุนนิยม และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการโค่นอำนาจรัฐ พวกเขาเพียงแต่อยากอยู่นอกเขตอิทธิพลของตลาดเสรี และขอเงื่อนไขสำหรับความอยู่รอดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ความปลอดภัยจากมลภาวะที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างสายน้ำ ป่าเขา และฝั่งทะเล
เดิมทีเดียวพี่น้องเหล่านี้เพียงขอให้รัฐคุ้มครองพวกเขาด้วย แทนที่จะปล่อยให้ทุนเป็นฝ่ายรุกชิงพื้นที่ได้ทุกหนแห่ง แต่ต่อมาเมื่อการณ์ปรากฏชัดว่ารัฐกับทุนแยกกันไม่ออก จุดมุ่งหมายของพวกเขาจึงเปลี่ยนเป็นลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือให้รัฐเกื้อหนุนทุนน้อยลง และสงวนพื้นที่บางแห่งเอาไว้ให้พวกเขาดูแลชีวิตของตนเอง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นการต่อสู้ในลักษณะป้องกัน ตัวของชนชั้นที่ถูกทอดทิ้ง มากกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ต้องการมีฐานะในศูนย์อำนาจส่วนกลาง
กระนั้นก็ดีในโลกทัศน์ที่ดูเหมือนแลไปข้างหลัง พวกเขายังมีแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคม เพราะนั่นเป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะทำให้ตนเองมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตได้ อย่างอิสระเสรี และสมศักดิ์ศรีความเป็นคน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของการเมืองภาคประชาชนในช่วงนี้ได้ส่งผล ต่อกระบวนการปฏิรูปการเมืองพอสมควร เพราะมันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิเสรีภาพสืบต่อจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นขบวนการเมืองที่ริเริ่มเรื่องสิทธิชุมชน ตลอดจนเรียกร้องให้มีการเคารพอัตลักษณ์ตัวตนของชนชาติกลุ่มน้อย
ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฐานะของการเมืองภาคประชาชนจึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งบทบัญญัติที่ยืนยันทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ สภาพดูเหมือนว่าจากนี้ไป กลุ่มชนที่เสียเปรียบและต่ำต้อยทางสังคมจะสามารถใช้กระบวนทางการเมืองมากอบ กู้ความเป็นธรรมได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมิได้ถูกออกแบบให้มาคุ้มครองคนเสียเปรียบอย่าง เดียว หากยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ ด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87
อันนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้มากมาย เสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมกลับถูกหักล้างไปโดยสิ้น เชิง
ทั้ง ๆ ที่กลไกตลาดเสรีนั้นเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศ ไทยถ่างกว้างอย่างรวดเร็ว และการปฏิรูปสังคมในระดับรากฐานแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แตะต้องโครง สร้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ สถานการณ์ของบ้านเมืองยิ่งทวีความซับซ้อนมากกว่านั้นอีก มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหม่ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งนองเลือดในระยะถัดมา
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง ดังนั้นผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาทบทวนความเป็นมาสักเล็กน้อย
อันดับแรก ความล้มเหลวของนักการเมืองรุ่นเก่าในการดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ของโลกมากกว่า ไม่ต้องการปล่อยให้ชนชั้นนำจากท้องถิ่นหรือนักการเมืองอาชีพเหล่านี้มีฐานะ นำในศูนย์อำนาจอีกต่อไป
หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือพวกเขาต้องการขึ้นมาบริหารบ้านเมืองด้วยตัวเอง
แน่นอน ลำพังแค่นี้ก็คงไม่ใช่อะไรใหม่มากนัก แต่เงื่อนไขที่ทำให้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจต่างไป จากเดิมคือ พวกเขาขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย โดยหวังว่าจะช่วยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งมั่นคงและมี ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้นำเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งทำให้ฐานความชอบธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะมี ลักษณะกว้างขวางกว่าก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานความชอบธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกวางตัวไว้เป็นหมายเลขหนึ่งของ บัญชีรายชื่อ เพราะมันเท่ากับว่าคนส่วนใหญ่เลือกเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ถามว่าแล้วประชาชนเล่าได้อะไรบ้างจากการปฏิรูปการเมืองในทิศทางนี้
ในความเห็นของผม คำตอบที่สั้นและชัดเจนที่สุดคือได้อำนาจต่อรองเพิ่ม ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนถือเอาทั้งประเทศเป็นเขต เลือกตั้ง พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามแข่งขันแทบไม่อาจหาเสียงด้วยวิธีอื่น นอกจากต้องเสนอนโยบายที่โดนใจผู้คน
สิ่งที่เป็นความฉลาดของกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาในเวทีการเมืองคือพวกเขา เข้าใจเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้และตรงกับประเด็นปัญหา
ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2544 จึงจบลงด้วยการพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคการเมืองที่มีมาแต่เดิม และชัยชนะอันงดงามของพรรคการเมืองที่ชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจก่อตั้งขึ้น
การที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้เสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภา ผู้แทนราษฎรนั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนในระบบรัฐสภาไทย แต่ที่สำคัญกว่าและมีนัยยะทางการเมืองกว้างไกลกว่าคือการก่อรูปความสัมพันธ์ ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชนจำนวนมหาศาลโดยผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรม
หรือพูดให้ชัดขึ้นคือการก่อตัวของพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อระหว่าง กลุ่มทุนใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์กับเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่สุด ในสนามเลือกตั้งของไทย
กล่าวสำหรับประเด็นนี้ เราคงต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัว เมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ พวกเขามองเห็นว่าชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็น ผู้ประกอบการรายย่อยไปหมดแล้ว พี่น้องในต่างจังหวัดเหล่านั้นล้วนทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่ กับตลาดทุนนิยม แต่ก็เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรี
ดังนั้นชนชั้นกลางใหม่ในชนบทจึงต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วยหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน มาจนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้
สำหรับชนชั้นที่เสียเปรียบในตลาดเสรี การแสวงหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทำไม่ได้เลย หากปราศจากอำนาจต่อรองในทางการเมือง
แต่ก็แน่ละ นโยบายแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมือง หลวง ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว ความแตกต่างดังกล่าวต่อไปจะมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งในช่วงหลัง 2540 จึงไม่เพียงเป็นหนทางขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มทุนใหม่เท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่แสดงตัวตนและสำแดงน้ำหนักทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ใน ชนบทด้วย และด้วยสาเหตุดังกล่าว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนในชนบทเหล่านั้นจะโกรธแค้นน้อยใจ เมื่อพื้นที่และทางออกจากความเสียเปรียบเพียงทางเดียวของพวกเขาถูกทำลายลง โดยรัฐประหารในปี 2549
ในทัศนะของผม สถานการณ์ข้างต้นคือที่มาทางเศรษฐกิจสังคมของการเมืองแบบเสื้อสีและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะเพ่งมองแต่ความแตกแยกของผู้คนในสังคมไทยเพียงด้าน เดียว คงไม่ได้ เพราะถ้าพิจารณาจากมุมของประชาธิปไตยแล้ว นับว่ามีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนพยายามถอยห่างจากการเมืองภาคตัวแทน และต่อรองจากจุดยืนอิสระ การเมืองมวลชนของชนชั้นกลางใหม่กลับช่วยชุบชีวิตให้กับระบบรัฐสภาด้วยการใช้ การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย
ในความเห็นของผม กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้า ใกล้ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมอีกสักก้าวสองก้าว ทั้งนี้เนื่องจากมันจะช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้น โดยเฉพาะช่องว่างในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้
ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียทั้งเวลาและเลือดเนื้อไปไม่น้อย ในการพยายามผลักระบอบอำนาจนิยมให้ออกจากเวทีประวัติศาสตร์ และขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้สามารถตอบโจทย์ต่าง ๆ ของประชาชน
ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องเลอะเทอะทางตรรกะที่จะคิดว่าประชาธิปไตยสามารถเติบโตได้โดย ไม่ต้องต่อสู้ หรือเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาจากข้างบนลงมา
อันที่จริง ถ้าเรามองโลกเชิงบวกสักหน่อย ก็จะพบว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในสายตาของคนบางกลุ่มบางคน สังคมไทยกลับมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำความฝันเดือนตุลาให้ปรากฏเป็นจริง
ใช่หรือไม่ว่าหลายปีมานี้ การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยในทุกสาขาคำนิยาม
ใช่หรือไม่ว่าใน ระยะหลัง ๆ การเมืองมวลชนก็มีบทบาททำให้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภามีความหมายมากขึ้น โดยกดดันให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายกระจายความเป็นธรรม
พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องของชนชั้นนำน้อยลง ขณะที่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดามากขึ้น ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่การเติบโตของประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรใช่
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะก้าวรุดหน้าไปบนหนทาง ประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผลิตความขัดแย้งยังคงมีอยู่ และชะตากรรมของประเทศจะขึ้นต่อความสามารถของเราในการจัดการความขัดแย้งที่ สำคัญ ๆ
ในความเห็นของผม เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายประชาธิปไตย อาจจัดได้เป็น2กลุ่มใหญ่ ๆกลุ่มแรกได้แก่เงื่อนไขอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน
เงื่อนไขในกลุ่มต่อมา เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยถูกลดอำนาจในการกำหนดนโยบาย
ขณะเดียวกันเงื่อนไขดังกล่าวยิ่งส่งผลให้ความแตกต่างทางชนชั้นขยายกว้าง ออกไปอีกจนเกือบจะควบคุมไม่ได้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ ชาติกลายเป็นเพียงภาพลวงตา
แน่นอน ความแตกต่างทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่าความแตกต่างที่นับวันยิ่งขยายกว้างนี้ ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมีมุมมองและมีระดับความภักดีต่อประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน
ชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมืองหลวงมองการเมืองแบบหนึ่ง กรรมกรอุตสาหกรรมมองอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่คนชั้นกลางใหม่ในภาคเกษตรกรรมก็มีมุมมองต่อประชาธิปไตยของตนเอง และชาวบ้านในชุมชนชายขอบก็เช่นเดียวกัน
ที่น่าหนักใจคือ ทัศนะที่เพาะตัวขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้วมักเป็นทัศนะที่ยากจะไกล่ เกลี่ยประนีประนอม เพราะมันผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละฝ่าย ในเงื่อนไขดังกล่าวบรรยากาศเสรีนิยมจึงเกิดขึ้นได้ยาก และความขัดแย้งทางความคิดก็มักนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง กระทั่งในบางกรณี ถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2549 ในขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ในชนบทกำลังตื่นเต้นยินดีกับนโยบายประชานิยมของ รัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกวิตกกังวลในสิ่งที่เรียกว่า ประเด็นคุณธรรมของฝ่ายบริหาร
รวมทั้งรู้สึกหวั่นไหวเกี่ยวกับฐานะของตน เพราะเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกติกาของระบบตลาดเสรี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บางส่วนจึงถึงกับเต็มใจให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ ประชาธิปไตย
ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์นองเลือดในปี 2553 ก็มาจากความคิดเห็นที่ไม่อาจไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลในช่วงนั้นเห็นว่ารัฐบาลมีที่มาไม่ชอบธรรม อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกว่าตัวเองถูกชนชั้นที่เหนือกว่าข่มเหงรังแกตาม อำเภอใจ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมเห็นว่ามีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทั้งสิ้น ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วคือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสงครามประชาชนในชนบท มาจนถึงกรณีกระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริงที่ราชประสงค์
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่มีทางจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เลย ถ้าหากไม่มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ช่องว่างทางชนชั้นเหล่านี้ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่เพียงไม่ลดลง หากยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ตัวเลขจากปี 2552 ระบุว่ารายได้ของคน 20 เปอร์เซนต์แรกที่อยู่ลำดับสูงสุดกับคน 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ข้างล่างสุดห่างไกลกันถึง 13.2 เท่า (มติชน 6 พค.52) และคน 10 เปอร์เซนต์ที่รวยสุดเป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนชั้นล่างสุด 10 เปอร์เซนต์ได้ส่วนแบ่งไปแค่ 3.9 เปอร์เซนต์ (มติชน 5 ตค.52)
และถ้าจะพูดถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งจริง ๆ แล้ว ตัวเลขยังน่าตกใจกว่านี้อีก ดังจะเห็นได้จากการค้นคว้าของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งพบว่า 42 เปอร์เซนต์ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าประมาณหนึ่งในสามของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนเพียงสามหมื่นห้าพันคน จากจำนวนประชากรราว 64 ล้านคน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร/ มติชน 18 พย.52)
ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ได้เปิดเผยรายชื่อมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของประเทศไทย ปรากฏว่าคนจำนวนหยิบมือเดียวเหล่านี้เป็นเจ้าของมูลค่าความมั่งคั่งรวมกัน แล้วกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซนต์ของจีดีพี นอกจากนี้ 44 คนในจำนวนดังกล่าวยังมีความมั่งคั่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมา (โพสต์ทูเดย์ 4 กค. 56)
ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังรายงานของธนาคาร UBS ร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่งสำรวจพบว่าเศรษฐีไทยที่มีเงินมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (960 ล้านบาท) มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีกลายนี้ 15.2 เปอร์เซนต์ หรือเพิ่มจาก 625 คนเป็น 720 คน คนเหล่านี้เป็นเจ้าของสินทรัพย์รวมมูลค่าแล้ว 110,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 3.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากปีกลาย 520,000 ล้านบาท (ไทยรัฐ 23 กย.56)
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราหันมามองชีวิตของเกษตรกรไทย ก็จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีรายได้ทั้งปีเพียง114,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตและรายจ่ายด้านอุปโภคออกแล้ว กลับติดลบปีละ 34,000 บาท (มติชน 6 พย.53) อันนี้หมายความง่าย ๆ ว่าพวกเขายิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้
และเมื่อพูดถึงรายได้เฉลี่ยของคนงานรับจ้าง เราก็จะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่ครบวงจรมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 7,000-9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าจ้างรายวันแล้ว ยังน้อยกว่าราคาอาหารกลางวันของคนชั้นกลางจำนวนมาก หรืออาจจะถูกกว่าราคากางเกงในที่ขายตามห้างหรู
ในขณะที่ช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนของผู้บริหารบริษัทกับพนักงานระดับ เสมียนก็ห่างไกลกันถึงกว่า 11 เท่า โดยผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นฮ่องกง (สฤณี อาชวานันทกุล/ ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา/ 2554 น.43)
พูดแล้วก็พูดให้หมดเปลือก ความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วเหล่านี้ ยังถูกทำให้เลวลงอีกด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะภาษีจากรายได้และกำไรประเภทต่าง ๆ ซึ่งจัดเก็บจากคนที่ได้เปรียบ กลับมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของรายได้รัฐจากภาษีทั้งหมด ในขณะที่ภาษีสินค้าและบริการซึ่งเก็บจากผู้บริโภคทุกคนกลายเป็นรายได้รัฐ ส่วนใหญ่ (http://whereisthailand.info/2013/03/sources-of-tax-revenue/) กล่าวอีกแบบหนึ่งคือคนรวยเสียภาษีน้อยเกินไป ส่วนคนจนก็เสียภาษีทางอ้อมทุกวัน
แน่นอน ตัวเลขเหล่านี้ย่อมมีนัยยะทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง เราจะยืนยันหลักการแห่งความเสมอภาคได้อย่างไร บนภูมิประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตรงข้ามกับความเสมอภาคอย่างสิ้นเชิง จำนวนของเกษตรกรและแรงงานรับจ้างในระบบนั้นเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับเกินครึ่ง ของประชากรไทย อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความคับแค้นทางเศรษฐกิจของพวกเขาเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจ ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทย การเอ่ยถึงความแตกต่างทางชนชั้นดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามและชวนให้ไม่สบายใจ สำหรับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในความเห็นของผม ท่าทีแบบนี้ทั้งไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเท่ากับตัดประเด็นใจกลางออกไปจากความจริงของปัญหา ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะหรือทางออกที่ฉาบฉวย
ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราควรมองความจริงให้เต็มตา บ้านเมืองจึงจะพอทางออกได้บ้าง เราควรเปิดบาดแผลของประเทศออกมาดู และมองให้เห็นความเกี่ยวโยงอันใกล้ชิด ระหว่างความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง
สำหรับชนชั้นที่ได้เปรียบ ท่านควรยอมรับว่ามันหมดเวลาแล้วที่จะมีอุปาทานว่าตนเองไม่เดือดร้อนกับสภาพ เช่นนี้ หมดเวลาแล้วเช่นกันที่จะโทษว่าบ้านเมืองวุ่นวายเพราะจริตฟุ้งซ่านของคนไม่ กี่คน หรือแค่ขจัดคอรัปชั่นแล้วบ้านเมืองจะดีเอง
ผู้คนในประเทศไทยควรจะต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิด จากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่าง เหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน
ต่อไป เราลองมาพิจารณาอุปสรรคของประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากยุคโลกาภิวัตน์ หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือผลกระทบของทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อเส้นทางเดินของ สังคมไทย
แน่นอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีด้านที่เป็นความเจริญอยู่ไม่ น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สารสนเทศ การกระตุ้นการเติบโตของพลังการผลิต และการทำลายพรมแดนที่เคยกั้นขวางสายใยสัมพันธ์ระหว่างมวลมนุษย์
อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาเฉพาะด้านที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เราจะพบว่าระบบทุนนิยมแบบไร้พรมแดนได้คะแนนต่ำอย่างน่าตกใจยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการเลื่อนไหลเสรีของทุนและแรงงาน มักนำไปสู่ข้อได้เปรียบของชนชั้นนายทุนฝ่ายเดียว ส่วนผู้ใช้แรงงานนั้นแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเหลือ ขณะที่ระบบการค้าเสรีก็ทำให้เกษตรกรรายย่อยแทบทำอะไรไม่ได้เลย ในการตั้งราคาผลผลิตที่สมเหตุสมผล
ที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แท้จริงแล้วไม่ได้พึ่งกลไกตลาดอย่างเดียว หากยังกดดันและผูกมัดให้อำนาจรัฐต่าง ๆ หันมาคุ้มครองกฎกติกาที่ตัวเองกำหนดด้วย ซึ่งในกรณีของไทยนั้น นอกเหนือไปจากการออกกฎหมาย 11 ฉบับตามข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟแล้ว ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ต่างก็มีบทบัญญัติเหมือนกันว่ารัฐจะต้องดำเนินนโยบายสนับสนุนกลไกการค้าเสรี
ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาการเมืองไทยยิ่งสลับซ้อน มากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะมันหมายความว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่เพียงเข้ามาเร่งขยายความเหลื่อม ล้ำในสังคมไทยเท่านั้น หากยังปิดกั้นหนทางแก้ไขเอาไว้ด้วย
อันที่จริงในระยะใกล้ ๆ นี้สิ่งบอกเหตุก็พอมีอยู่แล้ว เช่นในกรณีปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท กับกรณีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นต้น
กรณีแรกนอกจากมีเสียงบ่นจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ปรากฏว่านายทุนไทยยังย้ายไปลงทุนในประเทศค่าแรงต่ำเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีหลัง ถ้าตัดเสียงครหานินทาเรื่องทุจริต ออกไป ก็จะพบว่าเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากมุมมองแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น
และในทั้งสองกรณี ผู้วิจารณ์ต่างพากันแสดงความห่วงใยระบบตลาดและใช้ฐานคิดดังกล่าวเป็นกรอบ อ้างอิงความถูกต้อง ส่วนชีวิตของกรรมกรและชาวนาที่เสียเปรียบเชิงโครงสร้างนั้น แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง
พูดง่าย ๆ คือรัฐไทยกำลังถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์กดดันให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ พื้นที่สำหรับการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ของรัฐไทยจึงถูกลดทอนลง ภายใต้กรอบกติกาของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ อำนาจในการจัดการสังคมถูกโอนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่ และรัฐเองก็กำลังถูกแปรรูปดัดแปลงให้รับใช้เฉพาะชนชั้นนายทุน
คำถามมีอยู่ว่า แล้วระบบทุนจะดูแลคนได้ทั่วถึงหรือไม่ มันมีศักยภาพในการแก้ไขปรับปรุงตัวเองมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ผมไม่ต้องพูดมาก ก็เห็นชัดกันอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยาก
ที่ผ่านมาหลายปีการขยายตัวของทุนนิยมในประเทศไทยถูกยกขึ้นเป็นทั้งวาระ แห่งชาติและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นจินตภาพที่คลุมเครือมาตั้งแต่ต้น แต่มาถึงยุคทุนนิยมไร้พรมแดนเราอาจพูดได้ว่าความคลุมเครือนั้นได้หายไปหมด แล้ว มันชัดเจนที่สุดว่าสิ่งนี้คือมายาคติ ซึ่งไม่มีความเป็นจริงใด ๆ รองรับ
ถามว่าทำไมผมจึงกล้าพูดเช่นนี้ ที่กล้าพูดก็เพราะกฎเกณฑ์ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้นอยู่ตรงข้ามกับจินตภาพเรื่องชาติในระดับประสานงา
มันเป็นระบบที่ถือว่าทั้งโลกเป็นตลาดเดียวกัน และไม่ยอมรับอำนาจของรัฐไหนในการกำหนดกติกาอย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมรับข้อจำกัดใด ๆ ในการเคลื่อนย้ายทุนและหากำไรจากทุน ซึ่งรวมทั้งไม่ยอมรับข้อจำกัดทางความคิดหรือทางศีลธรรมด้วย
ดังนั้นปรากฏการณ์นายทุนทิ้งชาติจึงเป็นเรื่องที่ทั้งถูกต้องและปกติ ธรรมดาในเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน สำหรับระบบนี้ไม่มีเหตุผลชุดอื่นมาแทนกำไรสูงสุดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงานให้คนในชาติ การกระจายรายได้ให้ชนชั้นผู้เสียเปรียบ หรือผลประโยชน์ทางด้านภาษีอากรของรัฐ
ใช่หรือไม่ว่าทุนไทยเองก็กำลังเคลื่อนไปในทิศทางนั้น
รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2555 นักนักธุรกิจไทยได้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศถึง 3.08 แสนล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 8 พค.55) และเมื่อเดือนมกราคม 2556 ก็มีรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยืนยันว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าและ รองเท้ายี่ห้อดังของไทยไม่ต่ำกว่า 100 โรงงานกำลังหาทางย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนีค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ในจำนวนนี้มีบางโรงงานที่กำลังทยอยเลิกจ้างพนักงานเพื่อปิดกิจการในประเทศ (โพสต์ทูเดย์ 28 มค.56)
แน่นอน แรงจูงใจสำคัญของนักลงทุนไทย คือค่าแรงราคาถูกและสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเวียดนาม ค่าแรงตามเมืองใหญ่อยู่ในระดับวันละ 200 บาท และนอกเมืองออกไปยังต่ำกว่านั้นอีก นอกจากนี้ยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้ากิจการได้ถึง 100 เปอร์เซนต์ ด้วยเหตุนี้ภายในครึ่งปีแรกของ 2556 ปีเดียว จึงมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามถึงกว่า 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 183,000 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 13 สค.56)
ส่วนกัมพูชานั้นค่าแรงยิ่งต่ำลงมาอีก บางแห่งอัตราค่าจ้างรายวันอยู่ที่เพียง 70 บาท กลุ่มทุนไทยจึงเริ่มดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นใกล้ชายแดน เพื่อรองรับทุนไทยเป็นหลัก (โพสต์ทูเดย์ 25 มีค. 56)
ทั้งหมดนี้เป็น เพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการลงทุนแบบข้ามชาติของบรรดานักธุรกิจไทย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการขยายตัวสู่ประเทศตะวันตกของทุนใหญ่อีกหลายเจ้า ซึ่งแรงจูงใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงราคาถูก เท่ากับการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดสินค้าระดับโลก
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุนข้ามชาติกับทุนทิ้งชาติแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน และมันคงเป็นเรื่องยากสิ้นดีที่จะเห็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำหน้าที่ช่วยลด ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหรือช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แม้แต่เสรีภาพในจินตภาพของระบบนี้ก็ดูจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการค้าการลงทุน เสรี ตลอดจนการบริโภคเสรีเท่านั้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้แล้ว ผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นนายทุน (ทั้งทุนไทยและต่างชาติ) จึงไม่อาจถูกรัฐใช้เสื้อคลุมชาตินิยมมาปกปิดได้ง่าย ๆ เหมือนเดิม ขณะเดียวกันเสื้อคลุมรัฐชาติก็หลุดลุ่ยเองด้วย เพราะรัฐกำลังกลายเป็นทั้งพนักงานประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่รักษาความ ปลอดภัยให้ระบบทุนเท่านั้น
อันที่จริง นี่ไม่ใช่สภาพที่เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว หากเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งเกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตกด้วย
โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลยืนยันว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์กำลังสร้างความ เหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วขึ้นในสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย
เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเมืองอเมริกันซึ่งเป็นประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลก กำลังถูกบิดเบือนให้กลายเป็น ‘ระบบหนึ่งดอลล่าร์หนึ่งคะแนน’ แทนที่จะเป็นไปตามหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงดังที่เคยเป็นมา ประชาชนคนส่วนใหญ่แทบไม่สามารถกำหนดเส้นทางเดินของประเทศได้เลย เพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนและพวกที่ถือครองความมั่งคั่งสูงสุด (โจเซฟ สติกลิตซ์/ สฤณี อาชวานันทกุล แปล/ ราคาของความเหลื่อมล้ำ/ 2556 น.225-260)
พูดก็พูดเถอะ ในระยะหลัง ๆ ถ้ารัฐบาลมีท่าทีจะปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบถึงพวกเขา เศรษฐีอเมริกันก็พร้อมจะใช้ไม้ตาย ด้วยการโอนไปถือสัญชาติอื่น เฉพาะครึ่งปีแรกของ 2556 พวกเขาก็ทำเช่นนี้เกือบ 2 พันคน และเมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 2 ของปีนี้กับปีก่อน จำนวนเศรษฐีทิ้งสัญชาตินับว่าเพิ่มขึ้นถึง 6เท่า เนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลพรรคเดโมแครต ( โพสต์ทูเดย์ 12 สค.56) สำหรับเรื่องนี้ พฤติกรรมของเศรษฐีในประเทศแถบยุโรปก็ไม่ต่างกัน
