สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องเล่าจากศิษย์ใกล้ชิดพระสังฆราช

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่องเล่าจากศิษย์ใกล้ชิดพระสังฆราช

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาในด้านการศึกษาพระธรรม พระเมตตาที่มีให้แก่ทุกชนชั้น ซึ่งยังความปลาบปลื้มใจให้บรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิด

พระเมตตาแก่ชนทุกระดับ

อภัย จันทนจุลกะ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ และอดีต รมว.แรงงาน กล่าวว่า สัมผัสวัตรปฏิบัติของสมเด็จพระสังฆราช มาตั้งแต่ปี 2502 ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนวัดบวรฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2516 ก็ได้บวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

“ขณะนั้นพระองค์ท่านก็ 60 พรรษา และถือเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แต่ได้มาสอนพระใหม่ ด้วยการฝึกจิต ฝึกสมาธิ เป็นประจำ ท่านให้ความสำคัญกับพระใหม่เสมอ และทรงมีเมตตากับคนทุกระดับ ปี พ.ศ. 2539 ผมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทรงบันทึกเสียงประทานพระวรธรรมคติ ให้กับผู้ต้องขังที่เตรียมพ้นโทษเป็นประจำทุกเดือน ทรงปรารภเสมอว่าเพื่อต้องการให้ผู้ต้องขังทุกคนออกไปแล้วยึดพระธรรมเป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ประพฤติตนเป็นคนดี”

ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ อภัย บอกว่า สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานทุนแก่ผู้แทนโรงพยาบาล 17 แห่ง ซึ่งทรงบริจาคเงินสร้างตึกผู้ป่วย แห่งละ 19 ทุน ทุนละ 5,000 บาท เป็นจำนวนเงินกว่า 1,615,000 บาท สำหรับผู้ป่วยในตึกพระองค์ทรงสร้าง

“ท่านบำเพ็ญกิจตลอดเวลา ไม่เคยมีวันหยุด ทรงเรียบง่าย แม้กระทั่งเป็นพระผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังลงอุโบสถ ถ่ายทอดความรู้ให้กับพระใหม่และฆราวาสอยู่เสมอ ขณะเดียวกันยังทรงพระนิพนธ์ตำราและพระธรรมเทศนาจำนวนมาก ผมอยากให้คนไทยได้อ่านพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชมากๆ เช่นเดียวกัน”อภัย กล่าว

ทรงอ่อนน้อมและมัธยัสถ์

พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช หรือปิยโสภณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กล่าวถึงความประทับใจในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า จริงๆ แล้วมีความประทับใจในพระองค์ท่านหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความประหยัดมัธยัสถ์ที่พระองค์ทรงใช้ดินสอจนหมดแท่ง ใช้ผ้าเก่าๆ เรียกได้ว่าการใช้สอยอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย จนกว่าของชิ้นนั้นๆ จะหมดสภาพจนใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว และรู้จักใช้ เห็นคุณค่าในสิ่งของ การใช้ดินสอของท่านเสมือนคำสอนที่กล่อมเกลาจิตใจ เป็นแบบอย่างของความประหยัด ซึ่งน่าชื่นชมและนำไปปฏิบัติอย่างแน่แน่ว เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นดังตัวอย่างแห่งความดี

พระองค์ท่านจะทรงพระอักษรตลอดเวลา จะมีหนังสือไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยและอังกฤษไว้ข้างกายตลอด ไม่ว่าจะต้องเสด็จไปต่างจังหวัดก็ตาม ทรงสนพระทัยในเรื่องของภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี สันสกฤต เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เพราะพระองค์ท่านเชื่อว่าภาษาคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถรอบรู้ทัด เทียมกับนานาประเทศได้อย่างดี จึงไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยังคงศึกษาฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญ ชำนิชำนาญจนเก่งภาษาต่างๆ น่าชื่นชมและนำไปปฏิบัติอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงเป็นผู้ที่มีความเกรงใจ รับสั่งน้อยและสงบนิ่ง ทำอะไรก็จะทรงทำด้วยพระองค์เอง อีกทั้งมีความอ่อนน้อม ไม่โอ้อวด เป็นสิ่งที่ทำให้อาตมานำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองจนทุกวันนี้ นำมาชำระใจเราเอง เพราะบางครั้งการสั่งหรือออกคำสั่งไม่จำเป็นต้องพูดหรืออธิบายมากมายและไม่ โอ้อวดจนเกินความจริง แต่ในตัวพระองค์ท่านสมเด็จไม่เคยมีกิริยาหรือความประพฤติในด้านเสียหายแก่ พุทธศาสนาเลย ขณะเดียวกันพระองค์ท่านยังทรงเป็นผู้ที่มีใจเมตตา ใครมารอเข้าเฝ้าก็เปิดโอกาสให้เข้าพบเสมอไม่เลือกชนชั้น ให้ความเท่าเทียมกับทุกคนที่ต้องการพบ

ผลงานของพระองค์ท่านมีประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามากมาย ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ จึงทรงก่อตั้งสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ขณะนี้ได้ขยายไปยังทั่วทุกทวีป

พระอัจฉริยะอธิบายธรรมให้เข้าใจง่าย

รศ.ดร.สุเชาวน์ พลอยชุม อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอนศาสนาและปรัชญา ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะศิษย์ใกล้ชิดบวชเณรที่วัดบวรนิเวศวิหารมาตั้งแต่อายุ 13 ปี กระทั่งบวชพระ สมเด็จพระสังฆราชยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้อีก เล่าว่า พระอุปนิสัยส่วนพระองค์ทรงนิ่ง สุขุม เยือกเย็นมาก พูดน้อย แต่เวลาพูดน้ำเสียงจะมีความนุ่มนวลและเปี่ยมด้วยพระเมตตา นอกจากนี้คำพูดก็มีความคมคายในเรื่องของการให้แง่คิดที่ดีอยู่เสมอ รู้ว่าอันไหนควรพูดไม่ควรพูดและควรพูดในเวลาไหน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะทรงมีระเบียบแบบแผน ไม่มีเรื่องสุกเอาเผากิน ทุกอย่างต้องเรียบร้อยเสมอ แม้กระทั่งการครองผ้าก็ไม่ได้ละเลย จะทรงครองเป็นปริมณฑลตลอด

“ที่สำคัญพระองค์เป็นพระที่มีความสำรวมระวังอย่างยิ่งยวดทั้งในคำพูดและ การกระทำ คือทรงมีสังวร ได้แก่ความสำรวมระวังและเคารพในพระธรรมวินัย ซึ่งเปรียบเสมือนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ทรงประพฤติพระองค์เหมาะสมกับกาลเทศะเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนและเป็น แบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดี

ในด้านของการทรงงานก็เช่นกัน พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความรอบคอบ (สติ) รอบรู้และรู้จริงในสิ่งที่ทำเสมอ (ปัญญา) เวลาทำก็ทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและใช้สมาธิสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เคยทรงลืมที่จะเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความ ถูกต้องเป็นหลัก เพราะทรงถือคติว่าถ้าอะไรไม่ถูกต้องตามหลัก ตามพระธรรมวินัย หรือตามระเบียบแบบแผนแล้วถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นงานที่พระองค์ทรงทำจึงไม่มีความบกพร่องผิดพลาดเกิดขึ้นในภายหลัง

“พระปรีชาสามารถที่ถือเป็นพระอัจฉริยภาพ ซึ่งผมประทับใจก็คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ธรรมะ การย่อยธรรมะ คำสอนที่ยากและสลับซับซ้อนให้ง่ายต่อการเข้าใจ เหมือนเปิดของที่คว่ำให้หงายขึ้น ผู้ใดจะเข้าถึงอัจฉริยภาพด้านนี้ได้ผู้นั้นจะต้องศึกษางาน ศึกษาพระนิพนธ์ของพระองค์ให้เข้าใจจึงจะเห็น ลำพังผู้ที่ไม่เคยศึกษางานของพระองค์ไม่อาจที่จะเข้าถึงได้” รศ.ดร.สุเชาวน์ สะท้อนพระอัจฉริยภาพที่เขาเห็นประจักษ์ในสมเด็จพระสังฆราช

"พระป่า"ที่อยู่ในเมือง

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ สว.สรรหา อดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระที่พิเศษมาก เนื่องจากทรงเป็น “พระป่า” ที่อยู่ในเมือง เพราะแม้พระองค์จะทรงจำวัดอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่วัตรปฏิบัติของพระองค์ท่าน ไม่ต่างจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงตามหาบัว หรือ หลวงปู่ชา สุภัทโท เพราะท่านเน้นในเรื่องฝึกปฏิบัติ ฝึกวิปัสสนา และทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ต่างจากพระในเมือง ที่มักจะนั่งโซฟา เก้าอี้หลุยส์ หรือนั่งรถเบนซ์ ที่ญาติโยมถวาย แต่สมเด็จพระสังฆราชไม่เคยมี ทำให้พระป่านับถือสมเด็จพระสังฆราช ทุกรูป สังเกตได้จากเวลาที่พระป่าชั้นผู้ใหญ่ทุกรูป จะมากราบท่านทุกครั้งที่เข้ามากรุงเทพ นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระที่สงบมาก โดยพระองค์ท่านจะนิ่ง ไม่เหลียวมอง ทอดพระเนตรต่ำ และเดินช้า ซึ่งเป็นจุดเด่นของพระปฏิบัติ ต่างจากพระในเมืองหลายรูปที่เป็นพระ “โซเชียล” ที่เห็นนักการเมืองหรือข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะดินเข้าหาทันที

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงนิพนธ์หนังสือมากมาย ไม่ว่าจะภาษาไทย จีน หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายเล่ม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่หลักธรรมไปยังชาวต่างชาติที่สนใจ และหลายเล่มก็นำมาเป็นหนังสือนอกเวลาให้เยาวชนอ่านเช่น เรื่อง “ศีล5” หรือเรื่อง “พระพุทธเจ้าสอนอะไร”โดยหากนำพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชมาวางเรียงกันจะ เห็นว่ามีจำนวนมาก สะท้อนถึงความใฝ่รู้ใฝ่เรียนของพระองค์ท่านซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด

นพ.จักรธรรม เล่าให้ฟังอีกว่า สมัยที่รับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ได้รับประสานงานจากสมเด็จพระสังฆราช ให้สร้างอาคารสกลมหาสังฆปรินายก ในโรงพยาบาล 19 แห่ง เพื่อช่วยผู้ป่วย โดยใช้งบประมาณกว่า 200 ล้าน โดยเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช สร้างในโรงพยาบาล 19 แห่ง เพราะ ทรงตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อทำบุญถวายให้สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนๆ ซึ่งมีจำนวน 18 องค์ รวมพระองค์ท่านด้วยเป็น 19 รูป โดยงบประมาณที่ใช้เป็นเงินส่วนพระองค์ ที่เป็นเงินบริจาค และที่ญาติโยมถวายให้ทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน

“มีเกร็ดเล็กน้อยว่า ตอนก่อสร้างแล้วเสร็จ งบประมาณไม่พอ สมเด็จพระสังฆราช ต้องไปหยิบยืมจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยไปจ่ายค่าก่อสร้างก่อน  ทำให้พระองค์ท่านต้องเก็บสะสมเงินเพิ่ม ซึ่งเมื่อพระองค์ท่านได้เงินครบ ท่านก็รีบหาเงินไปใช้คืนทันที การสร้างอาคารเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทรงมีพระเมตตาสูงมาก”

“ขณะที่ผมดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับทราบว่า พระตำหนักของพระสังฆราชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรุดโทรมมาก จึงได้เข้าไปดู จึงเห็นว่าพระตำหนักของพระองค์ท่าน เป็นเพียงกุฏิเล็กๆ แออัดไปด้วยโต๊ะหมู่บูชา และตำราทุกภาษา ขณะที่บางห้องก็ไม่มีแอร์ ส่วนโต๊ะหมู่บูชา บางโต๊ะก็ถูกปลวกกิน ไม่มีใครเข้าไปดู จึงได้นำความไปเล่าให้คุณจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ฟัง คุณจิรายุจึงได้นำความไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปรับปรุง กุฏิใหม่ทั้งหมด โดยทรงติดลิฟท์ในพระตำหนัก 2 ชั้น เพื่อให้วีลแชร์ขึ้นได้และมีห้องพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชได้กลับมาประทับที่พระตำหนักเป็นเวลาสั้นๆ ครั้งหนึ่ง เรื่องนี้สะท้อนความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระ สังฆราชเป็นอย่างดี”

เล่าให้ฟังว่า อยากให้คนไทยจดจำสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะพระชั้นผู้ใญ่ที่เน้นปฏิบัติ มักน้อย สันโดษ ถ่อมตน ใฝ่รู้ และทรงเป็นพระที่กตัญญู รู้คุณ โดยคนไทยควรภาคภูมิใจมากๆ ที่ทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำสงฆ์ทั่วโลก เป็นองค์แรกของประเทศไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องเล่า ศิษย์ใกล้ชิด พระสังฆราช

view