ถึงวันอันตราย ศึกเพดานหนี้สหรัฐ
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รูปที่ 1 เหตุการณ์หลังจากวันที่ 17 ตุลาคม และโอกาสการเกิดสถานการณ์ต่างๆ / ที่มา: วอชิงตัน โพสต์
รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2011
รูปที่ 3 ประมาณการการลดลงของตลาดหุ้นของสหรัฐจากการไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐปี 2013
ต้องบอกว่าศึกเพดานหนี้ในครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2011 เนื่องจากงวดนี้ ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต มีความไม่ลงรอยกัน
ในประเด็นต่อไปนี้
หนึ่ง ทางรีพับลิกันเชื่อว่าการคัดค้านกฎหมาย ObamaCare ผ่านศึกเพดานหนี้เที่ยวนี้มีน้ำหนักพอ เนื่องจากปัจจุบัน ทางพรรคเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับกฎหมายนี้ ทว่าทางเดโมแครตมองว่าการชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นเสมือนฉันทามติจากประชาชน
สอง ทางรีพับลิกันเชื่อว่าควรมีการเปิดการเจรจาในการประเด็นกฎหมาย ObamaCare ผ่านศึกเพดานหนี้ แต่เดโมแครตมิได้มองเช่นนั้น
สาม ทางรีพับลิกันเชื่อว่าควรจะชะลอหรือเลิกการใช้กฎหมาย ObamaCare ผ่านศึกเพดานหนี้ แต่เดโมแครตมิได้คิดเช่นนั้น
ซึ่งต้องบอกว่า ยากที่จะหาเส้นตรงกลางระหว่างทั้งสองพรรค แม้หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะตกลงกันได้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นกระทั่งสู่เกือบจะวันสุดท้ายของเส้นตายดังกล่าว
หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ได้วิเคราะห์เหตุการณ์หลังจากวันที่ 17 ตุลาคม และโอกาสการเกิดสถานการณ์ต่างๆ ไว้น่าสนใจ ดังนี้
จากวันนี้ถึงวันที่ 17 ต.ค. สามารถแบ่งสถานการณ์เป็น 2 เหตุการณ์หลักๆ ดังรูปที่ 1 ได้แก่
สถานการณ์หลักแรก ทั้งสองพรรคสามารถตกลงเพิ่มเพดานหนี้กันได้ก่อนเส้นตาย โอกาสมีอยู่ร้อยละ 70
สถานการณ์หลักที่สอง ได้แก่ ทั้งสองพรรคไม่สามารถตกลงเพิ่มเพดานหนี้กันได้ก่อนเส้นตาย ตรงนี้สามารถซอยออกได้เป็น 3 รูปแบบคือ
รูปแบบแรก ทั้งสองพรรคยังยื้อการเจรจากันต่อ ทว่าสามารถตกลงกันได้ภายใน 2-3 วัน กรณีน่าจะมีโอกาสอยู่ประมาณร้อยละ 20
รูปแบบที่สอง เส้นตายผ่านไป 2-3 วัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองพรรคยังไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ และยังต้องลุ้นกันต่อจนกระทั่งนาทีสุดท้ายว่ากระทรวงการคลังจะมีเงินสดสามารถจ่ายภาระหนี้ของตนเองได้หรือไม่ ทว่า วินาทีท้ายสุดก็สามารถจ่ายได้ทุกรายการทันพอดี โอกาสของเหตุการณ์นี้ อยู่ที่ร้อยละ 8
รูปแบบสุดท้าย กระทรวงการคลังสหรัฐไม่มีเงินเหลือและเพดานหนี้ก็ยังไม่ขยับขึ้น โอกาสของรูปแบบดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 โดยในรูปแบบนี้ มีเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
หนึ่ง กระทรวงการคลังสามารถชะลอการจ่ายเงินบางรายการเพื่อที่จะนำมาจ่ายภาระหนี้จากพันธบัตรจนไม่มีผู้ถือพันธบัตรรายใดที่ไม่ได้ชวดรับเงินจากรัฐบาลสหรัฐ
สอง มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายบางอย่างเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐชำระภาระหนี้ต่างๆ ได้ทุกรายการ โดยในทางทฤษฎีแล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามายังมีช่องทางตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐควรมีความสำคัญอยู่เหนือเพดานหนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังสามารถผลิตเหรียญแพลตตินั่มมาแลกกับเงินดอลลาร์จากธนาคารกลางสหรัฐเพื่อจ่ายหนี้ต่างๆ ต่อได้ อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ช่องทางดังกล่าวก็ได้รับการปฏิเสธจากทั้งรัฐบาลสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ
สาม รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตรของตนเองได้
สำหรับผลกระทบต่อตลาด แบ่งได้เป็นตลาดเงินและตลาดทุนนั้น
ความรุนแรงของเหตุการณ์ในครั้งนี้ สะท้อนได้จากตลาดพันธบัตรอายุ 1 เดือน ที่ตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแล้วร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2011 ที่ขึ้นไปเพียงร้อยละ 0.18 ดังรูปที่ 2 สำหรับในส่วนตลาดทุนนั้น ตลาดหุ้นของสหรัฐลดลงไปร้อยละ 15-20 เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2011 ในขณะที่ครั้งนี้ทางธนาคาร Deutsche Bank ประเมินว่าหากเหตุการณ์รุนแรงจริงๆ ตลาดหุ้นของสหรัฐก็มีสิทธิ์ลดลงระหว่างร้อยละ 10-45 ดังรูปที่ 3
ท้ายสุด สำหรับผลกระทบต่อระบบการเงินจากการไม่สามารถจ่ายคืนเงินให้กับผู้ถือพันธบัตรสหรัฐนั้น เริ่มจากผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดที่จะมีขึ้นอย่างรุนแรง โดยระบบ Fedwire ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้ในการโอนเงินทุนระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถดำเนินรายการได้ หากหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดไม่สามารถชำระเงินคืนให้กับผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวขึ้นมา ระบบดังกล่าวจะเกิดการติดขัด ผลก็คือตลาดตราสารซื้อคืนพันธบัตร (Repo Market) จะเกิดการชะงักงันขึ้นมา
บรรดากองทุนรวมที่ตามข้อกำหนดในสัญญากับลูกค้าที่ต้องไม่ถือครองหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ต้องพากันขายพันธบัตรสหรัฐออกจากพอร์ตของตนเอง บรรดากองทุนรวมของตลาดเงินซึ่งเป็นผู้ถือตราสารพันธบัตรสหรัฐรายหลักต้องเจ็บตัวจากการขาดทุนเนื่องจากราคาของพันธบัตรสหรัฐที่ลดลง ซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในปี 2008 ทว่าครั้งนี้อาจจะต้องมีความรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า
ผลกระทบดังกล่าว อาจจะลามต่อมายังระบบธนาคารพาณิชย์ได้ เนื่องจากเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ที่ใช้ตราสารของรัฐบาลสหรัฐค้ำประกันอยู่ถึงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มากไปกว่านั้นคือสถาบันประกันค้ำประกันเงินฝากของสหรัฐที่ถือตราสารพันธบัตรสหรัฐอยู่ในปริมาณมากก็มีสิทธิ์โดนหางเลขในงวดนี้ด้วย เรียกได้ว่าระบบธนาคารในสหรัฐเป็นเหยื่อที่อาจจะโดนผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เลยก็ว่าได้ครับ
หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน