จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน เรื่อง “วิเคราะห์การเมืองไทย ในห้วงวิกฤต” โดย ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นปัจจุบันนับจากมีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ได้ลุกลามไปถึงโครงสร้างขององค์กรต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา ขณะที่กฎหมายก็สร้างความขัดแย้งให้สังคมเถียงกันว่ากฎหมายให้อำนาจหรือไม่
“ส่วนตัวเคยเสนอว่าการแก้รัฐธรรมนูญทำไมไม่ศึกษาให้เป็นระบบถึงปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ คือ 1.บทบัญญัติกำกวม เช่น มาตรา 68 ว่าประชาชนสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด และ 2.การพยายามดึงข้อกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเอง” นันทวัฒน์ ระบุ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ขณะนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าสภาประชาชนคืออะไร โดยกลุ่มผู้ชุมนุม จะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า ประเทศจะเดินหน้าอย่างไรต่อ ส่วนเรื่องที่มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศวันเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 แล้วจะเลื่อนเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำ คือ ยืนยันในสิ่งที่จะทำว่า จะลงเลือกตั้งหรือตั้งสภาประชาชน
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตของสังคมหลายเรื่องเกิดจากรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญคลาดเคลื่อนจากหลักวิชา คือ มอบอำนาจให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมากจนไม่มีความสมดุล 2.องค์กรใช้อำนาจเกินขอบเขตจากการที่ได้อำนาจได้ตามรัฐธรรมนูญ และ 3.เกิดความผิดพลาดของการร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรที่ไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ปัญหายังเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้ชัด ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา จึงเกิดปัญหาต่อกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในระยะยาว
ขณะที่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การอ้างมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสภาประชาชนถือว่าเป็นเรื่องตลก เพราะปวงชนชาวไทยตอนนี้มีอยู่เกือบ 70 ล้านคน หรือหากนับเฉพาะที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ 48 ล้านคน และการใช้มาตรา 7 บีบเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่ออะไร หากนายกรัฐมนตรีไม่รักษาการ ก็จะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ต่อไป ทั้งนี้จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การเลือกตั้งไม่ได้ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินชี้ขาดว่าใครแพ้หรือชนะแล้ว เพราะฉะนั้นทุกพรรคการเมืองควรเข้าสู่การเลือกตั้ง หากจะปฏิรูปหรือตั้งสภาประชาชน ก็ควรลงสัตยาบันหลังจากนี้ว่าจะปฏิรูปในเรื่องใด
“สิ่งที่ต้องพิจารณาร่วมกันหากไม่อยากให้เกิดวิกฤตการเมือง คือต้องเปลี่ยนมุมมอง ไม่ให้แต่ละฝ่ายมองกันและกันว่าแปลกแยก มิเช่นนั้นจะเกิดวิกฤตขึ้นตลอดเวลา จึงอยากให้ตั้งเวทีระหว่าง กปปส. และรัฐบาล เพื่อหาฉันทามติร่วมกัน” สิริพรรณ ระบุ
วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งโดยไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองในประเด็นสำคัญๆ จะกลายเป็นวิกฤตชาติต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และทำให้ประเทศติดอยู่ในวังวนของปัญหาก่อความเสียหายกับเศรษฐกิจและสังคม จึงขอเสนอตัวทำหน้าที่เป็นเวทีกลาง เพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและสื่อมวลชน ให้ร่วมกระบวนการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ ก่อนการเลือกตั้ง
“ทุกฝ่ายจะต้องแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะลดความขัดแย้งลงทันทีและเปิดทางให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนในการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองอย่างจริงจังโดยไม่ผูกเป็นเงื่อนตายด้วยข้อจำกัดทางการเมืองและข้อกฎหมาย” วิชัย ระบุ
ทั้งนี้ เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชนจะร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำหน้าที่เป็นเวทีกลางครั้งที่ 1 โดยจะแถลงข่าวในวันที่ 13 ธ.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน