สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาประชาชน อย่างไม่เป็นทางการ อีกหนึ่ง ทางออก การเมืองไทย

สภาประชาชน" อย่างไม่เป็นทางการ อีกหนึ่ง "ทางออก" การเมืองไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประชาชนในยุคปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่เพียงออกมาเลือกตั้งเท่านั้น แต่มากกว่านั้นคือการรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหลังเลือกพรรครัฐบาลแล้ว

เป็นความเห็นของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อ่านสถานการณ์การเมืองไทยในยามที่มีผู้คนจำนวนมากมายออกมาต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดคำถามว่าทำไมไม่รอให้ครบ 4 ปีแล้วค่อยหย่อนบัตรกันใหม่ หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียุบสภาไปแล้วจะเอาอะไรอีก

อาจารย์สุจิตนั้น นอกจากเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 แล้ว ยังเป็นประธานสภาพัฒนาการเมือง ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย จึงไม่แปลกที่อาจารย์สุจิตจะมองเห็นและเข้าใจบทบาทของประชาชนในฐานะ "พลเมือง" ในยุคปัจจุบันที่มีความตื่นตัวอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะการออกมาเดินบนท้องถนนของผู้คนจำนวนมาก ณ ปี 2556 ซึ่งอาจารย์สุจิตมองว่าเป็นคลื่นมหาชนที่หนาแน่นกว่าเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เสียอีก

"แม้คณะรัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าบริหารงานไม่ถูกทำนองคลองธรรม ประชาชนย่อมมีสิทธิออกมาแสดงความคิดเห็น ถ้าผู้แทนคนใดปฏิบัติหน้าได้ดี อาจได้รับการยกย่อง แต่ถ้าไม่ดีก็จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา ผมเชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์นี้การบริหารประเทศในอนาคต นักการเมืองคงจะคิดถึงประชาชนมากขึ้น เพราะประชาชนในยุคปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่เพียงออกมาเลือกตั้งเท่านั้น แต่พวกเขายังรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหลังเลือกพรรครัฐบาลแล้ว"

อาจารย์สุจิต ย้ำว่า ประชาชนวันนี้ไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งเป็นการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศไปให้ผู้ใดผู้หนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง แต่เป็นเพียงการเลือก "ตัวแทน" ขึ้นมาบริหารให้ประชาชนเท่านั้น ที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอ่อนแอสะสมมาเป็นเวลานานและฝังรากลึก จนผู้นำสามารถชักจูงกลุ่มคนบางกลุ่มให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมและประเทศชาติได้ เห็นได้จากการออกแบบนโยบายประชานิยมให้ประชาชนชื่นชอบ และแสวงประโยชน์จากโครงการเหล่านี้

กับสภาพการณ์การเมืองในปัจจุบัน อาจารย์สุจิต ชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าการบริหารประเทศเป็นการทำงานเพื่อคนกลุ่มเดียว โดยได้รับคำสั่งมาจากอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะพยายามปฏิเสธว่าไม่มีการบริหารงานแทนก็ตาม แต่การที่พรรคเพื่อไทยใช้สโลแกนในการหาเสียงว่า "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ก็เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์รัฐบาลและสภาตัวแทนของอดีตนายกฯอย่างชัดเจน

จากสภาพปัญหาดังกล่าว นักรัฐศาสตร์อาวุโส จึงสรุปในเบื้องต้นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ทางออกที่จะยุติปัญหาได้

"แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาแล้วหลายครั้ง มีรัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ แต่ก็ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้เป็นผลสำเร็จ แม้การแก้ไขจะเป็นความหวังว่าอาจทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป"

"อย่างตอนที่เปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทุกฝ่ายคิดว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมีการลงไปสอบถามความคิดเห็นประชาชน แต่เมื่อใช้จริงกลับพบว่ายังมีช่องโหว่ให้นักการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกครั้ง โดยมีการเพิ่มเรื่องจริยธรรมทางการเมืองเข้าไป แต่แล้วก็ไม่มีนักการเมืองคนไหนปฏิบัติตามสักเท่าไหร่"

"เช่นเดียวกับการประกาศยุบสภาเมื่อเช้าวันที่ 9 ธ.ค. ถือว่าดำเนินการช้าเกินไป เพราะถ้าประกาศยุบตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ตอนที่ประชาชนเริ่มออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ผมคิดว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงขนาดนี้"

อาจารย์สุจิต ระบุอีกว่า การเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบ เพราะหากผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางเดิม ปัญหาเดิมก็จะหวนกลับมาอีก เว้นแต่จะเกิดการเสียสละของกลุ่มผู้บริหารเดิม จากนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และอดีตนายกฯ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เช่น ประกาศวางมือทางการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า หรือให้สัญญาว่าตระกูลชินวัตรจะยุติบทบาททางการเมืองทุกกรณี

"เรื่องนี้อย่าไปมองว่าเป็นการยอมแพ้ แต่ขอแนะให้มองเป็นการให้ทาน เสียสละ เพื่อประเทศก้าวไปข้างหน้า ถ้าสามารถทำได้จะได้แรงสนับสนุนจากประชาชนที่จะผลักดันขอคืนอำนาจตามมาตรา 3 และมาตรา 7 ให้เบาลง ข้อขัดแย้งต่างๆ ก็จะลดระดับความรุนแรงลง"

สำหรับทางออกของวิกฤติการเมืองในระยะยาว อาจารย์สุจิต เสนอว่า ควรมีการทำงานการเมืองจากภาคตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ควบคู่กับทำงานการเมืองจากภาคประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ "สภาตัวแทน" ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด

"ผมคิดว่านายกฯควรรับเรื่องนี้ไปพิจารณา เพราะตอนนี้มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่าย เช่น กลุ่มเรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่ กับกลุ่มที่เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชน จริงๆ แล้วสามารถเจรจาและทำกันได้ตามความเหมาะสม ผมคิดว่าสภาประชาชนควรเกิดขึ้น แต่ควรเกิดแบบไม่เป็นทางการ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกดดันที่มากเกินไป รวมทั้งข้อขัดแย้งทางกฎหมาย แต่สภาประชาชนแม้ไม่เป็นทางการ ก็ยังมีบทบาทสร้างกระแสขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ซึ่งการปฏิรูปนี้จะมาจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรนักธุรกิจ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)"

"ในทางปฏิบัติ สภาประชาชนอาจมีต่อไปได้เรื่อยๆ เพื่อเป็นกระจกคอยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำคืออะไร แล้วผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันนี้อาจเป็นทางออกหนึ่งของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)"

นักรัฐศาสตร์ที่เฝ้าติดตามการเมืองไทยมาตลอดหลายสิบปี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การเคลื่อนไหวของมวลชนในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเมืองภาคประชาชน และสามารถพัฒนาต่อไปได้ หลายคนที่ออกมาก็ไม่ได้ชอบการทำงานของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ แต่เพราะ ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล จึงเป็นการขับเคลื่อนที่มีพลัง

"พลังของประชาชนแบบนี้ต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นกระจกคอยเตือนสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าไม่สามารถทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องได้อีกแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต้องมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมข้อเสนอที่ทำให้สังคมดีขึ้นจริงๆ เพื่อเป็นประชาภิวัฒน์ที่แท้จริงในสังคมไทย"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาประชาชน ไม่เป็นทางการ ทางออก การเมืองไทย

view