แน่ละ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ผมคิดว่านายทุนใจดีที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบย่อมมีอยู่ แต่ถ้าพูดโดยภาพรวมของทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้ว ก็คงต้องสรุปว่ามันเป็นระบบที่หากปล่อยไว้โดยลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
ดังนั้น ผลกระทบจากทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อประเทศไทยจึงมีนัยยะทางการเมืองอย่าง ใหญ่หลวง มันหมายถึงว่าในด้านหนึ่งเราจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองมาแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจ ที่แก้ไขตัวเองไม่ได้ และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องแก้ไขปมเงื่อนทางการเมืองที่โลกาภิวัตน์มาผูกมัดไว้ ด้วย ทั้งสองด้านนี้บางทีอาจจะต้องสะสางไปพร้อม ๆ กัน
ถามว่าแล้วอันใดเล่าคือคือปมปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยม แบบข้ามชาติ และกระบวนการทางการเมืองแบบไหนบ้างที่จะช่วยคลายปมเหล่านั้น ต่อเรื่องนี้ผมคิดว่าเราอาจพิจารณาได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน
ในระดับรัฐ (state level) เราควรตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นรัฐชาติของไทยว่างเปล่าขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพลังอำนาจจากนอกประเทศเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐไทยได้ในสัด ส่วนที่สูงมาก อีกทั้งตลาดก็กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐเข้าไปแตะต้องไม่ได้
การเลื่อนไหลเข้าออกของทุนและแรงงานทำให้จินตภาพความเป็นชาติเจือจางขึ้น ทุกที นายทุนต่างชาติเข้ามาถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยในสัดส่วนมหาศาล ขณะที่ผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนนับล้านก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผม ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หากอยู่ที่การกลบเกลื่อนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยวาทกรรมที่หมดสมัย
เช่นเดียวกับเรื่องชนชั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดกันตรง ๆ ว่ารัฐไทยไม่เหมือนเดิม และสังคมไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน มันไม่ได้เป็นก้อนเดียวโดด ๆ อีกทั้งไม่ได้ประกอบด้วยคนไทยล้วน ๆ เราจะจัดที่จัดทางให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันอย่างไรยังเป็นเรื่องที่จะ ต้องศึกษาค้นคว้า แต่ที่แน่ ๆ คือรัฐไม่ควรอ้างว่าผลประโยชน์ของทุนเป็นผลประโยชน์ของชาติอีก
ในยุคที่ช่องว่างทางชนชั้นถ่างห่าง จินตภาพเรื่องส่วนรวมพร่ามัว รัฐไทยยิ่งจำเป็นต้องขยายบทบาทในการบริหารความเป็นธรรม ทั้งสังคมและรัฐจึงจะอยู่รอดได้ และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้บางทีรัฐอาจจะต้องยอมปรับโครงสร้างอำนาจของตนเอง โดยกระจายอำนาจสู่หัวเมืองต่างจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อว่าประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้มีเครื่องมือมากขึ้นในการคุ้มครองอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของพวกเขา ก่อนที่โลกาภิวัตน์จะถอนรากถอนโคนทุกสิ่งทุกอย่าง
อันดับต่อมา ในระดับระบอบการเมือง (regime level) ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกคว้านไส้ออกไปหลายเรื่อง เพราะนโยบายหลักหลายอย่างกลายเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นในหลาย ๆ กรณีเจตจำนงของประชาชนจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้นำการเมืองตอบสนองไม่ได้
พูดอีกแบบหนึ่งคือ กลไกตลาดเสรีกำลังทำให้เนื้อในของระบอบประชาธิปไตยว่างเปล่า เพราะผู้มีอำนาจต่อรองสูงในตลาดย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของศูนย์อำนาจ มากกว่าปวงชนซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทิศทางการจัดการสังคมของกลไกตลาด ไม่ได้สอดคล้องกับเสียงของประชาชนเสมอไป กระทั่งเป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนอยู่โดยอ้อม
เรียนตรง ๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรมองเห็นว่าเป็นปัญหา มิฉะนั้นแล้วจะเท่ากับช่วยกันสร้างภาพลวงตาว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรี นิยมใหม่ ประชาชนสามารถกำหนดได้ทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายพื้นฐานได้เลย แม้แต่ผู้นำการเมืองก็ยังต้องคอยเสาะหาช่องเล็กช่องน้อยคิดนโยบายที่ไม่ขัด แย้งกับตลาด หรือไม่ขัดใจทุนนิยมโลก ออกมาเป็นนโยบายหาเสียง แทนที่จะคิดถึงนโยบายใหญ่ ๆ ที่เป็นทางเลือกเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น ประเทศไทยคงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียว ไม่ได้ หากต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะพลังทั้งสองส่วนต่างก็มีปัญหากับทุนนิยมโลกไปคนละแบบ และมีแรงจูงใจสูงที่จะอาศัยมาตรการทางการเมือง
สำหรับฝ่ายแรกนั้นมักประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่ต้องการอยู่นอกตลาดเสรี ส่วนฝ่ายหลังแม้จะเป็นชนชั้นที่ต้องอยู่กับตลาดแต่ก็อยู่อย่างเสียเปรียบ ปราศจากอำนาจต่อรอง ด้วยเหตุดังนี้ ฝ่ายหนึ่งจึงเรียกร้องพื้นที่จัดการตัวเอง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพื้นที่ในกระบวนการกำหนดนโยบาย
ต่อไป เรามาพูดกันถึงผลกระทบของโลกภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล (government level) ในระดับนี้ ความยากลำบากที่สุดอยู่ที่บทบาทการเป็นผู้นำประเทศ หรือผู้นำของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้เนื่องจากกรอบอ้างอิงเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมแบบเก่าเริ่มใช้ไม่ได้
เศรษฐกิจไร้พรมแดนทำให้ผลประโยชน์ต่างชาติกับของคนในประเทศไม่มีเส้นแบ่ง อีกต่อไป ขณะที่ผลประโยชน์ของชนชั้นที่ได้เปรียบก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของชนชั้นที่ เสียเปรียบ ยังไม่ต้องพูดถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชาชนในอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งทำให้ยากต่อการเหมารวมว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อคนไทยทุกคน
ในเมื่อรัฐบาลขาดข้ออ้างที่ทุกฝ่ายยอมรับ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารย่อมถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตฉันทานุมัติ (Political Consensus) อย่างต่อเนื่อง มวลชนจำนวนมหาศาล และหลายหมู่เหล่า เริ่มเห็นว่ารัฐไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเชื่อฟังกันโดยปราศจาก เงื่อนไข ดังนั้นจึงพร้อมจะกดดันรัฐบาลให้ค้ำประกันผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวก เขา
ตามความเห็นของผม วิธีแก้ไขสภาพดังกล่าวไม่อาจเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยราษฎรก้อนเดียวที่รักกันอยู่ ตลอดเวลา และใครก็ตามที่มีบทบาทนำพาประเทศจะต้องเลิกอ้างอิงผลประโยชน์แห่งชาติแบบลอย ๆ เพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางชนชั้นเสียที เพราะถึงอย่างไรก็ปิดไม่มิดอยู่แล้ว
อันที่จริงผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของนายทุนก็มีส่วนทำให้ชนชั้นล่าง ๆ ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะเรียกร้องผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาข้าว ราคายาง หรือค่าชดเชยเรื่องมลภาวะ พูดกันง่าย ๆ คือไม่มีใครยอมอ่อนข้อ หรือเสียสละเพื่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป
ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าปีนี้มีการชุมนุมของ ประชาชนไทยมากกว่า 3,000 ครั้ง และในจำนวนนั้นเป็นการประท้วงหรือเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจปากท้องถึง 1,939 ครั้ง ที่เหลือเป็นเรื่องการเมือง (ไทยรัฐ 8 ตค.56)
แน่ละ เราอาจตีความได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพของชาว ไทยในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับความเสมอภาคและความเป็นธรรมแล้วเห็นทีจะไม่ใช่ ข้อเท็จจริงคือผู้คนกำลังเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และไม่มีใครยอมรับความเดือดร้อนนี้โดยไม่ต่อสู้ดิ้นรน
ดังนั้น ผู้นำการเมืองที่ตื่นรู้จึงควรย้ายฐานความชอบธรรมของอำนาจไปสู่การสนองผล ประโยชน์รูปธรรมของประชาชนให้มากขึ้น ยอมรับว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทบริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ เกิดจากกลไกตลาด รวมทั้งต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่หลากหลายแตกต่างไม่เฉพาะในช่วงเสียง เลือกตั้ง หากตลอดช่วงที่อยู่ในอำนาจ และในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ
หากทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับแปรวิกฤตฉันทานุมัติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ผมต้องขออภัยที่ได้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ
วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น เพราะผมคิดว่าพวกเขามีโอกาสน้อยเกินไปในการพูดถึงความเสียเปรียบของตน
โดยสารัตถะแล้ว สิ่งที่ผมพูดก็ไม่ได้ต่างจากที่เคยพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่ได้หลุดไปจากความฝันเดือนตุลาคมที่หมุดประวัติศาสตร์กำลังจะจดจารึกไว้
เพียงแต่ว่าในวันนี้ บริบทที่เปลี่ยนไปของโลก ทำให้เราเห็นพ้องต้องกันน้อยลง
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปาฐก 40 ปี 14 ตุลา โชว์จุดยืน ปชต.
หมายเหตุ - นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา 16 ปาฐกถาในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ "เจตนารมณ์ 14 ตุลาคือประชาธิปไตย? จัดโดยคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"...ผมเองในฐานะปัจเจกบุคคลอาจจะมองปัญหาดังกล่าวได้ไม่ครบถ้วน แต่เท่าที่มองเห็นอยู่บ้างผมคิดว่าอุปสรรคใหญ่ของประชาธิปไตยน่าจะมาจากเหตุปัจจัย 3 อย่างที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน
ปัจจัยที่หนึ่งคือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ปัจจัยต่อมา ได้แก่ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนปัจจัยที่สาม มาจากสภาพที่กำลังของฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา
ผมได้เรียนไว้แล้วว่าเหตุปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ดังนั้นคงต้องขออนุญาตใช้เวลาเพิ่มในประเด็นนี้สักเล็กน้อย
กล่าวโดย สัมพัทธ์ เราคงต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นความคิดทางการเมืองและระบอบการเมือง ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศที่มีอายุหลายร้อยปีอย่างประเทศไทยดังนั้น แม้ว่าประชาธิปไตยจะสะท้อนจิตวิญญาณของยุคสมัยและขั้นตอนที่สูงขึ้นของ พัฒนาการทางสังคม แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่จะต้องแตกหน่อผลิใบบนผืนดินที่เต็มล้นไปด้วย อำนาจเก่าความคิดเดิม
พูดง่ายๆก็คือประชาธิปไตยจะเติบใหญ่ขยายตัวไม่ได้เลย หากไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่มาจากความคิดอื่นและอำนาจอื่น
ขณะเดียวกัน ทั้งผู้พิทักษ์แนวคิดเดิมและชนชั้นปกครองที่มีมาแต่เดิม ก็ย่อมดิ้นรนต่อต้านเพื่อรักษาพื้นที่ของตน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของประวัติศาสตร์สังคม
ดังนั้น ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งผูกพ่วงมาด้วยการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนที่รักอิสระเสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ต้องหลั่งเลือดพลีชีพครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน
ถาม ว่าแล้วทำไมชนชั้นนำที่มีมาแต่เดิมจึงไม่ยอมเปิดทางให้ประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งๆ ที่การต่อต้านของฝ่ายประชาชนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบอบอำนาจนิยมเป็น สิ่งล้าหลังทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้สมัยนี้การบังคับบัญชาราษฎรจากข้างบนลง มา นอกจากจะหักล้างศักดิ์ศรีความเป็นคนของพลเมืองแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก
คำตอบมีอยู่ว่า นอกจากต้องการรักษาสัดส่วนในพื้นที่อำนาจที่พวกเขาคิดว่าควรเป็นของตนแล้ว ชนชั้นนำเก่ายังมีชุดความคิดที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้องกว่าประชาธิปไตยด้วย หรืออย่างน้อยก็ถูกต้องกว่าประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์
ยิ่งไปกว่านั้น เราคงต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังประกอบด้วยมวลชนจำนวนไม่น้อยที่สมาทานชุดความคิดแบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม กระทั่งชาตินิยมที่คับแคบและแยกออกจากประโยชน์สุขของประชาชน
แนวคิดทั้งปวงนี้ บางด้านก็ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็มีบางด้านที่ขัดแย้งกับชุดคุณค่าของประชาธิปไตยในระดับประสานงาน และมักเป็นแนวคิดที่ถูกผลิตซ้ำอย่างตั้งอกตั้งใจ กระทั่งถูกเสริมขยายเป็นพิเศษหลังรัฐประหารทุกครั้ง
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ แทนที่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยจะตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับมัน... วัฒนธรรมที่เน้นย้ำเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม... การณ์กลับกลายเป็นว่าประชาธิปไตยไทยยังไม่มีฐานวัฒนธรรมที่เหมาะสม คอยเกื้อหนุนและห้อมล้อมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น นี้แล้ว มันจึงมีความเป็นไปได้อยู่ตลอดเวลาที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำ การเมืองบนเวทีประชาธิปไตยจะถูกกล่าวหาว่า"มีความผิดทางวัฒนธรรม" ทั้งๆ ที่บางเรื่องอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการบ้านเมือง
ในขณะเดียวกัน มันก็มีความเป็นไปได้เสมอ ที่มวลชนผู้ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมเก่าจำนวนไม่น้อยจะออกมาเรียกร้องให้โค่นรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบบ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ออกมาต้อนรับรัฐประหาร โดยไม่คำนึงถึงผลเสียในระยะยาว
แน่ละสิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าประชาธิปไตยมีพลังรองรับอย่างแน่นหนาคงเส้นคงวา เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และมีความซับซ้อนอยู่พอสมควร
การที่เหตุการณ์ อย่าง 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นได้ หรือเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 เกิดขึ้นได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจนั้นมีมากพอที่จะ ผลักลัทธิอำนาจนิยมให้ถอยร่นออกไปแต่การจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ นั้นยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขที่มากกว่านี้
พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ประชาธิปไตยไทยจำเป็นต้องมีฐานกำลังทางสังคมที่พร้อมแบกพันธะในการพิทักษ์ รักษาและสร้างเสริมความมั่นคงในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่มิฉะนั้น ก็อาจตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถดถอยได้อีก
ถามว่า แล้วชนกลุ่มไหนเล่าที่พร้อมจะทำหน้าที่ดังกล่าว?
ช่วงหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคมชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเคยมีพลังทางการเมืองมหาศาล แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ขบวนกรรมกรได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก
ทุกวันนี้คนงานในระบบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ1 ทั้งนี้เนื่องจากการจัดตั้งสหภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ผู้นำคนงานมักถูกนายทุนกลั่นแกล้งกีดขวางไม่ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และมักถูกปลดออกจากงานกระทั่งถูกคุกคามทำร้าย โดยมีฝ่ายรัฐยืนอยู่ข้างฝ่ายทุนเสมอมา
ดังนั้น ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและไร้การจัดตั้งเป็นส่วนใหญ่ มันคงไม่ง่ายนักจะที่ชนชั้นกรรมกรจะกลับมาเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยในระยะใกล้ๆ ต่อไป เราลองหันมามองพลังนักศึกษาบ้าง
ในอดีตนักศึกษาและปัญญาชนก็เคยเป็น กองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่แห่งเสรีภาพให้กับประชาชนผู้ ทุกข์ยากหมู่เหล่าต่างๆแต่หลังการปราบปรามกวาดล้างในปี 2519 มหาวิทยาลัยก็ถูกอำนาจรัฐและพลังอนุรักษนิยมดัดแปลงให้เป็นแค่โรงเลี้ยงเด็ก ของคนชั้นกลาง
ยิ่งมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งประกอบด้วยระบบการค้าเสรีและการบริโภคเสรีสังคมไทยก็ยิ่งเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทำให้ลักษณะของประชากรในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปด้วย
พื้นที่ใน มหาวิทยาลัยหลักถูกยึดครองโดยบุตรหลานของผู้มีรายได้สูงซึ่งมีความใฝ่ฝันใน ชีวิตกระเจิดกระเจิงและกระจัดกระจายไปตามจินตนาการส่วนตัว มากกว่าที่จะมีสายใยใดๆ กับสังคมต้นกำเนิด และยิ่งไม่มีสำนึกผูกพันกับชนชั้นผู้เสียเปรียบ
ดังนั้น ในวันนี้ เราจึงพูดได้ว่าประเทศไทยไม่มีขบวนนักศึกษาในความหมายดั้งเดิม
ในอดีต คนชั้นกลางในเมืองเคยสร้างคุณูปการใหญ่หลวงในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ไม่ว่าในปี 2516 หรือ 2535 พวกเขาล้วนเป็นกำลังหลักในการต่อต้านเผด็จการ น่าเสียดายที่มาถึงวันนี้
คนชั้นกลางดั้งเดิมกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษนิยม จากพลังที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า กลายเป็นชนชั้นที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ตรงจุดที่ตัวเองได้เปรียบในทุกด้าน
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเน้นการส่งออกและการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับคนชั้นกลางมากกว่าเดิมหลายเท่า ขณะเดียวก็แยกห่างชีวิตของพวกเขาออกจากส่วนที่เหลือของสังคม
ดังเราจะเห็นได้จากตัวเลขการถือครองทรัพย์สินซึ่งระบุว่าคนรวยสุดจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประชากรไทยมีทรัพย์สินมากกว่าคน 20 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ข้างล่างถึงเกือบ 70 เท่า (สฤณี อาชวานันทกุล/ ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา/ 2554 น.45)
ความแตกต่างห่างไกลกันในฐานะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ นับวันยิ่งทำให้คนชั้นกลางเก่ามีวิถีชีวิตตลอดจนโอกาสในชีวิตเหนือกว่าคนไทยอีกจำนวนมหาศาล และมันได้ตัดเฉือนความสัมพันธ์ที่พึงมีระหว่างพวกเขากับชนชั้นอื่นๆ ที่เสียเปรียบ...
...อย่างไรก็ตาม การเติบใหญ่ขยายตัวของทุนนิยม
โลกาภิวัตน์ ไม่ได้เปลี่ยนฐานะและโลกทรรศน์ของคนชั้นกลางในเมืองแต่ฝ่ายเดียว หากยังกวาดต้อนผู้คนอีกจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในหัวเมืองต่างจังหวัดและในชนบทเข้ามาไว้ในกรอบทุนนิยมด้วย ซึ่งทำให้พวกเขามีฐานะทางชนชั้นและวิธีคิดต่างไปจากเดิมเช่นกัน
นักวิชาการชั้นนำหลายท่านได้ยืนยันตรงกันว่าในระยะหลังชนบทไทยเปลี่ยนไปมากและเกิดการแบ่งตัวทางชนชั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือนอกเหนือจากการอพยพเข้ามาขายแรงงานหรือประกอบอาชีพอิสระในเมืองแล้ว ชาวนาชาวไร่อีกจำนวนมหาศาลยังได้เปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรแบบเก่ากลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งผลิตเพื่อขายและกลายเป็นผู้เล่นอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดทุนนิยม
แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้ว่าคนชั้นกลางใหม่หรือชนชั้นกลางในชนบทเหล่านี้จะไม่ได้มีฐานะยากจนในความหมายสัมบูรณ์ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับข้อเสียเปรียบนานัปการในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดราคาผลผลิต การเข้าถึงเงินทุน การเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ หรือโอกาสยกระดับครอบครัวโดยผ่านการศึกษาของบุตรหลาน
พูดง่ายๆ คือ ทั้งๆ ที่มีจำนวนมหาศาลและมีคุณูปการชัดเจนต่อกระบวนการผลิตในประเทศไทย แต่พี่น้องเหล่านี้ก็กลับเป็นชนชั้นที่ถูกมองข้าม หรือไม่มีตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของชนชั้นนำและชนชั้นผู้ได้เปรียบ
ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พวกเขาจะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประกาศการดำรงอยู่ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้จะต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดเสรี ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นตน
อันนี้นับเป็นข่าวดีจากมุมมองของประชาธิปไตย เพราะใครเล่าจะต้องการเสรีภาพเท่ากับผู้คนที่อยากบอกโลกว่าพวกเขามีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ใครเล่าจะต้องการระบอบนี้เท่ากับผู้คนที่แสวงหาความเสมอภาคและความเป็นธรรม
ในฐานะผู้ผ่านศึก 14 ตุลาคม ผมเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านี้ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เดียวกันกับการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน เพียงแต่ว่าบริบทของยุคสมัยอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง
แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว มันก็คือการผูกโยงประชาธิปไตยเข้ากับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า สังคมที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแก่นแท้ของปรัชญาประชาธิปไตย
แน่ นอน มันเป็นเรื่องธรรมดาทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นเกิดใหม่จะต้องขอแบ่งพื้นที่ ทางการเมืองในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่และเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเช่น กันที่ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมนำไปสู่การปะทะขัดแย้ง เพราะชนชั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจและผลประโยชน์เดิมคงไม่ยอมสูญเสียฐานะได้ เปรียบไปโดยง่าย
ปัญหามีอยู่ว่าพลังใหม่ที่กล่าวมาข้างต้นจะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยได้เพียงใด และอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่ากับในอดีต
กล่าวสำหรับการยืนหยัดพิทักษ์ประชาธิปไตยนั้น ผมเชื่อมั่นว่าชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมืองหลวง ตลอดจนบรรดาปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจ คงจะยืนอยู่ในจุดนี้ไปอีกนาน ด้วยเหตุผลเรียบง่ายคือพวกเขาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น
พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเสียเปรียบทางชนชั้นอันเนื่องมาจากโครงสร้างทุนนิยมนั้น ไม่อาจแก้ไขหรือชดเชยได้ด้วยวิธีอื่น นอกจากจะต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้เสียเปรียบด้วยวิธีการทางการเมือง
ด้วย เหตุดังนี้เวทีประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ขาดมิได้สำหรับคนเล็กคนน้อยเพราะ นั่นเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวที่คนเหล่านั้นสามารถแสดงตัวตน สามารถมีทางเลือกในระดับนโยบาย และสามารถอาศัยสิทธิพลเมืองสนับสนุนผู้แทนทางการเมืองที่ขานรับความต้องการ ของพวกเขา
อันที่จริง ความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวเท่ากับช่วยชุบชีวิตให้กับระบบรัฐสภาไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มักถูกออกแบบให้อ่อนแออย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้สอดคล้องกับอำนาจการนำของชนชั้นนำที่มาจากภาคราชการ
ในอีก ด้านหนึ่ง ความเคลื่อนไหวในรูปขบวนการของชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดก็กดดันให้พรรค การเมืองที่เคยจำกัดตัวอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆให้หันมาเดินแนวทางมวลชน มากขึ้น แม้จะยังไม่ใช่พรรคมวลชนในความหมายที่เต็มรูป แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญของประชาธิปไตย
จะว่าไป ความเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านั้นนับว่าต่างจากการเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เนื่องจากในด้านหนึ่งพวกเขายังต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบสุด สภาพดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องเกาะติดและต่อรองกับการเมืองภาคตัวแทน เพื่อจะได้อาศัยนโยบายของรัฐมาช่วยคุ้มครองและถ่วงดุลข้อเสียเปรียบ
ในทางตรงกันข้าม กำลังของฝ่ายการเมืองภาคประชาชนฉบับเดิมมักมาจากกลุ่มชนที่อยากถอยห่างจากตลาดเสรี พวกเขาต้องการบริหารจัดการชีวิตเรียบง่ายของตัวเองในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทำกินอยู่ในตลาดเล็กๆ ที่ควบคุมได้ โดยปราศจากการแทรกแซงทั้งของฝ่ายรัฐและทุนใหญ่
ด้วยเหตุดังนี้ประชาธิปไตยในสายตาของขบวนการเมืองภาคประชาชนจึงมักเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ
และการจัดสรรทรัพยากรรวมทั้งการลดบทบาทการเมืองแบบตัวแทนควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่สำหรับประชาธิปไตยทางตรง
ตามความเห็นของผมการเมืองของคนเล็กคนน้อยทั้งสองกระแสนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังประชาธิปไตย และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน ทั้งนี้เนื่องเพราะจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายคือไม่ต้องการระบอบอำนาจนิยม และต่างก็ฝันถึงอิสรภาพจากการถูกครอบงำ ฝันถึงความเป็นธรรมที่ตัวเองพึงได้รับ ตลอดจนฝันถึงชีวิตที่ไม่ถูกละเมิดล่วงเกิน
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าความตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทนั้น แม้จะสำคัญมากสำหรับการขยายตัวของประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ขยับไปสู่ขั้นตอนใหม่ได้ ถ้าหากไม่มีปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งอุบัติขึ้นในเวลาที่ประจวบเหมาะกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แก่การเกิดขึ้นของกลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยมโลกในยุคไร้พรมแดน ชนชั้นนำของกลุ่มทุนนี้ก็มีปัญหาคล้ายชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด คือต้องการพื้นที่ทางการเมืองที่พวกเขาคิดว่าสมควรจะได้รับ และหนทางเดียวที่พวกเขาจะเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์อำนาจ คือต้องอาศัยเวทีประชาธิปไตย
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้แล้ว จุดหมายของทั้งสองฝ่ายจึงมาบรรจบกัน และกำลังทางสังคมทั้ง 2 ส่วน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วต่างกันอย่างยิ่ง ได้กลายเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล
กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งได้ก้าวขึ้นกุมอำนาจและมีบทบาทในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับนโยบายที่ตอบสนองปัญหาของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดราคาผลผลิตทางเกษตร การเข้าถึงเงินทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ตลอดจนสวัสดิการด้านต่างๆ อีกหลายอย่าง
พูดกันตามความจริง ปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตยกินได้นั้นก็ไม่ใช่ความฝันใหม่แต่อย่างใด มันมีมาตั้งแต่ช่วงการต่อสู้ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาปัญญาชนผนึกกำลังกับกรรมกร ชาวนา เรียกหาค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม และที่ดินทำกินสำหรับผู้หว่านไถ
แต่ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในระบบรัฐสภาไทย เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีผู้สิทธิเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองจริง และเป็นครั้งแรกที่นโยบายของพรรคการเมืองเป็นสิ่งจับต้องได้ เกิดผลเป็นรูปธรรม แทนที่จะเป็นแค่สัญญาลมๆ แล้งๆ เหมือนที่ผ่านมา
แน่ละคนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลายประการ แต่สิ่งนี้ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าโดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่องของนโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นๆ ถ้าไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย คงต้องนับเป็นเรื่องรอง
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความผิดพลาดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังควรแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย
แต่ก็อีกนั่นแหละ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียผลประโยชน์ ดังนั้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 สถานการณ์เช่นนี้จึงบ่มเพาะความขัดแย้งขึ้นมาในสังคมไทยอย่างคาดไม่ถึง และในที่สุดก็ได้นำไปสู่รัฐประหารในปี 2549...
...ถามว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยเองก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน ทำไมเราจึงต้องพบกับวิธีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ถอยหลังเข้าคลองขนาดนั้นอีก
แน่ นอน ความผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลใน พ.ศ. นั้นมีอยู่จริงและสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในความเห็นของผม ความขัดแย้งหลักที่สุดคือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าที่สูญเสียฐานะการ นำกับชนชั้นนำใหม่ที่ขึ้นมากุมศูนย์อำนาจด้วยวิธีการที่ต่างจากเดิม
ความขัดแย้งดังกล่าวถูกทำให้แหลมคมขึ้นด้วยบรรยากาศความไม่พอใจรัฐบาลของกลุ่มทุนเก่าตลอดจนคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในเมืองหลวง ซึ่งในด้านหนึ่งรู้สึกหวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยกลุ่มทุนใหม่ และในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้ยึดถือหลักการประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวาเท่าใด ด้วยเหตุดังนี้ การก่อรัฐประหารครั้งนั้นจึงมีเงื่อนไขทางสังคมรองรับ
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหาร 2549 มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย
พวกเขามองข้ามการ มีอยู่ของมวลชนจำนวนมหาศาลที่ประกอบขึ้นเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและ คนชั้นกลางที่ค่อนไปทางล่างในเมืองซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลที่ถูกโค่น มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและคนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหน ระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามองไม่เห็นศักยภาพในการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมา กับระบบทุนโลกาภิวัตน์
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้แทนที่เรื่องจะจบลงง่ายๆด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามหลังมากลับยิ่งรุนแรงและซับซ้อนอย่างยิ่ง สังคมไทยแตกร้าวเป็นส่วนเสี้ยว ความขัดแย้งในประเด็นประชาธิปไตยได้ลุกลามสู่ระดับมวลชน และหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเมือง...
....ผมมีข้อเสนออยู่ 2-3 ข้อที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนด้วยมิตรภาพและความหวังดี ในเมื่อพวกท่านให้เกียรติเชิญผมมาพูด ผมก็จะพูดความในใจอย่างตรงไปตรงมา
ข้อแรก ผมอยากจะเรียนว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อพัฒนาระบอบการเมืองมิใช่เพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ
ดัง นั้นพลังประชาธิปไตยจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่แค่การพิทักษ์รักษารัฐบาล หรือพรรคการเมืองที่ตัวเองพอใจเท่านั้นยกเว้นในกรณีที่สถานการณ์บีบคั้นให้ การปกป้องรัฐบาลที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชน เป็นเรื่องเดียวกับความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตยโดยรวม
พูดให้ชัดเจนขึ้นคือ พลังประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย เพื่อให้กลไกของระบอบทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของระบบการเมืองที่เราเชื่อว่าดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุด
สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งมีอยู่หลายหมู่เหล่า และจำนวนไม่น้อยก็มักมีปัญหากับนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชาชนชายขอบที่ถูกการพัฒนาทอดทิ้ง และชุมชนท้องถิ่นที่มักได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐหรือการขยายตัวของทุน ตลอดจนนักวิชาการและปัญญาชนที่เห็นใจคนเหล่านั้น
ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่ศัตรูของประชาธิปไตย แม้บางครั้งจะขัดแย้งกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบ และเสริมการทำงานของระบอบในการแก้ปัญหาต่างๆ พวกเขาเป็นพลังประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะต่างไปจากพลังมวลชนที่เกาะติดประชาธิปไตยแบบตัวแทน
ดังนั้น ผู้รักประชาธิปไตยที่สังกัดพรรคทั้งหลายอาจจะต้องฝึกวางเฉยบ้าง เมื่อรัฐบาลที่ท่านเลือกถูกประชาชนกลุ่มอื่นคัดค้านหรือถูกวิจารณ์ในบางเรื่องบางราว หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นอีก หากท่านสามารถเข้าไปเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับระบบรัฐสภาได้ ก็จะต้องถือว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากทีเดียว
ข้อต่อมา ซึ่งผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยยังมีฐานะที่ไม่เสถียรนัก การขยายฐานทางสังคมของประชาธิปไตยจึงต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งในด้านหลักการและวิธีการ ขบวนประชาธิปไตยจึงไม่อาจอาศัยกำลังของชนชั้นเดียวมากำหนดเส้นทางเดินของบ้านเมืองได้ แม้ว่าชนชั้นดังกล่าวจะมีปริมาณสมาชิกมากพอที่จะควบคุมสนามการเลือกตั้ง แต่ถ้าพูดถึงเสถียรภาพของระบอบหรือเสถียรภาพของประเทศแล้ว ฐานทางสังคมแค่นี้ยังถือว่าไม่พอ
พูดอีกแบบหนึ่งคือผู้รัก ประชาธิปไตยยังต้องขยายแนวร่วมทางการเมืองออกไปให้ครอบคลุมอีกหลายชนชั้นและ ชั้นชนทำให้ผู้คนหลายหมู่เหล่าที่สุดมองเห็นและยอมรับว่าพื้นที่ประชาธิปไตย เป็นของพวกเขาด้วย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าระบอบการเมืองนี้ดี และสมควรช่วยกันปกปักรักษา
แน่ละการสร้างแนวร่วมประชาธิปไตยในระดับที่กว้างขวางขนาดนั้น ย่อมหมายถึงการจับประเด็นปัญหาที่หลากหลายกว่าปัญหาของชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด หรือผู้ประกอบการรายย่อยในเมืองหลวง
ขบวนประชาธิปไตยควรต้องตอบโจทย์ของคนงานในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ขัดขวางข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมของคนชั้นกลางเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นความเดือดร้อนรวมหมู่ของพวกเขา
อันนี้จริงๆ แล้วก็เป็นประเด็นทางทฤษฎีด้วย ถ้าเรายอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองของปวงชน ก็คงต้องยอมรับต่อไปว่าในบางมิติประชาธิปไตยก็มิใช่อะไรอื่น หากเป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ทางชนชั้นและชั้นชน ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างหรือกระทั่งขัดแย้งกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาเวทีกลางเช่นนี้ไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะนองเลือดหรือรุนแรง
ข้อ ที่สาม ถ้าเรายอมรับว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นงานสร้างระบอบและการขยายพลัง ประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าเรา ก็คงต้องยอมรับว่าบรรยากาศที่ห้อมล้อมระบอบการเมืองจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอก จากบรรยากาศเสรีนิยม
อันที่จริงเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันในทางปรัชญาแต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะเกิดผลดี
เสรีภาพ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดและมีความแตกต่างทาง ด้านผลประโยชน์แต่เสรีนิยมอย่างเดียวก็ไม่อาจรวมพลังผู้คนหรือยึดโยงสังคม ไว้ได้ กระทั่งหมิ่นเหม่ต่อสภาวะแตกกระจายตัวใครตัวมัน
ส่วนประชาธิปไตยนั้น มีจุดแข็งอยู่ที่กระบวนการสร้างฉันทามติและการรวมพลังของคนจำนวนมากเพื่อ บรรลุเป้าหมายของส่วนรวมแต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ความแข็งกระด้างในจัดความ สัมพันธ์ระหว่างคนส่วนใหญ่กับปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มประชาชนที่เป็นเสียงข้างน้อย กระทั่งบางครั้งอาจจะลื่นไถลไปถึงขั้นลิดรอนสิทธิหรือล่วงเกินประชาชนได้
ด้วยเหตุดังนี้ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในโลกที่เจริญแล้วจึงดำเนินควบคู่มากับลัทธิเสรีนิยมทางการเมืองมาโดยตลอด และในเรื่องนี้ผมคิดว่าประเทศไทยก็คงต้องเดินหนทางเดียวกัน
การสร้าง ระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงมิได้อยู่ที่ตัวสถาบันการเมืองอย่างการ เลือกตั้งหรือรัฐสภาเท่านั้นหากสังคมไทยเองก็ต้องเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพด้วย ไม่มีระบอบการเมืองใดจะอยู่ได้โดยปราศจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกื้อกูล
กล่าวเช่นนี้แล้ว ผมจึงเห็นว่าขบวนประชาธิปไตยที่มีอยู่ควรจะต้องผลักดันบรรยากาศเสรีนิยมให้มากกว่าเดิม โดยแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างทรรศนะหรือพลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย กับทรรศนะหรือผู้คนที่แค่คิดต่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเกินกว่าจะต้องทะเลาะกัน
ที่ผ่านมาความแหลมคม ของความขัดแย้งทางการเมืองอาจจะทำให้บางคนด่วนแขวนป้ายใส่หมวกให้ผู้อื่น อย่างไม่เป็นธรรมหลายคนถือโอกาสหว่านถ้อยคำหยาบคายใส่ผู้คนอย่างไม่เลือก หน้า ซึ่งบางทีก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีต้นตอมาจากสภาพจิตส่วนตัวหรือปัญหาส่วนรวม
สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ในบางสถานการณ์แต่ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีขอบเขตก็จะเป็นผลเสียต่อบรรยากาศแห่งเสรีภาพ และมีแต่เพิ่มศัตรูให้ตัวเอง
ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา ผมขอยืนยันว่าการด่วนตัดสินคนด้วยข้อมูลที่ผิวเผิน หรือการด่าทอผู้อื่นด้วยสูตรสำเร็จต่างๆ นั้นไม่ใช่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของการต่อสู้ เพราะมันมีแต่สร้างความห่างเหินกับหมู่ชนที่ควรเป็นมิตร และโดดเดี่ยวขบวนประชาธิปไตย พวกเราคนรุ่นเก่าเคยมีบทเรียนมาแล้วในเรื่องนี้ และไม่อยากเห็นความผิดพลาดที่ซ้ำเดิม
แน่นอนการต่อสู้ทางความคิด จะยังมีอยู่ต่อไป ดังที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่มั่นคง มาจากวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่สอดคล้องกันด้วยเหตุนี้การโต้เถียงโต้แย้งกับ วัฒนธรรมอำนาจนิยมจึงเป็นสิ่งจำเป็น...
ที่มา : นสพ.มติชน
ส่องไม้ใต้ต้น 40 ปี "คนเดือนตุลา" "จาตุรนต์-วิทยา" 2 ผลิตผลบนทาง 2 สี
ย้อน กลับไป 40 ปีก่อน นักศึกษา-ประชาชนต้องสังเวยชีวิตริมถนนราชดำเนิน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ถือครองอำนาจเผด็จการทหาร
แม้ชัยชนะจะตกอยู่ที่ฝ่ายประชาชนแต่ 3 ปีถัดมา การเข้าล้อมปราบนิสิต-นักศึกษาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเผด็จการ - จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 หลายชีวิตต้องล้มตาย -หนีเข้าป่าถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์
หลังสิ้นเสียงปืน - ควันไฟ ผ่านกาลเวลาวันแล้ววันเล่า นักต่อสู้ทั้ง 2 เหตุการณ์ ถูกเล่าขานบอกต่อนามว่า "คนเดือนตุลา" เป็นเวลา 40 ปี "คนเดือนตุลา" ที่เคยถูกมองว่าเป็น "ฮีโร่" กลับถูกตั้งคำถามในเชิงลบ หลังจากหลายคนเลือกเดินบนเส้นทางการเมืองหลากสี หลายสาย
"จาตุรนต์ ฉายแสง" รมว.ศึกษาธิการ ที่อยู่ในหมวกพรรคเพื่อไทย - สีแดง
"วิทยา แก้วภราดัย" ที่อยู่ใต้ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ - สีฟ้า
อาจเป็นภาพตัวอย่างที่ฉายให้เห็นชุดความคิดที่แตกต่างข้างต้น"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับเขาทั้งคู่ เพื่อหาเหตุผลในวันที่ "คนเดือนตุลา"ต้องเดินแยกทาง
--------------------
วิทยา แก้วภราดัย
- สิ่งที่คนเดือนตุลาเรียกร้องเมื่อ 40 ปีก่อนมันผลิดอกออกผลอย่างไร
ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพที่เราเรียกร้องเมื่อ 40 ปีก่อนมันเบิกบานมาก มากเสียจนคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักคำนี้ แต่ถ้าคุณเริ่มสนใจเรื่องคนอื่นบ้าง คุณจะเริ่มเห็นความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีอยู่ คุณเริ่มจะเห็นว่า คุณเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน และการแสวงหาความดีกับอำนาจ คนชั่วกับคนมีศีลธรรม คุณจะเริ่มตัดสินใจยากขึ้นว่าควรจะศรัทธาใคร ผมเข้าใจว่าวันนี้ระหว่างคนดีกับคนมีสตางค์ เกินครึ่งก็ตัดสินใจแล้วว่าจะคบคนรวยมากกว่าคบคนดี
- นั่นคือผลพวงจากระบบทุนนิยม
สังคมจะเริ่มล่มสลาย คุณธรรมความดีก็เริ่มหาย สังคมไทยเกือบจะไม่มีคุณธรรมหลงเหลือ จากเคยภูมิใจประเทศไทยที่มีแต่รอยยิ้ม มีวัฒนธรรม มีศาสนา ปรากฏว่ากลายเป็นประเทศที่ไร้ระเบียบไร้วินัยที่สุด แม้แต่คุณธรรมก็ไม่รู้จัก
วันนี้มันเปลี่ยนไปเป็นคนละระบบ เผด็จการทหารมันล้มง่าย มันหน้าเดียวไม่มีอะไรซับซ้อน การยึดอำนาจปัจจุบันของรัฐ เขาทำธุรกิจเอง เป็นพ่อค้าในมือหมด ไม่ต้องรอใครมาวิ่งเต้น จัดสรรผลประโยชน์ลงตัวหมด มันไม่ง่ายที่จะล้มเขา เขามาจากระบบเลือกตั้ง คุณจะไปชี้ว่าเขาเป็นเผด็จการได้อย่างไร มันต้องเจอกับตัวเอง โดนทุบโดนตีและรู้ว่ารัฐบาลสั่งเอง ถึงจะบอกได้ว่าไอ้นี่ล่ะเผด็จการ
- เมื่อรู้ผลลัพธ์ ทำไมไม่ต่อสู้เหมือนในอดีต
(เงียบ) ผมคิดว่าคนเดือนตุลามันสลายไปกับกาลเวลา เส้นทางเดิน 40 ปีหลังเดือนตุลา ทุกคนก็เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แยกคนเดือนตุลาออกไปหลายสายด้วยกัน เพราะมันล่มสลายทางศรัทธา ไม่เหลือเลย คนจำนวนหนึ่งก็ผิดหวังกับศรัทธา ฉะนั้นระบบการเชิดชูคุณธรรม การเสียสละ มันใช้ไม่ได้กับโลกที่ต้องแข่งขันกันทุกวัน
- ทำไมคนเดือนตุลาถึงแตกกระจาย ทั้งที่เคยเอาชีวิตต่อสู้ร่วมกันมาเมื่อ 40 ปีก่อน
มันมีพัฒนาของแต่ละคน คุณลองกลับไปดูตั้งแต่เริ่มต้น เขาเริ่มต้นอย่างไร เขาพัฒนาอย่างไร คุณจะพบว่าเขาเริ่มเบี่ยงซ้ายทีละนิด จนวันนี้เขาเริ่มห่างกับคนที่เบี่ยงขวาทีละนิด มันไกลมาก และระยะเวลาทำให้คนสองกลุ่มห่างกันมาก
- ควรมองภาพคนเดือนตุลาอย่างไร
ขอให้มองที่จิตใจเขา จิตใจที่ต่อสู้ กล้าเสียสละเมื่อ 40 ปีก่อน อย่ามองเขาในวันนี้
- พวกเขายังเป็นฮีโร่หรือไม่
(สวนทันที) ต้องมองสิ แต่มองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ วันนี้คุณต้องศึกษาว่าเขาเป็นใคร แต่เราต้องเคารพเชิดชูจิตใจคนเดือนตุลาทั้งหมด ว่าเป็นคนหนุ่มสาวที่กล้าต่อสู้กล้าเสียสละ แต่วันนี้เวลาเปลี่ยน เขาจะกลายเป็นสิ่งที่ชำรุดทางประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ว่ากันไป
- บางคนเชื่อว่า 40 ปีที่ผ่านมาระบบเผด็จการยังอยู่ แต่เปลี่ยนสภาพจากพึ่งพาทหารมาพิงหลังคนดี
เอ่อ ผมคิดว่าสังคมมันพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยม และนายทุนจะเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในวันข้างหน้าผมก็ต้องลุกขึ้นสู้กับนายทุนพวกนี้
- ลุกขึ้นต่อสู้กับระบบหรือแค่กับคนบางกลุ่ม
ผมว่าทุนนิยมก็มีพัฒนาการของมัน แต่ทุนนิยมที่เข้ามาครอบงำการเมืองมันผูกขาดเกินไป เป็นระบบรัฐที่รองรับระบบทุนนิยม เมื่อ 40 ปีก่อนเราก็พูดถึงการต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างสหรัฐอเมริกา พูดถึงทุนนิยมผูกขาด แต่วันนี้เรากลับทำเป็นเฉยเมย
ขณะที่ระบบศักดินาที่เราลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงเมื่อ 40 ปีก่อน จะพบว่าวันนี้ที่ยังเหลือแต่เพียงโครงสร้างเชิงวัฒนธรรม ศักดินาในเชิงเศรษฐกิจเกือบหมดแล้ว ไม่มีการขูดรีดไถเงินคนเหมือนในอดีตแล้ว
- ยังต้องล้มระบบศักดินาที่ยังเหลืออยู่ตามอุดมการณ์ต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน
(สวนทันที) คุณจะไปล้มเอาอะไร ล้มโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมหรือ คุณล้มเพื่อเอาอะไร ในระบบทุนนิยมคุณหาสัญญะของเชิงคุณธรรมเจอหรือเปล่า คุณพอจะยกใครขึ้นมาเป็นตัวแทนของคุณธรรมได้หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่ากลุ่มศักดินาที่ยังเหลืออยู่เขาบอกได้นะครับว่า สัญญะของคุณธรรมในตัวแทนของเขาเป็นใคร
วันนี้มันมีระบบที่พัฒนาขึ้น เมื่อก่อนระบบที่ศักดินาจับมือกับทหารซึ่งล่มสลายไปแล้ว กากเดนสุดท้ายของเผด็จการที่เหลืออยู่คือ วันที่บิ๊กจ๊อด (พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) ปฏิวัติและให้สัมปทานแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) ซึ่งกลายเป็นกลุ่มทุนที่พัฒนาระบบขึ้นมาผูกขาดแทน
- 40 ปีก่อนมีประเด็นที่ทำให้คนทุกชนชั้นลุกขึ้นมาต่อสู้กว่า 5 แสนคน ในวันนี้ยังมีโอกาสเกิดขึ้นเช่นนั้นอีกหรือไม่
ผมว่าคำว่าสิทธิเสรีภาพ การต่อสู้ทางชนชั้นเป็นการต่อสู้ในวันที่คนกลุ่มหนึ่งถูกรังแก ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ และลุกขึ้นต่อสู้ 14 ตุลาเป็นตัวแทนของการต่อสู้ เมื่อนักวิชาการถูกคุกคามสิทธิ กลุ่มปัญญาชนถูกจับกุม ฉะนั้นรัฐบาลไหนก็ตามที่คุกคามสิทธิเสรีภาพ แสวงหาผลประโยชน์แต่พวกพ้อง ละเลยประชาชนส่วนใหญ่ ก็ต้องระวังสิ่งนี้
วันนี้คุณลองไปตีผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าทำเนียบสิ ไปล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมผลผลิตทางการเกษตรสิ ถ้าเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมว่ามีการลุกขึ้นประท้วงต่อต้านแน่ ผมว่าเรื่องของแพงคนทนได้ ประหยัดได้ เอาประชานิยมมาแหย่ไว้ได้ แต่ถ้าสิทธิเสรีภาพถูกกระทบเมื่อไร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพทันที
- วันนี้เห็นการสุกงอมในประเด็นนี้มากขึ้น
ก็มีมาเป็นระยะ ๆ ผมว่ามีมาตั้งแต่ท่าทีการสลายม็อบเสธ.อ้าย ท่าทีของรัฐบาลในการยุยงส่งเสริมให้เสื้อแดงรุมทำร้ายพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีในการสลายม็อบที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่สี่แยกควนหนองหงษ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงการสลายม็อบชาวบ้านที่เรียกร้องเรื่องน้ำท่วม
- เคยเป็นนักต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน เวลานี้เป็นนักการเมืองอยู่ในกลุ่มผู้ใช้อำนาจ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ในอดีตผมไม่ได้เรียกร้องคนเดียว การที่ผมเป็นนักศึกษา ผมไม่ได้ยืนทระนงอยู่คนเดียว ผมมาพร้อมเพื่อนมิตรมากมาย พร้อมประชาชนที่มีอารมณ์ร่วมเดียวกัน ผมก็เตือนหลายคนในวันนี้ว่าถ้าประชาชนยังชอบกันแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้นะ สังคมก็ต้องเดินแบบนี้
- ต้องรอให้ประชาชนมีอารมณ์ร่วมเดียวกันก่อน
มันต้องมีจุดเปลี่ยนแปลงก่อน ถ้าเขายังชอบแบบนี้จะให้ทำอย่างไร มีคนถามว่าทำไมไม่เกณฑ์คนมาช่วยม็อบต่าง ๆ ก็คนเขายังชอบอย่างนี้ ก็ยังชอบทักษิณกันอยู่จะไปยุ่งอะไรกับเขา (หัวเราะ)
-คิดอย่างนี้ดูใจร้ายเกินไป
(สวนทันที) พูดมากก็เป็นแค่ไอ้บ้าคนหนึ่ง ยกตัวอย่างคนที่พูดมากจนถูกกล่าวหาว่าเป็นแผ่นเสียงตกร่อง คือ นายชวน หลีกภัย พูดจนกลายเป็นคนแก่แผ่นเสียงตกร่อง แม้สิ่งที่ท่านพูดมากว่า 30 ปีจะเกิดขึ้นจริงในวันนี้ก็ตาม
----------------------------------
จาตุรนต์ ฉายแสง
- ทำไมคนเดือนตุลาถึงแตกกระจาย ทั้งที่เคยเอาชีวิตต่อสู้ร่วมกันมาเมื่อ 40 ปีก่อน
มันเป็นเรื่องพัฒนาการของสังคม เมื่อระบบสังคมนิยมพังทลายทุกคนก็อยู่ในสภาพกระจัดกระจาย ใช้ชีวิตของตนเอง เรียนรู้กันไปในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า หลังการต่อสู้เราไม่ได้คิดการใหญ่เหมือนพวกองค์กรปฏิวัติในลักษณะนั้น ในกระบวนการที่ว่ามานี้ทำให้เกิดประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นระบบทุนนิยม โดยไม่มีพลังออกมาต่อต้าน
- ในอดีตเคยร่วมต่อต้านระบบรัฐสภา แต่สุดท้ายท่านกลับยอมรับระบบนี้
ตรงนี้เป็นจุดต่างที่สำคัญของคนเดือนตุลา อิทธิพลความคิดสังคมนิยมในช่วงหลัง 14 ตุลา มันทำให้เราเคยปฏิเสธระบบรัฐสภา เห็นระบบเป็นเพียงเครื่องมือหรือเวทีที่ใช้เปิดโปงสิ่งต่าง ๆ รัฐสภาก็กลายเป็นโรงละครของชนชั้นนายทุน นั่นทำให้คนเดือนตุลาส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อแบบนั้น จนทุกวันนี้ก็ยังปฏิเสธระบบนี้แต่ปฏิเสธแล้วต้องการอะไรแทนที่ ผมว่ายังไม่ชัดเจนและที่เป็นเช่นนี้ อาจเพราะหลังเหตุการณ์เดือนตุลา การพัฒนาความคิด พัฒนาอุดมการณ์แบบรัฐสภา มันไม่เข้มแข็ง มันอ่อนแอ
คนที่ยังเชื่อแบบนั้น แต่ไม่มีสิ่งอื่นมาแทนที่ และไม่มีพัฒนาเท่าที่ควร จึงทำให้มีนักรัฐศาสตร์ นักสังคมไทยบางส่วนที่ยังคิดและพยายามผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยเต็มใบ โดยการยึดอำนาจกลับมา ทำให้มีรัฐธรรมนูญกลับมา และฝ่ายมีอำนาจ ที่ปัจจุบันเรียกว่าฝ่ายอำมาตย์ก็พยายามใช้รัฐธรรมนูญตรงนี้มาจำกัดอำนาจประชาชน
- หมายความว่าระบอบเผด็จการไม่ได้ล่มสลายไปเสียทีเดียว
นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มันเป็นความอ่อนแอของนักคิดทางด้านการเมืองการปกครอง หรือจะพูดโดยรวมก็ไม่รู้จะโทษใคร แต่ก็ไม่มีการปลูกฝังแนวความคิดนี้ สุดท้ายก็ไปยอมจำนนอยู่กับความคิดว่าต้องมีประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่บอกว่า การเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตย มันก็เป็นแนวคิดที่จะปฏิเสธอำนาจของประชาชน
- 40 ปีที่ผ่านมาระบบเผด็จการยังคงอยู่
จะเรียกอย่างนั้นก็ได้
- แนวคิดยึดอำนาจยังมีพลังมากกว่านักศึกษาที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าของประเทศ
นักศึกษาหรือคนเดือนตุลา จริง ๆ ก็เป็นส่วนน้อย และไม่ได้มีอิทธิพลในสังคมไทยเท่าใดนัก ไม่ว่าจะคิดแบบไหนหรือคิดต่างกันอย่างไร คนเดือนตุลาส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธระบบรัฐสภา และพร้อมที่จะสนับสนุนคนดี มองว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย จึงมีการสนับสนุนคนดี
นอกจากปฏิเสธในระบบรัฐสภา ยังมีเรื่องของทุนนิยมมาเกี่ยว แต่ก็ไม่มีกระบวนการต่อต้านระบบทุนนิยมที่ชัดเจน
ฉะนั้น ฝ่ายที่พูดถึงการต่อต้านทุนนิยมอยู่ก็เป็นลักษณะการต่อต้านทุนนิยมสามานย์ ลึก ๆ แล้วก็คือการต่อต้านนายทุนบางคนเท่านั้น เขาไม่ได้ต่อต้านระบบ
ขณะที่กลุ่มสุดท้ายก็ทำความเข้าใจว่าระบบทุนนิยมมันก็เป็นกันมานานแล้ว ก็คิดแต่ว่าจะสู้ต่อไปในระบบนี้อย่างไร ก็ตกผลึกว่า บ้านเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องยึดโยงกับประชาชน
- ซึ่งท่านจึงเลือกที่จะพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ในระบบทุนนิยม
(สวนทันที) ก็ไม่ใช่ว่าผมเลือก ความเข้าใจว่าระบบสังคมนิยมไม่ใช่ทางออก ก็เป็นความเข้าใจเรื่องนี้มาจะ 30 ปีแล้ว ระบบทุนนิยมมันก็มีมานานแล้ว มันเป็นของมันอยู่ ไม่ใช่ประเด็นว่าผมเลือกทุนนิยม
- แต่อีกปีกหนึ่งมองว่า ปีกพรรคเพื่อไทยกำลังรับใช้ทุนนิยมที่ผูกขาดอำนาจอยู่
ที่กล่าวหาว่าเราผูกขาดอำนาจ ผมว่ามันแปร่ง ๆ ระบบการเมืองที่ดีแต่ไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองคืออย่างไร ผมคิดว่าระบบที่มีพรรคการเมือง ระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบได้ มันมีหลักประกันกว่าที่จะมีการผูกขาดทางการเมือง โดยมีระบบที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนหรือระบบอำมาตย์เสียอีก
- เรายังเรียกพวกเขาว่าเป็นฮีโร่ได้หรือไม่
การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลายังคงเป็นหลักกิโล เริ่มต้นขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมไทยมีข้อสรุปอยู่ว่า ถ้าเป็นเผด็จการ ประชาชนจะทำอย่างไร และยังบอกเราว่า การรวมพลังเพื่อต่อสู้คัดค้านเผด็จการ มันไม่ใช่แค่ทำได้ แต่มันบอกว่า หากจะย้อนไปเป็นเผด็จการมาก ๆ พลังในสังคมก็จะไม่ยอม
พวกเขายังเป็นฮีโร่ในวันนั้น แต่ไม่ใช่วันนี้ วันนี้ก็คิดแตกต่างกันไปหมดแล้ว ไม่ใช่แค่ไม่ใช่ฮีโร่ หลายส่วนผมว่าเราถูกปฏิเสธ พูดแบบไม่ต้องพาดพิงใคร ก็มีหลายส่วนที่ไปสนับสนุนเผด็จการ ต่อต้านประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเยอะแยะ ดังนั้นไม่ใช่แค่ไม่ใช่ฮีโร่ แต่กลายเป็นผู้ที่ทำให้บ้านเมืองล้าหลัง ประชาชนขาดโอกาส ไม่มีอำนาจ เกิดระบบการปกครองที่ประชาชนไม่มีสิทธิ แล้วจะเรียกพวกเขาว่าฮีโร่อย่างไร
ฉะนั้น เมื่อเรียกคนเดือนตุลา คุณควรภูมิใจที่เป็นคนเดือนตุลามันไม่ได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เขาอาจจะประณามบางกลุ่มบางคนที่สนับสนุนเผด็จการอยู่ก็ได้
- ยังอยากให้เรียกตัวท่านว่าเป็นคนเดือนตุลาหรือไม่
ผมไม่อยากให้เรียกมานานแล้ว แต่จะขอลาออกจากการเป็นคนเดือนตุลาก็ไม่ได้ ไม่รู้ไปลาออกที่ไหน (หัวเราะ)
ธีรยุทธ บุญมี เปรียบ ทักษิณ “ขี้ขำ” อุจจาระที่ค้างคารูทวารการเมืองไทย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
นักวิชาการเสื้อกั๊กปาฐกถาเปรียบอดีตนายกฯ กลุ่มทุนกาฝาก เกาะกินรัฐบาล-คุมอำนาจรัฐ ภาษาเหนือเรียก “ขี้ขำ” อุจจาระที่ค้างคารูทวารการเมืองไทย สังคมไทยตกต่ำกลายเป็น “สังคมขี้ข้า” เสาะหาผู้อุปถัมภ์เส้นสาย เรื่องเสื้อเหลือง-เสื้อแดงไม่ใช่วิกฤต รอการแก้ไข ปัญหาทักษิณเป็นเรื่องธรรมาภิบาล กังขาแกนนำแดงไม่เสนอกระจายอำนาจลงสู่รากหญ้า
วันนี้ (14 ต.ค.) นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ปาฐกถาในหัวข้อ “ปณิธานประเทศไทย” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ทั้งนี้ยังได้เผยแพร่บทความ “เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ในชื่อ “40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” มีเนื้อหาดังนี้
“...มีคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำก็คือ “ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน” ที่แรงหน่อยก็ว่า “ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่” “อุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?”
