พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญรัฐสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน
โดย : กมล กมลตระกูล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ระบอบทุนสามานย์ คือ ระบอบที่มีหลักคิด ว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและผลกำไรของบริษัทมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์
และความอยู่ดีมีสุขของสังคมและสิ่งแวดล้อม จากหลักคิดนี้จึงนำไปสู่นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แปรรูประบบการศึกษาโดย การนำมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลออกนอกระบบ การแปรรูประบบคมนาคม สนามบินและการพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นตอของต้นทุนของสายโซ่การผลิตต้นน้ำให้มีราคาสูง รัฐขาดรายได้ที่จะนำมาจัดระบบสวัสดิการและลดค่าครองชีพให้ประชาชน ประชาชนรากหญ้าและชนชั้นกลางจึงเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าในทุกประเทศ เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ เกิดการถือครองที่ดินและทรัพย์สินกระจุกตัวในหมู่คนกลุ่มน้อยร้อยละ 1 ของประเทศ สังคมมีลักษณะ รวยกระจุก จนกระจาย ฯลฯ หลักคิดนี้ได้ครอบโลกมากว่า 3 ทศวรรษโดยมีองค์กรครอบโลกอันได้แก่ องค์การค้าโลก (WTO) องค์การเงินโลก (IMF) และ ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) เป็นพลังบีบและขับเคลื่อนให้ทุกประเทศยอมรับกติกาและนโยบายของระบอบนี้
กติกาและนโยบายของระบอบทุนสามานย์เบิกทางให้กลุ่มทุนข้ามชาติและบริษัทข้ามชาติร่วมกับทุนผูกขาดในแต่ละชาติดูดซับเอาความมั่งคั่งจากทรัพยากรและแรงงานของแต่ละชาติไปรวมศูนย์กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนร้อยละ 1 ของสังคม และสร้างความยากจนกระจายไปทั่วทั้งสังคม ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างทางสังคม ความขัดแย้ง อาชญากรรม ยาเสพติด การขูดรีดคนงาน และค่าครองชีพแพงทั้งแผ่นดิน ค่าบริการสาธารณูปโภคแพงทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และค่าทางด่วนล้วนแพงลิบลิ่วเกินกว่ารายได้พื้นฐานของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะอยู่รอดได้ ในขณะเดียวกันราคาของผลผลิตภาคเกษตรกลับตกต่ำลงทุกวันเป็นการสวนทางกัน แม้แต่ระบบนิเวศน์ก็เสียความสมดุลโดยกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นอภิสิทธิ์ชนร่วมกับทุนต่างชาติรับสัมปทานตั้งโรงงาน หรือขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่ แหล่งแก๊ส แหล่งน้ำมันทั้งบนบกและในทะเลมหาสมุทรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและอาชีพของชุมชนโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการลงประชามติเห็นชอบด้วย ประชาชนร้อยละ 99 ล้วนมีหนี้สินทั้งในและนอกระบบเฉลี่ยครัวเรือนละ 2 แสน 4 หมื่นบาท (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2554)
ระบอบทุนสามานย์ในประเทศไทยเป็นบริวารของระบอบทุนสามานย์โลกโดยมีระบบการเมืองที่นักการเมือง ข้าราชการและนักวิชาการ นำหลักคิดของระบอบทุนสามานย์นี้มาเป็นธงในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมืองแบบเสรีชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่สร้างปัญหา สร้างความขัดแย้ง สร้างความแร้นแค้นยากจนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม เปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิชุมชน และการรุกล้ำทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและทำลายความสมดุลของระบบนิเวศน์ ปัญหาทั้งหมดข้างต้นนำไปสู่ทางตันทางการเมือง การเผชิญหน้าและสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
ปัญหาอันหลากหลายมากประเด็นในสังคมไทยล้วนเป็นปัญหาที่มีต้นตอมาจากการเมืองที่ไปยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดโดยการกำหนดโครงสร้างอำนาจและ รูปแบบทางการเมือง ในการบริหารการปกครองประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และการใช้ระบบการตรวจสอบผ่านทางสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นผู้ตั้งรัฐบาล ระบบการถ่วงดุลจึงไม่เกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริง เพราะเป็นพวกเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ต่อกระบวนการและวิธีการเลือกตั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้เป็นบทเรียนที่พิสูจน์ให้ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเท่าทันบรรดานักการเมือง ได้เห็นผลแห่งการปฏิบัติ ที่เป็นจริงแล้วว่ากฎระเบียบ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญทุกฉบับดังกล่าว ที่ไม่ว่าจะมีการยกร่างกันมากี่ครั้งกี่หน ก็ไม่สามารถที่จะใช้เป็นหลักการและข้อกำหนดในการแก้ปมปัญหาการผูกขาดทางการเมืองและการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่อยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจจำนวนเพียงร้อยละ 1 ของประเทศเท่านั้น
ดังนั้น การใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเข้ายึดอำนาจรัฐผ่านพรรคการเมืองที่กลายเป็นบริษัทส่วนตัวของหัวหน้าพรรค ประชาชนจึงไม่ได้มีส่วนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยตามบรรทัดฐานสากล พรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญเก่าส่งเสริมให้เข้มแข็งจึงกลายเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองที่ภาคประชาชนพบแต่ทางตันหรือจุดอับอย่างที่เราเห็นและเป็นอยู่ และยากที่จะแก้ไข ในกรอบคิดแบบเดิมๆ ได้
แนวทางการแก้ไขและปฏิรูปการเมืองของประเทศจึงต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการเปลี่ยนระบบการเข้าสู่อำนาจปกครองให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันโดยมีระบบป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมืองตั้งแต่ต้นธารด้วยการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่และวางระเบียบการตรวจสอบที่เข้มข้น และการใช้เสียงประชามติ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่สำคัญ
การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ เป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับอภิวัฒน์ เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน” จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องสถาปนาขึ้น โดยประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยใช้การลงประชามติที่โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ปราศจากการแทรกแซงของอำนาจอิทธิพลใดๆ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง กระบวนการนี้จึงมีความชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และถูกต้องตามหลักสากลที่ใครก็มิอาจปฏิเสธได้และปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจและสังคม การคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นผลพวงของปัญหาทางการเมืองก็จะได้รับการแก้ไขให้ตกไปด้วยโดยไม่เกิดความรุนแรงตามครรลองและแนวทาง ที่รัฐธรรมนูญ ฉบับอภิวัฒน์ใหม่ได้บัญญัติไว้อย่างเป็นธรรม
รัฐธรรมนูญฉบับอภิวัฒน์เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรายกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนผู้กำกับการตำรวจผู้บัญชาการตำรวจต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนตามภูมิลำเนาของท้องถิ่นต่างๆ ด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่เข้มข้นและตามกฎหมายที่เคร่งครัด อันเป็นหลักการกระจายอำนาจ การตัดสินใจให้เป็นของประชาชนในการเลือก และปลดผู้บริหารประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่เป็นจริง นั่นคือ สิทธิและเสรีภาพ ในการเลือกผู้บริหารสูงสุดของประเทศคือนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีผู้ร่วมในการบริหารประเทศรวมทั้งสิทธิในการเลือกผู้นำในการบริหารในระดับท้องถิ่นของตนด้วยตนเอง อันเป็นการสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจให้มีประสิทธิภาพใหม่ ด้วยการเลือกคนดีมีผลงานมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในทุกระดับโดยระบบการเลือกตั้งใหม่นี้เป็นการทำลายระบบพรรคพวกบริวาร (Cronyism) ที่ฉ้อฉลและซ่อนตัวอยู่ในร่างของพรรคการเมืองที่กัดกินบ่อนทำลายสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานจนเกินพอแล้ว
ขณะเดียวกัน หลักการกระจายอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวอันจะบันดาลให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้สิ่งสำคัญก็คือ การรณรงค์ให้การศึกษาและนำเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศมีความรู้ความเข้าใจในผลดีของระบบใหม่และพร้อมใจที่จะร่วมกันลงประชามติให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริงตามแนวทางที่นำเสนอนี้เพื่อก้าวข้ามให้พ้นไปจากสภาวะทางตันทางการเมืองในขณะนี้
ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับอภิวัฒน์ใหม่นี้ จึงต่างไปจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ได้ยกร่างกันขึ้นมาด้วยหลักคิดความเชื่อ ในระบอบประชาธิปไตยในแบบที่เน้นแต่การเลือกตั้งตามแบบอย่างประเทศตะวันตก อันถูกนำมาเผยแพร่และยกร่างขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่ไปรับอิทธิพลความคิดดังกล่าวโดยอ้างความทันสมัยมาเพียงแค่รูปแบบที่ลอกเลียน ศึกษาและเอาอย่างมาแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น และที่สำคัญ มันได้รับการพิสูจน์มาเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้วว่า วิธีการเลือกและการจัดตั้งรัฐบาลโดยทางอ้อมเป็นต้นตอที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบธุรกิจการเมือง (Private interest led politics อันตรงกันข้ามกับ Public interest led politics) อย่างสิ้นเชิงและยากที่ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิตรวจสอบได้
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมพรรคการเมืองให้เข้มแข็งตามแนวคิดของนักวิชาการที่รับใช้นักธุรกิจการเมือง จึงได้กลายพันธุ์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยสามานย์ที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ระบบการเมืองกลายเป็นระบบพวกพ้องบริวาร (Cronyism) และกลายเป็นกระบวนการ บุฟเฟ่แคบิเนท ที่นักธุรกิจการเมืองจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินและจากการแจกจ่ายสัมปทานให้บริษัทในเครือของครอบครัว พวกพ้องบริวาร หรือเพื่อรับเงินสินบนใต้โต๊ะ (Kick back) ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อกฎหมายใดๆ อันทำให้งบประมาณและทรัพยากรของแผ่นดินกลายเป็นชิ้นเนื้อก้อนใหญ่ที่นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นและพวกพ้องบริวารรวมหัวกันเข้ามาแบ่งสรรกันกินรวบ รับช่วง เหมาทำ รับสัมปทานไปเพื่อเข้ากระเป๋า ตนเองกันอย่าง ปรีดิ์เปรม แต่ประชาชนกลับทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ตลอดระยะเวลาที่อ้างความเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญฉบับอภิวัฒน์เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนได้นำเสนอหลักการและวิธีการป้องกันการคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการตามหลักการ ที่ว่า ทรัพย์สินทุกประเภทของผู้ใดก็ตามที่ได้มาจะต้องรายงานและพิสูจน์การได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีหลักฐานว่าได้จ่ายภาษีตามระเบียบอย่างถูกต้อง หากพิสูจน์ไม่ได้ หรือปกปิด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน (ป.ป.ช.) หรือกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งยึดเข้าเป็นสมบัติของรัฐโดยกระทรวงการคลังได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลที่ชักช้า คือการใช้วิธีการของระบบอเมริกันที่ให้อำนาจกับกรมสรรพากรที่ขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม มิใช่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร
ซึ่งภายใต้หลักการนี้ กฎหมายดังกล่าวมุ่งที่จะให้ความคุ้มครองป้องกันข้าราชการ นักการเมืองและ สุจริตชนให้ประกอบสัมมาชีพโดยถูกต้อง และพร้อมถูกตรวจสอบได้ทุกขณะเหมือนในประเทศอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป และมีระบบภาษีที่ก้าวหน้า และเป็นธรรม กับประชาชน ทุกหมู่เหล่าอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน แต่จะเคร่งครัดเอาจริงกับมิจฉาชีพ หรือการประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมายทุกประเภท เช่น ผู้ค้ายาเสพติด นายบ่อนการพนัน เจ้ามือหวยใต้ดิน ที่ร่ำรวยอย่างผิดปกติ จะต้องแจ้งที่มาของรายได้ทุกปีในใบแจ้งภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.) ว่าได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากพิสูจน์ไม่ได้ กรมสรรพากรก็มีอำนาจสั่งยึดเข้ากระทรวงการคลัง อย่างไม่มีการละเว้นโดยไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงสถานะตำแหน่งสูงหรือ เป็นผู้ ทรงอิทธิพล ในด้านใดๆ ก็ตาม ทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกันโดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้กระทำความผิดซึ่งนอกจากจะถูกกระบวนการศาลยุติธรรมพิพากษาแล้ว ยังจะถูก สังคมและสาธารณชนประณามให้มัวหมองไปชั่วชีวิตอีกด้วย
(อ่านต่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2556)
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน