จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
ทันทีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศจะจัดเวทีปฏิรูปอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 เชิญชวนทุกฝ่ายมาร่วมนำเสนอในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อชิงการนำม็อบ กปปส.ที่เสนอให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จึงมีคำถามว่านี่เป็นแผนสร้างภาพเพื่อลดกระแสอีกครั้งหรือไม่
การเสนอจัดเวทีปฏิรูปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ 2 ปีกว่าที่อยู่ในอำนาจมีโอกาสในการปฏิรูปหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จสักครั้ง เพราะรัฐบาลไม่จริงใจจะปฏิรูป!!!
ไล่เรียงดูมีข้อเสนอของคณะกรรมการหลายชุดที่ตั้งขึ้นในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสานต่อมายังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน เสนอทางออกเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ยังมีคณะกรรมการคู่แฝดที่ออกข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นประธาน และ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน
ข้อเสนอของ คปร. มุ่งหวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาทิ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการถือครองที่ดิน การใช้ที่ดิน ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคลงทั้งหมด โอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรเศรษฐกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทว่าข้อเสนอของทั้งอานันท์และ นพ.ประเวศ ถูกพับเก็บอยู่ในแฟ้ม เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้ขึ้นจึงไม่ต้องการปฏิบัติตาม
ต่อมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ทำโครงการปฏิรูปการเมือง มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทย โดยใช้งบประมาณไปกว่า 180 ล้านบาท ดำเนินการในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 8มิ.ย.15 ก.ค. 2556 เป้าหมาย 108 เวที แต่ข้อเสนอในเวทีดังกล่าว ขนาดรัฐบาลทำกันเองก็ไม่ได้นำมาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม กลับกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ละเลงงบประมาณสูญสิ้น
เมื่อกระแสคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมก่อตัวในช่วงแรกๆ รัฐบาลก็ชิงเกม จัดตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศ” เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพื่อหวังผ่อนคลายสถานการณ์การเมือง โดยให้ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นแม่งาน ยึดเจตนารมณ์ 7 ข้อ คือ 1.ไทยต้องมีประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มั่นคงแข็งแรง 2.ลดและแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า ความยากจน และข้อกฎหมาย 3.กลไกการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.ความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้มาตรฐานสากล 5.ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 6.ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน 7.ยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมและความถูกต้อง
ทว่าวันเวลาผ่านไป “สภาปฏิรูปประเทศ” ของรัฐบาลก็หายไปกับสายลม ตรงกันข้ามมีแต่คนทยอยลาออก ไม่ว่า พิชัย รัตตกุล อุทัย พิมพ์ใจชน เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลใช้เสียงข้างมากผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิด
ช่วงเดียวกัน รัฐบาลยังพยายามแสดงความจริงใจถึงการปฏิรูป ด้วยการจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลก เมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีงานปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” โดยรัฐบาลถึงกับตีตั๋วเครื่องบินเชิญ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาสอนการปฏิรูปถึงเมืองไทย ด้วยข้อคิดสั้นๆ ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ต้องรวมถึงการที่ผู้มีเสียงข้างมากเข้าไปดูแลเสียงส่วนน้อย ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องทำให้ระบบกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ เป็นธรรม เพื่อที่คนในสังคมจะได้ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ” แต่สุดท้ายลงเอยเหมือนเดิม ข้อเสนอของโทนี แบลร์ ที่แนะนำรัฐบาลเป็นเพียงงานอีเวนต์ทางการเมือง
ในงานดังกล่าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังได้เชิญ มาร์ติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2551 และ พริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ขึ้นเวทีแสดงความเห็นด้วย
อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ให้ข้อคิดว่า การสร้างความปรองดองได้นั้นต้องมีการสานเสวนาก่อน รวมถึงผู้นำรัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขความขัดแย้งได้ในอดีต และต้องมีประชาชนสนับสนุน ตลอดจนก้าวไปพร้อมกันด้วย
ขณะที่พริซิลลาให้ข้อคิดว่า หากใช้กำลังข่มขู่เพื่อปรองดอง โดยยกโทษให้ทุกเรื่องก็ล้มเหลวตั้งแต่คิดแล้ว เหมือนที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อผู้คนนับล้านออกมาต่อต้านการออกฎหมายนิรโทษกรรมและไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลประกาศจะจัดเวทีหาทางออกประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ไปเปิดเวทีระดมความเห็นจากนักวิชาการเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง แต่รัฐบาลก็รีบปัดข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ให้รัฐบาลทำสัตยาบันถึงแนวทางการปฏิรูปการเมืองก่อนยุบสภาคืนอำนาจแก่ประชาชน แต่นายกรัฐมนตรีกลับเพิกเฉย ยังคงยืนกรานว่าไม่ยุบสภา ไม่ลาออก จนวันที่ 9 ธ.ค. นายกรัฐมนตรีทนกระแสไม่ไหวประกาศยุบสภาเพราะการเมืองมาถึงทางตัน
มาครั้งนี้เมื่อทุกภาคส่วนต่างประสานเป็นเสียงเดียวกัน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน พลังประชาชน โดยเฉพาะที่ประชุมปลัดกระทรวงล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศจุดยืน 3 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลทำสัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้งว่า จะปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 2557 จึงไม่น่าแปลกใจที่วันถัดมานายกรัฐมนตรีประกาศท่าทีนำปฏิรูปการเมืองหาทางออกประเทศทันที
แต่การปฏิรูปในครั้งนี้ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลอยู่ดี เพราะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพ
สุดท้ายย่อมได้ผลอย่างเดิมๆ เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา คือ มุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่าต้องการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน