จากประชาชาติธุรกิจ
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ผมสังเกตเห็นและเริ่มพัฒนาอย่างช้า ๆ คือ "ความกลมกลืนกัน" ของสังคมทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตกโดย มีจุดเร่งมาตั้งแต่ยุค Internet หรือการกำเนิด Netscape ที่เติบโตอย่างมากในปลายทศวรรษที่ 90 และทวีความเร่งด้วยสังคม Social Media อย่าง Facebook ที่กลายเป็นสังคมรุ่นใหม่ตั้งแต่เราเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 21
ด้วยที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นระลอก และเร่งตัวขึ้น ทำให้คนในยุคหลังมีความพิเศษกว่ายุค Babyboomer มาก แม้ว่านักวิชาการนิยมแบ่งพฤติกรรมทางสังคมของคนแต่ละยุค ซึ่งผ่านกระบวนการความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองออกเป็น Generation X, Y, Z แต่เท่าที่ผมสังเกตพฤติกรรม
"ทางการตลาด" ของประเทศกำลังพัฒนาผ่านสื่อต่าง ๆ พบว่าเราอาจจะแบ่งคนในแต่ละรุ่นของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกครั้งนี้เป็น "10-20-30" หรือยุค Gen 10 Gen 20 Gen 30 ได้ในอีกมุมมองหนึ่ง
Gen 30 คือ Generation ของผม หรือคนที่อายุสามสิบกว่า ๆ ในปัจจุบัน หมายถึงคนยุคที่ Internet ยังไม่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่เพิ่งมาเริ่มได้ใช้ในช่วงวัยรุ่น และได้ใช้ Social Media ในวัยทำงาน คน Gen 30 นั้นยังมีความแตกต่างกันในพื้นเพเดิม หรือมีความเคยชินกับสิ่งเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก เช่น คนต่างจังหวัดก็จะมีความชอบหรือวิถีชีวิตที่ยังแตกต่างจากคนเมือง ยังมีความคุ้นชินกับอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตในวัยเด็กรอบ ๆ ตัวของพวกเขา มีรสนิยมเป็นกลุ่ม ๆ เฉพาะ ขึ้นอยู่กับสังคมและสถานที่ที่อยู่ เช่น คนเมืองอาจจะชอบเสื้อผ้า ร้านอาหารแบรนด์แบรนด์หนึ่ง
แต่คน ต่างจังหวัดจะนิยมแบรนด์อีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะไม่เหมือนกันเลย ร้านอาหารโปรดหรืออาหารที่ชอบเป็นคนละประเภท คนละบรรยากาศ หรือกระทั่งถ้ามองมาที่ระดับโลก คนในเอเชียยุคนี้อาจจะเคยชินกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากกว่า และจะมีวัฒนธรรมฝรั่งเจือปนอยู่น้อยมาก ในวัฒนธรรมฝรั่งก็เช่นเดียวกันยังมีความเป็นเอเชียหรือรู้จักเอเชียไม่มาก นัก
หรือความกลมกลืนกันอยู่ในวงจำกัด
Gen 20 คือคนรุ่นที่เด็กลงมา เป็นนักศึกษาหรือเป็น First Jobber ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงาน คนกลุ่มนี้มีอิทธิพลจาก Social Media เยอะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วัยเรียน สภาพสังคมและเมืองพัฒนาจนเกิดสิ่งที่มีความกลมกลืนกันในระดับประเทศ นั่นคือในประเทศเดียวกันรสนิยมแทบไม่ต่างกันแล้ว ชอบเดินห้าง ดูหนัง ฟังเพลง ที่เดียวกันและเหมือนกัน สังคมมีความกลมกลืนขึ้นจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของคนทุกระดับชั้น
และ ถ้าไปดูในจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองหลวง ไม่ว่าจะประเทศไหน บ่อยครั้งที่พบว่าแบรนด์จากส่วนกลางหรือจากเมืองหลวง จะเป็นที่นิยมสูงกว่าแบรนด์พื้นเมืองในจังหวัดนั้น ๆ นั่นคือแนวโน้มของความกลมกลืนที่เกิดขึ้นสำหรับคนในยุคนี้
และดู เหมือนกับว่า กลุ่ม Gen 10 จะยิ่งมีความคล้ายกันมากขึ้นอีก ไม่เฉพาะในระดับประเทศ แต่เป็นในระดับโลก เหตุผลอาจจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอีกต่อไปแต่หมายถึง "สื่อ" อิทธิพลของโลกอินเทอร์เน็ตที่ฝังอยู่ทุกหนทุกแห่งของคนยุคนี้
นั่น หมายถึงจะไม่แปลกใจที่เห็นเด็กคนละมุมโลกเล่นของเล่นแทบจะเหมือนกัน ไม่มีตัวแบ่งว่านี้เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรป ร้านแมคโดนัลด์แจกของเล่นตัวการ์ตูนญี่ปุ่นในยุโรป และแจกของเล่นตัวการ์ตูนฝรั่งในเอเชียเป็นสิ่งที่เห็นได้ คนในคนละมุมโลกชอบในรายการทีวี เกมโชว์ หรือกระทั่งหนังภาพยนตร์
คล้าย ๆ กัน ลักษณะของห้างสรรพสินค้าที่คนชอบมีหน้าตาเดียวกัน เดินร้านค้าเดียวกัน ใช้ของยี่ห้อแทบจะเหมือนกัน โดยไม่แบ่งแยกรสนิยมเหมือนอย่างในอดีต ใช้โทรศัพท์ อุปกรณ์ต่าง ๆ รุ่นเดียวกัน หรือมีพฤติกรรมตาม ๆ กันสูงมาก ไม่เว้นกระทั่งโรงเรียนที่นิยมในประเทศหนึ่งก็สามารถสร้างความนิยมข้ามมาอีก ประเทศหนึ่ง
อย่าง ไรก็ดีแม้ทุกสิ่งจะเหมือนกัน แต่มันมีความแตกต่างกันอยู่ตามความเป็นปัจเจกหรือความเป็นตัวตนของมนุษย์ทุก ยุคทุกสมัย เพลงอาจจะฟังเพลงเดียวกัน แต่คนละ cover หรือใช้โทรศัพท์ยี่ห้อเดียวกัน แต่ขอให้มีปลอกคนละแบบ ดูรายการโชว์เดียวกัน แต่ชอบกันคนละตอน นี่คือวัฒนธรรมของ 10-20-30 ที่ผมเห็น
ผลของ "แนวโน้มของความกลมกลืน" นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง เพราะจะทำให้ผู้ ชนะแทบจะเป็นผู้ชนะเด็ดขาดในสมรภูมิ คือมีส่วนแบ่งตลาดสูงมากจนห่างจากเบอร์สอง หรือเบอร์สามอย่างสุดกู่ และที่สำคัญคือวันไหนหากผู้ชนะเพลี่ยงพล้ำ อาจจะไม่แค่เสียพื้นที่ แต่หมายถึงการพ่ายแพ้อย่างหาที่ยืนไม่ได้
ความรวดเร็วของ "สื่อ" สร้างวิถีชีวิตใหม่ของคนในยุคอนาคต หมายถึงโอกาสบางอย่างจะสั้นและผ่านไปรวดเร็วมาก นี่คือความท้าทายของการแข่งขันทางธุรกิจในยุคมนุษย์ 10-20-30 ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน