ธรรมชาติกับตลาดทุน (2) : สาธารณูปโภค "เขียว" vs "เทา"
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในหนังสือ “ความมั่งคั่งของธรรมชาติ” (Nature's Fortune) มาร์ค เทอร์เซก (Mark Tercek) และ โจนาธาน อดัมส์ (Jonathan Adams) เสนอว่า
“ธุรกิจต่างๆ จะต้องเริ่มมองการณ์ไกลกว่าเดิม นักสิ่งแวดล้อมจะต้องเริ่มมองโลกอย่างน้อยส่วนหนึ่งผ่านเลนส์ของระบบทุนนิยม - เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะอนุรักษ์โลกธรรมชาติอันประเมินค่ามิได้ คือการมองเห็นว่าธรรมชาติสามารถเป็น “สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง” (high-performance asset) ในภาษาของการเงิน”
ในเมื่อ “ราคา” ของหลักทรัพย์ในตลาดทุนสะท้อนแนวโน้มผลตอบแทนในอนาคตของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ก่อนที่นักลงทุนจะมองเห็นมูลค่าของธรรมชาติก็ต้องมองเห็นว่า การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจะสร้าง “ประโยชน์” ต่อบริษัทเท่าไร (ไม่ว่าจะประหยัดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้) และในทางกลับกัน การไม่อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งคิดเป็นต้นทุนเท่าไรต่อบริษัท
การมองเห็น “ประโยชน์” และ “ต้นทุน” จากสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “ความล้มเหลวของตลาด” ประการหนึ่งที่แพร่หลายคือ ต้นทุนจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมักเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียรายอื่น อาทิ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงงาน มากกว่าตัวบริษัทเอง ฉะนั้น การทำให้บริษัทรับรู้ต้นทุนบางกรณีจึงต้องอาศัยกลไกของรัฐอย่างกฎหมายหรือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปล่อยมลพิษไม่ต้อง “จ่าย” ค่ารักษาพยาบาลและค่าฟื้นฟูธรรมชาติใดๆ ถ้าหากรัฐไม่สั่งให้จ่าย (เช่น ผ่านการเก็บภาษีมลพิษ รวมถึงค่าปรับและค่าชดเชยในกรณีมลพิษเกินขนาด) หรือถ้าผู้บริหารไม่แยแสกับเสียงประณามว่า “ไม่รับผิดชอบ” ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือมีกฎหมายแต่ใช้ไม่ได้เพราะรัฐไม่บังคับใช้
แต่ความเสียหายจากการทำลายสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นต้นทุนที่กระทบต่อผลกำไรของตัวบริษัทเองมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ความเสียหายหนักจากน้ำท่วมเพราะป่าต้นน้ำถูกทำลายมลพิษทางอากาศทำให้ดึงดูดคนมาทำงานในโรงงานได้ยากขึ้นเรื่อยๆ (และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลพนักงานที่ล้มป่วย) นอกจากนี้หลายบริษัทก็เริ่มมีบทสรุปอย่างเป็นรูปธรรมว่า การลงทุนในธรรมชาตินั้นหลายกรณี “คุ้มค่า” กว่าการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างมากมาย
หลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจตั้งอยู่บนสาธารณูปโภคที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง อย่างเช่นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่หลายบริษัทกำลังค่อยๆ มองเห็น “ผลตอบแทนสูง” ในภาษาของเทอร์เซกและอดัมส์ จากการดูแลสาธารณูปโภคที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ซึ่งหลายคนเรียกว่า สาธารณูปโภคชนิด “เขียว” แตกต่างจากสาธารณูปโภคชนิด “เทา” ที่มนุษย์สร้าง
สาธารณูปโภคชนิดเขียว อาทิ พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำ และป่าชายเลน ล้วนแต่ให้ “บริการ” หลายอย่างเหมือนกันกับสาธารณูปโภคสีเทาที่เราสร้าง บางครั้งในราคาที่ถูกกว่าและให้บริการได้ดีกว่าชนิดเทาด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผลการศึกษามากมายพิสูจน์ว่า การลงทุนในการอนุรักษ์แนวปะการังและป่าชายเลน สามารถสร้างเกราะป้องกันธุรกิจชายฝั่งจากอุทกภัยและคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) อันแข็งแกร่งกว่าปราการซีเมนต์ ส่วนการลงทุนอนุรักษ์ป่าและห้วยหนองคลองบึงในพื้นที่รับน้ำก็สามารถลดความเสียหายจากอุทกภัยนอกเขตชายฝั่งได้ ยังไม่นับว่าป่าไม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งมอบน้ำสะอาด และ “กำกับ” (regulate) วัฏจักรน้ำในธรรมชาติ
บริษัท ดาว เคมิคอล ยักษ์ใหญ่ในวงการเคมีภัณฑ์ ลงทุนสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 270 กว่าไร่ ใกล้กับโรงงาน Dow Chemical Seadrift ในมลรัฐเท็กซัสของอเมริกา เพราะบริษัทคำนวณว่าการทำแบบนี้จะคุ้มค่ากว่าการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย (ซึ่งบริษัทต้องทำตามกฎหมายอเมริกัน และข้อมูลการบำบัดน้ำเสียก็เป็นข้อมูลที่สาธารณะเข้าถึงได้ แตกต่างจากในไทยซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่า มีโรงงานทั้งประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่บำบัดน้ำเสียตามกฎหมาย โรงงานเหล่านั้นอยู่ที่ไหนและเป็นของบริษัทอะไรบ้าง)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ชุ่มน้ำนี้ช่วยบำบัดน้ำเสียให้บริษัทกว่า 18 ล้านลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนเพียง 1.4 ล้านดอลลาร์ น้อยมากเมื่อเทียบกับป้ายราคา 40 ล้านดอลลาร์ของสาธารณูปโภค “เทา” คือโรงบำบัดน้ำเสียเท่ากับว่าบริษัทประหยัดเงินได้กว่า 38.6 ล้านดอลลาร์
ในทำนองเดียวกัน บางบริษัทที่พึ่งพาระบบการเกษตรพบว่า การปรับปรุงการจัดการพื้นที่ป่าและระบบนิเวศริมไร่นา รวมถึงเปลี่ยนไปใช้วิถีการเกษตรที่ยั่งยืนหลากหลายและยืดหยุ่นกว่าเดิม แทนที่ระบบอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยวนั้น สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกอย่างเช่นปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงซึ่งก็แปลว่าได้ลดต้นทุนการผลิตด้วย
เมื่อหลายบริษัทเริ่มมองเห็นคุณค่าและมูลค่าของธรรมชาติ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นการจับมือเป็น “พันธมิตร” กัน ระหว่างบริษัทกับเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพราะบริษัทรู้เรื่องธุรกิจแต่ไม่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเอ็นจีโอรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ไม่รู้เรื่องธุรกิจการมาจับมือกันจึงจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่วิถีที่ยั่งยืนกว่าเดิม
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การทำงานร่วมกันระหว่าง FEMSA บริษัทบรรจุขวดโค้กที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ กับNature Conservancy เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมซึ่งเทอร์เซกเป็นซีอีโอทีแรก Nature Conservancyคิดว่าเป็นเรื่องหมูๆ ที่ FEMSA จะอยากอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำ เพราะการผลิตโค้กต้องใช้น้ำสะอาดปริมาณมหาศาล FEMSA น่าจะอยากอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการันตีว่าจะมีน้ำจืดใช้ในการผลิตไปตลอด แต่พอเขาได้คุยกับผู้บริหารของ FEMSA ก็พบว่าการตัดสินใจของบริษัทไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
ผู้บริหารของบริษัทบอกว่า แค่ความคิดกว้างๆ ว่าจะ “อนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำ” ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เพราะบริษัทมีหน้าที่ลงทุนให้ผลตอบแทนงอกเงยมากที่สุด ฉะนั้น จึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ควรอนุรักษ์ป่าตรงไหนอย่างไร? ควรปลูกต้นไม้ใหม่หรืออนุรักษ์ผืนป่าดั้งเดิม? การลงทุนแบบไหนที่จะทำให้มีแหล่งน้ำจืดใช้โดยที่บริษัทประหยัดเงินได้มากที่สุด?
Nature Conservancy ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ ช่วย FEMSA ลงทุนอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 30 แห่งทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ อาทิ กองทุนน้ำโบโกตา (Bogot? Water Fund) ในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งจะระดมทุนกว่า 60 ล้านดอลลาร์ ตลอด 10 ปีข้างหน้า ผ่านการใส่เงินโดยสมัครใจของ FEMSA และบริษัทอื่น กองทุนนี้จะอนุรักษ์ป่าพื้นเมืองในแอนดีสซึ่งโอบล้อมพื้นที่ลุ่มน้ำมากมาย พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับชาวเมืองโบโกตากว่า 8 ล้านคน เทศบาลเมืองเข้าร่วมด้วยเพราะคำนวณว่าพื้นที่ลุ่มน้ำจะช่วยประหยัดงบประมาณการผลิตน้ำประปาได้ถึง 4 ล้านดอลลาร์ทุกปี เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำช่วยกรองน้ำให้ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อาทิ อีแร้งแอนเดียน นกบินได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเสี้ยวเดียวเท่านั้นของ “เหตุผลทางธุรกิจ” ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่และแต่ละบริษัท แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องมีการประเมิน “ประโยชน์” และ “ต้นทุน” ของทางเลือกต่างๆ อย่างรอบด้านและมองการณ์ไกล
ไม่ใช่ใช้เหตุผลชุ่ยๆ แบบกำกวมและเหมารวม เช่น “ที่ไหนๆ ก็สร้างเขื่อน” แบบที่นักวิชาการบางคนชอบทำ โดยไม่ศึกษาประเด็นเฉพาะพื้นที่และไม่คิดจะติดตามว่าวงการ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” วิ่งไกลถึงไหนแล้ว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน