สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองไปข้างหน้าหลังครบ40ปี14ตุลาฯ

จาก โพสต์ทูเดย์

มองไปข้างหน้าหลังครบ40ปี14ตุลาฯ

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

อย่าแบ่งขั้วและสุดโต่ง จนทำให้ความเกลียดกลัวผลักไสทำร้ายกันความเห็นต่างมีได้และเป็นความรุ่มรวยของสังคม

พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาคม เป็นคนเดือนตุลาผู้หนึ่ง ต่างกันเพียงว่า หลังจากนั้นหลายคนเข้าป่าหรือไปต่างประเทศแต่ท่านเข้าวัด แต่ทัศนะของท่านก็งอกงามและมีอิทธิพลยิ่งต่อสังคมไทย คณะสงฆ์ไทย และในหมู่ปัญญาชนไทย

เมื่อวันก่อนท่านได้กล่าวปาฐกถาที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เรื่อง “เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง 40ปี หลัง 14 ตุลา” หรืออีกนัยหนึ่งคือ การมองไปข้างหน้าหลังครบ 40 ปี 14 ตุุลาคมว่า

สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงและน่าหนักใจกว่าก่อนมาก ความอึมครึมสับสนทางอุดมการณ์การเมือง ศีลธรรม ไม่ลดลงหากแต่หนักกว่าเดิม ขณะที่คนที่เลือกข้างทางการเมืองและศีลธรรมแล้วก็มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มากขึ้น ต่างผลักกันให้ไปอยู่ในภาวะสุดโต่ง จนหวั่นวิตกว่า จะเกิดเหตุการณ์นองเลือดอย่างปี 2553 ขึ้นอีก

ท่านว่า ความขัดแย้งของชนชั้นนำนั้นเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยแต่การพัฒนาเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากในเขตเมือง และเกิดความตื่นตัวทางการเมืองมากในหมู่ชนชั้นกลาง และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมชนบทไทยในรอบ 30 ปีก็ทำให้ภาคเกษตรไม่ใช่คนยากจนเหมือนแต่ก่อนแล้ว ขณะชนชั้นกลางในเมืองก็เข้าถึงสื่อมากขึ้น

ถ้า 14 ตุลาเป็นการลุกขึ้นของชนชั้นกลางในเมืองเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ก็เป็นการลุกขึ้นของชนชั้นกลางระดับล่างจากชนบทเพื่อต่อต้านการดูถูกดูแคลน สิทธิและเสียงของพวกเขา เป็นการเรียกร้องยืนยันสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลโดยผู้แทนที่เขาเลือกมา

ท่านว่า แก่นของความขัดแย้งที่ลุกลามอยู่ในเวลานี้คือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เรียกร้องสิ่งใหม่กับฝ่ายที่ต้องการรักษาของเดิม เอาไว้ "พลังใหม่" คือ นายทุนที่ต้องการอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยมีพันธมิตรคือ ชนชั้นกลางระดับล่างกับ "พลังเก่า"คือ ชนชั้นนำในภาคราชการ และพันธมิตรคือ ชนชั้นกลางในเมืองซึ่งต้องการจำกัดอำนาจของนายทุนเหล่านั้นเพราะเห็นว่า ต้องการแสวงหาประโยชน์เข้าตัว

ความขัดแย้งทำให้มีการแขวนป้าย ตีตรากัน เกิดอคติต่อกัน เกลียดชังกันและฟังกันน้อยลง ใครพูดเรื่องความเป็นธรรมและสิทธิเสรีภาพก็บอกว่า เป็นเสื้อแดง ใครพูดเรื่องคอร์รับชั่น คุณธรรมหรือสิ่งแวดล้อมก็บอกว่า เป็นเสื้อเหลือง

ท่านเตือนสติว่า ความสุดโต่งเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อใคร โดยเฉพาะต่อตัวเอง เพราะมันจะปิดใจของเราไม่เปิดรับความจริงหรือความเห็นต่าง ซึ่งจะทำให้เราคับแคบ และหลงทางได้ง่าย ถ้าเราทนความเห็นต่างไม่ได้ มองเห็นเป็นคนละฝ่ายก็จะเกิดความรู้สึกเกลียดชังขึ้นมา แล้วความโกรธก็จะตามมา ลุกลามเป็นความเกลียด กระทั่งตัดญาติขาดมิตรกัน

เมื่อโกรธเกลียดกันแล้วก็จะมีความกลัวความหวาดระแวงขึ้นมาว่าอีกฝ่ายจะมา คุกคามบั่นทอนในสิ่งที่ตัวเองรักและหวงแหน เช่น ฝ่ายเสื้อเหลืองก็กลัวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกคุกคาม เสื้อแดงก็กลัวประชาธิปไตยถูกโค่นล้มหรือตัดตอน ความกลัวทำให้เกิดความระแวงและต้องจับผิด กลายเป็นว่า ใครไม่สนับสนุนรัฐบาลจากการเลือกตั้งแสดงว่า เป็นพวกไม่หวังดีต่อประชาธิปไตย หรือถ้าไม่แสดงความจงรักภักดีอย่างเป็นรูปธรรมก็เป็นพวกล้มเจ้า

ความกลัวทำให้มองโลกผิดพลาด และเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ง่าย เพราะเห็นแต่ด้านลบของอีกฝ่าย ไม่เห็นด้านดีของกันเลย ทุกวันนี้ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ได้แพร่ระบาดไปทั่ว ทำให้เกิดการผลักไสต่อต้านจนแบ่งข้างแยกขั้วรุนแรง ถึงขนาดอยากใช้ความรุนแรงต่ออีกฝ่าย หรือลิงโลดยินดีเมื่อเห็นอีกฝ่ายมีอันเป็นไป

ท่านว่า การแบ่งเขาแบ่งเราและแขวนป้ายซึ่งกันและกันว่า เป็นแดง เป็นเหลือง เป็นควายแดง เป็นแมลงสาป เป็นทุนนิยมสามานย์ หรือศักดินาล้าหลังนั้น แท้จริงแล้วมิใช่การใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงการดูถูกอีกฝ่ายเท่านั้น หากแต่แสดงให้เห็นถึงด้านร้ายหรือการหลงติดที่คนผู้นั้นสร้างขึ้นมาด้วย และด้วยการหลงเช่นว่า คนเหล่านั้นจึงคิดว่า จะทำอะไรกับคนอื่นก็ได้ การล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นก็เพราะสภาพการณ์เยี่ยงนี้ การล่าสังหารทหารอิรัก โดยทหารอเมริกันซึ่งเปรียบเทียบผู้ถูกล่าว่า เป็นแมลงสาป หรือเป็นการยิงไก่งวงก็เกิดขึ้นเพราะเป็นเช่นเดียวกัน

เราไม่ควรด่วนแขวนป้ายหรือตีตราใครเพราะ ถึงที่สุดแล้ว เราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีดีมีเลวเหมือนกัน ความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุด ถ้าเรายังแบ่งขั้วว่า “ฉันดี แกเลว ฉันถูก แกผิด” การมองแบบขาวดำทำให้เกิดการจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเราเข้าใจว่า เราก็มีส่วนผิด เขาก็มีส่วนถูก ความโกรธ เกลียดและกลัวก็จะลดลง และหันหน้าเข้าหากันง่ายขึ้น ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ต้องลดความยึดมั่นถือมั่นของตนก่อน

ท่านว่า คนพุทธย่อมตระหนักว่า ทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราต้องรู้จักบรรเทาทุกข์และวางใจให้ถูกต้องเพื่อรับมือกับความทุกข์ ใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ เมื่อไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้ก็ควรบรรเทาผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด หรือจัดการความขัดแย้งนั้นให้เกิดประโยชน์ เหมือนหยุดคลื่นไม่ได้แต่เรียนรู้ที่จะเล่นคลื่นได้

การมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันเป็นจุดเริ่มของการจัดการความขัด แย้ง ไม่ให้ลุกลามเป็นความรุนแรงได้ แต่ถ้าจะทำให้ความขัดแย้งก่อประโยชน์สร้างสรรค์ต้องลดความไม่เป็นธรรมใน สังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุุติธรรม หรือการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเงื่อนไงทางสังคมที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งหรือวุ่นวาย ได้ ขณะเดียวกัน กระบวนการประชาธิปไตยต้องงให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น เจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียม

ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งเท่านั้น สื่อต้องมีเสรี ทุกฝ่ายสามารถใช้สื่อเป็นปากเป็นเสียงได้ ผู้คนต้องมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการทำกิจกรรม สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม หรือพูดง่ายๆว่า เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ต้องมีความเสมอภาคทางการเมือง

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่แยกประชาธิปไตยออกจากคุณธรรม เพราะไม่เช่นนั้นก็เท่ากับขาดปราการป้องกันมิให้เกิดความฉ้อฉลเสื่อมทราม ฉะนั้นผู้ใฝ่คุณธรรมต้องส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ขณะที่ผู้ใฝ่ประชาธิปไตยต้องสร้างคุณธรรมให้มั่นคงในสังคม รากฐานประชาธิปไตยถึงจะแข็งแรง และสังคมถึงจะสงบสุข เมืองไทยต้องการทั้งประชาธิปไตยและคุณธรรม

แม้หลายปีมานี้ เส้นทางประชาธิปไตยคดเคี้ยวและวิบาก บ้านเมืองอยู่ในวิกฤตแต่ในด้านดีคือ นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นในทุกสังคม หลังเปลี่ยนแปลงและจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจได้แล้ว ก็จะเกิดความสงบสุข แต่ก่อนจะถึงกาลนั้น พึงระลึกว่า ความเห็นต่างมีได้และเป็นความรุ่มรวยของสังคม ฉะนั้นอย่าแบ่งขั้วและสุดโต่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองไปข้างหน้าหลัง ครบ40ปี14ตุลาฯ

view