ถ้าจะตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซึ่งเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษากว่าไทย ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดในปี 2516 ฟิลิปปินส์ซึ่งคุ้นเคยกับประชาธิปไตยมาก่อนไทย เพิ่งมาล้มล้างเผด็จการมาร์กอสได้ในปี พ.ศ. 2529 เกาหลีใต้ล้มเผด็จการทหารได้ในปี 2530 ปัจจุบันพม่ายังอยู่ใต้เผด็จการทหาร อินโดนีเซียยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่
ประการที่สอง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่พวกคณะราษฎร 2475 และ 14 ตุลา อัญเชิญมาจากฟากฟ้ามาประดิษฐาน แล้วประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่ม ต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้
ในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ทั้งขุนนาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ชาวบ้าน มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน
ในศตวรรษที่ 13 อัศวินและขุนนางอังกฤษต่อสู้ให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายสิทธิยอมรับและการสืบ ทอดมรดกเหนือปราสาทและที่ดินของตน ทำให้เกิดกฎหมาย Magna Carta ขึ้น ปัญญาชน บาทหลวงยุโรปจำนวนมากเผยแพร่ความคิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิธรรมชาติ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อต้านผู้นำที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ส่วนชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวนา ก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน การเลิกข้อจำกัดไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ ตัดฟืน การต่อสู้ให้เลิกล้มระบบไพร่ติดที่ดินของชาวนาในฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมัน ในศตวรรษที่ 14, 15, 16 การต่อสู้เพื่อประกาศถึงสิทธิในการชุมนุม เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก บางครั้งกองกำลังหลายพันคนถูกกวาดล้างจนหมดสิ้น เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วเช่นนี้ คนตะวันตกจึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย พยายามรักษาให้มันทำงานให้มันดำรงความเป็นระบบที่ดีเอาไว้ จนไม่มีทหารหรือนักการเมืองคนใดจะกล้ามาเบี่ยงเบนหรือบิดเบือน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง
แต่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน เป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง)
(ก) ในเรื่องอุดมการณ์ ข้อเท็จจริงก็คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจ ของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นั่นเอง
กลุ่มทุนดั้งเดิมของไทยนอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของ ตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่ เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
(ข) ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย (สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้ คนไทยนิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่องขี้ เช่น เรื่องนี้ขี้ปะติ๋ว ขี้ผง มองคนคนเต็มไปด้วยขี้จากหัวจรดเท้า เช่น ขี้หัว ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้เต่า ขี้เล็บ ขี้ตีน มองอุปนิสัยพฤติกรรมคนด้วย “ขี้” ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้เหร่ ขี้หลี ขี้อาย ขี้ดื้อ ขี้ตืด ขี้เหนียว ขี้กะโล้โท้ ขี้เป้ ขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ขี้ตัวะ ขี้จุ๊ มองฐานะคนด้วยคำว่า “ขี้” เช่น ขี้ข้า ขี้ครอก ขี้ทึ้ง ขี้ถัง ขี้โอ่ ขี้อวด ขี้อ่ง คนเลวทรามผ่าน “ขี้” เช่น ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้จาบ ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน)
ดังนั้น เมื่อกลุ่ม องค์กร สถาบันสำคัญๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมือง ไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น
ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน?
ความฝันที่ยังเหลือของ 14 ตุลา คนหนึ่ง
14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ ผมอยากจะหวังอย่างเดียวคือ จากโอกาสที่เสียไป 40 ปี ผมอยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกได้
1. สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณ หรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น
2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหาของมันมาแก้ไข การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหารพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ผิดพลาด ผู้ที่คิดจะแก้ไขโดยวิธีที่ไม่ใช้กฎหมาย เช่นจะนำเอาการเมืองมาแก้ไขก็ต้องพร้อมรับปัญหา หรือพวกที่จะนำเอารัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบเช่นกัน ทักษิณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบถ้าดึงดันใช้วิธีหักดิบ ไม่ยอมแก้ปัญหาไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เพราะทักษิณคือตัวปัญหา “ขี้ดัน” ของการเมืองไทย คนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกจะหงุดหงิดอย่างมาก คงจะออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากมายแน่นอน
3. นโยบาย “ประชานิยม” หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วย กันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
การมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง และซ้ำเติมปัญหาการไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยก็คือ การที่รัฐไทยโฟกัสปัญหาอยู่ที่การรักษาความเป็นชาติ หรือความมั่นคงของชาติอย่างผิดๆ ผิวเผิน หรือสุ่มเสี่ยงมากเกินไป คือ (ก) เน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและความเป็นชาติไทยในทุกๆ ด้าน (ข) การเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของศูนย์กลางนี้ในทุกๆ ด้าน คือพยายามอาศัยท่านให้เป็นใจกลางของความมั่นคงการเมือง เป็นใจกลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นใจกลางของคุณธรรม อย่างล้นเกินจนคล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่าง เป็นประวัติการณ์ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันว่า พระมหากษัตริย์อีหลายพระองค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป จะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร (ค) ทั้งสองประเด็นข้างต้นส่งผลให้ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์ของ ตัวเอง ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คับแคบมากที่สุด การสำแดงออกซึ่งสัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ก็อยู่ในลักษณะที่คับแคบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ก็เน้นศูนย์กลางและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อย่างล้นเหลือ ละเลยประวัติศาสตร์เชิงสังคมว่า ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวบ้าน แรงงาน ได้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองมาอย่างไร ละเลยประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ประวัติศาสตร์เชิงภูมิวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือชุมชน ฯลฯ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรับรู้เชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ของคนไทยก็คับแคบตามไปด้วย
ผลเสียร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถ้าเราจะลองถามตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นอกจากกรณีโจรจีนมลายูแล้วเรารับรู้อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความเจริญก้าวหน้า การอยู่ดีมีสุข หรือเป็นปัญหาคับคาใจ ที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คำตอบก็คือไม่มีเลย หรือเกือบไม่มีเลย ที่ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาความทุกข์ความสุข ความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทราม แต่เป็นเพราะกรอบความรับรู้อันคับแคบที่รัฐไทยได้ตีไว้จนไม่สามารถมีการสื่อ สารใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าเราจินตนาการว่า ได้มีการรับรู้ มีความชื่นชม จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม พูดจาปราศรัยกันด้วยภาษาไทยปนภาษายาวีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน มีภาพข่าวเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมภาคใต้ มีภาพสุเหร่า มัสยิด ภาพสถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภาพผู้หญิง ผู้ชาย ในเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของพวกเขา มีนิยาย ละคร เพลง ปรากฏในสื่อต่างๆ สม่ำเสมอตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทุกวันนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยก็ได้
การไม่ยอมรับส่งเสริมสิทธิอำนาจของชาวบ้านก็ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลว ร้ายลงไปอีก เพราะชุมชนและชาวบ้านไม่มีช่องทางใดๆ ที่จะโต้เถียงหรือแสดงออกได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะเพียงภาคใต้เท่านั้น คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้กับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคใต้ส่วนบนเอง เพราะทิศทางใหญ่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียนภิวัตน์คือการตื่นตัวทางอัต ลักษณ์ วัฒนธรรม ของผู้คนทั่วโลกผ่านทางข่าวสารและ Social network ต่างๆ ความสนใจใคร่รู้ การเดินทางท่องเที่ยว แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ย่อมเพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าอย่างทวีคูณ ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ จะได้ประโยชน์ก็ต้องรับรู้ รื้อฟื้น หรือสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมา นี่เป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจการลงทุนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเคารพกัน ชื่นชมกัน ให้การยอมรับกัน (recognition) อย่างแท้จริงของการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน
ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหา ประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ที่ชัดเจนก็คือการรัฐประหารไม่อาจมีขึ้นได้แล้วในประเทศไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีใครสนับสนุน ถึงแม้จะรัฐประหารโดยใช้กำลังได้ พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมไม่คิดว่าเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเดิม ที่จะสามารถนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมคิดว่าแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของนักการเมือง นักคิด NGOs และขบวนการรากหญ้าของภูมิภาคและท้องถิ่น หรือมีพวกเขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้
ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง
มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่งได้”
พิชาย" เห็นค้าน "เสกสรรค์" ชี้เสื้อแดงแค่กองเชียร์ "แม้ว" ไม่ใช่ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
"พิชาย" เห็นค้าน "เสกสรรค์" เทียบเสื้อแดงเป็น "ชนชั้นกลางใหม่" เชิดชูเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา ชี้ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคงเรียกร้องรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ แล้ว แต่นี่คอยแต่จะเชียร์พรรคเพื่อไทยแบบไม่ลืมหูลืมตา ส่วนที่เกลียดรัฐประหารก็เพราะกลัว "ทักษิณ" หลุดอำนาจแล้วอดได้ผลประโยชน์ ไม่ได้มีจิตสำนึกทางชนชั้นใดๆทั้งสิ้น
วันนี้ (14 ตุลา) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โฟนอินเข้าในรายการ "NEWS HOUR" ทางเอเอสทีวี กล่าวถึงปาฐกถาของ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา 16 ว่า ตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องชนชั้นกลางใหม่ ตนไม่ค่อยแน่ใจว่าชนชั้นกลางใหม่คือใคร แต่เท่าที่ฟังดูเหมือนว่าเป็นเกษตรกรที่อยู่ในชนบทกับผู้ใช้แรงงานบางส่วน ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นำมาใช้ในการตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน โดยที่เมื่อก่อนคนเหล่านี้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองท้องถิ่น แต่พอ พ.ต.ท.ทักษิณ มา ก็เปลี่ยนแปลงการอุปถัมภ์จากเดิมที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาเป็นอุปถัมภ์ โดยพรรคการเมือง กระทำตัวเป็นเจ้าอุปถัมภ์รายใหม่
นายพิชาย กล่าวต่อว่า พ.ต.ท.ทักษิร ใช้นโยบายเชิงอุปถัมภ์ใหม่ เพื่อให้เกิดสำนึกการพึ่งพาพรรคเพื่อไทยขึ้นมา ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แค่โยกเงินงบประมาณแผ่นดินมาช่วยเหลือชาวชนบทเหล่านั้น เพื่อให้เป็นฐานเสียงให้ตัวเอง
ทั้งนี้คำว่าชนชั้นกลางใหม่ เป็นคำที่ยืมมาจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้เรียกปรากฎการณ์เสื้อแดง แต่ในทัศนะตน คนเสื้อแดงที่มาชุมนุม มาจาการระดมโดยผ่านเครือข่ายพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเอง การที่ นายเสกสรรค์ บอกว่าชนชั้นกลางใหม่คือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง เสื้อแดงไม่ได้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ใดๆทั้งสิ้น เสื้อแดงไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจแต่อย่างใด ถ้าเป็นอย่างที่ นายเสกสรรค์ ว่า ตอนนี้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล พวกเสื้อแดงคงเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เช่นการกระจายอำนาจสู่ชนบท แต่เสื้อแดงก็ไม่ได้สนใจ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเสื้อแดงไม่ได้มีจิตสำนึกในแง่ชนชั้นเพื่อดึงผล ประโยชน์สู่กลุ่มตัวเอง เพียงแต่จะคอยแต่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ส่วนความรู้สึกไม่ชอบรัฐประหารก็เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ผูกพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พอคนที่ตัวเองชอบถูกทำให้หลุดจากอำนาจไปก็ไม่พอใจ ไม่ได้เป็นสำนึกทางชนชั้นใดๆทั้งสิ้น แล้วสาเหตุที่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เพราะเขาหยิบยื่นผลประโยชน์ไปให้ ผ่านนโยบายประชานิยม เลยเกิดความรู้สึกเสียดาย กลัวว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อยู่ จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ อีกด้านก็ถูกปลุกเร้าจากแกนนำเสื้อแดง ไม่ใช่เจตนารมณ์อะไรเลย
นายพิชาย ยังกล่าวต่อถึงปาถกฐาของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า อาจารย์ธีรยุทธ มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นปมปัญหาหลักในสังคมไทย ซึ่งก็เป็นจริง แล้วทักษิณยังกลายมาเป็นบุคคลที่สร้างความขัดแย้งหลักที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วย แต่การที่บอกว่าเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤตประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ตนคิดว่าคงไม่ใช่ เพราะธรรมรัฐไม่น่าแยกออกจากประชาธิปไตยได้ ทักษิณ เป็นตัวการที่ทำให้ประชาธิปไตยถูกบิดเบือน เป็นปฐมเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยหยุดชะงัก
เก็บตก : ปาฐกถาเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย บัณรส บัวคลี่
หลังจากได้ฟัง/อ่านปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลทั้ง 2 เวอร์ชั่น เวทีแดง-ไม่แดงต่อเนื่องสองวัน ได้ความสรุปอันดับแรกเลยว่ากองเชียร์สีเสื้อคนไหนอย่าได้คิดหยิบคำพูดชุดนี้ “ลากเข้าความ” ไปซัดอีกฝ่ายหรือยกตัวเองให้โดดเด่นเป็นประชาธิปไตยเลยครับเพราะว่ามันจะถูก ย้อนเข้าเนื้อได้ง่ายๆ !
ชุดความคิดที่อาจารย์แกนำเสนอต่อเนื่องสองวันนี้เลยการเมืองแบบสีเสื้อไป แล้ว เป็นการฉายภาพประเทศไทย-การเมืองไทย และสิ่งที่กำลังเผชิญที่การเมืองแบบสีเสื้อมองข้ามไปเริ่มจากภาพใหญ่เลยว่า ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อประเทศไทยโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย
โดยส่วนตัวมีสามประเด็นที่ฟังแล้วสนใจเป็นพิเศษอาจด้วยรสนิยมหรือด้วยอะไรก็ไม่รู้
เรื่องแรกคือ ประเด็นว่าด้วยทุนข้ามชาติ แม้นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ชายชื่อเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเคยพูด หากแต่ในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าในยุคที่ทุนข้ามชาติมีพลังอำนาจเหนือรัฐ ชาติไปแล้ว ปัจจัยจากภายนอกที่ยากจะทัดทานได้นี้มีผลต่อประชาธิปไตยของเราด้วย เพราะมันจะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำแตกต่างให้ยากแก้ไขแถมความเหลื่อมล้ำนี่ แหละคือปัจจัยอุปสรรคปัญหาของพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเราต่อเนื่องมาหลาย ปีและแนวโน้มยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
น่าสนใจจริงๆ กับปาฐกถาชุดนี้ที่ผูกประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำ การเมืองภาคประชาชน(คนชายขอบ) และโลกาภิวัตน์เข้าด้วยกัน โดยมีบททิ้งท้ายเป็นทางออกว่า ต้องกระจายอำนาจ
อาจารย์เสกเสนอว่าควรการกระจายอำนาจ ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจให้กระจายออกไปให้กับท้องถิ่นได้มีพลังและภูมิคุ้มกัน ตัวเอง แต่ผมกลับคิดว่า – แค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ยากที่สุดแล้ว นั่นเพราะว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยปลาไหล ทหาร กระทรวงทบวงกรม อธิบดีต่างๆ อำนาจเก่า อำนาจใหม่ อำนาจระบบราชการ ยังยินดีปรีดากับระบบการรวมศูนย์อำนาจแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกันทั้งสิ้น
เอาเฉพาะเรื่องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจนี้ก่อนนะ ถามว่าถ้าพรรคการเมืองและระบบราชการ ฯลฯ ไม่มีใครเห็นด้วยแล้วจะมีใครล่ะจะทำ .. คนเดือนตุลาหรือ?
ประเด็นต่อจากเรื่องกระจายอำนาจที่อยากให้คนเสื้อแดงได้ฟังซ้ำคือประเด็นว่า ด้วยข้อสรุป 3 ข้อที่เป็น “ข้อเสนอ” ไปยังชาวแดงตุลาทั้งหลายไม่ว่า จรัล ดิษฐาอภิชัย จาตุรนต์ ฉายแสง เหวง-ธิดา ไปจนถึงคนเดือนตุลา (ที่ยังไม่ปรากฏในท้องแม่) ชื่อณัฐวุฒิ จะเข้าใจและยอมรับฟังกันแค่ไหน
อาจารย์เสกแกบอกว่า “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อระบอบการเมือง ไม่ใช่เพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ” ใครฟังแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า คนที่อ้างตัวเองเป็นพลังก้าวหน้าประชาธิปไตยอย่าได้ต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐบาล ยิ่งลักษณ์หรือพรรคเพื่อไทย
“พลังประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย” ...พึงเข้าใจว่า องค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตยในความหมายนี้ได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ องค์กรอื่นๆ การตรวจสอบถ่วงดุล ฯลฯ ที่พลังประชาธิปไตยต้องปกป้องด้วย
ถ้าใครไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้อย่าเรียกตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยหรือ พลังประชาธิปไตยเลยครับ เช่น แดงโกตี๋ยกพวกไปรังควานคนที่เขาใช้สิทธิชุมนุมกันแบบนี้น่ะไม่ใช่พลัง ประชาธิปไตยในความหมายของเวที 14 ตุลาแดงนะขอรับ
อาจารย์เสกยกตัวอย่างกลุ่มคนจนชายขอบขึ้นมาเพื่อเตือนให้พลังของคน เดือนตุลาฝ่ายแดงมองเห็นและปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาด้วยอย่าได้คิดปก ป้องแค่พรรคหรือรัฐบาล แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อถึงแต่ฟังปุ๊บก็รู้ว่าเป็นกลุ่ม P Move ขบวนการคนจนที่ยกไปทำเนียบรัฐบาลถูกหลอกถูกถ่วงเวลามาหลายรอบ หรือกระทั่งกลุ่มปากมูลก็เคยถูกคนในรัฐบาลนี้แกล้งตัดตู้รถไฟไม่ให้เดินทาง เข้ากรุงฯ
ได้ยินมาว่าคนเหล่านี้ยังเคยถูกคนในรัฐบาลจัดให้อยู่กับพวกล้มรัฐบาลด้วยซ้ำไป
ประเด็นสุดท้ายที่ผมติดใจเป็นพิเศษสำหรับปาฐกถา 40 ปี 14 ตุลาของอาจารย์เสกก็คือความคิดในเรื่อง “อำนาจนิยม” และวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยเพราะรอบนี้ดูจะอธิบายความ น้อยไปหน่อย
จดโน้ตใส่กระเป๋าไว้ถ้ามีโอกาสเจออาจารย์จะถามประเด็นนี้ว่าคิดยังไง ตัวผมเองมีความคิดว่า กลุ่มทุนใหม่ พูดให้ชัดคือ กลุ่มพรรคเพื่อไทยทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังน่ะแปลงร่างกลายเป็น “อำนาจนิยมใหม่” ไปแล้ว มีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าเผด็จการอำนาจนิยมในทศวรรษ 2520-30 หรือยุคก่อนหน้าทั้งหลายด้วยซ้ำไป
นับแต่คณะราษฎรเป็นต้นมาด้วยซ้ำไปที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาสวมโครงสร้าง อำนาจระบบการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมสังคมอำมาตย์น่ะเป็นอำนาจนิยมโดยตัวของมันมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยน แปลงปกครอง ครั้งบัดโน้นจนกระทั่งบัดนี้ ธรรมเนียมการบริหารจัดการแบบอำนาจนิยมยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเดิมพันการทำมาหากินจากงบประมาณแผ่นดิน จนเรียกได้ว่า ชะตาชีวิตของข้าราชการและระบบราชการในปัจจุบันอยู่ในมือของนักการเมือง หรือการเมืองแบบเจ้าพ่อไม่ได้ล้มหายไปไหนเลยแค่แปลงร่างจากเจ้าพ่อคาดผ้าขาว ม้ามาเป็นมาเฟียใส่สูทก็เท่านั้น
เราจึงได้เห็นอธิบดีพวกกันกับนักการเมืองที่โตพรวดข้ามหัวชาวบ้านไม่ แยแสว่ากฎกติการะเบียบธรรมาภิบาลคืออะไร ใช้อำนาจเรียกลูกน้องในราชการมากระทืบราษฎรฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเล่น หรือกระทั่งองค์กรตำรวจที่ยากจะกู่กลับอีกแล้ว เพราะผู้มีตำแหน่งพร้อมจะใช้อำนาจกำปั้นเหล็กสนองฝ่ายการเมือง
อำนาจนิยมเป็นอุปสรรคกับประชาธิปไตย อันนี้ชัดเจนทั้งหลักการตลอดถึงเหตุการณ์จริงในอดีต
ทหาร เครือข่ายอำมาตยาธิปไตย กลุ่มทุนผูกขาดในอดีตและชนชั้นได้เปรียบอาจจะเป็นตัวแทนของพลังอำนาจนิยมใน อดีต แต่ปัจจุบันผู้ที่ใช้อำนาจด้วยวิธีการและสำนึกแบบ “อำนาจนิยม” นั้นกลับเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่ากลัวกว่าแบบเดิมเยอะ
เพราะทุนข้ามชาติยุคโลกาภิวัตน์น่ะขอให้ได้กำไรสูงสุดเท่านั้น นอกจากจะไม่สนคุณค่าต่างๆ รวมทั้งมนุษยธรรมหรือชาติแล้ว ยังไม่สนวิธีการระบบระบอบด้วยซ้ำว่าเป็นประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยม มีมหาเศรษฐีนักการเมืองไปทำมาหากินในประเทศเผด็จการอาฟริกาให้น้องสาวไล่ตาม ไปเชื่อมสัมพันธ์กับเผด็จการอำนาจนิยมก็มีให้เห็นตำตา
ผมคิดเอาเองตามประสาเมื่อได้ฟังปาฐกถาว่า
ในเมื่อเรามีทุนเก่า ทุนใหม่ การเมืองแบบเก่า การเมืองแบบใหม่แล้ว
เราก็ควรมีอำนาจนิยมเก่า และอำนาจนิยมใหม่ด้วยสิ !
“เด็จพี่” เลือดขี้ข้าพุ่ง ซัด “ธีรยุทธ” วิจารณ์นายใหญ่ แถจับผิด กทม.ให้ใช้เครื่องปั่นไฟ คปท.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
โฆษกเพื่อไทย เผยสั่ง ส.ส.งดภารกิจยาว แจกคู่มือ ส.ส.แจงผลงาน “ปู” เยือนต่างประเทศ ปัดลุแก่อำนาจออก พ.ร.บ.มั่นคงฯ แถไม่ได้โวยเรื่องรถส้วมให้ม็อบใช้ แต่อ้างเครื่องปั่นไฟ กทม.ให้ม็อบใช้ จี้ “สุขุมพันธุ์” สอบ จวก ปชป.-กลุ่มกรีน ยื่นฟ้อง “จุลสิงห์” เลือดขี้ข้าทนไม่ได้ซัด “ธีรยุทธ” อคติวิจารณ์ “ขี้ขำ”
วันนี้ (14 ต.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุม ว่า พ.อ.อภิวัน วิริยะชัย ได้แจ้งให้ ส.ส.พรรคทราบว่า จะมีการประชุมในวันอังคารที่ 16 ต.ค. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยจะเริ่ม 09.30 น.โดยกำชับให้ ส.ส.เดินทางไปถึงล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง และให้งดภารกิจไปจนถึงวันศุกร์ เนื่องจากมีผู้แปรญัตติจำนวนมากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโดยมีประเด็นหลัก ในการพิจารณาด้วยกัน 4 มาตรา พร้อมย้ำให้ ส.ส. งดการพาดพิงและประท้วงให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะการ ชุมนุมทั้ง 2 จุด คือบริเวณแยกอุรุพงษ์ และสวนลุมพินี โดยอยากให้ ส.ส.ไปทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการออก พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อป้องกันการบิดเบือน เนื่องจากทราบมาว่าผู้ชุมนุมมีเป้าหมายในการล้มรัฐบาลโดยการบุกเข้าไปยัง ทำเนียบรัฐบาลและเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยขอปฏิเสธกระแสข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลุแก่อำนาจในการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการปิดกั้นเสรีภาพกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวว่า ส.ส.ได้สะท้อนปัญหามายังที่ประชุมว่าประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมยังต้องการ เครื่องอุปโภคบริโภคและความช่วยเหลือต่างๆ โดยมีรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงว่ากำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือ และดูแลเรื่องเงินชดเชย ซึ่งได้สั่งให้จังหวัดเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับความ ช่วยเหลือโดยเร็วและส.ส.ยังฝากให้รัฐบาลช่วยผู้ประสบภัยให้มีรายได้เสริม เนื่องจากหลังจากประสบภัยน้ำท่วมมีคนตกงานจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน พรรคยังได้มีการแจกคู่มือให้ ส.ส.นำไปชี้แจงกับประชาชนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ครั้งแต่กลับไม่มีผลงาน ซึ่งทางพรรคได้จัดทำคู่มือผลงานของนายกรัฐมนตรีที่ได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น เรื่องการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีการให้สัมภาษณ์ของ นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกประจำตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่ารัฐบาลให้ร้ายม็อบ และ กทม.เรื่องการนำรถสุขาและรถน้ำเคลื่อนที่เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ ชุมนุม ตนมองว่าเป็นการออกมาแก้ข่าวที่เป็นการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ
ทั้งนี้ ตนไม่ได้ติดใจในรถน้ำหรือรถสุขาเคลื่อนที่ แต่ติดใจเรื่องเครื่องปั้นไฟที่มีการอำนวยความสะดวกให้ถึง 4 เครื่องใหญ่ และอีก 3 เครื่องเล็ก ซึ่งน้ำมันที่ใช้มาจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ตนมองว่าประชาชนเรื่อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.เพราะต้องการให้มาแก้ปัญหาของ กทม.และการจราจร แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กลับเล่นการเมืองแบบตีสองหน้า ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร จึงต้องฟ้องคน กทม.ว่า ผู้ว่าฯแทนที่จะแก้ปัญหาการจราจรโดยร่วมมือกับรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจ นครบาล แต่กลับเอาเครื่องปั่นไฟไปช่วยผู้ชุมนุมซึ่งปิดถนนอยู่ ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม.ไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว หากพบว่าผิดจริงต้องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ จะดื้อตาใสไม่ได้ และตนก็พร้อมยื่นเอาผิดในเรื่องของน้ำมันรถว่าเป็นของ กทม.และได้ทำหนังสือยืมอย่างถูกต้องหรือไม่
ส่วนการที่ นายอภิสิทธิ์ ระบุว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีสิทธิ์ไปเยี่ยมผู้ชุมนุมได้นั้น ตนเห็นว่าคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายธีมะ กาญจนไพริน โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไปเยี่ยมผู้ชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ ตนขอถามว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนนประชาชน พ่อค้า แม่ค้าก็ร้องเรียนมาแต่ กทม. กลับนิ่งเฉย ตนจึงขอเรียกร้องให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตอบคำถามในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยไปตรวจสอบในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับ บัญชา ซึ่งหากไม่ตรวจสอบตนก็พร้อมจะดำเนินการเอาผิดกับกระทรวงมหาดไทย แม้จะเป็นพรรคเดียวกันก็ตามเพราะเป็นการทำตามหน้าที่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ไม่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาก่อการร้าย โดยขู่จะยื่นฟ้องนายจุลสิงห์ ตามมาตรา 157 และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะมีการยื่นตรวจสอบอัยการสูงสุด รวมถึงกลุ่มกรีนที่นำโดยนายสุริยะใส กตะศิลา ที่จะทำหนังสือ 2 ฉบับยื่นต่ออดีตอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดในปัจจุบัน ตนมองว่านายอภิสิทธิ์และนายสุริยะใส กำลังกดดันการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ทั้งนี้ วันนี้เมื่อกระบวนการยุติธรรมตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิด นายอภิสิทธิ์ ก็โวยวายตีโพยตีพาย เป็นการเล่นเกมทางการเมือง และทำลายกระบวนการยุติธรรมเสียเอง นอกจากนี้การขู่ว่าจะฟ้องนายจุลสิงห์และยื่นหนังสือกดดันอัยการสูงสุดและ อดีตอัยการสูงสุดเป็นการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์ใจ โดยตนมองว่าบุคคลคลดังกล่าวว่าตัวเป็นกลางและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ตนจึงอยากเรียกร้องให้อัยการทั่วประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อย่าหวั่นไหวต่อการข่มขู่ เพราะท่านได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว
ส่วนกรณีที่ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำนักศึกษาสมัย 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากที่ห่างหายวงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปนานหลายปีโดยครั้งนี้ออกมา วิจารณ์และกล่าวโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จากกาฝากเกาะกินรัฐมาเป็นใช้อำนาจควบคุมรัฐโดยตรง จนเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งของกลุ่มทุนใหม่และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในปัจจุบัน พร้อมกับให้ฉายา พ.ต.ท.ทักษิณว่า “ขี้ขำ” ตนมองว่านี่คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีอคติ โดยโยนบาปไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เต็มไปด้วยมายาคติและไม่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน มีการวิจารณ์รวมถึงให้ฉายา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะเปรียบว่า “ไม่มีผลงาน ดีแต่แต่งตัวสวยไปวันๆ" ตนอยากให้นายธีรยุทธ มอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยใจเป็นธรรมว่าวันนี้การค้าการลงทุนกับต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นและนานาชาติ ให้การยอมรับ ตนไม่อยากให้นายธีรยุทธ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอามันด้วยอคติเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และคราบของนักวิชาการหายไปไหนหมด หรือภาษาชาวบ้านเรียกธีรยุทธ เปลี่ยนไป๋
อีกด้านหนึ่ง ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายธีรยุทธ ออกมาตั้งฉายาให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนำเสนอบทวิเคราะห์ทางการเมืองในช่วงครบรอบเหตุการณ์ 14 ต.ค.นั้น ถือเป็นบทวิเคราะห์ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง และไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกวิจารณ์ เนื่องจากมุ่งเน้นโจมตีเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ฝ่ายเดียว โดยไม่ได้แตะต้องฝ่ายอื่นๆ ที่เป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ในเมื่อพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว จึงเป็นบทวิเคราะห์ที่ขาดความสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยอคติ และสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบของนายธีรยุทธ ที่มีต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ส่วนการที่ นายธีรยุทธ จะตั้งฉายาให้คนโน้นคนนี้ ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นสิทธิ์ และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของนายธีรยุทธเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะประเด็นที่นายธีรยุทธ วิจารณ์ว่านายกฯ เอาแต่แต่งตัว ไม่ได้เอาจริงเอาจังในการทำงานนั้น ก็เป็นคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะใครๆ ก็น่าจะเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความทุ่มเทในการบริหารประเทศมากเพียงใด และทำงานจนแทบไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นภาพที่คนเห็นกันทั้งประเทศ ต่างจากนายธีรยุทธ ที่ไม่มีใครเคยเห็นว่า นายธีรยุทธจะมีบทบาทออกมาต่อสู้กับการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย.49 และไม่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คมช.ซึ่งมีที่มาจากรัฐประหาร ทั้งๆ ที่สังคมคาดหวังว่า นายธีรยุทธ น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับการปฏิวัติรัฐประหาร
คำต่อคำ:“ประพันธ์-พิชาย”โต้ปาฐกถา“เสกสรรค์” ชี้ไม่ดูบริบทปัจจุบัน-สับสนในตัวเอง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ประพันธ์ คูณมี” ชำแหละปาฐกถา “เสกสรรค์” ชี้การยก “ทักษิณ” เป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตย เป็นทฤษฎีสามานย์หาความเชื่อถือไม่ได้ แนะต้องวิเคราะห์สังคมไทยในบริบทปัจจุบัน อย่าเอาแต่ทฤษฎีล้วนๆ มาพูด ด้าน “พิชาย” อัดนักวิชาการชื่อดังสับสนในตัวเอง บอกทุนโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุความเหลื่อมล้ำ แต่อีกด้านกลับบอกว่าเป็นพันธมิตรกับเสื้อแดงในการลดความเหลื่อมล้ำ
วันที่ 15 ต.ค. นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี
โดยนายประพันธ์กล่าวว่า ช่วงหลังจากที่นายเสกสรรค์ลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ปลีกวิเวกหนีห่างการต่อสู้ทางการเมือง แต่ก็ยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง และอาจห่างไกลการต่อสู้ที่เป็นจริงของกลุ่มประชาชนในยุคปัจจุบัน แต่มีความใกล้ชิดกับคนอดีต 14 ตุลาที่อยู่ทางปีกเสื้อแดง
สิ่งที่นายเสกสรรค์เอามาวิเคราะห์บางส่วนถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว และบางเรื่องผิดโดยสิ้นเชิง ภายใต้ระบอบการเมือง 40 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มทุน 2 จำพวก คือ กลุ่มทุนเก่ากับทุนใหม่ แต่กลุ่มทุนเก่าปัจจุบันไม่ได้เป็นพลังที่ครอบงำประเทศไทย แต่คือเศรษฐีของประเทศ 50 คน รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณด้วย พวกนี้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาหลัง 14 ตุลาทั้งนั้น แล้ววันนี้พวกนี้มีอำนาจครอบงำการเมือง
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ชนชั้นนำใหม่คือใคร ถ้าคือ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเป็นพลังที่ก้าวหน้าหรือเปล่า นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างไร นายเสกสรรค์ต้องวิเคราะห์สังคมไทย จำแนกกลุ่มทุนไทยให้ชัดเจนในบริบทปัจจุบัน อย่าเอาทฤษฎีล้วนๆ มาพูด เอาของจริงมาพูดดีกว่า ว่ามีกลุ่มทุนไหนบ้างที่ครอบงำโภคทรัพย์ของประเทศ คนเหล่านี้ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง
อดีต สนช.กล่าวอีกว่า นายเสกสรรค์พูดว่าเจตนารมณ์ 14 ตุลา คือต้องการเปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย คำถามคือเมื่อเกิด 14 ตุลา คนที่ได้ใช้ดอกผลจากการต่อสู้คือทหารกับกลุ่มทุน ส่วนประชาชนไม่ได้ใช้เลย แล้วยังถูกปราบถูกฆ่าเสียอีก
ระบอบการเมืองที่ได้เสวยดอกผล 14 ตุลา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้ประเทศบ้าง ปรากฎว่าทำประเทศแย่หนักกว่าเดิม ยิ่งในสมัยทักษิณ การฆ่าคน 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด ขนาดเผด็จการยังไม่ฆ่าคนมากขนาดนี้เลย สิ่งที่นายเสกสรรค์ปาฐกถาว่าคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา มันบิดเบือน มันไม่ใช่การปกป้องประชาธิปไตย แต่เป็นการปกป้องชนชั้นนำใหม่ การที่บอกว่าชนชั้นกลางเก่า คือ พวกพันธมิตรฯ พวกนี้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ตนขอถามว่าแล้วทักษิณเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น มีแต่ทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง ตนมองไม่เห็นเลยว่าคนพวกนี้สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาอย่างไร
“การที่บอกว่าทักษิณเป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตย เสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ เป็นทฤษฎีสามานย์ หาความเชื่อถือไม่ได้” นายประพันธ์กล่าว
ด้านนายพิชายกล่าวว่า เสื้อแดงไม่ได้มีสำนึกทางชนชั้นเลย จะเห็นได้ว่าไม่ได้ผลักดันลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องกระจายอำนาจก็ไม่พูดเลย แล้วที่นายเสกสรรค์บอกว่าการคอร์รัปชันไม่ใช่สาเหตุการเหลื่อมล้ำ แต่ว่าเกิดจากระบอบทุนโลกาภิวัตน์ ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นการคอร์รัปชันเป็นปฐมเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อม ล้ำ
นายเสกสรรค์ยังสับสนในตัวเองด้วย เพราะบอกว่าทุนโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุความเหลื่อมล้ำ แต่ก็บอกว่าเป็นพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อกับชนชั้นกลางใหม่ แสดงว่ากลุ่มทุนเดียวกันนี้ ด้านหนึ่งก็สร้างความเหลื่อมล้ำ อีกด้านก็แก้ความเหลื่อมล้ำได้ด้วย
คำต่อคำ “อ.พิชาย-ประพันธ์ คูณมี”โต้”เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”
เติมศักดิ์ - สวัสดีครับขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2556 ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ปาฐกถาของ 2 อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งครบรอบ 40 ปีในปีนี้ โดยเฉพาะปาฐกถา 2 ครั้ง 2 วันของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ก่อให้เหตุคำถามมากมาย เป็นคำถามที่ชวนให้คิด เป็นคำถามที่ชวนให้วิเคราะห์ ชวนให้ถกเถียง ชวนให้วิพากษ์วิจารณ์ และชวนให้ต่อยอด ทั้งนี้การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์นี้ ก็เพื่อให้ความจริงที่หายไป ในปาฐกถานี้ได้มีการพูดถึง และได้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน ผ่านทางเวทีตรงนี้แหละครับ ซึ่งเรากำลังจะไปสนทนากับ 2 ท่านที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงชวนคิด และชวนวิเคราะห์ต่อยอด ปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ท่านแรกครับ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คุณประพันธ์ คูณมี สวัสดีครับคุณประพันธ์ครับ
ประพันธ์ - สวัสดีครับ
เติมศักดิ์ - ท่านที่ 2 ครับ คณบดีคณะสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สวัสดีครับ อ.พิชายครับ
พิชาย - สวัสดีครับ
เติมศักดิ์ - ปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ ทั้ง 2 วันดูเหมือนจะเน้นไปที่ความขัดแย้งทางชนชั้น อุดมการณ์ ที่อาจารย์นำมาอธิบายความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งสองท่านมองเหมือน หรือมองต่างจาก อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อย่างไรบ้างเชิญครับ
ประพันธ์ - อ.พิชาย ก่อนดีกว่า ให้ อ.พิชาย พูดในทางวิชาการ
เติมศักดิ์ - ทางวิชาการก่อน
ประพันธ์ - เพราะว่าผมได้อ่านและฟังทั้งจากยูทิวบ์ มีความเห็นทั้งในทางวิชาการ และมีความเห็นทั้งในฐานะคนที่เคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้มาทุกรูปแบบตั้งแต่ 14 ตุลาฯ มา ก็คือประสบการณ์จริง แต่ว่าโดยหลักคิด และโดยหลักวิชาการก็อยากให้ อ.พิชาย ได้พูดถึงสิ่งที่คุณเสกสรรค์พูดเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร และผมจะพูดในแง่หลักวิชาการบ้าง ผสมกับประสบการณ์จริงของชีวิต
เติมศักดิ์ - อ.พิชาย มองเนื้อหาปาฐกถาของคุณเสกสรรค์ทั้ง 2 วัน ทั้ง 13 ตุลาฯ และ 14 ตุลาฯ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการอธิบายสภาพความขัดแย้งของสังคมไทยทุกวันนี้ด้วยวิธีวิเคราะห์ เรื่องทางชนชั้น โดยเฉพาะการอธิบายเราพูดง่ายๆ นะ การอธิบายว่า เสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ที่จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา จริงหรือเปล่า อาจารย์มองต่างอย่างไรครับ
พิชาย - คือมันจะมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ที่ อ.เสกสรรค์ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ ประเด็นแรกเป็นประเด็นอย่างที่คุณเติมพูด คือเรื่องของการพยายามอธิบายสังคมไทยด้วยชนชั้นนะครับ ส่วนอันที่สองก็เป็นเรื่องของการพยายามอธิบายในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทาง สังคม สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางสังคม เหตุของความเหลื่อมล้ำ และผลที่ตามมาจากความเหลื่อมล้ำนั้นคือสิ่งที่ อ.เสกสรรค์ พยายามอธิบาย ทีนี้ในจุดเริ่มต้นในภาพรวมก่อนคือผมมองว่า การใช้ทฤษฎีชนชั้นของ อ.เสกสรรค์ ในการอธิบายสังคมไทยครั้งนี้นะครับ ในการปาฐกถาครั้งนี้ ผมคิดว่ามีจุดอ่อนมากเหลือเกินในการใช้ทฤษฎีเหล่านี้ในการอธิบาย คือต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่งก่อนว่า คือเวลาที่เราอ่านรายละเอียดของที่ อ.เสกสรรค์พูดทั้งหมด เท่าที่ผมจับดู กลุ่มที่ อ.เสกสรรค์ อ้างถึงในการอภิปราย อันแรกคือพวกกลุ่มชนชั้นกลางใหม่อย่างที่ว่านะครับ ซึ่งคำนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นคำที่แปลกใหม่ในวงวิชาการอยู่พอสมควร เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องของชนชั้นมันมีทฤษฎีหลักที่พูดเรื่องพวกนี้ หลักๆ ถ้าเป็นบิดาของทฤษฎีเหล่านี้เลยคนแรกๆ คือ คาร์ล มาร์ก ที่พูดถึงชนชั้นกระฎุมภี ก็คือชนชั้นนายทุน และมีความหมายนัยในปัจจุบันเป็นชนชั้นกลาง กับชนชั้นกรรมกร ซึ่งเป็นปรปักษ์กัน
ส่วนอีกคนหนึ่งในแง่ของสังคมวิทยา และเรามักจะเอามาใช้พูดกันอยู่เสมอคือ นายแบ็ก เฟเบอร์ เขาจะพูดถึงชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง เขาจะแบ่งชนชั้นในลักษณะทางสังคมวิทยาแบบนั้น ทีนี้คำว่าชนชั้นกลางใหม่ จากที่พูดที่ผมพยายามจับใจความของ อ.เสกสรรค์ ก็กินความของกลุ่มอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรในชนบทนะครับ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหลาย และพวกกลุ่มหาบเร่ รวมถึงพวกอาชีพอิสระอย่าง แท็กซี่ เป็นต้นนะครับ นั้นคือกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ อ.ธีรยุทธ พูดถึงคือ กลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ กลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ผมจะตีความอย่างอื่นไปไม่ได้เลย จากที่อาจารย์พูดถึงนอกจากว่า เป็นกลุ่มของคุณทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มทุนสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ทักษิณ ประชา มาลีนนท์ อย่างนี้เป็นต้น
เติมศักดิ์ - อ.เสกสรรค์ เรียกว่าเป็นกลุ่มทุนใหม่
พิชาย - กลุ่มทุนใหม่ ที่จริงกลุ่มเหล่านี้นอกจากกลุ่มทุนสื่อสารอย่าง ทักษิณ หรือ ประชา มาลีนนท์แล้วจะอาจจะมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มทุนหลักๆ อีกอันหนึ่งคือ กลุ่มทุนพลังงาน อันนี้คือกลุ่มทุนที่ อ.เสกสรรค์ มีนัยว่า เป็นกลุ่มทุนใหม่ หรือทุนโลกาภิวัฒน์ ส่วน 2 กลุ่มนี้ในทัศนะของ อ.เสกสรรค์ เป็นพันธมิตรที่เหลือเชื่อ และเป็นพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า อันนี้ต้องตั้งคำถามตัวโตๆ เลยครับ การที่จะสรุปแบบนี้ว่า 2 กลุ่มคือ กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในความหมายนัยนี้ ซึ่งผมตีความว่า ก็คงเป็นกลุ่มเสื้อแดง แล้วกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ก็คือเป็นกลุ่มทุนสามานย์ คือพูดง่ายๆ เสื้อแดงบวกกลุ่มทุนสามานย์ ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า
เติมศักดิ์ - คือแกเน้นทั้ง 2 วันเลยนะ วันที่ 13 ดูเหมือนจะพูดว่า ชนชั้นกลางใหม่กับทุนใหม่ กลายมาเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อ อันนี้เขาพูดในเชิงบวกนะ
พิชาย - ก็นี่แหละครับ แล้วก็กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ หรือเสื้อแดง แกเชื่อมโยงกับศัพท์อีกคำหนึ่งที่เรียกว่า เป็นการเมืองมวลชน ก็คือ Mass politics ซึ่งชุบชีวิตระบบการเมืองแบบตัวแทนขึ้นมา คือไอ้ระบบการเมืองแบบตัวแทนก็คือระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกนักวิชาการ และภาคประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่าไอ้การเมืองแบบตัวแทนไม่รอด มันเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน และผลประโยชน์ ภาคประชาชนเสนอการเมืองแบบมีส่วนร่วมเข้ามา การเมืองแบบตัวแทนที่เราพูดกันถ้าเป็นวิชาการเขาเรียกว่า Representative Democracy ส่วนการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าการเมืองแบบเป็นตัวแทนเรียก Presentative Democracy
เติมศักดิ์ - ไม่ใช่แค่ 4 วินาทีนะครับ
พิชาย - ไม่ใช่ 4 วินาที การเมืองแบบตัวแทนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนมาก จนกระทั่งอาจจะเกิดวิกฤตความชอบธรรมในช่วงปี 40 กรณีสังคมไทย และหลังจากนั้นก็มีความพยายามสถาปนาการเมืองแบบมีส่วนร่วมเข้ามาในรัฐ ธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า ในทัศนะของ อ.เสกสรรค์ การเมืองมวลชนก็คือ แบบเสื้อแดง ชุบชีวิตการเมืองแบบตัวแทน ที่กำลังจะล่อแล่ปางตาย แล้วให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา อันนี้น่าสนใจมาก
เติมศักดิ์ - โรแมนติกมาก
พิชาย - ทีนี้นอกจากกลุ่มนี้แล้ว กลุ่มอื่นที่ อ.เสกสรรค์อ้างถึง ซึ่งผมมองว่า คลุมเครือมากก็คือ แกพูดถึงกลุ่มนายทุน และชนชั้นกลางในเมือง ทีนี้คำว่ากลุ่มนายทุน และชนชั้นกลางมันหมายถึงใคร ถ้าจะตีความตามนัยที่แกพูด นายทุนกลุ่มนี้น่าจะหมายถึงนายทุนกลุ่มเก่าตามประสาของเสื้อแดง น่าจะหมายถึงกลุ่มทุนเก่า กลุ่มทุนเก่าน่าจะเป็นกลุ่มไม่แน่ใจนะครับว่า แกหมายถึงอะไร แต่ผมตีความน่าจะเป็นกลุ่มทุน เช่น กลุ่มทุนการเงิน หรือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม กลุ่มทุนซีเมนต์อะไรอย่างนี้เป็นต้น อันนี้โดยการตีความ
เติมศักดิ์ - ที่เสื้อแดงชอบใช้คำว่า กลุ่มทุนอำมาตย์
พิชาย - กลุ่มทุนอำมาตย์ ใช่ๆ และชนชั้นกลางในเมืองก็คงจะหมายถึงพี่ และคงหมายถึงพวกเรา ที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองทั้งหลายคือ พวกกินเงินเดือน พวกทำงานถ้าเรียกว่า ภาษาเขาเรียกว่า เป็นพวกทำงานในสำนักงานออฟฟิตต่างๆ
ประพันธ์ - ผู้บริหาร
พิชาย - ผู้บริหาร หรือว่าระดับต้น ระดับกลางอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าเป็นข้าราชการ ที่เป็นชนชั้นกลาง
เติมศักดิ์ - ที่อยู่ที่ม็อบอุรุพงษ์
ประพันธ์ - และไม่รวมทั้งพันธมิตรฯ ด้วย เพราะว่าเขาพูดถึงด้วย
พิชาย - คือพูดง่ายๆ พวกชนชั้นกลางในเมือง ก็เป็นกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นแหละ โดยนัยเพราะว่า คนที่ไปชุมนุมประท้วงก็มีหมอ มีพยาบาล มีพวกวิศวะ พวกอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ไปประท้วงขับไล่ทักษิณ อันนี้คือชนชั้นกลางใหม่ในความหมายของเขา ซึ่งตอนหลังเขาตีความว่า ชนชั้นกลางหมายถึงเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ถัดมาเป็นพวกกรรมกรอุตสาหกรรมที่แกอ้างถึงอยู่ แต่กรรมกรอุตสาหกรรมปรากฏว่า ในแง่ของบทวิเคราะห์ของชิ้นนี้ของ อ.เสกสรรค์ แทบไม่ได้พูดถึงบทบาทเลยว่า อยู่ตรงไหน ทั้งๆ ที่กลุ่มกรรมกรอุตสาหกรรม ถ้าพูดถึงมวลประชากรของกลุ่มนี้ มีเป็นหลายล้านคน ที่ทำงานในอุตสาหกรรม หรือจะตีความว่า กรรมกรในอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองหลวงด้วย เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือว่ากลุ่มภาคเอกชนอื่นๆ ที่ทำงานในภาคเอกชน แต่ว่าอันนี้ในแง่ของการวิเคราะห์ของ อ.เสกสรรค์ ก็ละเลยไป
อีกอันหนึ่งที่แกพูดถึงคือ กลุ่มชาวบ้านชายขอบ กลุ่มชาวบ้านชายขอบเช่น กลุ่มพีมูฟ กลุ่มประชาชนที่เรียกร้องสิทธิต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักร่วมกับเอ็นจีโอที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบเป็น ตัวแทน เพราะว่าการเมืองแบบตัวแทนไม่เคยที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้ เลย ผมจับใจความได้ที่กลุ่มต่างๆ ที่แกพูดถึงอยู่ประมาณ 7 กลุ่ม แต่ว่ากลุ่มที่ละเลยไปก็คือ กลุ่มกรรมกร ไม่พูดถึงเลยนะครับ อีกอันหนึ่งคือพูดถึงการเมืองภาคประชาชน ทีนี้การเมืองภาคประชาชนแกก็ไม่นิยามให้ชัดว่าคือใคร แต่ผมอนุมานเอาว่า คำว่าการเมืองภาคประชาชนคงจะกินความพวกเอ็นจีโอ และก็พวกที่ทำงานกับชุมชนอะไรต่างๆ พวกนี้ เป็นต้น พวกที่ทำเรื่องสิทธิชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ อันนี้คงเป็นการเมืองภาคประชาชนในความหมาย ทีนี้กลุ่มต่างๆ นอกจาก 2 กลุ่มแรก ก็คือกลุ่มการเมืองภาคประชาชนก็ดี กลุ่มนายทุนและชนชั้นกลางในเมืองหลวงก็ดี กรรมกรอุตสาหกรรมก็ดี ชาวบ้านชายขอบก็ดี ไม่อยู่ในสมการของ อ.เสกสรรค์ ในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า
เติมศักดิ์ - ไม่อยู่ในสมการ
พิชาย - ไม่อยู่ในสมการนะครับ เพราะว่ากลุ่มที่อยู่ในสมการของ อ.เสกสรรค์ ที่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าคือ กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ของแก ซึ่งมีนัยคือ กลุ่มเสื้อแดง กับกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์
เติมศักดิ์ - ที่บอกเป็นพันธมิตรอันเหลือเชื่อ
พิชาย - ใช่ ถ้าเป็นในภาษาพวกเราก็คือ พวกเสื้อแดงกับทุนสามานย์ อันนี้เป็นสมการของ อ.เสกสรรค์ ที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตย
เติมศักดิ์ - ส่วนมวลชนที่ขับไล่ทักษิณอันนี้ เราอนุมาน
คำพูดจากของท่านนะครับว่า คำพูดของ อ.เสกสรรค์ว่า มวลชนที่ขับไล่ทักษิณ กลายเป็นมวลชนที่ความคิดแบบทุนนิยม อุปถัมภ์นิยม ชาตินิยมที่คับแคบ แยกออกจากประโยชน์สุขของประชาชน แกพยายามที่จะให้มวลชนที่ขับไล่ทักษิณเป็นมวลชนประเภทนี้
พิชาย - เป็นมวลชนกับที่เสื้อแดงเรียกว่า เป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย
เติมศักดิ์ - มวลชนที่ล่าหลัง มวลชนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ที่คือการจับแยกประเภทมวลชนในสายตาของ อ.เสกสรรค์
พิชาย - ในสายตาของ อ.เสกสรรค์ ทีนี้ผมก็ตั้งคำถามว่า คือแกเสนอให้มวลชน ไอ้พันธมิตรที่เหลือเชื่อระหว่างเสื้อแดงกับทุนสามานย์ ซึ่งผมก็มองว่า เหลือเชื่อจริงๆ เสนอให้ 2 กลุ่มนี้รักษากลไกของระบอบประชาธิปไตย ที่พูดเมื่อกี้นอกจากพิทักษ์พรรคการเมือง ก็คือนอกจากพิทักษ์พรรคเพื่อไทยแล้ว ก็เสนอให้พิทักษ์กลไกอื่นๆ ของประชาธิปไตยด้วย ทีนี้กลไกอื่นๆ ของประชาธิปไตยคืออะไร เช่น องค์กรอิสระ คงจะใช่ด้วยนะครับ แต่ปรากฏว่า ความเป็นจริงที่เราเห็นทุกวันนี้ก็คือ ไอ้พันธมิตรที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ ดูเหมือนว่าจะพิทักษ์แต่พรรคเพื่อไทย ในขณะเดียวกันจะบ่อนทำลายองค์การ และกลไกอื่นๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระก็ดี หรือว่าแม้กระทั่งภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย กลไกอิสระทำไมพันธมิตรที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ ถึงทำลาย ก็เพราะว่า ภาคประชาชนก็ดี หรือว่าองค์กรอิสระก็ดี มักจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ของกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ของ อ.เสกสรรค์อยู่เสมอ จนกระทั่งทำให้รัฐบาลของกลุ่มเหล่านี้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นมา เพราะฉะนั้นเป็นอะไรไม่ได้เลยที่จะให้มวลชนเสื้อแดง หรือว่าชนชั้นกลางใหม่ในนิยามของ อ.เสกสรรค์ จะปกป้องรักษากลไกที่จะไปทำลายรัฐบาลของเขา ที่เขาเลือกมานะครับ
เติมศักดิ์ - พลังประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย แต่ปรากฏว่าพลังประชาธิปไตยของ อ.เสกสรรค์ ทำลายองค์ประกอบทุกอย่าง ยกเว้นรัฐบาลกับพรรคการเมืองของเขา
พิชาย - ถูกต้องเลยครับ
เติมศักดิ์ - ผมอยากเล่นวาทกรรมนี้มากเพราะว่า อ.เสกสรรค์ เหมือนแกถูกตรวจสคริปนะครับ เพราะ อ.เสกสรรค์บอกว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คุณอย่าไปต่อสู้เพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง อย่าไปต่อสู้เพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่พิทักษ์รัฐบาล หรือพิทักษ์นักการเมืองที่ตัวเองพอใจ ยกเว้นการพิทักษ์รัฐบาล หรือพิทักษ์นักการเมืองที่ตัวเองพอใจนั้น มันเท่ากับพิทักษ์ความอยู่รอดของประชาธิปไตย คือก็หมายความว่า อ.เสกสรรค์ กำลังจะบอกว่า ถ้าพิทักษ์ทักษิณ พิทักษ์พรรคเพื่อไทย เท่ากับพิทักษ์ความอยู่รอดของประชาธิปไตย อันนี้เป็นข้อยกเว้นว่า พิทักษ์ได้
พิชาย - เขาอนุมานผิดครับ ผมจะต่ออีกหน่อยครับ ก่อนที่จะไปถึงพี่ประพันธ์ ทีนี้อันหนึ่งที่ อ.เสกสรรค์ เสนอให้พวกเสื้อแดงทำต่อคือ พันธมิตรที่เหลือเชื่อ ผมจะเรียกอย่างนี้ต่อไปคือ ให้ขยายแนวร่วม และยึดหลักเสรีนิยมทางการเมือง อันนี้เป็นข้อเสนอ แต่ปมปัญหาก็คือว่า เท่าที่ผมเห็นในพันธมิตรที่เหลือเชื่ออันนี้ ด้านหนึ่งคือพยายามส่งเสริมเสรีนิยมแบบสุดขั้วโดยรัฐบาล เสรีนิยมแบบสุดขั้วคืออะไรบ้าง อย่างเช่น เสรีนิยมในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่ากระทำอะไรก็ได้ต่อสถาบันต่างๆ ในสังคม เขาจะอ้างอยู่เสมอว่า สังคมประชาธิปไตยจะต้องวิจารณ์ได้ทุกสถาบัน อย่างในสังคมไทยสถาบันที่เขาอยากจะวิจารณ์กันมากคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ว่าเรายังมีมาตรา 112 อยู่ เขาก็เลยมองว่า มันยังไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ทีนี้ปมปัญหาในเรื่องนี้ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามนะคุณเติม ถ้าคุณเติมไปอยู่ในสหรัฐฯ คุณเติมจะวิจารณ์อัลกออิดะห์อย่างไรก็ได้ แต่คุณเติมจะไม่มีเสรีภาพเลยในการสนับสนุนอัลกออิดะห์ เมื่อไหร่ก็ตามคุณเติมพูดสนับสนุนอัลกออิดะห์ กระทรวงความมั่นคงของมาตุภูมิของสหรัฐฯ จะมาเยือนถึงบ้าน
เติมศักดิ์ - Homeland Security
พิชาย - Homeland Security เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งประเทศที่พวกเขายกย่องกันนักกันหนา มันก็จะมีบางประเด็นที่เป็นข้อยกเว้นในการที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าในเชิงให้การสนับสนุนก็ตาม ทีนี้อีกอันหนึ่ง ลักษณะอันหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พันธมิตรที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ ไม่ใช่พันธมิตรที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม คือกลุ่มทุนสามานย์ กลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ กับชนชั้นกลางใหม่ในนิยามของ อ.เสกสรรค์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ตรงกันข้ามเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบอำนาจนิยมรูปแบบใหม่ขึ้นมา อุปถัมภ์อำนาจนิยมแบบใหม่คืออะไร ถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ก็หมายความว่าประชาชนที่อยู่ในสังกัดกลุ่มพันธมิตรเหล่านี้ ต่างก็ต้องมีสิทธิมีเสียงในการที่จะตัดสินใจ ในการที่จะบ่งบอกว่า เขาต้องการอะไร และมีส่วนร่วมในการกำหนด แต่ปรากฏว่า ภายใต้พันธมิตรอันนี้ คนที่เป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายทั้งหมดเลยก็คือตัว คุณทักษิณ หรือนักโทษชายทักษิณ ซึ่งเป็นเรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่ในปิรามิดสูงสุดของโครงสร้างความสัมพันธ์แบบนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพันธมิตรอันเหลือเชื่อ บรรดา ส.ส.ก็อยู่ภายใต้การบงการของทักษิณ เสื้อแดงชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ของ อ.เสกสรรค์ อยู่ภายใต้การบงการของบรรดา ส.ส. และแกนนำเสื้อแดงอีกทีหนึ่ง แกนนำเสื้อแดงก็ขึ้นต่อทักษิณอีกทีหนึ่ง มีการขึ้นต่อเป็นชั้นๆ และเชื่อมโยงร้อยรัฐด้วยอำนาจเงินที่เป็นกาว
เติมศักดิ์ - ระบบความสัมพันธ์แบบนี้จะเรียกว่า หุ้นส่วนได้อย่างไร
พิชาย - เป็นความสัมพันธ์ในเชิงแนวดิ่ง มีลักษณะของการกำกับควบคุมบงการ และชี้นำจากบนลงล่าง อันนี้คือความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่หุ้นส่วนแน่ๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ อ.เสกสรรค์ จึงวิเคราะห์ผิดอย่างสิ้นเชิงกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ส่วนอีกอันหนึ่งที่เขาบอกว่า ให้เสื้อแดงและพันธมิตรอันเหลือเชื่อ เรียนรู้การใช้อำนาจแบบอ่อน ก็คืออำนาจในเชิงวัฒนธรรม แต่ที่เราเห็นก็คือว่า รัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ ปูแดงสิ่งที่เขาใช้มีอำนาจอยู่ 2 อย่างที่ใช้ พี่ประพันธ์คือ 1.อำนาจรัฐตำรวจ 2.อำนาจเถื่อนของมวลชนเสื้อแดง
ประพันธ์ - เขาบอกให้ขยายแนวร่วมด้วย แต่ทุกวันมันมีแต่กระทืบแนวร่วม แกอธิบายอะไรผมยังไม่เข้าใจ
เติมศักดิ์ - แสดงว่าการอธิบายกับข้อเสนอมันขัดแย้งกัน
พิชาย - ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง และก็ตอนท้ายสิ่งที่ อ.เสกสรรค์ พูดในเรื่องนี้ กับพูดในการอธิบายเรื่องของความเหลื่อมล้ำก็มีลักษณะความขัดแย้งกัน เดี๋ยวผมจะขยายความต่อ ตอนนี้เปิดโอกาสให้พี่ประพันธ์จัดการบ้าง
เติมศักดิ์ - เดี๋ยวจะมาต่อ อ.พิชาย อธิบายเรื่องความเหลื่อมล้ำ อ.เสกสรรค์ กับข้อเสนอที่แก้ความเหลื่อมล้ำมันขัดแย้งกัน คุณประพันธ์ครับ ตรรกะและวาทกรรมของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อันนี้แลกเปลี่ยนเพื่อเป็นการต่อยอด หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์ คุณประพันธ์คิดว่า ตรรกะและวาทกรรมของ อ.เสกสรรค์ ในปาฐกถาทั้ง 2 วัน มีปัญหามีจุดอ่อนอย่างไร
ประพันธ์ - คือทันทีที่ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลนะครับ ผมสนใจมากแล้วผมก็ตั้งใจฟัง เพราะว่า คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่ได้มีโอกาสที่จะพูดแบบนี้มานานแล้ว ในเรื่องที่จะแสดงทัศนคติจุดยืน หรือความคิดทางการเมืองของตัวเองต่อปัญหาประชาธิปไตย หรือปัญหาของประเทศ อันนี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เขาพยายามจะกลั่นความคิด และวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาต่างๆ ก็เป็นการเตรียมมาแบบมีเท็ก มีมาพูด มีเปเปอร์เขียนมาอย่างดีแล้ว นั้นก็หมายความว่า คุณเสกสรรค์ได้ศึกษา วิเคราะห์ปัญหาสภาพสังคมไทยมาอย่างดีแล้ว ในช่วงระยะเวลา 40 ปีนี้ หรือโดยเฉพาะระยะช่วงอันใกล้นี้ อย่างน้อย 10 ปี ในช่วงที่มีทักษิณ และการต่อสู้ของพันธมิตร และมวลชนเสื้อแดง ใช่ไหมครับ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า คุณเสกสรรค์น่าจะได้ใช้โอกาสนี้ พูดอะไรที่มันสมบูรณ์ครบถ้วน เหมือนอย่างที่เขาเคยแสดงจุดยืนในทางการเมือง เมื่อครั้ง 14 ตุลา จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวผมก็เคารพ ผมไม่ได้จบด็อกเตอร์ครับ คุณเสกสรรค์เขาจบด็อกเตอร์มีการศึกษา และเป็นคนซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีการเมือง เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ ว่า ในยุคสมัยที่เป็นนักศึกษา ผมก็ถือว่าผมเป็นลูกน้องก็ได้ หรือเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็ได้ เพราะว่าพี่เสกสรรค์ เขาเป็นประธานสหพันธ์นักศึกษาเสรี ผมก็เป็นสมาชิกสหพันธ์นักศึกษาเสรี แต่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ลงพื้นที่ ไปคลุกคลีกับกรรมกรชาวนา และบ่ายก็กลับมาเข้ามาทำกิจกรรม เข้ามาศึกษาทฤษฎีความรู้ทางการเมือง คุณเสกสรรค์ก็จะเป็นคนที่ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาทฤษฎีทางการเมือง และให้แนวคิด หรือคำชี้นำกับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์ ในทางประชาธิปไตย ในยุคสมัยหลัง 14 ตุลา โดดเด่นคนหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับ เพราะในการศึกษาหลัก ทฤษฎีของคาร์ล มาร์ก หลักวัตถุนิยม วิพากษ์วิธี และนำมาประยุกต์วิเคราะห์สภาพปัญหา สภาพสังคมไทย
ในยุคสมัยนั้นก็ต้องถือว่า เขาเป็นผู้นำทางความคิดที่โดดเด่นคนหนึ่ง เพราะในทางส่วนตัวเราก็เคารพ แต่ว่าในช่วงหลังเมื่อออกจากป่ากลับมา คุณเสกสรรค์ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่คอร์เนล และกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สักพักหนึ่งแล้วท่านก็ลาออกไป เข้าใจว่าจะไปใช้ชีวิตที่พยายามจะปลีกวิเวกหนีห่างจากการต่อสู้ทางการเมือง แต่มันก็คงอดไม่ได้ ที่จะติดตามรับฟังเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองอยู่ แต่ว่าคุณเสกสรรค์อาจจะห่างไกลจากการต่อสู้ที่เป็นจริงของประชาชนในยุค ปัจจุบัน ในยุคที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และก็มีมวลชนคนเสื้อแดง คำว่าห่างไกลคือ ห่างไกลโดยสภาพการต่อสู้ที่เป็นจริงโดยรวมทั้งหมด แต่ว่ามีความใกล้ชิดกับกลุ่มอดีต 14 ตุลา หรือนักวิชาการที่อยู่ปีกเสื้อแดง มีการไปมาหาสู่กัน หรือพูดคุยกันอยู่ เพราะผมก็รู้จักหลายท่านที่ให้ความรักความเคารพไม่ว่า โอเคหมอเหวง หรืออะไรคุณธนศักดิ์ ฤกษ์เจริญพร กลุ่มหมอพรหมมินทร์อะไร ผมเข้าใจว่า อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย พวกอย่างนี้เขาคงจะมีความไปมาหาสู่กันเพราะว่า อ.เสกสรรค์ เป็นพวกสมาชิกสภาหน้าโดม ก็คือเป็นรุ่นเดียวกันกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย กับพวกนี้ในสมัยที่ทำ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ อ.เสกสรรค์ นำมาวิเคราะห์ผมอยากจะกราบเรียนว่า มันมีบางส่วนที่ถูกต้อง และมีหลักวิชาการน่ารับฟัง แต่ว่าส่วนใหญ่มันมีลักษณะที่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว กระทั่งบางเรื่องมันมีลักษณะบิดเบือนจากความเป็นจริง บางเรื่องมันผิดโดยสิ้นเชิง อย่างที่อาจารย์พิชายพูดไปแล้วบางส่วนนะครับ พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย อันนี้เป็นความจริงว่า ประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มันได้เกิดชนชั้นนำใหม่ หรือกลุ่มทุนใหม่ขึ้นมา ก็ต้องยอมรับว่า เดิมประเทศเราปกครองด้วยระบบศักดินาระบอบกษัตริย์ กลุ่มขุนนางผู้ดีเก่าแต่ดั้งเดิมก็ต้องถือเป็นชนชั้นนำเดิม แต่เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญเปลี่ยนแปลงมีทุนจากต่างประเทศ มีระบบล่าอาณานิคมเข้ามาบ้านเมืองก็เริ่มมีการค้าขายมีทุนพัฒนาขึ้นมาใน ประเทศพวกนายทุนพ่อค้าวานิชทั้งหลาย ก็มีการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนกระทั่งร่ำรวยเป็นชนชั้นกลาง
ถามว่าภายใต้ระบบการเมือง 40 ปีที่ผ่านมา มันมีกลุ่มทุนอยู่ 2 จำพวกอันนี้จริง คือกลุ่มทุนเก่ากลุ่มทุนที่เป็นขุนนาง ศักดินา ผู้ดีเก่าแต่ดั้งเดิมแล้วมีทุนเก่าอยู่เราไม่ปฏิเสธ แต่ว่าคนพวกนี้ ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นพลังที่ครอบงำสังคม หรือประเทศไทย เพราะพลังที่นำมาครอบงำการเมือง และสังคมประเทศไทยคือ เศรษฐี 50 คน มีคนอย่าง คุณธนินท์รวยกี่แสนล้านครับ ติดนิตยสารฟอร์บส์อันดับไหน คุณเฉลียว อยู่วิทยาติดอันดับไหน คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี รวยขึ้นมาเป็นกี่แสนล้าน คุณประยุทธ มหากิจศิริ วิชัย รักศรีอักษร กฤตย์ รัตนรักษ์ แม้กระทั่งคุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ไล่มาจนถึงตระกูลชินวัตร ตระกูลพวกบริษัทก่อสร้างชิโนไทย อิตัลไทย ช การช่าง พวกนี้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา ภายหลังจากบ้านเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาทั้งนั้น เพราะเมื่อก่อนต้องหากินกับหน้ารัฐ ฝ่ายขุนนางเก่า หรือชนชั้นนำเก่าก็คือขุนนางและทหาร เพราะทหารเป็นผู้ถือดุลอำนาจ และเป็นผู้ครอบงำสังคมไทยอันนี้เรายอมรับความเป็นจริง แต่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา มันทำให้เปิดพื้นที่ให้คนพวกนี้ แล้ววันนี้คนพวกนี้คือ ผู้มีอำนาจในการครอบงำการเมือง มันไม่ใช่ชนชั้นนำเก่า ชนชั้นนำเก่าเขาไม่อยู่ในฐานะมาครอบงำการเมืองแล้ว
เพราะฉะนั้นผมจะยกตัวอย่างนะ แม้กระทั่งพื้นที่ค้าขายในสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการส่วนพระองค์ ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้นายวิชัย รักศรีอักษร ผมมีหลักฐานผมไปตรวจสอบมาแล้ว วันหลังเอารายละเอียดมาให้ดูมีตารางหมดเลยใครจ่ายเท่าไหร่ๆ เพราะฉะนั้นคนมีอำนาจครอบงำสังคมไทยคือ กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มทุนซึ่งจะบอกว่า เป็นกลุ่มทุนไหน กลุ่มทุนอย่างคุณเจริญนี่กลุ่มทุนไหน กลุ่มทุนอย่างคุณธนินท์นี่กลุ่มทุนไหนเก่าหรือใหม่ กลุ่มทุนอย่างคุณกฤตย์ รัตนรักษ์ นี่เก่าหรือใหม่ พวกนี้มันเป็นพัฒนาการของทุนภายในประเทศ แต่แน่นอน ถ้าคุณจะแยกเอาในยุคโลกาภิวัตน์มีการเจริญเติบโตทางด้านสื่อสาร โทรคมนาคม มันมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นพุ่งพรวดขึ้นมา จริงๆ แล้วก็แซงเป็นอันดับหนึ่งขึ้นมาของพวกนี้คือ กลุ่มทุนโทรคมนาคมที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของกิจการ หลังจากที่ประมูลโทรศัพท์มือถือได้แล้วก็ประมูลโทรศัพท์ภายในประเทศได้ แล้วนำกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จนกระทั่งมาลงสู่การเมืองแล้วก็มาได้อำนาจทางการเมือง มีการยกเว้นภาษีให้ตัวเองมีการแก้กฎระเบียบการจ่ายค่าสัมปทานต่างๆ มีการใช้อำนาจในการปั่นหุ้นในตลาด จนกระทั่งทำให้ทักษิณรวยเป็นมหาศาล จึงมีคำถามว่า ชนชั้นนำใหม่คือใคร ถ้าบอกว่าคือทักษิณเป็นพลังที่ก้าวหน้าหรือเปล่า อันนี้คือเครื่องหมายคำถาม เป็นพลังที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างไร เป็นเรื่องที่ผมอยากจะพูดว่า คุณเสกสรรค์ต้องวิเคราะห์สังคมไทย และวิเคราะห์จำแนกกลุ่มทุนให้ชัดเจนในบริบทปัจจุบัน อย่าเอาทฤษฎีเพียวๆ มาพูด เอาของจริงมาพูดดีกว่า ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนไหนบ้างที่ครอบงำสังคมไทย ครอบงำอำนาจทางการเมือง และยึดกลุ่มโภคทรัพย์ไว้ในตัวเองมากที่สุด นี่ไงรายงานของคณะปฏิรูปนะ ซึ่ง อ.เสกสรรค์ ก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย คนจำนวนแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ครอบงำโภคทรัพย์ของประเทศเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่คน 80 เปอร์เซ็นต์มีรายได้แบ่งเจือจางอยู่ที่ 20 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะงั้นประเด็นที่คุณเสกสรรค์พูดเรื่องการเหลื่อมล้ำต่ำสูง คนที่ทำงานขยันแบบตายไม่ได้อยู่ดีกินดีเลย เพราะโภคทรัพย์มันไปอยู่ที่กลุ่มเหล่านี้ ความร่ำรวยของประเทศมันไปอยู่ที่กลุ่มเหล่านี้
ทีนี้หันมาดูที่ปาฐกถาของท่าน มาดูที่เราจะสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาอย่างไร ท่านพูดเองนะครับ ในบทที่ 1 เลย ว่าเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา คือต้องการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เจตนารมณ์ถ้าพูดชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของ 14 ตุลาคือ ในบทท้ายท่านยิ่งย้ำชัดเจน เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 คือการเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย แล้วเขาก็บอกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาที่มันเกิดขึ้น เพราะว่าประชาชนไทยต้องเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมานานหลายปี ความฝันก็ดี ความแค้นก็ดี ล้วนถูกบ่มเพาะจากสภาวการณ์ที่สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกเหยียบย่ำทำลาย นี้คือเจตนารมณ์ที่ทำให้เกิดการต่อสู้ของคนเรือนแสน คำถามก็คืออาจารย์ธีรยุทธก็บอกแล้วว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา คนที่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพ และได้ใช้ดอกผลจากการต่อสู้ประชาธิปไตยคือ ทหารกับกลุ่มทุน ประชาชนไม่ได้ใช้เลย กลับถูกปราบถูกฆ่าอีกหลักจากเหตุการณ์ 14 ตุลาแล้ว จนเกิด 6 ตุลา
ทีนี้คำถามก็คือว่า อย่างที่อาจารย์พิชายบอกว่า การเกิดพันธมิตรอย่างหน้าอัศจรรย์ ระหว่างกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหม่กับชนชั้นกลางใหม่ หุ้นส่วนทางการเมือง ก็คือระบอบทักษิณที่เข้ามาครอบงำประเทศอยู่ 10 กว่าปีนี้ ไม่นับเฉพาะยุคทักษิณนะ นับเลยไปเลยก็ได้ยุคชวน ยุคบรรหาร ยุค พล.อ.ชวลิต ที่ได้เสวยดอกผลจากการต่อสู้ของ 14 ตุลา คนพวกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรภายในประเทศ ที่เป็นผลดีกับประชาชนกับประเทศ และในทางสร้างสรรค์สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงดีขึ้นไหม ปรากฏว่า หนักกว่าเดิม ยิ่งภายใต้ระบอบทักษิณ คุณเสกสรรค์เคยฟังหรือเปล่า ว่ามันมีการฆ่าประชาชนในสงครามปราบยา 2,500 ศพ อันนี้คืออะไร เผด็จการสมัยจอมพลถนอมยังไม่เคยฆ่าคนขนาดนี้ มันยิงประชาชนตายในกรือเซะ ตากใบเท่าไหร่ ประชาชนชุมนุมพันธมิตรประชาชนฯ ชุมนุมอยู่โดนระเบิดถล่ม โดยเอ็ม 16 ถล่มอยู่เท่าไหร่ ประชาชนชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภา พันธมิตรฯ โดนยิงเจ็บตายมาเท่าไหร่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของวันนี้ พี่น้องประชาชนชุมนุมอยู่ที่อุรุพงษ์ มันเอาตำรวจมาปิดถนนตั้ง 14 สาย สร้างแบริเออร์ กำแพง ติดอาวุธ มันมีหน้าที่อะไรต้องไปฆ่าประชาชน ต้องไปสลายประชาชน ถ้ารัฐบาลมันเป็นประชาธิปไตย มันต้องเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน คุณเสกสรรค์เคยเห็นไหมว่า มันสร้างอันธพาลไปคุกคามศาล คุกคามองค์กรอิสระคุกคามคนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเป็นมวลชนคนเสื้อแดงที่พันธมิตรอย่างหน้าอัศจรรย์กับทุนโลกาภิวัตน์นั้น แหละ ที่คุณเสกสรรค์ไม่เคยเห็นเลยหรืออย่างไร
เพราะฉะนั้น 1.ที่กลุ่มคนเสื้อแดงก็ดี และที่คุณเสกสรรค์พยายามปาฐกถาให้เห็นว่า เหมือนกับว่ากลุ่มคนเสื้อแดงคือชนชั้นกลางใหม่เป็นผู้ที่จะมาสืบทอด เจตนารมณ์ 14 ตุลา นั้นมันบิดเบือนมันผิดอย่างร้ายแรง มันเจตนาที่จะเชิดชู และจะพูดให้เห็นการกระทำอันเป็นอนาธิปไตย จลาจลเผาบ้านเผาเมือง เป็นเรื่องของประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วที่อนุญาตให้คนพวกนี้มาปกป้องระบอบทักษิณนั้น มันไม่ใช่เรื่องการปกป้องระบอบประชาธิปไตยมันเป็นเพียงการปกป้องชนชั้นนำ ใหม่ที่เลวร้าย ชั่วร้าย ยิ่งกว่าเดิมอีก ถามว่า ชนชั้นนำใหม่ หรือกลุ่มการเมืองใหม่กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามามีอำนาจนั้น นำการเปลี่ยนแปลงอะไรมาสู่ประเทศ นอกจากเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่า จากอดีตนักการเมืองกินจอบกินเสียมไม่กี่บาท มาโกงทีละหมื่นละแสนล้าน โกงเป็นหลายๆ แสนล้าน เรื่องการศึกษาทักษิณนำการเปลี่ยนแปลงอะไรมาสู่ประเทศไทย ปฏิรูปการศึกษาโดยโกงข้อสอบเรียนจบโดยไม่ต้องเรียน คือลูกเขา นี่หรือคือสิ่งที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งโอกาสทางการทำมาหากินสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่างๆ ในสังคมมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น รวมมาถึงเรื่องกรรมกรผู้ใช้แรงงานปรากฏว่า ระบอบทักษิณระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนำใหม่ที่คุณเสกสรรค์ให้นิยามคือ การปล้นเอาโภคทรัพย์ของการแปรรูป ปตท.ไปเป็นของกลุ่มทุนทักษิณ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกำลังถูกกลืนไปเป็นเอกชน สวัสดิการชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานมันไม่ได้รับการเหลียวแล หุ้นมันไปตกอยู่กับใคร นี่หรือคือการเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากสนับสนุน
เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่า คนชั้นกลางเก่าอย่างพวกเรา หรือกลุ่มพันธมิตร อาจารย์พูดถึง ถ้ามองพวกผมพวกเรา หรือกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มคนชั้นกลางเก่าที่เป็นพลังอนุรักษ์นิยม อุปถัมภ์นิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หาว่าเราต่อต้านการเปลี่ยนแปลงผมก็เลยต้องถามคุณเสกสรรค์ ทักษิณเปลี่ยนแปลงอะไรในทางที่ดีของประเทศดีไหมครับ คุณเสกสรรค์ครับถ้าเขาเปลี่ยแปลงในทางที่ดีขึ้นในทางสร้างเสริมประชาธิปไตย ในทางสร้างเสริมสวัสดิการให้กับคนในชาติในการสร้างโอกาสให้กับบ้านเมือง นำพาประเทศก้าวไปสู่ข้างหน้า ปรากฏว่าตัวเลขดัชนีทุกตัวที่บอกว่า ประเทศไทยถอยหลังเข้าคลองทั้งนั้น คอร์รัปชันก็มากที่สุด ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยก็มากที่สุด โอกาสการทำมาหากินภาระหนี้ของคนในครัวเรือนก็มากที่สุดประเทศกำลังจะล้ม ละลายกู้ก็มากที่สุด ผมจึงมองไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและการที่คนพวกนี้มาสืบทอด เจตนารมณ์ของ 14 ตุลานั้น มันอยู่ตรงไหน แต่ถ้าทักษิณและระบอบการเมืองปัจจุบันนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผมคิดว่าไม่มีคนสติเสียอย่างพวกผมจะไปต่อต้าน
เติมศักดิ์ - เขาบอกว่าสิ่งที่คนต่อต้านทักษิณส่วนใหญ่ นี่อาจารย์เสกสรรค์พูดเองนะ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอื่น
ประพันธ์ - ก็นี่ไงๆ คือเขามองไม่เห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ระบอบทักษิณครอบงำประเทศ เขาบริหารประเทศแบบไหน รวมกระทั่งปัจจุบันที่นางยิ่งลักษณ์เป็นายกฯ เขาบริหารประเทศแบบไหน คุณต้องพูดความจริงสิครับ และในรายงานที่คุณศึกษาอยู่คุณเป็นกรรมการด้วยกับท่านอนันต์ ยังบอกเลยว่าโครงสร้างของประเทศไทยมีปัญหา อย่างไรบ้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างไรบ้าง การทุจริตคดโกงเป็นปัญหาอย่างไร ต้องปฏิรูปทุกด้านอย่างไร ถ้าอย่างนั้นจะปฏิรูปประเทศไทยทำไม ถ้ามันดีอยู่แล้ว ระบอบทักษิณนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ที่ดีขึ้น นี้คือประเด็นที่ 1 ที่จะบอกว่า ทักษิณเป็นตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยก็ดี คนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ก็ดี เป็นทฤษฎีที่สามานย์เป็นทฤษฎีที่หาความเชื่อถือไม่ได้ แล้วผมก็เปิดดูว่า นิยามของชนชั้นกลางก็หาว่า คำว่าชนชั้นกลางใหม่ไม่มี มีครับชนชั้นกลางในการชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็มีชนชั้นกลางจำนวนมาก ทำไมคุณไม่พูดถึงครับ จงใจจะไม่พูดถึงแต่บิดเบือนไปว่า เป็นชนชั้นกลางที่มาปกป้องพลังอนุรักษ์นิยม ทั้งที่ความจริงเรากำลังต่อต้านทุนนิยมขนาดใหญ่ที่มาครอบงำประเทศ ครอบงำอำนาจทางการเมืองแล้วโกงแล้วใช้อำนาจทางการเมือง เพื่อประโยชน์ตัวเอง ซึ่งไม่แตกต่างจากชนชั้นอำมาตย์เก่า หรือเผด็จการเก่า ซึ่งแน่นอนเผด็จการในอดีตเหล่าประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์ก็มีจุดอ่อนในการ ละเลยที่จะดูแลประชาชน แต่ว่าชนชั้นนำนายทุนกลุ่มใหม่ที่เขามามีอำนาจทางการเมืองนั้นละโมบโลภมาก โกงกินหนักยิ่งกว่าไม่งั้นเราไม่มีคนอย่างทักษิณ อย่างบรรหาร ไม่มีคนอย่างนักการเมืองที่รวยเอาๆ แต่ประเทศยากจนภาระหนี้ท่วมหัว นี้คือประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นแรกที่อยากจะพูดถึง
ส่วนประเด็นเรื่องชนชั้นกลางมันต่างจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ในยุคนั้นเป็นเรื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ชนชั้นกลางเป็นพลังที่สร้างสรรค์จริงครับ เพราะคุณเติมศักดิ์ดูประเทศไทยก็ได้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่มาจากชนชั้นกลาง มหาวิทยาลัยที่เป็นของเอกชนล้วนเป็นของชนชั้นกลาง รวมทั้งมหาลัยธรรมศาสตร์ด้วยที่เริ่มเป็นคนสร้างเปิดพื้นที่ให้มีคนมีความ รู้มีการศึกษา เมื่อชนชั้นกลางเข้ามาก็มีการสร้างอุตสาหกรรม มีการคมนาคมที่เจริญ มีมหาวิทยาลัยมีความรู้มากขึ้น ก็เกิดนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรเกิดคนที่ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมา อำนวยความสะดวกสังคมมันพัฒนาขึ้น แต่ชนชั้นกลางในยุโรป อเมริกา เขาไม่ขูดรีดแรงงานประชาชน แต่เขาเห็นประชาชนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า เขาคำนึงสิ่งแวดล้อม คำนึงสวัสดิการของประชาชน ในยุโรปในอังกฤษชนชั้นกลางที่ร่ำรวยจะสนใจที่จะทำประโยชน์ช่วยสังคม ช่วยประชาชน หรือเปิดโอกาสให้ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดย่อย เติบโตไปพร้อมๆ กัน ชนชั้นกลางเหล่านั้น จึงมีระบบการบริหาร ระบบสวัสดิการที่ดี นัการเมืองที่จะเข้าสู่การเมืองจึงไม่ต้องซุกหุ้นเหมือนทักษิณ ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย และเรื่องทำผิดกฎหมายถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา จริงๆ แล้วในอดีตก็มีการต่อสู้แบบนี้ และในยุโรปในอเมริกา แม้กระทั่งผู้หญิงสตรีก็ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำไป แต่เขาก็มีการต่อสู้ และชนชั้นกลางก็ยอมรับจะเห็นได้ว่า ยุโรปมีระบอบสวัสดิการกับประชาชน อเมริกาก็มีระบอบสวัดิการกับประชาชนที่ดีดูแลประชาชน
เพราะฉะนั้นคุณกับประชาชนจะบอกว่า เป็นหุ้นส่วนกันมันยังใกล้เคียงกว่าประเทศเรา แต่ของประเทศเราทุน ดูอย่างทุนทักษิณสิ เกิดสึนามิมันบริจาคกี่บาท เกิดน้ำท่วมตระกูลชินวัตร บริจาคกี่บาท มันเบียดบังเอาจากประเทศชาติประชาชนทั้งนั้น มันไม่เคยเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ฆ่าประชาชนได้เป็นผักปลา หลอกประชาชนไปตายเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นชนชั้นกลางที่เป็นชนชั้นนำใหม่นี้คือ ความเป็นจริงไม่ต้องเอาทฤษฎีอะไรมาพูดเลยเอาควงามจริงมาพูด ก็จะเห็นว่าสิ่งที่คุณเสกสรรค์พยายามจะเชิดชูการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และพิทักษ์ระบอบการเมืองด้วยระบอบทักษิณที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันผมคิดว่ามันไม่ใช่ ส่วนอีกประเด็นมันนิดเดียว ก่อนจะไปประเด็นอื่นคือ ที่เขาพยายามจะมองว่าชนชั้นกลางอย่างพวกเรากลัวการเปลี่ยนแปลง บางครั้งเลยไปตอนรับวิธีการล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งโดยนอกระบบ ผมพูดไปแล้วคนชนชั้นกลางอย่างพวกผม ไม่เคยกลัวการเปลี่ยนแปลงเลย ถ้ามันนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า แล้วประชาชนได้ประโยชน์แต่ระบอบการเมืองปัจจุบันไม่ว่าทักษิณ บรรหาร อภิสิทธิ์ ใครมาก็ตามไม่เคยนำมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนได้ประโยชน์ มีแต่มาผลัดกันกินกันโกง กันกู้ สร้างเรื่องแพงทั้งแผ่นดิน แล้วก็จะเจ๊งกันทั้งแผ่นดิน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ เพราะงั้นเหตุที่ชนชั้นกลางเขาจะยินดีที่ชนชั้นนำ กลุ่มทุนมันล้มคว่ำทางอำนาจ ก็เป็นความสะใจที่คนโกงที่ทำลายเสรีภาพประชาชนล้มไป แต่กลุ่มทหารที่ไปล้มกลุ่มนั้นก็ไม่คิดจะสร้างประชาธิปไตย คิดแต่กำจัดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตัวเองเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจึงมีการต่อสู้กันระหว่างเผด็จการ 2 ฝ่าย เผด็จการฝ่ายกลุ่มชนชั้นนำเก่าก็ได้ หรือกลุ่มทหารเก่ากับกลุ่มชนชั้นนำใหม่ที่โกง เพราะงั้นประชาชนก็เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีประโยชน์อะไรกับประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าทักษิณล้มไประบอบประชาธิปไตยก็ยังอยู่ เพราะกลุ่มเผด็จการที่เป็นทหารก็ร่างรัฐธรรมนูญ และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนเหมือนเดิม มีการเลือกตั้งเหมือนเดิม เขาไม่ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เพราะฉะนั้นที่ประชาชนสะใจ และต้อนรับการกระทำอย่างนั้น เพราะสะใจที่เหมือนมีไอ้นี้เป็นโจรก๊กหนึ่ง นี้ก็อีกก๊กหนึ่ง และโจรก๊กหนึ่งไปรบกับอีกก๊กหนึ่ง ประชาชนก็ต้องสะใจสิครับ
เติมศักดิ์ - มันมีปัจจัย
ประพันธ์ - ซึ่งถ้าหากคุณรู้ว่าโจรก๊กใหม่ปล้นประเทศยิ่งกว่า และกลุ่มหนึ่งไปกำจัดมันสั่งสอนมัน ก็จะทำให้การเมืองที่จะเข้ามาสวมรู้สำนึก แต่แล้วมันก็หาได้รู้สำนึกไม่ เพราะงั้นที่คุณบอกว่าการฟื้นขึ้นมาทางอำนาจของทักษิณ ไม่ใช่การฟื้นคืนมาของรอบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการฟื้นคืนมาของอำนาจเผด็จการของชนชั้นนายทุน ชนชั้นนำใหม่ที่คุณว่านี้เอง
เติมศักดิ์ - และแน่นอนความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือแม้กระทั่งความชั่วร้ายของคนที่ได้อำนาจแทนทักษิณ มันก็ไม่ได้ไปลบล้างความชั่วของทักษิณ แต่นี้ อ.เสกสรรค์ ทำราวกับว่ารัฐประหารมันล้อมเหลวผิดพลาดแล้ว เท่ากับไปลบล้างความเลวทักษิณ ซึ่งคนละเรื่องกันทักษิณเลวก็เลว คนที่ทำรัฐประหารถ้าคุณจะด่าเขาว่าเลวหรือว่าทำงานผิดพลาดก็ด่าได้ แต่เอามาทดแทนหรือหักล้างกันไม่ได้
ประพันธ์ - ถ้ารัฐประหารของประเทศไทย มันเป็นการล้มล้างล้มระบอบประชาธิปไตย แล้วเป็นระบอบเผด็จการแบบปิดประเทศ แบบเผด็จการฟาสซิสต์ แบบคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน ไอ้อย่างนั้นค่อยมาว่ากัน แต่ว่ามันเท่ากับเป็นการกำจัดนักการเมืองโกงชุดหนึ่งออกไปจากอำนาจเท่านั้น
เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องของปาฐกถาของท่าน หรือเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยก็ดี การจงใจหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการต่อสู้ของพี่น้องพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางที่เขาถูกคุกคามเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกปิด กั้นทางหากิน และถูกอำนาจของชนชั้นนำใหม่ยึดอำนาจครอบงำไว้หมด รวบอำนาจไว้หมด มีใครไปทำมาหากินในประเทศนี้ถ้าไม่ไปวิ่งเต้น จ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับตระกูลชินวัตร จะได้งานไหม ซึ่งตรงนี้คุณต้องมองว่านี้คือ การคุกคามสิทธิเสรีภาพ ในเมื่อคุณเสกสรรค์มองว่า หัวใจของระบอบประชาธิปไตยคือ เสรีภาพคือความเสมอภาค คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมปรากฏว่า ความเป็นจริงมันไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ท่านปาฐกถาเลย ประเทศไทยมันเป็นคนละเรื่องกันเลย ส่วนมวลชนเสื้อแดงค่อยว่ากันอีกทีว่า ถ้าหากคุณเสกสรรค์เห็นว่า นี่คือพลังชนชั้นกลางที่จะนำมาขับเคลื่อนประชาธิปไตย สืบสานเจตนารมณ์ แล้วทำไมคุณไม่มองว่า ประชาชนที่ออกมาในนามพันธมิตรฯ หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองเขาไม่ใช่กลุ่มชนชั้นกลางที่จะสืบสานเจตนารมณ์ ประชาธิปไตย เพราะว่าเขาก็ไม่ต้องการเผด็จการทั้งจากทหาร และเขาก็ไม่ต้องการเผด็จการทั้งจากนายทุน เขาต้องการระบอบประชาธิปไตยที่กินได้ ที่ประชาชนเข้าสู่อำนาจเป็นเจ้าของจริงๆ ได้ และเป็นระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสไม่ใช่ชนชั้นนำมีสิทธิที่จะโกง ทำผิดและไม่ต้องติดคุกหนีไปได้ คนยากคนจนขโมยนมมาเลี้ยงลูกนี้ติดคุก เศรษฐีนักการเมืองมีใครติดคุกบ้าง นี้คือความเป็นจริงของประเทศ
เติมศักดิ์ - สักครู่ เรามาคุยกันต่อ คุณพิชายยังค้างเรื่องการอธิบายเรื่องการเหลื่อมล้ำของ อ.เสกสรรค์ และข้อเสนอเพื่อลดความเลื่อมล้ำมันขัดแย้งกันหรือเปล่า และผมมีอักประเด็นหนึ่งที่จะถามช่วงหน้าคือว่า อ.เสกสรรค์บอก 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 และพฤษภา 53 ปัญหาอยู่ตรงนี้ละ 16 ไม่เท่าไหร่ 16 นี่ใช่ 35 นี่ใช่ แต่ 53 นี่มีคำถาม อาจารย์ว่า 3 เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า พลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจมีมากพอที่จะผลักดันลัทธิอำนาจนิยมให้ ถอยร่นออกไป คำถามคือ 53 ใช่หรือเปล่า ใช่พลังของประชาชนผลักดันประชาชนการผูกขาดอำนาจจริงหรือเปล่า สักครู่กลับมานะครับ
เติมศักดิ์ - กลับมาว่ากันต่อคนเคาะข่าวเรื่องปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก่อให้เกิดคำถามที่ชวนให้ถกเถียง ชวนให้คิด ชวนให้ตั้งคำถาม เพื่อต่อยอดแลกเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นนะครับ ผมมี 3 จุดที่อยากชวนทั้ง 2 ท่านได้แลกเปลี่ยนดูในปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์คือ อันแรกอาจารย์บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณกับคนเสื้อแดง อันนี้สรุปจากที่ท่านพูดนะครับ ความสัมพันธ์ระบอบทักษิณกับคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือก ตั้งมีอำนาจต่อรองจริง 2 ก็คือท่านบอกว่า ผู้นำรัฐบาลที่้เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการก็ จริง แต่สิ่งนี้ไม่อาจล้มล้างความจริงที่ว่า โดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่องนโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นถ้าไม่คอขาดบาดตายต้องนับเป็นเรื่องรอง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่ไม่หมายความว่า ไม่ได้เป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย ปัญหาก็คงต้องแก้ด้วยวิธีประชาธิปไตย อันนี้อันที่ 2 นะครับ อันที่ 3 ก็คืออย่างที่ผมทิ้งท้ายเมื่อสักครู่ว่า อาจารย์บอกว่า 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 และพฤษภา 53 ที่เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองเกิดขึ้นได้ย่อยแสดงให้เห็นว่า พลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจมีมากพอที่จะผลักดันลัทธิอำนาจนิยมให้ ถอยร่นออกไป คำถามสำคัญก็คือว่า พฤษภา 53 มันคือพลังของประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจจริงหรือเปล่า อ.พิชายเชิญครับ
พิชาย - คือผมเริ่มจากประเด็นท้ายสุดเลยคือ อ.เสกสรรค์ปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ในช่วง 14 ตุลา ก็มีชนชั้นกลางที่เริ่มต้นมีการศึกษาและมีฐานทางเศรษฐกิจดี และไม่อยาก ไม่ต้องการที่จะเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไปนะครับ อยากจะมีสิทธิในการเลือกรัฐบาลด้วยตนเองพอใจ และก็มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง นั้นก็คือประชาชนในช่วง 14 ตุลา ที่ อ.เสกสรรค์มอง แต่ถ้าเราดูความเป็นจริงในขณะนี้ไอ้พันธมิตรฯ ที่เหลือเชื่อของ อ.เสกสรรค์ มันกลับมีปรากฏการณ์ที่ว่า กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่ อ.เสกสรรค์ พูดกลายมาเป็นยอมตนมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องให้กับทุนสามานย์นะครับ
ประพันธ์ - นี้มันกลับด้านกับ 14 ตุลา
พิชาย - มันกลับด้านกับ 14 ตุลา
เติมศักดิ์ - 14 ตุลา ไม่ยอมเป็นสัตว์เลี้ยง
พิชาย - ครับ เพราะฉะนั้นคราวนี้กลุ่มชนชั้นกลางใหม่มันก็เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงในคอกของ กลุ่มทุนสามานย์ ซื้อมาเลี้ยงนะครับ แล้วโยนเศษเนื้อให้
เติมศักดิ์ - ให้อาหาร
พิชาย - เศษเนื้อในเชิงนโยบาย ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นเรื่องของการต่อรอง แล้วก็กลุ่มเหล่านี้ทุนสามานย์ หรือทุนโลกาภิวัตน์สร้างความสวามีภักดิ์ โดยเอาเงินของคนทั้งประเทศไปเลี้ยงคนเหล่านี้ไปเลี้ยงกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีสวามีภักดิ์ต่อทุนสามานย์ หรือทุนโลกาภิวัตน์
เพราะฉะนั้นการต่อรองนโยบายในความหมายของ อ.เสกสรรค์ มันจะต่างกันในแง่ที่ว่าการต่อรองนโยบายทั่วไป ถ้าการเมืองในแง่ของการเมืองระบอบประชาธิปไตยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ต่างก็มาต่อรองในเชิงนโยบายอันนั้นใช่นะครับ อย่างเช่น กลุ่มกรรมกรต่อรองกับกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรต่อรองกับนายทุนส่งออก อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นการต่อรองผลประโยชน์กัน อาจใช้ระบบการต่อรองในเชิงสถาบัน อย่างเช่นมีกลไกของไตรภาคีกรณีค่าแรงขั้นต่ำ
ประพันธ์ - แต่ว่าฉันให้ประชานิยมเธอให้คะแนนเสียงฉัน อย่างนี้คือการต่อรองไหม
พิชาย - อันนั้นไม่ใช่การต่อรอง อันนั้นคือใช้ภาษีของประชาชนในการซื้อขาย เป็นการซื้อประชาชนให้มาเลือกตัวเอง มันไม่ได้เป็นการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น คือฉันมีสินค้าแบบนี้ให้เธอแบบนี้ๆ เธอก็เลือกเอาไป ไม่มีการต่อรองอะไรทั้งสิ้นนะครับ แค่ประทานไปให้เพื่อสร้างความสวามิภักดิ์เท่านั้นเอง เพื่อจะใช้กลไกนโยบายเหล่านั้นทำให้ชนชั้นกลางใหม่ทั้งหลายกลายเป็นสัตว์ เลี้ยงที่เชื่องไง นี้คือ สิ่งที่ทุนสามานย์กระทำต่อชนชั้นกลางใหม่ ซึ่ง อ.เสกสรรค์มองไม่เห็นในเรื่องนี้ มองว่าตรงนี้เป็นการต่อรอง
เติมศักดิ์ - โดยเฉพาะอย่างที่อาจารย์พิชายพยายามจะย้ำว่า ก็แปลว่าพลังของประชาชนถ้าเราจะใช้คำนั้นนะครับ พลังของประชาชนในปี 53 ไม่ใช่พลังที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจ แต่เป็นพลังที่ส่งเสริมการผูกขาดอำนาจ
พิชาย - คือเป็นพลังที่ออกมาปกป้อง
เติมศักดิ์ - ปกป้อง
พิชาย - ปกป้อง ถ้าพูดในภาษาหนึ่งก็คือปกป้องเจ้านายของตัวเอง ปกป้องของเจ้านายที่อุตสาห์นำทรัพยากรของชาติมาแบ่งปันให้ตัวเองคือ คนเหล่านี้เป็นคนส่วนหนึ่งของประเทศ และก็เป็นคนส่วนไม่มากด้วยนะครับ ในขณะที่คนส่วนมากของประเทศถูกกลุ่มที่เป็นเจ้านายคนกลุ่มนี้อาศัยอำนาจทาง การเมืองกวาดเอาทรัพยากรมา
เติมศักดิ์ - สูบรวมทรัพยากรมา
พิชาย - สูบมา แล้วก็มาเลี้ยงคนกลุ่มนี้ เพื่อให้คนเหล่านี้ปกป้องตัวเอง ปกป้องผลประโยชน์และอำนาจของตัวเอง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในปี 2553 มันไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นที่เขาจะออกมาพิทักษ์ผลประโยชน์ทางชนชั้น ของตนเอง เพราะถ้าหากว่าเขาออกมาพิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นของตนเองจริงนะครับ อย่างที่หลายคนพยายามจะพูดให้เป็นอย่างนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้ได้ประสบชัยชนะแล้วนะครับ มีรัฐบาลเป็นของตัวเองมาแล้วในขณะนี้เนี่ย 2 ปีกว่าแล้ว ก็ประสบชัยชนะแล้ว ถ้าหากว่าคนกลุ่มนี้มีจิตสำนึกทางชนชั้นของตัวเองก็จะต้องผลักดันนโยบายที่ จะสร้างผลประโยชน์ให้กับชนชั้นของตัวเองอย่างเป็นระบบและระยะยาว อย่างเช่นอะไรบ้าง อย่างกรณีชาวนาก็ต้องสร้างกลไกที่จะทำให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่จะทำให้ ชาวนาสามารถที่จะขายข้าวได้ราคาดีตลอดไป ไม่ใช่เป็นนโยบายจำนวนข้าวเป็นปีต่อปี แล้วก็ปีแรกมาหน่อยปีหลังน้อยหน่อยปีถัดไปก็จะไม่มีเลย อันนี้มันไม่ใช่ เป็นการต่อรองผลประโยชน์ของตัวเอง แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ผลักดัน ผลักดันแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า การปฏิรูปที่ดินซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้า ความเหลื่อมล้ำเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในเดือนพฤภา 53 จริง
ขณะนี้คนเสื้อแดงทั้งหมดเขาต้องรวมพลังกันที่จะผลักดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปรับโครงสร้างการปฏิรูปที่ดิน เอาที่ดินของบรรดาอำมาตย์เอามาปฏิรูป แต่ก็ไม่ทำ ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากเรื่องปฏิรูปที่ดินแล้วเรื่องโครงสร้างภาษี บรรดาฝ่ายซ้ายที่อยู่ในแกนนำของเสื้อแดงหรืออยู่ในรัฐบาล สมัยก่อนก็อยากให้เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพยสิน เดี๋ยวนี้ไม่พูดสักนิดเลย ในขณะที่รัฐบาลตัวเองครองอำนาจอยู่ไม่พูดเลยเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ไม่ผลักดันเรื่องเหล่านี้เลย
ประพันธ์ - แถมโกงภาษี
เติมศักดิ์ - แปลว่าไม่ได้ผลักดันอะไรที่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำเลยแม้แต่น้อย
พิชาย - ใช่ คือ 2 ประเด็นนี้ทุกประเทศที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องทำ 2 ประเด็นนี้ ในประเทศตะวันตกทุกประเทศ งั้นถ้าตราบใดที่ยังไม่ทำ 2 ประเด็นนี้ความเหลื่อมล้ำก็ยังลดไม่ได้ นี้ยังไม่ได้นับรวมอีก 2 ประเด็นใหญ่ ก็คือประเด็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ถามว่าคนเสื้อแดงพูดถึงการกระจายอำนาจมากน้อยขนาดไหน พ.ร.บ.กระจายอำนาจ เขาอุตส่าห์กำหนดไว้ให้รัฐบาลกลางจัดสรรงบประมาณไปให้ท้องถิ่น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจ๋าของพวกเสื้อแดง กลับเล่นแร่แปรธาตุไม่ยอมที่จะจัดสรรงบประมาณตรงนี้ไปให้ท้องถิ่นเลย เสื้อแเดงก็ไม่ทำอะไร ก็เฉยนะครับ หรือเรื่องพลังงานมันแปลไหม เขาพยายามเรียกร้องให้เอาพลังงานมาเป็นของชาติ เพื่อลดค่าพลังงาน ค่าน้ำมันรถลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่เสื้อแดงบอกอย่าลดให้ไปขึ้น แล้วไอ้นี้มันลดความเหลื่อมล้ำได้ไง มันก็ยิ่งไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ อันนี้คือปมปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา เพราะกลุ่มพลังเหล่านี้มันจึงไม่ใช่เป็นพลังที่เป็นประชาธอิปไตย และก็ไม่ได้เป็นพลังที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา ซึ่งเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา ที่ อ.เสกสรรค์ย้ำก็คือเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นธรรม แต่สิ่งที่ผมพูดไปเมื่อกี้มันล้วนแล้ว แต่เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น แต่คนเสื้อแดงไม่แตะเลย
เพราะฉะนั้นแล้วเหตุผลที่เขาใช้เรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเคลื่อนไหว มันจึงเป็นเหตุผลลวงเท่านั้นเอง เป็นเหตุผลลวงเพื่อที่จะใช้ในการสร้างความเป็นเหตุผลในการท้วงอำนาจคืนให้ กับกลุ่มทุนสามานย์เป็นหลัก ที่นี้มันมีประเด็นหนึ่งที่ อ.เสกสรรค์พูดไว้ ซึ่งเป็นประเด็นหลักก็คือ ประเด็นเรื่องสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ อ.เสกสรรค์แกมองว่า การคอร์รัปชันไม่ใช่ สาเหตุของการเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่นะ สาเหตุการเหลื่อมล้ำแกมองว่าเกิดมาจากระบบ ระบบที่ว่านี้คือระบบทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำโดยการไม่คอร์รัปชัน ที่นี้ผมก็เห็นด้วยในประเด็นหลังว่า ไอ้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจริง แต่การคอร์รัปชันในสังคมไทยมันเป็นปฐมเหตุ และมันเป็นสาเหตุที่สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง เพราะว่าเวลาเราคอร์รัปชันนักการเมืองทุนสามานย์บ้านเราไม่ได้คอร์รัปชันกัน ล้านสองล้านนครับ วันนี้มีการประกาศออกมาแล้วของหม่อมปรีดิยาธร บอกว่าโครงการจำนำข้าวที่คิดกันอย่างตัวเลขอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นสถิติ มีการทุจริตถึงหนึ่งแสนกว่าล้านบาท และถามว่าเงินหนึ่งแสนกว่าล้านบาท แทนที่จะกระจายไปสู่สังคมลับตอยู่ในมือของนักการเมืองจะไม่สร้างความเหลื่อม ล้ำได้ยังไง เงินเป็นแสนล้าน เพราะสเกลของการคอร์รัปชันในสังคมไทยมันสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล ซึ่งตรงนี้อาจารย์เสกสรรค์กลับมองไม่เห็น ที่นี้มาถึงประเด็นเรื่องทุนโลกาภิวัตน์ ทุนโลกาภิวัตน์ อ.เสกสรรค์บอกว่า เป็นเหตุหลักที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ที่นี้คำถามก็คือว่าทุนโลกาภิวัตน์เป็นใคร ถ้าเราดูที่อาจารย์เสกสรรค์เสนอตอนต้นก็คือทุนโลกาภิวัตน์ที่จับมือกับชน ชั้นกลางใหม่นั้นแหละ ที่นี้เป็นกลุ่มเดียวที่ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย
เติมศักดิ์ - มันขัดแย้งกันเอง
พิชาย - ก็นี้ไง ก็เลยขัดแย้งกันเองไง
เติมศักดิ์ - ทุนโลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ แต่ทุนโลกาภิวัตน์กับชนชั้นกลางใหม่เป็น
ประพันธ์ - ไม่ๆ คือถ้าทุนโลกาภิวัตน์
เติมศักดิ์ - เป็นความลงตัวของหุ้นส่วนทางการเมือง
ประพันธ์ - ถ้าทุนโลกาภิวัตน์เป็นทักษิณไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ เขาสับสนในตัวเอง
พิชาย - ก็คือว่าเป็นประเด็นที่สับบสนมาก ทุนโลกาภิวัตน์ทั้งหลายแน่นอนสร้างความเหลื่อมล้ำแน่ๆ นะครับ เพราะว่าเขามีโอกาสทีจะเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่าประชาชนธรรมดาทั้งหมด เพราะฉะนั้นโดยเนื้อแท้แล้ว ถ้าหากชนชันกลางใหม่หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดจิตสำนึกชนชั้นอย่างแท้จริง เขาจะต้องเป็นปรปักษ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับกลุ่มนายทุนใหม่ที่เป็นทุน โลกาภิวัตน์ เพราะกลุ่มทุนนี้แท้จริงแล้วคือ กลุ่มคนที่ขูดรีดและกดขี่เขามากที่สุด และทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำมากที่สุดในสังคมไทย แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหาของจิตสำนึกที่ผิดพลาดของคนเหล่านี้ที่หลงผิดคิดว่า กลุ่มทุนใหม่เป็นผู้ที่จะทำให้ขาหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำนี้คือปมปัญหา
เติมศักดิ์ - แปลว่าในปาฐกถาของ อ.เสกสรรค์ที่บอกสร้างความสับสน หรือขัดแย้งตัวเอง กลุ่มทุนกลุ่มเดียวกันสร้างความเหลื่อมล้ำ ด้านหนึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ด้านหนึ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกต่างหาก เพราะสามารถเป็นพันธมิตร หรือเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองกับกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
ประพันธ์ - มันใช้ตรรกะที่มันสับสนมาก ก็ช่วงสุดท้ายก็คือว่า ผมคิดว่าใน 3 ประเด็นนี้นะครับ ประเด็นแรกเรื่องเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์เป็นการขจัดลัทธิอำนาจนิยมให้ถอยห่างออกไปไม่ว่า 14 ตุลา พฤษภา 35 แต่ก็พยายามมาเหมารวมพฤษภา 53 เข้าไปด้วย ความจริงแล้วเฉพาะ 14 ตุลา กับพฤษภา 35 นี้ใช่ แต่พฤษภา 53 มันไม่ใช่ มันไม่ใช่การขจัดอำนาจนิยมถอยห่างออกไป มันเป็นการทำให้อำนาจนิยมยิ่งกระชับขึ้นมาอีก อำนาจนิยมโดยกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งก็คือทักษิณนั้นแหละ หรือในคำนินามที่คุณเสกสรรค์พูดในนี้คือชนชั้นนำใหม่ ก็คือทักษิณจะเป็นใครครับ ที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดมหาศาล และเป็นคนเดียวที่ย้ายจากเป็นทุนที่เคยแอบสนับสนุนพรรคการเมืองลับมาเล่นการ เมือง และเข้าครองงำอำจาจทางการเมืองเอง เป็นทุนขนาดใหญ่ แล้วเขายังมีพันธมิตรไม่ใช่ตัวเขาทุนกลุ่มเดียวนะครับ เขายังมีกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศอีกหลายกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับเขา
เพราะฉะนั้นแล้วทักษิณเป็นหัวขบวนการของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ หรือจะในนิยามชนชั้นนำใหม่ก็ใช่ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหว 19 พฤษภา 53 เป็นการเคลื่อนไหวของเชียร์ของมวลชน ขี้ข้าที่เขาซื้อเอาไว้ เพื่อสนับสนุนรักษาอำนาจ โดยได้เสพติดสิ่งที่เขาแจกจ่ายไปให้ 2 ส่วนเรื่องประเด็นว่าระบอบทุนนิยม ระบอบประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่มันทำให้กลุ่มต่างๆ มีอำนาจต่อรอง กลุ่มต่างๆ มีอำนาจต่อรองในระบอบประชาธิปไตยจริง เช่นอย่างที่ อ.พิชายพูด สมาคม ธนาคาร หอการค้า หรือประชาชนพยายามที่จะต่อรองเรื่องที่อยู่ที่ทำกินเรียกร้องกับรัฐบาลนี้ ใช่ แต่กับมวลชนเสื้อแดง และชนชั้นกลางใหม่มันไม่ใช่เรื่องการต่อรอง มันเป็นเรื่องแบมือขอ และมันเป็นการที่ทักษิณสร้างระบบอุปถัมภ์ใหม่ โดยการเอาเงินภาษีของประชาชนไปหว่าน เพื่อซื้อไว้ให้สวามิภักดิ์กับตัวเอง คนพวกนี้ไม่ได้ต่อรอง แต่สิ่งที่ผมเห็นต่อรองของคนพวกนี้ที่ต่อรองกับทักษิณคือต่อรองเรื่องจ่าย ค่าศพให้คนที่มาชุมนุม เพื่อให้มึงกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก คนละ 7 ล้าน 5 นี้คือต่อรอง แต่มันต่อรองบนการผลาญผลประโยชน์ของประเทศชาติ คือผลาญเงินภาษีของประชาชน เป็นการเรียกร้องเงินภาษีของเราไปเจือจาน ซึ่งแม้แต่เผด็จการในอดีตยังไม่เคยทำเลย ตำรวจ ทหารตาย ก็ไม่เคยเอาเงินไปให้ขนาดนี้เลย อันนี้คือความเลวร้ายซึ่งเสกสรรค์มองไม่เห็น
เติมศักดิ์ - ไม่ใช่ต่อรอง เมื่อไรเสียภาษีที่ดิน เมื่อไรลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่
ประพันธ์ - ก็มีต่อรองว่าเวลากูไปด่าศาล เวลากูไปชุมนุมที่โน้น ไปตีหัวคน ก็เอาไปวางบิลไง นี้ๆ ต่อรอง มันเป็นเรื่องของการแบมือขอ มันไม่ใช่เรื่องต่อรอง เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องต่อรองผ่านไปได้เลย แต่อยากจะพูดถึงในส่วนดีของปาฐกถานี้
เติมศักดิ์ - มีไหมครับ
ประพันธ์ - คุณเสกสรรค์พูดถูกในเรื่องของการที่จะสร้างประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยมันต้องมองทั้งระบบโครงสร้าง อันนี้จริงครับ ถูกต้อง และการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่การหวังพึงแต่เพียงพรรคการเมือง และระบอบการเมืองในรัฐสภา มันต้ององค์รวมของประชาชนโดยรวมด้วย แต่คุณเสกสรรค์ประเมินการต่อสู้ของประชาชน 2 อย่างนี้แตกต่างกัน ในขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข และขจัดระบบอำนาจนิยมไม่ว่าจะมาจากทหาร หรือว่าจะมาจากกลุ่มทุน คุณเสกสรรค์มองไม่ออก มองไม่เห็น เขาไม่ได้มาพิทักษ์ระบบอนุรักษ์นิยม หรือว่าถ้าผมจะต้องไปคัดค้านให้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงมาตรา 112 แก้มาตรา 112 ผมจะเป็นพลังใหม่ เพราะฉะนั้นจริงแล้วมาตรา 112 ไม่ต้องแก้ประเทศไทยก็อยู่มาได้ ถ้ามาตรา 112 เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยมันไม่มีเศรษฐีกลุ่มทุนใหม่อย่างทักษิณเกิด มาหรอก ซึ่งมันคนละประเด็นกันมันไม่เกี่ยวกัน
เพราะฉะนั้นการที่เราสู้พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอนุรักษ์นิยมเป็นเรื่องที่ถูกต้องในประชาธิปไตย และในยุโรป อังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ ประเทศสแกนดิเนเวีย ประเทศที่เขามีชีวิตความเป็นอยู่ระบบสวัสดิการที่ดีขึ้น ระบอบกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยเขาอยู่ด้วยกันได้ แต่ภาษาของคุณเสกสรรค์พยายามจะพูดให้เห็นว่า ชนชั้นนำเก่าเป็นปัญหาที่จะต้องถูกจำกัด มันหมายความว่าคุณมีปัญหาเรื่องวิธีคิดแล้ว มีปัญหาเรื่องสภาพจิตแล้ว ไม่ใช่พวกผมที่คุณใช่คำพูดอยู่ในสภาพจิต เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือว่า การสร้างประชาธิปไตยถูก และหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญของระบอบ ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนใช่ แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันมันคนละโลกกับที่คุณพูด เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากจะสร้างประชาธิปไตย และอยากจะลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง พันธมิตรประชาชนเป็นคนยื่นมือไปบอกว่าคนเสื้อแดงถ้าคุณอยากจะลดความเหลื่อม ล้ำ และอยากจะสร้างประชาธิปไตยเรามาจับมือกัน เพราะจริงๆ แล้วชนชั้นนำ หรือทุนผูกขาดทักษิณที่มีอำนาจมันเป็นลัทธิอำนาจนิยมที่หนักยิ่งกว่าเผด็จ การ และทำร้ายทำลายพวกเราคนที่เป็นชนชั้นกลาง ไม่ว่าคุณจะบอกว่าเป็นชั้นกลางใหม่ หรือพวกผมชนชั้นกลางเก่าล้วนได้รับกระทบจากระบอบการเมืองนี้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นการทุจริตคดโกงและการใช้อำนาจโดยมิชอบ การปล้นสะดมเอาทรัพยากรของประเทศไว้ในตระกูลครอบครัวของตัวเอง เขาคือกลุ่มทุนใหม่คือชนชั้นนำใหม่ที่ได้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ตระกูลชินวัตรแต่ก่อนมีอะไร ยายแดงเมื่อก่อนมีอะไร ทุกวันนี้ร่ำรวยเป็นยังไง ทุกคนในตระกูลเขาร่ำรวยหมด แต่คนในประเทศยังยากจน เพราะฉะนั้นถ้าจะสร้างประชาธิปไตยร่วมกันจริงคุณต้องประเมินการต่อสู้ของ พันธมิตรประชาชนเสียใหม่ และจริงๆ แล้วประชาชนไม่ว่าจะเป็นชั้นกลางในชนบท ผู้ประกอบการรายย่อย หรือชนชั้นกลางในเมืองล้วนเป็นพลังที่จะมาร่วมกันสร้างประชาธิปไตยที่แท้ จริงของประชาชนทั้งนั้น ไม่ใช่มาแบ่งแยกว่า ไอ้กลุ่มนี้เป็นพวกสร้างประชาธิปไตย พวกนี้คือพวสร้างอนุรักษ์นิยม ผมว่าคุณเพี้ยนแล้ว คุณมองประชาชนผิดแล้ว
เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เขาพูดถูกแล้ว แต่ว่าคนเสื้อแดงมันจะตีความไปเข้าข้างตัวเองว่ามันเป็นตัวพลังที่สร้าง ระบอบประชาธิปไตยนะครับ พวกเสื้อเหลืองเป็นพวกที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นพวกอํามาตย์ แต่มาวันนี้ชนชั้นนำ ชนชั้นอํามาตย์ใหม่คือพวกคุณไม่ใช่พวกผม ใช่ไหม คุณต่างหากที่อยู่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ถามว่าถ่าคุณจะสร้างประชาธิไตยวันนี้ ลดความเหลื่อมล้ำวันนี้คุณทำได้ไหม และถามว่าคุณเสกสรรค์กับมวลชนเสื้อแดงไปกดันรัฐบาลของตัวเองให้แก้ปัญหาลด ความเหลื่อมล้ำให้สร้างประชาธิปไตยอย่างไร นอกจากออกกฎหมายนิรโทษกรรม และแก้รัฐธรรมนูญ เพื่ออำนาจของตัวเอง และในรัฐธรรมนูญนั้นมีแต่เสริมความมั่นคงให้กับอำนาจระบอบการเมืองที่มีทุน ใหญ่ครอบงำทั้งนั้น แก้ปัญหาให้การเลือกตั้งต้องมาจากพรรคการเมือง แก้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.จากพรรคการเมือง สรุปแล้วคนอื่นมาไม่ได้นอกจากพรรคการเมือง แล้วพรรคการเมืองใครเป็นเจ้าของนอกจากกลุ่มทุน นี้มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย มันไม่ใช่การกระจายอำนาจ
เพราะฉะนั้นถ้าจะสร้างประชาธิปไตย ผมคิดว่าคุณเสกสรรค์จะต้องมองประชาชนทุกหมู่เหล่า ในขณะที่คุณมองว่ากลุ่มชายขอบ ประชาชนคนเล็กคนน้อยตามชายขอบคือ พลังที่จะต้องมาหลอมรวม ในขณะที่คุณบอกให้คนเสื้อแดงกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ของคุณพยายามสามัคคีพยายาม ขยายแนวร่วมอย่าไปป้ายสีคนอื่นใหม่ คนช่วยไปบอกไอ้แก๊งอันธพาลกวนเมืองทั้งหลายสิว่า มันทำไมต้องไปขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของคนอื่น คนพวกนี้ต่างหากที่ควรจะได้รับการอบรม ไม่รู้จักที่จะสามัคคีกับคนอื่น ถ้าคุณรักประชาธิปไตยจริงทักษิณต้องอยู่นอกสมการนี้ ทักษิณต้องเป็นตัวศัตรูที่จะถูกโค่นล้ม ต้องถูกกำจัด เพราะมันเป็นชนชั้นนายทุนที่รวบอำนาจรัฐไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่า ที่จะสร้างสรรค์ประเทศ สร้างประชาธิปไตย
เติมศักดิ์ - แต่นี้กลับยุให้เป็นหุ้นส่วน
ประพันธ์ - กลับยุให้เราเป็นหุ้นส่วน เพราะฉะนั้นในประเด็นของคุณเสกสรรค์ยังมีหลายประเด็นในปาฐกถา ซึ่งผมคิดว่าวันนี้คุงพูดไม่หมดหรอก เพราะมันมีหลายประเด็นที่แฝงเร้นอยู่ในปาฐกถาอันนี้ ที่เป็นทั้งน้ำตาล และยาพิษอยู่ด้วยในตัวเอง เป็นทั้งหลักวิชาการและวิชาเกิน เป็นทั้งเรื่องของการพูดความจริงบางส่วนและก็บิดเบือนจำนวนมาก ซึ่งความจริงแล้วเสียดายที่คุณเสกสรรค์ควรจะพูดอะไรได้มีความเป็นอมตะ ได้อะไรที่เป็นคุณูปการมากกว่านี้ ในขณะที่น่าจะมองเห็นทุกมุมของปัญหา เพราะถ้าปลีกวิเวกออกไปแล้วน่าจะมองได้ว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มมีจุด ดีจุดอ่อนอย่างไร อันนี้เราก็ยังไม่ได้พูดถึงการธีรยุทธ อย่างน้อยคุณธีรยุทธแน่นอนครับ เราไม่ได้ไปเชียร์ก็ยังมีจุดที่วิพากษ์วิจารณ์ และแลกเปลี่ยนอยู่ แต่ในมุมที่เขามองก็มีมุมที่ผมคิดว่าไม่เป็นยาพิษเท่ากับปาฐกถาของคุณเสก สรรค์
เติมศักดิ์ - อาจารย์พิชายเชิญครับสุดท้ายแล้วครับ
พิชาย - คือผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์เสกสรรค์ได้พูดในปาฐกถา ซึ่งในวันแรกพูดในกลุ่มของคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้นการพูดปาฐกถานี้ ถึงแม้ว่าจะผ่านการไตร่ตรองแต่ผมคิดว่ามันก็อดไม่ได้ที่ผู้พูดอาจมีอคติอยู่ เพราะว่าไปพูดท่ามกลางของบรรดากลุ่มที่รู้ว่ามีทัศนคติ และความคิดเป็นอย่างไร ที่นี้เมื่อเริ่มต้นจากอคติของตนเองไปแล้ว มันก็เลยทำให้การรับรู้ความเป็นจริงเป็นการรับรู้ความเป็นจริงเพียงเศษ เสี้ยวและไม่รอบด้าน และเกิดการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยผิดพลาดหลายประการ ซึ่งอันนี้ก็เป็นที่น่าเสียดายสำหรับคนอย่างอาจารย์เสกสรรค์ ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะครับ
เติมศักดิ์ - ด้วยเวลาจำกัดเราก็ว่ากันตามนี้ก่อนนะครับ แต่คิดว่ายังมีแง่มุมที่น่าคิด น่าตั้งคำถาม น่าต่อยอดกับปาฐกถาของ 2 อดีตผู้นำนักศึกษา ทั้งอาจารย์เสกสรรค์และอาจารย์ธีรยุทธนะครับ วันนี้ต้องลากันตามนี้ก่อนนะครับ ขอบคุณมากครับอาจารย์พิชาย ขอบคุณมากครับคุณประพันธ์ครับ คนเคาะข่าวลาไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน