สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริง

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเด็นข้อถกเถียงที่เป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งในสังคมไทยยุคปัจจุบันก็คือ ประเด็นที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงคืออะไร

หากศาลรัฐธรรมนูญทำเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ ฯลฯ

ก่อนอื่นเราต้องมาเข้าใจกันเสียก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ในหมวด 10 ส่วนที่ 2

ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียวไม่สามารถที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำวินิจฉัยต่อไปอีกได้ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน รวมเป็น 9 คน (มาตรา 204)

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ (ที่มา : โชต อัศวลาภสกุล)

1.1 พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองใด จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ (มาตรา 65 วรรคสาม)

1.2 วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)

สั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการดังกล่าว (มาตรา 68 วรรคสาม) ซึ่งมีผลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง (มาตรา 68 วรรคท้าย)

1.3 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (3) (4) (5) (6) (7) (8) (10) หรือ (11) หรือมาตรา 119 (3) (4) (5) (7) หรือ (8) แล้วแต่กรณี หรือไม่ (มาตรา 91 วรรคหนึ่ง)

1.4 วินิจฉัยว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลงนั้น มีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสาม หรือไม่ (มาตรา 106 (7))

1.5 พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 141)

1.6 วินิจฉัยว่า ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา 147 คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ (มาตรา 149)

1.7 พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 154)

1.8 พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 155)

1.9 พิจารณาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ ได้มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ (มาตรา 168 วรรคเจ็ด)

1.10 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (2) (3) (4) หรือ (6) หรือไม่ (มาตรา 182 ประกอบมาตรา 91 และมาตรา 92)

1.11 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดใดตราให้ใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ หรือได้ตราขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (มาตรา 185)

1.12 วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาว่า หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศฉบับใด มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่ (มาตรา 190)

1.13 พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 211)

1.14 วินิจฉัยคำร้องจากบุคคลซึ่งอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 212)

1.15 พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป (มาตรา 214)

1.16 วินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 230 หรือไม่ (มาตรา 233)

1.17 พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอพร้อมด้วยความเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา 245 (1))

1.18 พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอพร้อมด้วยความเห็น ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา 257 (2))

จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีจำกัดมาก ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าที่จะสามารถไปบัญญัติหรือตีความนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้ เพราะแม้แต่กฎหมายที่ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยังไม่รวมศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว

กอปรกับตามหลักนิติรัฐองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนทั้งหลายจะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนด หรือที่เรียกว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” และ “เมื่อใช้อำนาจก็ต้องใช้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย”

ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการโดยไม่มีอำนาจหรือกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ คำวินิจฉัยนั้นจึงไม่มีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯมาตรา 216 วรรคห้า จะบัญญัติไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญอันเป็นฐานแห่งอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อำนาจหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่แท้จริง

view