จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
20 พ.ย.นี้ จะชี้ทิศทางการต่อสู้ของรัฐบาลและม็อบนอกสภาขณะนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว. ว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือไม่ การเมืองจากนี้จะมีทางออกจากความขัดแย้งอย่างไร หรือเข้าสู่ทางตัน??
ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตันอีกครั้ง เนื่องจากกติกาตามรัฐธรรมนูญอย่างยุบสภา ไม่ได้เป็นทางออกที่ถูกเลือกจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยฝ่ายรัฐบาลยังคงมีนโยบายค้างอยู่ในรัฐสภา ทั้ง พ.ร.บ.กู้เงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็ยังดำเนินการอยู่ หากยุบสภาขึ้นมาก็จะเกิดความปั่นป่วนในแต่ละกลุ่ม แต่ละมุ้งของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเอง เนื่องจากจะทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ รวมถึงหากเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนลดลงแน่นอน โดยเฉพาะในสัดส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่ทางเลือกของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ไม่ได้ต้องการให้ยุบสภาเช่นกัน เพราะรู้ดีว่าหากรัฐบาลเลือกยุบสภา และหากบังเอิญพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็จะเผชิญกับปัญหาเดิมๆ อีก
ตระกูล วิเคราะห์ว่า หลังจากรัฐบาลเลือกผ่อนกระแสด้วยการถอยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เชื่อว่ากระแสของม็อบแต่ละกลุ่มน่าจะเบาลง แต่ขณะนี้ก็ยังเห็นได้ว่า เมื่อไรก็ตามที่แกนนำนัดหมายให้มาชุมนุม ทุกคนก็พร้อมที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมทันที ขณะที่มวลชนของรัฐบาล แม้จะลดลงบ้าง หลังรัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ภาพรวมยังคงมีพลังอยู่ ฉะนั้นจึงยังไม่เห็นทางออก หากการเมืองยังเป็นในรูปแบบนี้
“การเมืองไทยกลับมาเป็นวงจรอุบาทว์ อย่างที่ อ.ไชยันต์ ไชยพร เคยเขียนไว้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าหากใช้กติกาเดิมตามรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยก็จะกลับมาอีก และก็จะมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจในการบริหาร รวมถึงประชาชนก็รู้สึกอึดอัดกับปัญหาการโกงเลือกตั้ง การเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจของนักการเมือง หรือการคอร์รัปชั่น ซึ่งพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์เองก็รู้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครเสนอเรื่องปฏิรูปการเมือง เหมือนที่เคยทำในช่วงก่อนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540”
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้ แนะนำว่าถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงแต่ละกลุ่มควรเสนอแนวการปฏิรูปที่เป็นทางออกให้กับสังคมไทยได้ โดยควรเน้นประเด็นที่สำคัญที่สุดอย่างการคอร์รัปชั่น หรือกลไกการผูกขาดของ “ทุนการเมือง” มากกว่าจะเสนอเหวี่ยงแหอย่างลดความเหลื่อมล้ำ หรือกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นไปได้ยาก รวมถึงมีรายละเอียดซับซ้อน ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้อาวุโสหลายท่าน อย่าง ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กำลังระดมความคิดที่เป็นทางออกให้กับสังคมไทย และกำลังชักชวนให้คู่ขัดแย้งแต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมปฏิรูปด้วย มากกว่าที่จะปฏิรูปฝ่ายเดียว เหมือนที่รัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทำ
ขณะที่ ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ทางออกที่เป็นไปได้เวลานี้ได้แก่ ทางแรก รัฐบาลต้องเข้ามาเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อหาทางประนีประนอม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมคงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบทั้งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือเรื่องอื่นๆ
ทั้งนี้ การเจรจาลงไปรับฟังกลุ่มผู้ชุมนุมจะเป็นท่าทีประนีประนอม รับฟังว่าเขาจะเสนออะไร อาจจะให้รัฐบาลลาออก ไม่ให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของสภาว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่รัฐบาลคงทำยาก จึงอาจขอปรับแก้เปลี่ยนแปลงเป็นขอโทษ และประกาศจะไม่ทำเช่นที่ผ่านมา แต่ก็ยาก เพราะจะเท่ากับประณามตัวเอง
“เรื่องนี้ต้องใช้คำว่าสัญญาประชาคม ซึ่งถือเป็นหัวใจของประชาธิปไตย นายกฯ ต้องประกาศเป็นสัญญาประชาคมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเนื้อหาจะต้องเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะต้องตกลงกันก่อน ซึ่งอาจจะเรียกร้องมาเป็น 10 ข้อ เช่นว่าจะไม่ทำผิดอีก จะลดการคอร์รัปชั่น จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ ซึ่งจะต้องมาเจรจากันว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร และอาจต้องใช้เวลาไม่ใช่แค่ 1-2 ครั้ง”ทวี กล่าว
ทวี กล่าวว่า อีกทางเลือกถ้าไม่เจรจา ปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ม็อบก็อาจแผ่ขยายก็ต้องเตรียมป้องกัน ตั้งรับ เจอกับภาวะแบบนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งม็อบแผ่ขยายก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงสูญเสียความชอบธรรม หากประชาชนไม่ให้การยอมรับเชื่อถือ ก็จะเป็นปัญหาความชอบธรรม โดยหากไม่ทำทั้งสองทางก็จะถูกบีบให้ยุบสภาเป็นทางเลือกสุดท้าย
ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับนักวิชาการที่เสนอทางเลือกนี้มาก่อนหน้านี้ เพราะหนึ่ง เป็นหนทางตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชน และสอง จะนำไปสู่การต่อสู้ของสองพรรคที่จะนำแนวทางมาต่อสู้มาแข่งขันกันในนโยบาย ถ้าได้รับการตอบรับก็ได้รับการเลือกตั้งกลับมา แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยและประชาชนลงโทษ
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการกลุ่มเสื้อแดงและอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเลี้ยงกระแสการชุมนุมไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย. โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ สว. ให้เป็นผลลบกับรัฐบาล ส่วนที่ไม่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภานั้น ก็ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์เองไม่ต้องการเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะขณะนี้ความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะชนะยังไม่มี จึงต้องหวังพึ่งศาล และอำนาจอื่นๆ ในการล้มรัฐบาล
“ผมไม่เชื่อว่ากลุ่มที่มีเป้าหมายต่างจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย และกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ จะทำให้รัฐบาลล้มได้ เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลจะล้มได้เฉพาะเหตุรุนแรงที่รัฐบาลเป็นคนเริ่มต้นก่อเท่านั้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็ยังสงบอยู่ในที่ตั้ง ไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องเริ่มใช้ความรุนแรง กระแสก็ตกไปเอง สิ่งที่รัฐบาลควรทำขณะนี้คือนิ่งสงบอยู่ในที่ตั้ง และทำให้ฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนไหวต่อไป หากม็อบทำอะไรที่สุดโต่งเกินไป ประชาชนจะหันหลังหนีเอง”สุธาชัย ระบุ
นักวิชาการผู้นี้ระบุอีกว่า หากพิจารณาจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมขณะนี้ จะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เองประเมินผิด เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ รวมถึงชนชั้นกลางในเมือง ไม่ได้ต้องการถึงขั้นล้มรัฐบาล และรัฐบาลเองก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไม่ไหวก็ต้องถอยเช่นเดียวกัน ส่วนที่คนเสื้อแดงจะชุมนุมในวันที่ 18-20 พ.ย.นั้น ไม่น่าจะมีนัยอะไร เป็นการแสดงพลังตามปกติ ซึ่งก็เป็นสิทธิของคนเสื้อแดงที่จะทำได้ และคงไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะไปปะทะกับกลุ่มต้าน
ส่วนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พ.ย.นั้น สุธาชัย กล่าวว่า ไม่น่ากังวลอะไร เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อกฎหมาย หรือขัดเหตุและผลนั้น ประชาชนก็จะผลักแรงกดดันกลับไปยังศาล และตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญเอง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน