จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
11 พ.ย. กำลังจะเป็นวันพิพากษาประเทศไทยอีกครั้งเมื่อศาลโลกเตรียมอ่านคำวินิจฉัยคดี ที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 อีกครั้ง
ปฐมเหตุของการนำกรณีขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี เนื่องจากกัมพูชามองว่าไทยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกที่ได้พิพากษาเอา ไว้ตั้งแต่ปี 2505 โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยได้รุกรานอธิปไตยของกัมพูชาในบริเวณปราสาทพระวิหารจน เกิดการพิพาท ดังนั้นกัมพูชาจึงได้ยื่นเรื่องกับศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 เพื่อให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ให้เกิดความชัดเจนสำหรับให้ทั้งสองประเทศใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
ในเว็บไซต์ www.phraviharn.org ได้เผยแพร่เอกสารข้อต่อสู้ของฝ่ายกัมพูชาและไทยในระหว่างให้การทางวาจาต่อศาลโลกเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเอาไว้พอสังเขปดังนี้
ถ้อยแถลงของกัมพูชา
พื้นที่ของปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น ฝ่ายไทยต้องเคารพในบูรณภาพของอธิปไตยกัมพูชา ด้วยการถอนกองกำลังทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำการในพื้นที่ปราสาทและบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทเป็น ผลแห่งการตามคำพิพากษาของศาล เมื่อปี 2505 แต่ขณะนี้ฝ่ายไทยไม่ได้ปฏิบัติตาม และไม่ได้ถอนกองกำลังออกจากพื้นที่ รวมถึงมีการใช้อาวุธหนักโจมตีพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา
ทางกัมพูชาจึงขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมในความชัดเจนของบริเวณใกล้ เคียงปราสาทว่าครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ที่กัมพูชาได้ทำเสนอไปแล้วหรือไม่
การส่งเรื่องให้ศาลตีความคำพิพากษา ปี 2505 ไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการชี้ชัดของเขตแดน อีกทั้งกัมพูชามีสิทธิที่จะยื่นศาลตีความคำพิพากษาคดีได้ แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 50 ปี นอกจากนั้นในส่วนของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชาได้ยกเป็นเอกสารอ้างอิงแผนที่ภาคผนวก 1 นั้น เป็นบทปฏิบัติการและมีสถานะตามที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน
ถ้อยแถลงของฝ่ายไทย
คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา ปี 2505 ของกัมพูชามีเป้าหมายให้ศาลโลกตัดสินในเรื่องเขตแดน ทั้งที่ศาลโลกเคยปฏิเสธไปแล้ว ทั้งนี้ ในคำพิพากษาปี 2505 ไทยได้ปฏิบัติตามโดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 ด้วยการถอนกองกำลังทหารออกจากพื้นที่ตัวปราสาท แต่ด้วยเหตุที่กัมพูชาต้องการพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ทำให้ฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างสิทธิใน|เขตแดนเพิ่มเติมกว่าความพึงพอใจในอดีต
ส่วนเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้น ไม่พบการรุกล้ำของกองกำลังไทยในพื้นที่ปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง ในส่วนของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชานำเสนออ้างอิงนั้น ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของฝ่ายไทยพบว่า แผนที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ เพราะเมื่อลงแผนที่ในภูมิประเทศจริงเกิดความผิดพลาด ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่ควรตัดสินว่าเส้นเขตแดน หรือเส้นบริเวณใกล้เคียงปราสาทเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นอกจากนั้นแล้ว International Boundary Research Unit (IBRU) ค้นพบแผนที่มาตราส่วน 1ต่อ 200,000 อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลก
ศาลไม่มีอำนาจตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจและสามารถรับไว้พิจารณาก็ไม่มีเหตุผลที่จะตี ความคำพิพากษา ปี 2505 หรือหากศาลเห็นว่ามีเหตุผลที่จะตีความดังกล่าว ขอให้ศาลอย่าได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000
เขมรขู่ไม่มีวันสันติได้
ขณะที่ “ฮอร์นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ยืนยันต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแถลงปิดคดีว่า คำตัดสินของศาลเป็นเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาค หากศาลไม่รับตีความตามคำขอ ทั้งสองประเทศก็คงไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
ไทยซัดกลับพวกบิดเบือน
ต่อมาในวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งคิวที่ไทยต้องแถลงปิดคดี “วีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้กล่าวว่า “การที่กัมพูชาเอาแผนที่มาแทนสนธิสัญญา 1904 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนใหม่โดยไม่ยึดสันปันน้ำ ทั้งที่แผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนมาก เป็นการทำตามอำเภอใจโดยบอกไม่ได้ว่าหากนำมาถ่ายทอดในโลกความเป็นจริงจะทำ อย่างไร แต่ถ้าทำก็จะเกิดปัญหามากขึ้น
“ไทยมีความคงเส้นคงวายืนยันเรื่องเส้นสันปันน้ำมาโดยตลอด รวมทั้งยังยืนยันว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในฝั่งไทยตามแนวเส้นสันปันน้ำ เราไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในปี 2505 แต่ก็ปฏิบัติตาม การกลับลำของกัมพูชา เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพและข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ในส่วนของประเทศไทย เราไม่ขออะไรมากไปกว่าสิ่งที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 เพราะทุกอย่างปฏิบัติและได้ข้อยุติไปตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว”
ทั้งหมดนี้วันที่ 11 พ.ย. จะมีคำตอบ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน