จากประชาชาติธุรกิจ
หมายเหตุ - นายคณัศ พันธรักษ์ราชเดช นักวิชาการ เขียนบทความนำเสนอทางออกของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่กำลังมีปัญหาในปัจจุบัน จนเป็นมูลเหตุให้ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมต่อต้านเป็นจำนวนมาก
ร่างพระราชบัญญัติรวม ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับต่างก็ถือเป็นญัตติชนิดหนึ่ง แต่เป็นญัตติที่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายหากได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทน ราษฎรและวุฒิสภา หรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมฯ และรัฐธรรมนูญฯ ครบถ้วนแล้ว
จากกรณีดังกล่าวร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับที่เป็นปัญหาอยู่นี้ก็เป็นญัตติเช่นเดียวกันและถือได้ว่าเป็นร่างพระราช บัญญัติที่มีผู้คัดค้านมากที่สุดโดยเฉพาะในที่ประชุมวุฒิสภาชุดลูกผสม (เลือกตั้ง/สรรหา) ถึงกับมีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งกล่าวว่า เป็นครั้งแรกของวุฒิสภาชุดนี้ที่สมาชิกได้อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันหมด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่อยู่ร่วมกันมา คือต่างก็ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และในที่สุด หลังการอภิปรายกว่า 10 ชั่วโมง ที่ประชุมวุฒิสภาก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 141 ต่อ 0 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในคราวประชุมวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมวุฒิสภา ตลอดจนในระหว่างที่มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีฝูงชน (Mob) จำนวนมาก ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ได้คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ โดยเริ่มหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านวาระที่ 3 เมื่อเวลาตีสี่ครึ่งของคืนวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม เช้าวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และจะต้องส่งให้วุฒิสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งวุฒิสภาก็ได้พิจารณาและมีมติดังกล่าว
ปัญหามีว่า เมื่อวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 147(2) บัญญัติไว้ว่า ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคือไปยังสภาผู้แทนราษฎร(มาตรา 148)
นั่นหมายถึงอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือประมาณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ล่วงไปแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้
แต่รัฐธรรมนูญ ก็มิได้บัญญัติไว้ว่า หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะตกไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ก็ยังคงไม่ตาย หรือสิ้นสุดไป เปรียบเสมือน "หัวแห้วหมู" และยังคงมีชีวิตอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะครบวาระ 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ หรือจนกว่าจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ก่อน ที่ที่ประชุมวุฒิสภา จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็ได้มีการประชุมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค ซึ่งได้แก่ 1.พรรคเพื่อไทย 2.พรรคชาติไทยพัฒนา 3.พรรคชาติพัฒนา และ 4.พรรคพลังชน โดยที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้มีมติให้ "สัตยาบัน" หรือสัญญาที่จะไม่นำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก แต่การประกาศดังกล่าวก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของมวลชนที่ปักหลัก และพร้อมที่จะยกระดับการต่อต้านจากเดิมที่เพียงแต่ต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม เป็นการต่อต้านขับไล่รัฐบาลแทน
แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ควรจะต้องทำอย่างไร จึงจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับมา พิจารณาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบอีกหลังจากครบกำหนดหนึ่งร้อย แปดสิบวันไปแล้ว
ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขในขณะนี้ได้โดย อาจไม่ต้องรอระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันด้วยการใช้วิธีดังนี้
ให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งคนใด พร้อมด้วยผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน เสนอเป็นญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติว่า เมื่อครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภาได้แจ้งมติไม่รับหลัก การร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมายังสภาผู้แทนราษฎรแล้วสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ ยกหรือนำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกตลอดวาระของสภา ผู้แทนราษฎรชุดนี้
วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่น่าจะสร้างความเชื่อถือให้แก่สังคมได้มากที่สุดมากกว่าการลงนามในสัตยาบันของพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค หรือการจะเข้าชื่อเป็นในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในลักษณะสัญญาใจที่จะไม่นำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมาพิจารณาอีก) เพราะการเสนอญัตติผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะเป็นหลักฐานค้ำคอสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนช่วยลดกระแสมวลชนที่ต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอย่างหนักในขณะนี้ลงได้ในระดับหนึ่ง
ที่มา : นสพ.มติชน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน