สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการกระเป๋าในภาวะวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้วนะครับที่ผมขอเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะวิกฤต ในเดือนก่อนผมได้พาท่านไปจน "สุดซอย

นึกไม่ถึงว่าจะมีเรื่องราวที่ใหญ่โตกว่าที่กำลังว่ากันให้ "สุดซอย”เช่นกันตามมาทีหลัง ก็ขอเอาใจช่วยในทุกท่านเอาตัวรอดจากการไป"สุดซอย”ครั้งนี้ด้วยนะครับ เคยได้เตือนท่านผู้อ่านเมื่อหลายเดือนก่อนเรื่องการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เราบริหารจัดการไม่ได้ อาทิเช่น กรณีพิพาทไทยกับกัมพูชา ก็หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้บริหารจัดการ positions ของท่านไปกันบ้างแล้วนะครับ

ในเดือนนี้ผมก็อยากจะเล่าให้ฟังว่าเราจะจัดการกระเป๋าของเราได้อย่างไร กระเป๋าในที่นี้ไม่ใช่กระเป๋าเดินทางนะครับ แต่หมายถึงบรรดาเงินทองและทรัพย์สินทางด้านการเงิน (financial assets) ที่ท่านถือครองอยู่ ผมจะเล่าให้ฟังว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยค่าของมันไม่หดหายหรืออาจจะเสียหายก็ให้เสียหายเฉพาะในส่วนที่ควรจะเสียหายและให้น้อยที่สุด ก่อนที่จะแนะนำกันก็ต้องขอ"ปูพื้น”เรื่องที่เกี่ยวข้องสักเล็กน้อยนะครับ

ประการแรก สภาวะวิกฤตที่ว่า เราว่ากันในลักษณะที่ผมใช้คำว่า ผิดปกติจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากเรื่องวิกฤตใดที่ไม่"ผิดปกติ”ก็จะไม่นำมาพิจารณา อันนี้อาจจะยากนิดหนึ่งที่จะพิจารณาว่าอันไหนใช่อันไหนไม่ใช่ แต่หากเราลองพิจารณาบ่อยๆ ก็จะสามารถแยกแยะได้ครับ ตัวอย่างเช่น กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา โดยตัวของมันเองผมไม่นับว่าเป็นวิกฤต เพราะว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อทรัพย์สินทางการเงินเท่าไรนัก แต่มันจะกลายเป็นวิกฤตไปได้หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอาทิเช่น การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ หรือการขยายขอบเขตการสู้รบจากสมรภูมิตามแนวชายแดนไปเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

ประการที่สอง ลักษณะทรัพย์สินทางการเงินที่ผมบอกกล่าว ผมขีดวงไว้เล็กน้อยว่าเป็นทรัพย์สินทางการเงินที่มีสภาพคล่องพอสมควรถึงมาก หากท่านบังเอิญไปซื้อทรัพย์สินทางการเงินที่ไม่มีสภาพคล่อง ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ภาคเอกชนที่ไม่มีการซื้อ/ขายหรือรับรอง (underwrite) ในการซื้อ/ขายในตลาดรอง ก็คงจะไม่มีประโยชน์โภคผลจากคำแนะนำของผมเท่าไรหรอกนะครับ ดังนั้นอีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ทองคำที่เป็นรูปพรรณหรือทองแท่ง ผมก็ไม่นับว่าเป็น financial assets นะครับ เหตุผลก็เป็นเพราะสภาพคล่องไม่มีความแน่นอน ยังคงต้องตามใจบรรดาเจ้าของร้านทองว่าจะรับซื้อ/ขายหรือไม่มีขั้นตอนอยู่ไม่กี่ขั้นตอนในการจัดการกับกระเป๋าของท่าน เชิญทางนี้เลยครับ

ขั้นที่ 1 แนะนำให้ท่านจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง (prioritize) บรรดาทรัพย์สินฯของท่าน โดยใช้ประเด็นเรื่องสภาพคล่อง (liquidity) เป็นสำคัญ และประเด็นเรื่องราคา (market/price) เป็นเรื่องรองลงมา เหตุผลหลักๆ ก็เป็นเพราะการprioritizeดังกล่าวจะทำให้ท่านรับรู้ถึงสถานะของบรรดาทรัพย์สินฯของท่านทั้งด้าน"หนีตาย”และ"ราคา”ที่หนีได้เป็นอย่างดี การจัดการข้อนี้ดังกล่าวจะทำให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายและไม่ผิด โอกาสลังเลเด็ดกลีบดอกไม้ก็จะน้อยลง

ขั้นที่ 2 เมื่อเห็นท่าไม่ดี ให้ขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยที่สุดก่อน ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้/พันธบัตรย่อมมีสภาพคล่องน้อยกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากทรัพย์สินฯของท่านยังคงมีกำไร (In-the money) การตัดสินใจคงไม่ยากนัก แต่หาก "จมน้ำ”อยู่ก็คงยาก อันนี้ก็แล้วแต่ท่านล่ะครับว่าจะ"อม”หรือตัดใจขายไป

ขั้นที่ 3 เมื่อทำตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว ท่านก็คงจะมีเงินในบัญชีอยู่มากถึงมากที่สุด การdiversifyความเสี่ยงทางด้านราคาของเงินก็ยังสามารถทำได้อีก โดยการไปถือครองเงินสกุลอื่นๆ เพราะให้เหตุการณ์ผิดปกติค่าเงินสกุลท้องถิ่น ในกรณีนี้ก็คือเงินบาทมักจะอ่อนค่าลงมามากน้อยแล้วแต่ขนาดของความผิดปกติ การถือครองเงินตราต่างประเทศก็ควรถือครองสกุลที่มีสภาพคล่องสูง เช่นเดียวกันคงต้องให้ความสำคัญกับราคาของสกุลเงินนั้นรองลงมา การถือครองเงินตราต่างประเทศอาจจะทำได้ในทางอื่นอีก นอกเหนือจากการถือครองเป็นเงินสด อาทิเช่น ไปถือครองสินทรัพย์ฯที่อิงอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างก็มีการไปถือครอง กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงอยู่อีกเล็กน้อย เนื่องจากในกรณีวิกฤต บริษัทหลักทรัพย์จัดการเหล่านั้นอาจจะ"หาย”ไปเลยก็ได้ และจะทำให้ชีวิตของท่านยุ่งยากจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าในทุกกรณี (และจะเป็นอมตะอย่างนี้ตลอดไป) ผมเน้นย้ำความสำคัญของสภาพคล่องมากถึงมากที่สุด เพราะในกรณีผิดปกติ การดำรงอยู่ของสถาบันการเงินอาจจะไม่มี หรือการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของทางการอาจจะทำได้ไม่ทันท่วงที (และในบางกรณีก็ไม่ทำซะงั้น) ดังนั้นการถือครองเงินสดเอาไว้ในระดับที่ท่าน"สบายใจ”น่าจะทำให้ท่านปลอดภัยที่สุด ส่วนการรักษาให้เงินสดและชีวิตของท่าน "อยู่รอดปลอดภัย”นั้นผมคงไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแนะนำท่านได้ แต่ผมเชื่อว่าคงไม่เกินวิสัยที่จะดูแลเอาไว้ได้

และเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ โดยทั่วไปราคาทรัพย์สินฯดังกล่าวจะมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากท่านได้ “จำหน่าย” ทรัพย์สินฯดังกล่าวไปก่อน และมาซื้อคืนภายหลังก็น่าจะส่งผลให้ท่านมีผลกำไรได้ อย่างไรก็ตามอย่าลืมในกรณีบริหารจัดการกระเป๋าที่บอกกันครั้งนี้ เราเน้นย้ำเรื่องการรักษาสภาพคล่องเป็นสำคัญ ส่วนผลพลอยได้ทางด้านราคานั้นก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนจากการบริหารจัดการดังกล่าวก็แล้วกัน และทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของผม โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้นะครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การบริหารจัดการกระเป๋า ภาวะวิกฤติ

view