สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยจะยอมเสียดินแดนให้เขมรอีกหรือ?

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สุวิทย์ คุณกิตติ

กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ศาลโลกนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 11 พ.ย. 2556 เวลา 10.00 น. ตรงกับเวลา 16.00 น. ในประเทศไทย หากเราจำได้ในปี 2505 ศาลโลกตัดสินให้เราเสียปราสาทพระวิหารให้เขมร ทั้งที่คนไทยก็รู้ดีว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย 

มาคราวนี้คนไทยต้องรอคอยด้วยความกังวลว่าศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร รัฐบาลพยายามจะบอกคนไทยว่าไม่ว่าศาลโลกตัดสินออกมาอย่างไรเราต้องเคารพและ ยอมรับคำพิพากษาศาลโลก และรัฐบาลมีทางออกด้วยสันติวิธี ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรักชาติรักแผ่นดินและจะร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องอำนาจ อธิปไตยและดินแดนไทยไว้ด้วยชีวิต

ที่ผ่านมาผมเคยให้ความเห็นไว้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายครั้ง เคยคัดค้านการตัดสินใจกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จนกลายเป็นความขัดแย้ง จนผมต้องถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลและลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม ต่อมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปต่อสู้คัดค้านการขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของเขมรที่ไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาฯ ระเบียบ กฎ กติกา และประเพณี

รวมทั้งคัดค้านเรื่องแผนบริหารจัดการซึ่งมีทั้งแผนผังและแผนที่ที่เขมรนำ เสนอ แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ยังดันทุรังลงมติไปทั้งที่ไม่ถูกต้องในการขึ้น ทะเบียนและยังใช้กลอุบายในการเขียนร่างมติแบบคลุมเครือที่มีเรื่องของแผน บริหารจัดการที่มีทั้งแผนผังและแผนที่ที่รุกล้ำอำนาจอธิปไตยและเขตแดนไทย ซ่อนอยู่ แล้วจะใช้เสียงข้างมากลากไปในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ปารีส จนผมต้องประกาศกลางที่ประชุมว่าหากจะลงมติในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่จะถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลกแต่ขอถอนตัวจากภาคี อนุสัญญามรดกโลกด้วย เนื่องจากไทยไม่สามารถยอมรับมติดังกล่าวได้ เพราะมติดังกล่าวจะผูกพันประเทศไทยจนกลายเป็นว่าเรายอมรับแผนที่ที่รุกล้ำ อำนาจอธิปไตยและเขตแดนไทย ซึ่งเขมรอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาของศาลโลกว่าประเทศไทยก็ยังยอมรับ แผนที่ดังกล่าว

หากไม่คัดค้านและปฏิเสธก็จะกลายเป็นกรณีเราถูกกฎหมายปิดปากเช่นเดียวกับ ที่ศาลโลกเคยใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของเขมรในปี 2505 จึงไม่ขอร่วมในการประชุมเพื่อพิจารณาและลงมติ รวมทั้งขอถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกมีผลตั้งแต่ที่ได้แถลง ในที่ประชุมทันทีและได้นำคณะผู้แทนไทยเดินออกจากที่ประชุมแล้วยื่นหนังสือ แจ้งการถอนตัวอย่างเป็นทางการทันทีด้วย

แต่น่าเสียดายที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความจำนงในภายหลังว่าไทยยังคงเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกอยู่ต่อ ไปและไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งถัดมาที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งไม่ได้ไปคัดค้านมติการประชุมครั้งก่อนหน้าที่เราได้เคยคัดค้านไว้ ก็เท่ากับรัฐบาลให้การยอมรับมติดังกล่าวด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับไทย เพราะเท่ากับว่าเราไปยอมรับแผนที่ที่รุกล้ำอำนาจอธิปไตยและเขตแดนไทยที่ซ่อน อยู่ในแผนบริหารจัดการที่เขมรเสนอในการประชุมที่ปารีส

แนวทางที่ศาลโลกจะตัดสิน 4 แนวทาง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงไว้คือ 1.ศาลโลกไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีหรือมีอำนาจ แต่ไม่มีเหตุที่จะต้องตีความ ต้องไปยังสถานะเดิมก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลโลก ผมเห็นว่ากรณีนี้น่าจะเป็นผลดีมากที่สุด เพราะศาลโลกได้มีคำพิพากษาเรื่องปราสาทพระวิหารนี้แล้วตั้งแต่ปี 2505 เพราะศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องเขตแดนเลยใช้กฎหมายปิดปาก ตัดสินแบบคลุมเครือว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร โดยไม่ได้ระบุเรื่องเขตแดนในคำพิพากษา

แนวทางที่ 2.ศาลอาจตัดสินว่าขอบเขตเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1:200,000 ซึ่งเป็นไปตามคำฟ้องของฝ่ายเขมร ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นแผนที่ฝ่ายเดียวของเขมรที่ไทยไม่เคยยอมรับ เพราะไม่ได้เป็นไปตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส และเขมรเคยขอให้ศาลโลกตัดสินในเรื่องนี้แล้วแต่ไม่เป็นผล ด้วยเหตุว่าศาลโลกไม่สามารถตัดสินเรื่องเขตแดนได้ แต่ถ้าศาลโลกเลือกที่จะตัดสินในแนวทางนี้ ไทยก็ไม่ควรยอมรับคำตัดสินของศาลโลก เพราะไม่อยู่ในอำนาจศาลโลก หากยอมไทยก็จะเสียดินแดนเป็นจำนวนมาก

แนวทางที่ 3.ศาลอาจตัดสินเป็นไปตามคำร้องของฝ่ายไทยที่ว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเป็นไปตามเส้นที่กำหนดตามมติ ครม.เมื่อปี 2505 กรณีนี้ผมเคยเตือนหลายครั้งแล้วว่าเส้นที่ ครม.กำหนดในปี 2505 นั้น ระบุชัดเจนว่าเป็นเพียงแนวเส้นปฏิบัติการเท่านั้น ไม่ใช่เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและเขมรแต่อย่างใด และมติ ครม.ปี 2505 ก็ระบุชัดเจนว่าเขตแดนตามคำพิพากษาของศาลโลกคือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศควรยึดถือมติ ครม.นี้

การที่รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ เสนอไปเช่นนั้นไม่ถูกต้อง นอกจากเป็นการเปิดช่องให้ศาลโลกตัดสินแบบเคลือบคลุมเหมือนคำพิพากษาปี 2505 อีกครั้งว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (Vicinity) นี้เป็นของเขมรโดยไม่ต้องกล่าวถึงเขตแดน ซึ่งศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสิน แล้วจะทำให้ไทยเสียดินแดนไม่เพียง 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่อาจเป็นตลอดแนวเขตแดนจนถึงในอ่าวไทยที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน แล้วก็เข้าทางเขมร เพราะเขมรขอศาลโลกตีความว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (Vicinity) คือพื้นที่บริเวณใด มีขอบเขตแค่ไหน ที่สำคัญก็คือ ครม.เมื่อปี 2505 มีมติที่ระบุอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ตามคำพิพากษาศาลโลกคือเฉพาะตัวปราสาทพระ วิหารเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ตามในแนวเขตปฏิบัติการกระทรวงการต่างประเทศใช้ในการนำเสนอต่อ ศาลโลกซึ่งมีพื้นที่มากกว่าคำพิพากษา

ดังนั้น รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศจึงไม่มีอำนาจในการเสนอแนวทาง นี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเสนอต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น รวมทั้งก่อนที่จะมีการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกก็ต้องดำเนิน การตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 คือรัฐบาลต้องให้รัฐสภาเห็นชอบกรอบแนวทางเสียก่อน แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการ ไม่ทราบว่าหากการเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่อยู่ในสภาขณะนี้เสร็จแล้วจะมีผลทำให้การดำเนินการเรื่องนี้โดยไม่ ผ่านกระบวนการตามมาตรา 190 จะกลายเป็นเรื่องถูกต้องไปด้วยหรือไม่ ผมเกรงว่าศาลโลกอาจตัดสินออกมาในแนวทางนี้ จะทำให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยและดินแดนไทยให้เขมรอีกครั้งหนึ่ง คนไทยจะยอมรับได้หรือไม่

หรือแนวทางที่ 4.ศาลโลกอาจกำหนดพิจารณาออกมากลางๆ ผม ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เป็นกลางจริงหรือไม่ หากให้ไทย-เขมรไปทำความตกลงเพื่อดำเนินการปักปันเขตแดนร่วมกัน ผมกลัวว่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะดีมาก

ผมอาจเป็นคนมองอะไรในทางแย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ แต่หากเรารู้แล้วก็สามารถป้องกันแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายได้ ผมได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้คนไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยและเขตแดนอีกครั้งหนึ่ง เลย แต่ก็น่าเสียดายว่าแนวทางการต่อสู้ของรัฐบาลไม่ได้มีการเปิดเผยก่อนที่จะ ขึ้นศาลจะได้ช่วยกันคิดช่วยกันเสนอแนะ อย่างไรเรื่องนี้รัฐบาลต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญก่อน แต่ไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร หากไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญจะมีผลอย่างไรกับที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการไปแล้ว

เวลานี้ได้แต่หวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เราจะไม่สูญเสียอำนาจอธิปไตยและดินแดนอีกครั้ง เพราะการดำเนินการของรัฐบาลและการตัดสินของศาลโลก

อย่าลืมว่ากฎหมายอาญากำหนดไว้ว่า หากใครทำให้เสียดินแดนมีโทษถึงประหารชีวิต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย ยอมเสียดินแดน เขมร

view