ยุบสภาแล้วยังไงต่อ-นิรโทษ-แก้รธน-สิ้นหรือไม่
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ในที่สุด "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นายกฯได้นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้
โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วันแต่ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน และเวลานี้ถือว่านายกฯและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้พ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ทว่าบทบัญญัติกำหนดให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งในระหว่างนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้ขีดเส้นหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการเอาไว้ทั้งหมด 4 ประการ ดังนี้
(1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(2) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ขณะเดียวกันการยุบสภาฯที่เกิดขึ้นได้มีคำถามตามมาว่ากฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสมบูรณ์และยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายจะมีสภาพเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งกฎหมายที่เข้าข่ายลักษณะที่ว่านั้นมีทั้งสิ้น 5 ฉบับด้วยกัน
1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะต้องผ่านการทำประชามติก่อน (ปัจจุบันยังอยู่ในสารบบของรัฐสภา)
2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ)
3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ว่าด้วยการไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องยุบพรรคการเมืองได้โดยตรง (ปัจจุบันรอการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3)
4.ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (ปัจจุบันวุฒิสภาได้ยับยั้งโดยมีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไว้พิจารณา โดยที่สภาฯจะสามารถนำมาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันที่วุฒิสภาได้ส่งร่างพ.ร.บ.คืนให้สภาฯ)
5.ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลได้ชะลอการทูลเกล้าฯไปแล้ว)
ในประเด็นนี้ "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" รองประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จะกำหนดให้กรณีที่เกิดการยุบสภาฯแต่มีร่างกฎหมายใดยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนทางนิติบัญญัติจะต้องตกไป เว้นเสียแต่รัฐบาลชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้งจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภาภายใน60วันเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณากฎหมายนั้นต่อ
"หมายความว่าถ้าร่างกฎหมายฉบับใดค้างอยู่ในขั้นตอนไหนของรัฐสภา สภาฯ หรือ วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีก็ขอให้รัฐสภามีมติเดินหน้าต่อในกระบวนการที่ค้างอยู่ได้ แต่ถ้าเลยกำหนด 60 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วจะถือว่ากฎหมายนั้นตกไป" อดีตรองประธานส.ส.ร.ระบุ
ส่วนกรณีที่กฎหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ "เสรี สุวรรณภานนท์" อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มองว่า อย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร ระหว่าง 1.จำหน่ายคำร้องออกไปชั่วคราวเพราะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวตกไปตามการประกาศยุบสภา 2.เดินหน้าพิจารณาคำร้องต่อ เพราะอาจเห็นว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งไม่มีผลผูกพันต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เสรี อธิบายอีกว่า ในระหว่างที่มีการยุบสภาฯเกิดกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายตกไปก็ถือว่าจบ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะต้องเข้าสู่การประกาศใช้ ซึ่งศาลจะส่งความเห็นของศาลไปให้ประธานสภาฯหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป แต่ปัจจุบันไม่มีประธานสภาฯและประธานรัฐสภาจะทำให้กระบวนการประกาศใช้กฎหมายต้องชะลอไปก่อนเพื่อให้รอมีการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่และขออนุมัติจากรัฐสภาภายใน 60 วันตามมาตรา 153เพื่อเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายนั้นต่อไป
"ขณะที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งวุฒิสภาได้ยับยั้งเอาไว้และรอให้สภาฯมาพิจารณาอีกหลังจากครบกำหนด 180 วันนั้นต้องถือว่าตกไปจากผลของการยุบสภาฯ เพราะเป็นกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้นตอนของนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่เห็นว่ากฎหมายนี้สมควรได้รับการพิจารณาต่อไปก็สามารถขอมติจากรัฐสภาได้ แต่ส่วนตัวมองว่าในทางการเมืองการจะพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมต่อมีความเป็นไปได้ยาก" อดีตรองประธานส.ส.ร.ทิ้งท้าย
เปิดช่องสู่มาตรา7-หากนายกฯลาออก
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
แม้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา แต่ การเรียกร้องของมวลมหาประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ยังดำเนินต่อไป และยังคงมากขึ้น เติมเต็มท้องถนนจนถึงทำเนียบรัฐบาล ด้วยข้อเรียกร้อง ยิ่งลักษณ์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯรักษาการด้วย
ข้อเรียกร้องนี้จะทำได้หรือไม่ และจะนำไปสู่อะไร
สมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หลังได้รับการโปรดเกล้า จะเข้าไปทำหน้าที่กกต. อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้หลังจากนายกฯประกาศยุบสภา ประเมินแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 2 ก.พ. 57 เมื่อมีการยุบสภา รัฐบาลปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการ แต่ช่วงรักษาการมีข้อกฎหมายกำหนดควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องผ่านความเห็นชอบกกต.ก่อน
"หากเห็นว่าประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารของรัฐบาลรักษาการว่ามีความเป็นกลางหรือไม่ ก็ทำได้หลายอย่าง นายกฯนำความกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งรักษาการ ให้รองนายกฯ ทำหน้าที่แทน ซึ่งก็เคยทำสมัยอดีตนายกฯพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มอบหมายให้พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการ แต่ถ้าประชาชนไม่พอใจอีก ก็หาช่องทางต่อไป เมื่อสภาไม่มี วุฒิสภาทำหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่คำถามการได้มาซึ่งนายกฯ ต้องเป็นส.ส. ในเมื่อยุบสภา ไม่มีส.ส.เป็นคำถามที่ต้องคิดกันจะทำอย่างไร"ว่าที่ กกต. กล่าว
กรณีที่ กปปส.ระบุ ไม่เอานายกฯรักษาการ แต่ขอให้ตั้งทีมรัฐบาลรักษาการนำไปสู่การเลือกตั้ง มีสภาประชาชน นายสมชัย กล่าวว่า ติดอยู่ตำแหน่งเดียวจะเอาใครเป็นนายกฯภายใต้เงื่อนไข หากผ่านกระบวนการวุฒิสภาคัดเลือกซึ่งไม่มีส.ส. การรักษาการ อาจนำคนใดคนหนึ่งในครม. เป็นที่ยอมรับขึ้นมาเป็นโมเดลที่ประนีประนอมที่สุด แต่ถ้าผู้ชุมนุมไม่ยอมท้ายสุดใครจะเป็นคนกลาง ที่จะดูแลประเทศให้สามารถพาประเทศเดินต่อไปได้สัก 45 วัน
“นายกฯมาตรา 7 ก็เป็นไปได้ ในกรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มีทางเดียวเป็นประตูออกประตูหนึ่ง สามารถคุยกันได้ว่าเราอยู่มาเมื่อปี 2475 เกิดวิกฤต ท้ายสุดเกิดสูญญากาศจะทำอย่างไร ตัวรัฐมนตรีไม่ได้เป็นปัญหา แต่ตัวนายกฯเป็นปัญหาในการที่จะขอพระราชทาน มารักษาการชั่วคราว จากนั้นก็เป็นเรื่องที่มาคิดระหว่างรัฐบาลรักษาการกับกกต.จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม”ว่าที่กกต.กล่าว
พุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์แนวทางหลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้ว หลังจากนี้รอว่า 1.รอว่าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งอีกหรือไม่ แน่นอนว่า พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ก็ยังลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่เช่นเดิม (ถ้ายังไม่กลับลำไปจับมือกับประชาธิปัตย์เหมือนปี 2549) 2.นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพวก และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะมีสถานการณ์เรียกร้องทุกวิถีทางกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ 3.รอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสมาชิกรัฐสภา 312 คน เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีรักษาการหยุดการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหานายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7
พุฒิพงศ์ ระบุต่อว่า 4.วุฒิสภาซึ่งเหลือแต่ สว.สรรหา ลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรักษาการออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และอาจรวมถึง สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน 5.การลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน และผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งไม่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่อาจเปิดประชุมสภาได้เพราะองค์ประกอบไม่ครบองค์ประชุมตามรัฐธรรมนูญ 6.วุฒิสภาซึ่งเหลือแต่ สว.สรรหา ปฏิบัติหน้าที่รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 23
นายกฯยุบสภาผิดเวลา
ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงยุบสภาว่า การประกาศยุบสภาถือเป็นอาวุธของนายกรัฐมนตรี ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตามมองว่าท่าทีของนายกฯ ขณะนี้ในทางการเมืองถือเป็นฝ่ายรุกแล้ว หลังจากตั้งรับมาตลอด
ไชยันต์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอาจคาดการณ์ว่าหากยุบสภาในตอนเช้าจะทำให้คนไม่อยากออกมาชุมนุมและเดินทางกลับบ้าน หรือต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและการชุมนุมของมวลชนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการคาดการณ์ที่ผิดที่เลือกประกาศในตอนเช้าแทนที่จะประกาศยุบสภาในช่วงกลางคืน เพราะผู้ที่เตรียมมาชุมนุมยังคงมีกำลังและสามารถเพิ่มเงื่อนไขในการขับไล่รัฐบาลได้
ไชยันต์ กล่าวด้วยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภาที่ถือเป็นวิธีการตามหลักการประชาธิปไตย มองว่าเวลานี้ทั้งแกนนำมวลชน และมวลชนเองต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุผลในการชุมนุมเพื่ออะไร และต้องการเรียกร้องอะไร
ไขปริศนาหลังฉาก-ปู-ยุบสภา
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
พลันที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในพรรคเพื่อไทย สส.หลายคนต่างโทรศัพท์หาแกนนำสอบถามกันวุ่นวายว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่ระแคะระคายมาก่อน ว่า นายกฯ จะชิงยุบสภา
“ไม่เคยแจ้งให้ทราบก่อนเลยว่าจะทำอะไรกัน การยุบสภาเป็นการตัดสินอนาคตของพวก สส.ควรจะหารือกันบ้าง พวกเราไม่รู้เรื่องเลย ที่สำคัญหลังยุบสภาก็ไม่เรียกประชุมพรรคเพื่อแจ้งให้ สส.ทราบเหตุผลเลย ชาวบ้านโทรมาถามก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร”สส.คนหนึ่งระบายความในใจ
ทั้งนี้ สส.พรรคเพื่อไทย มั่นใจมาตลอดว่า นายกฯ จะไม่ยุบสภาจนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติกับผู้ชุมนุมก่อน และตลอดวันที่ 8 ธ.ค. ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้แสดงอาการถอดใจ เพราะได้สั่งการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เตรียมรับมือกับผู้ชุมนุมอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในช่วงเที่ยงวันที่ 8 ธ.ค. ยิ่งลักษณ์ได้แถลงยืนยันข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะตั้งสภาประชาชนและให้มีนายกฯ ตามมาตรา 7 นั้น ทำไม่ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่พร้อมจะทำประชามติว่า ประชาชนจะเห็นด้วยกับสภาประชาชนหรือไม่
ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ สส.ลาออกทั้งพรรคในช่วงเย็นวันเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ยังได้สั่งให้เชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อประกาศจุดยืนร่วมกันว่าจะลงเลือกตั้ง
กระทั่งในช่วงเวลา 21.00 น. พรรคร่วมมีมติร่วมกันใน 3 ข้อ คือ 1.สนับสนุนคำแถลงการณ์ของนายกฯ ในช่วงบ่ายวันที่ 8 ธ.ค. 2.ขอให้ผู้ชุมนุมที่จะมาที่ทำเนียบรัฐบาลมาด้วยความสงบ ยืนยันว่าจะใช้เพียงโล่และกระบอง ส่วนแก๊สน้ำตาจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น 3.ทางออกในการแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย โดยที่ไม่ได้แจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบว่าจะยุบสภาแต่อย่างใด
“ในตอนที่ประชุมกันจนกระทั่งแยกย้ายกันกลับบ้านนั้นพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่รู้จริงๆ ว่า นายกฯ จะประกาศยุบสภา แต่หลังจากประชุมกันนั้น ผมได้พูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่แล้วเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีการยุบสภา แต่ผมไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องมีการยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค.แน่นอน จึงเรียนให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบว่ามีแนวโน้มที่จะมีการยุบสภา เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น”สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ซึ่งเข้าร่วมหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลระบุ
นอกจากยิ่งลักษณ์จะมีท่าทีแข็งกร้าวแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ยังได้สั่งการให้คนใกล้ชิดร่วมแรงร่วมใจกันรับมือผู้ชุมนุมโดยยืนยันจะไม่ยุบสภา
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ยิ่งลักษณ์ได้ตัดสินใจยุบสภาเมื่อกลางดึกวันที่ 8 ธ.ค. หลังจากได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งแนะนำให้ยุบสภา เนื่องจากเกรงว่าการชุมนุมในวันที่ 9 ธ.ค.จะบานปลาย ทำให้เกิดความรุนแรง พร้อมรับปากจะไม่มีการปฏิวัติ แต่จะให้มีการเลือกตั้งกันใหม่
หลังจากนั้นยิ่งลักษณ์ได้โทรปรึกษากับคนในครอบครัว คือ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ จนทั้งหมดยินยอมให้ยุบสภา
หลังย่างเข้าสู่วันที่ 9 ธ.ค. ยิ่งลักษณ์เดินทางออกจากบ้านซอยโยธินพัฒนา 3 เวลา 07.20 น. เพื่อมายัง ศอ.รส. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พร้อมเรียกรัฐมนตรีบางส่วนมาหารือและแจ้งว่าได้ตัดสินใจยุบสภา จากนั้นทั้งหมดได้ช่วยกันร่างถ้อยคำในการแถลงการณ์ โดยนายกฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นลงมาแถลงยุบสภาในเวลา 08.40 น.
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน