สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัพเดทแนวบริหารความเสี่ยงการลงทุน (2)

อัพเดทแนวบริหารความเสี่ยงการลงทุน (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




 

สัปดาห์ที่แล้ว ได้อัพเดทแนวทางการบริหารความเสี่ยงไปบางส่วน พอดีได้มีโอกาสทดลองใช้โปรแกรมทางด้านบริหารความเสี่ยงที่ถือว่าได้รับความนิยม

เป็นอันดับต้นๆ ในตอนนี้ ที่ชื่อว่า Aladdin ของบริษัททางการเงินที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดของโลกที่ชื่อว่า Blackrock จึงขอนำมาคุยให้ฟังแบบคร่าวๆ ครับ

ก่อนอื่น ต้องบอกว่าการวิเคราะห์ ลูกเล่น และ หน้าจอแสดงผลของโปรแกรมดังกล่าว แสดงการทำงานไว้ดังรูปที่ 1 ไม่ต่างจากการเล่น App ของไอโฟน ผมคิดว่าจุดเด่นของโปรแกรม ดังกล่าว มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความสะดวกในการคีย์ข้อมูลเข้าไป หากต้องการเปลี่ยนสมมติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น สมมติฐานทางเศรษฐกิจ และ ทางบริหารความเสี่ยง และ สอง การแสดงผลการวิเคราะห์ที่ทั้งลงลึกและเห็นภาพได้ชัดถึง 3 มิติแบบเห็นถึงแก่นของพอร์ตโฟลิโออย่างชัดเจน อีกทั้ง Aladdin ยังทำหน้าที่บริหารความเสี่ยง ให้กับบริษัททางการเงินอื่นๆ โดยขนาดดังกล่าวคิดเป็นเกือบหนึ่งในสิบของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของโลก

ที่น่าสนใจไม่แพ้โปรแกรมดังกล่าว คือ ตัวบริษัท Blackrock เอง ซึ่งในขณะนี้มีขนาดสินทรัพย์มากกว่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศสหรัฐอเมริกา โดยครึ่งหนึ่งเป็นตราสารหุ้น และ อีกราวหนึ่งในสามเป็นตราสารพันธบัตร ที่สำคัญ ในขณะนี้ Blackrock เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของครึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งหมด ดังรูปที่ 2

เพื่อให้เห็นเบื้องหลังของการที่ Blackrock ขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้กับรัฐบาลสหรัฐในการประมาณราคาสินทรัพย์ที่เป็นหนี้เสียในช่วงวิกฤติซับไพร์มที่ผ่านมา ผมขอย้อนกลับเพื่อพลิกดูปูมหลังก่อนมาเป็น Blackrock ในวันนี้

เริ่มจาก ซีอีโอของ Blackrock ที่ชื่อ ลาร์รี ฟลิงก์ ภายหลังจากขาดทุนจากการลงทุนที่ CS First Boston ก็ออกมาตั้งบริษัทเองชื่อว่า Blackrock ในปี 1994 โดยที่จับตลาด Niche อย่างตลาดพันธบัตรในบางรายอุตสาหกรรม แล้วค่อยๆ พัฒนาเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริหารความเสี่ยง โดยที่ Blackrock เติบโตคล้ายกับเต่าที่เดินมาเรื่อยๆ ไม่หวือหวาอย่าง Goldman Sachs เรียกว่า Low Profile, High Profit อย่างแท้จริง จนกลายเป็นเบอร์ 1 ในขณะนี้ ตัว ลาร์รี ฟลิงก์ เองก็เนื้อหอมจนมีคนเชิญไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ เสียด้วยซ้ำไป ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าฮือฮาในช่วงนี้ได้แก่ Aladdin ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จนล่าสุดถึงขนาดขึ้นหน้าปกนิตยสาร the Economist เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ Aladdin จะมีความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยงดีมาก สักเพียงใด ผมมีความเห็นคล้ายกับนิตยสาร the Economist ว่าก็มีข้อเสียต่อผู้ใช้และระบบการเงิน ดังนี้

ประการแรก หน่วยงานที่ซื้อเครื่องมือการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากภายนอก กำลังยักย้ายถ่ายเททรัพยากรออกจากการพัฒนาความชำนาญหรือองค์ความรู้ทางด้านการบริหารความเสี่ยงภายในบริษัทของตนเอง ทั้งนี้ อันตรายจากการขาดความชำนาญดังกล่าว คือการเชื่อตามรายงานความเสี่ยง ซึ่งมีความละเอียดและหลากหลายมิติที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณออกมาโดยปราศจากความเข้าใจที่ถ่องแท้ ทำให้เกิดความเสี่ยงจากความไม่เข้าใจ ถึงต้นตอความเสี่ยงที่แท้จริงของบริษัทตนเองเพิ่มขึ้นอีกต่อหนึ่ง

ประการที่สอง หากบริษัทด้านการลงทุนหลายๆ แห่งมีความไม่เข้าใจดังกล่าว ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งโดยปกติแล้ว การกำหนดราคาตลาดของสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม ในทางทฤษฎีนั้น ควรจะมาจากมุมมองของนักวิเคราะห์และผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ และสมมติฐานที่แตกต่างกัน ทว่าจากการที่โปรแกรม Aladdin เริ่มเป็นที่นิยมในบริษัททางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงบริษัท Blackrock เองก็เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่หลายแห่ง จึงทำให้ นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อถือการวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าวด้วย หากเป็นเช่นนี้ หากเกิดวิกฤติการเงินขึ้นอีก ความรุนแรงย่อมมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ประการที่สุดท้าย การพึ่งพาแต่โปรแกรมด้านความเสี่ยงดังกล่าว ในฐานะนักลงทุน ก็อาจทำให้บริษัท Blackrock มีความได้เปรียบในฐานะผู้ซื้อขาย ตราสารทางการเงินในตลาด เหมือนกับที่นักลงทุนก่อนปี 2008 พึ่งพาการจัดอันดับเครดิตของบริษัท Moody’s และ Standard & Poor’s จนเกิดวิกฤติซับไพร์มมาแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัพเดท แนวบริหารความเสี่ยงการลงทุน

view