สังคมไทยกำลังลอกคราบ
โดย : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่รู้ว่าเอาอะไรมาคิดว่าการชุมนุมจะทำให้การส่งออกติดลบ เศรษฐกิจของประเทศหดตัว ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยน่าดู
นอก ภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ที่เหลือเป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งนั้น การใช้ผู้ชุมนุมเป็นแพะรับบาปจึงเป็นปาปี่แหกตาที่ไม่เนียนเอาเสียเลย ในเวลาเช่นนี้ ท่าทีที่พร้อมจะกระโจนเข้าใส่ผู้ชุมนุมของคนของรัฐบาล มีแต่จะทำให้กองไฟแห่งความเกลียดชังโหมกระพือขึ้นกว่าเดิม
มองไปข้างหน้า คาดเดาได้ยากเหลือเกินว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร สำหรับหลายคน สิ่งที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ในห้วงเวลาแห่งความมืดมิดเช่นนี้ บ้านเมืองเรายังเหลือความหวังอะไรกันอีก?
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอกับความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรง จนอาจถึงขั้นต้องเสียเลือดเนื้อ ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในช่วงสองร้อยปีมานี้ สังคมที่จะก้าวไปข้างหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนแล้วแต่ต้องเจอกับเรื่องทำนองนี้กันทั้งนั้น เพราะนี่คือกระบวนการที่สังคมกำลังลอกคราบตัวเองจากสิ่งสกปรกโสมมที่หมักหมม มานาน เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างแค่สองประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย
สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาช่วงปี พ.ศ. 2404-2408 เพื่อยกเลิกทาส ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจกับผู้เสียประโยชน์ โดยเฉพาะนายทุนเจ้าของที่ดินในทางใต้ ที่มองว่า ทาสเป็นเพียงทรัพย์สิน คนผิวดำและคนที่ไม่ใช่คนขาว มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าคนผิวขาว
ความไม่พอใจนี้ ทำให้รัฐทางใต้เจ็ดรัฐประกาศแยกตัวเป็นอิสระ เจมส์ บูแคนัน ซึ่งกำลังจะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และอับราฮัม ลินคอล์น ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ยอมให้รัฐทั้งเจ็ดแยกตัว หากยืนยันจะแยกตัว ก็จะถือว่าเป็นกบฏ ต้องถูกปราบปราม
แม้ว่าสุดท้าย ลินคอล์นเป็นผู้กำชัยชนะ แต่บ้านเมืองก็บอบช้ำไม่น้อย มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงทาสจะได้รับอิสระ ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น โอกาสทางสังคมที่น้อยกว่าคนผิวขาว และทัศนคติเชิงลบของดคนผิวขาวที่มีต่อคนผิวดำและคนผิวสีก็ไม่ได้จางหายไป ทันที อเมริกาต้องใช้เวลาเกือบร้อยปี กว่าจะเยียวยาบาดแผลจากความเจ็บปวดในครั้งนั้นได้
การต่อสู้ในครั้งนั้นคือบันทึกหน้าแรกของประวัติศาสตร์การปฏิวัติทาง สังคม เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนต่างๆ ไม่เฉพาะแต่คนผิวสี แต่ยังรวมไปถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของหญิงและชาย ความเท่าเทียมกันของโอกาสที่จะเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เพื่อให้ทุกคนมีระดับความเป็นอยู่ขึ้นต่ำใกล้เคียงกัน เป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการของการเดินทางที่ยาวไกล
ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งประเทศอเมริกาจะมีประธานาธิบดีที่ไม่ใช่คนผิวขาว และก็เป็นไปได้ว่า อีกไม่นาน ประธานาธิบดีของอเมริกาอาจเป็นผู้หญิงก็ได้
มาเลเซีย ซึ่งตอนนี้นำหน้าเราทางเศรษฐกิจไปหลายขุมแล้ว ก็เคยเจอกับปัญหาทำนองเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออังกฤษเริ่มถอนตัวออกจากมาเลเซีย เค้าลางของความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น เพราะมาเลเซียประกอบไปด้วยคนสามเชื้อชาติ คนมาเลย์ คนจีน และคนอินเดีย
อำนาจการบริการจัดการรัฐตกอยู่กับคนมาเลย์ คนจีนกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ คนอินเดียกลายเป็นชนชั้นแรงงาน การถอนตัวไปของอังกฤษทำให้สามเชื้อชาติต่อสู้แก่งแย่งกันเพื่อหาประโยชน์จาก ภาวะสุญญากาศนั้น มีการเสียเลือดเนื้อกันไม่น้อย เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังถูกหว่านไว้ในใจของทุกคน
แม้ว่าความเกลียดชังนี้จะยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเข้มข้นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะนโยบายที่มุ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนใน ประเทศให้ดีกว่าเดิม
สมัยนี้ คนจีนแต่งงานกับคนมาเลย์มีมากขึ้น คนอินเดียที่เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศมีไม่น้อย ความแตกต่างในทางเชื้อชาติเริ่มลดลง คงใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าคนทั้งสามเชื้อชาตินี้ จะสามารถยอมรับกันความแตกต่างของกันและกันได้อย่างสนิทใจ แต่อย่างน้อย ทิศทางที่สังคมของเขากำลังมุ่งหน้าไป ก็พอจะเป็นหลักประกันได้ว่า พวกเขาเดินมาถูกทาง
เงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งเหล่านี้นำไปสู่การล่มสลายของสังคมโดยสิ้น เชิง เป็นสังคมที่ล้มเหลว ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่เพราะเกิดความขัดแย้งในสังคม แต่เป็นเพราะ สังคมขาดพลังเกื้อหนุนที่เข้มแข็งพอ เพราะอำนาจการชี้นำสังคม ตกอยู่ในมือคนเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งขาดความรู้ความสามารถ ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ คิดถึงแต่พวกของตนเป็นที่ตั้ง ประกอบกับความล้าหลังทางวิทยาการความรู้ จึงไม่สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรมายาและแอซเทคในแถบอเมริกาใต้
สำหรับบ้านเรา ด้านบวกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ เราได้เห็นพลังทางสังคมหลายจากหลายสายมาหลอมรวมกัน ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า ในที่สุดแล้ว สังคมไทยจะผ่านพ้นมันไปได้ และสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
พลังคนรักชาติรุ่นเก่า กับพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ผนึกเข้าด้วยกันจนเป็นทุนทางสังคมชุดใหม่ กลายเป็นเสาหลักอีกต้นหนึ่งที่จะคอยค้ำจุนประเทศชาติ การรวมพลังกันออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการบอกออกมากลายๆ ว่า รูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย คือ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
คนไทยจำนวนไม่น้อย เห็นคุณค่าและหวงแหนสิทธิทางการเมืองของตนเองมากขึ้น ไม่ต้องการให้ใครมาชี้นำ รู้จักคิด รู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่ยอมถูกชักจูงหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครได้โดยง่าย ท่ามกลางความมืดมิด ปรากฏการณ์เหล่านี้ คือ ประกายเล็กๆ ซึ่งจะคอยนำทางให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า ประวัติศาสตร์บอกเราว่า การเปลี่ยนผ่านทุกครั้งย่อมมีความเจ็บปวดสูญเสีย มีแต่สังคมที่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านั้นและปรับตัวได้ จึงจะสามารถลอกคราบ กลายเป็นสังคมที่งดงามน่าอยู่ขึ้น นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน