สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กิตติศักดิ์ vs ปิยบุตร ใครบิดเบือนรธน

กิตติศักดิ์ vs ปิยบุตร ใครบิดเบือนรธน

จาก โพสต์ทูเดย์

คำต่อคำกับการดีเบต "วิกฤตรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน?"ระหว่าง กิตติศักดิ์ ปรกติ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีดีเบต ระหว่าง นายกิตติศักดิ์ ปรกติ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในหัวข้อ “วิกฤตรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน?”

นายปิยบุตร เริ่มต้นการดีเบต โดยให้ความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ สว. และจำเป็นต้องมีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพราะคำพิพากษามีผลผูกพันธ์ทุกองค์กรไม่เช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถขยายอำนาจการตรวจสอบไปเรื่อยๆจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และในรัฐธรรมนูญไทย ก็ไม่มีมาตราไหนที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

“ระบบศาลมี 2 แบบคือระบบศาลแบบกระจายอำนาจ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและระบบศาลแบบรวมศูนย์อำนาจ เช่นเยอรมันนี ออสเตรีย ถ้าไปดูระบบศาลของเยอรมันนี ศาลประกาศตัวว่ามีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญรองรับ และจะตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขเสร็จแล้ว มีผลบังคับใช้แล้ว ไม่ใช่เข้าไปตรวจสอบระหว่างกระบวนการ และจะตรวจเฉพาะว่าขัดกับหลักการระบอบการปกครองแบบสมาพันธรัฐหรือไม่”นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้มองประเด็นระบบศาลว่ารวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ แต่มองหลักการเรื่อง supremacy of the constitution ซึ่งให้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด  ศาลอเมริกาเป็นแห่งแรกที่นำหลักการ supremacy of the constitution มาใช้ จากนั้นเยอรมันนีเอาหลักการนี้มาใช้ตาม และเพิ่มความเข้มข้นโดยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและออกแบบให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันตัวได้

“ปัญหาคือเราจะตีความรัฐธรรมนูญแบบไหน ถ้าถือรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งทรงค่าสูงสุดและป้องกันตัวได้ ถ้ามีอะไรมากระทบสิทธิเสรีภาพ ถึงขั้นล้มล้างการปกครอง รัฐธรรมนูญก็วางหลักการให้ป้องกันตัวได้ เช่น ให้ร้องเรียนที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ให้ประชาชนมีสิทธิลุกขึ้นมาต่อต้านตามมาตรา 69 ได้”นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าขัดหรือไม่ จะให้รัฐสภาตัดสินก็ไม่ได้เพราะเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็ได้ใช้ช่องทางตามมาตรา 68 เข้ามาวินิจฉัยตัดสิน

จากนั้น นายปิยบุตร อภิปรายประเด็นรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญยกขึ้นมาใช้อ้างอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในตัวบทระบุว่า บุคคลหรือพรรคการเมืองใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

“มาตรา 68 พูดถึงบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่รัฐสภาไม่ใช่บุคคลแต่เป็นองค์กรของรัฐ ใช้อำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 68 เลย ถ้าเป็นบุคคลหรือพรรคใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้หยุดการกระทำนั้น แต่ถ้าเป็นองค์กรของรัฐใช้อำนาจแย้งกับรัฐธรรมนูญ เราก็มีระบบศาลปกครองมาตรวจสอบ”นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้เลย ถ้าตีความตามตัวอักษร มาตรานี้ก็พูดถึงคนกับพรรคการเมือง ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ถ้าตีความตามเจตนารมย์ มาตรา 68 อยู่ในหมวด 3 ซึ่งพูดถึงสิทธิเสรีภาพ เป็นการป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพมาล้มรัฐธรรมนูญ

“ถ้าเราตีความแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญใช้ช่องทางมาตรา 68 เข้าไปตรวจสอบได้ทุกๆเรื่องเลย ต่อไป ยุบสภา ตำรวจออกใบสั่ง ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมแล้วมีคนไปร้องศาลว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แล้วก็อยู่ที่ศาลจะหยิบมาตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งขัดและทำลายดุลยภาพของหลักการแบ่งแยกอำนาจ กลายเป็นศาลอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ”นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้น นายกิตติศักดิ์ อภิปรายว่า เวลาอ่านมาตรา 68 ต้องอ่านความมุ่งหมายของมาตรานี้ให้ดี จริงอยู่ที่มาตรานี้เขียนถึงบุคคลหรือพรรค แต่ง่ายมาก เพราะขนาดบุคคลหรือพรรคยังทำไม่ได้ องค์กรของรัฐก็ยิ่งทำไม่ได้เข้าไปใหญ่

นายกิตติศักดิ์ ยกกรณีการสอนของ อ.ปรีดี พนมยงค์ เรื่องการติดป้ายว่าห้ามเดินลัดสนาม แบบนี้เอารถขึ้นไปจอดบนสนามได้หรือไม่ เรื่องสำคัญคือการตีความต้องตีความกฎหมายให้ใช้ได้ ไม่ใช่ตีความแบบมัดมือ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีกลไกคุ้มครอง

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ไม่ต้องกลัวเรื่องศาลรัฐธรรมนูญจะขยายอำนาจจนเกิดอันตราย เพราะยังไม่มีปรากฎให้เห็น แต่ที่ปรากฏให้เห็นแล้วคือรัฐสภาขยายอำนาจจนเกิดอันตราย ใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อย ลงคะแนนแทนกัน และใช้เอกสารปลอมมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบนี้ถ้าบอกว่าศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบก็จะยุ่ง

“มันมีเหตุให้หวาดเกรงว่าตุลาการใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ผมไม่กลัวเรื่องนี้เพราะเรามีนิติราษฎร์ ใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้เต็มที่เลย แต่ไม่ใช่ปฏิเสธอำนาจศาล แบบนั้นถ้าพระไม่ดี เราต้องเลิกศาสนาหรือ หรือทหารไม่ดีเราต้องเลิกระบบกองทัพหรือ”นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายปิยบุตร ชี้แจงว่า ที่ว่าปฏิเสธอพนาจศาลนั้น หมายถึงปฏิเสธการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะคดีตัดสินการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ สว.เท่านั้น เพราะใช้อำนาจกินแดนรัฐสภา

ส่วนเรื่องการตีความมาตรา 68 ว่าหากบุคคลทำไม่ได้ องค์กรของรัฐยิ่งทำไม่ได้ โดยยกตัวอย่างกรณีป้ายห้ามเดินลัดสนาม ควรจะยกตัวอย่างที่อยู่ในเรื่องเดียวกันด้วย การตีความกฏหมายตามความมุ่งหมายนั้น ไม่ใช่การตีความตามธงที่ตั้งไว้ ไม่อย่างนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญให้มีมาตราเดียวพอแล้วไปตีความกันเอง

“ยืนยันว่าถ้าตีความแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ใครก็ไปยื่นตามมาตรา 68 ว่าล้มล้างการปกครองได้ทุกเรื่อง”นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจสถานปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่การใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย สมมุติวันข้างหน้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อตอบโต้ศาล ศาลก็จะลงมาตรวจสอบอีกหรือไม่ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียเองด้วย แบบนี้ประเทศนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย

“ถ้าจำกันได้ตอนทำประชามติปี 2550 ก็มีการพูดว่ารับๆไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง ก็ระบบมันเปิดให้แก้ไขได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปปิดมัน วิกฤติครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นสาเหตุหนึ่งเพราะปิดช่องทางแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ประชาชนและพลังการเมืองส่วนหนึ่งต้องการแก้ไข คนที่เขาพยายามแก้ไขตามระบบ แต่อีกข้างไม่ยอม ขัดขวาง ไม่เล่นตามกติกา จะเอาแบบนี้อย่างเดียว”นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้น นายกิตติศักดิ์ อภิปรายว่า วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากศาล แต่เกิดจากสภาผู้แทนราษฏรและนักการเมืองที่ดำเนินการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่คำนึงว่าจะไปทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่างหาก

“สถาบันที่ควรเปิดให้โต้แย้งเต็มที่อย่างรัฐสภากลับไม่ทำหน้าที่ ถ้าเปิดให้เถียงกันเต็มที่มันจะช่วยลดแรงกดดันลง แต่พอใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อย แรงกดดันก็เลยออกมาข้างนอก”นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ศาลไม่ได้ตัดสินว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้โดยคำนึงถึงหลักนิติธรรม วิจารณ์ศาลได้แต่ห้ามหมิ่นศาลถึงขนาดไม่ยอมรับอำนาจศาล

นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า สภาของเมืองไทย ไม่ได้ประพฤติตัวเป็นสภาผู้แทนราษฏร แต่ประพฤติตัวเป็นสภาผู้แทนของอาชญากร มีการแสดงออกซึ่งน่าเชื่อได้ว่าตกอยู่ใต้อาณัติของคนบางคน ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำไปสู่ความเสื่อมของความไว้วางใจจากประชาชน สิ่งนี้คือต้นตอวิกฤติ ถ้าหากขอโทษประชาชนตั้งแต่แรก ป่านนี้รัฐบาลก็ยังคงนั่งบริหารต่อไป เพราะรัฐบาลมีภูมิคุ้มกันจากความชอบธรรมโดยระบบมากมาย ถ้ารักษาความชอบธรรมได้ก็จะไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่ได้เสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรก็ได้

ด้านนายปิยะบุตร ยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นองค์กรรัฐใดที่ไม่ปฏิบัติตามศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีมติครม.หรือมติรัฐสภาที่บอกว่าไม่รับอำนาจศาล คนที่พูดก็พูดในนามพรรคการเมืองเท่านั้น และกรณีคำตัดสินเรื่องที่มาของสว. ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีคำสั่งอะไรออกมา ถึงอยากจะปฏิบัติตามก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่าระบบการตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีกลไกอีกประการคือพระมหากษัตริย์สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ แต่ไม่มีข้อไหนบอกว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้

“ประเด็นเรื่องการทรยศความไว้วางใจของประชาชน เขาก็หาเสียงมาตั้งแต่แรกว่าจะแก้ แล้วคำว่าประชาชนมีใครบ้าง มันมีตั้ง 60 ล้านคน ตอนนี้ระบบยัง run ได้เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้ง ก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนยังไว้วางใจรัฐบาลหรือเปล่า”นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าววิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยกความผิด การเสียบบัตรแทนกัน การใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อย โดยระบุว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นความผิดส่วนบุคคล มี 8 เสียงที่เสียบแทนกัน สามารถหัก 8 เสียงนี้ออกไปได้ และถามว่ามีผลให้การลงมติเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่อีก 300 กว่าเสียงที่ลงคะแนนโดยบริสุทธิ์เอาไปไว้ที่ไหน เอา 8 เสียงที่เสียบบัตรแทนกันมาล้ม 300 เสียงได้หรือ

“ส่วนประเด็นการใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อย ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพลาดมากที่สุด เพราะมีการรับหลักการวันแรก 4 เม.ย. 2556 และยื่นขอแปรญัติได้ 15 วัน คือวันที่ 19 เม.ย. ต่อมามีการขอหารือขยายเวลาแปรญัติมากกว่า 15 วัน แต่องค์ประชุมไม่ครบ เท่ากับว่าไม่มีการลงมติและยังคงกรอบ 15 วันเหมือนเดิม ศาลรัฐธรรมนูญไม่บอกด้วยว่าผิดข้อบังคับการประชุมสภาข้อไหน ส่วนประเด็นการตัดคำแปรญัติ เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา และการแปรญัติต้องไม่ขัดกับหลักการในวาระ 1 ก็คือวาระ 1 รับหลักการว่าจะแก้ไขเรื่องที่มาของสว. ไม่ใช่ให้แปรญัติว่าจะเอาสว.แบบเดิม”นายปิยบุตร กล่าว

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่าไม่รับอำนาจศาล สภาผู้แทนราษฎรประกาศว่าไม่ยอมรับอำนาจศาล และเตรียมลงมติไม่ยอมรับในสภา แต่เกิดการชุมนุมขึ้นมาก่อน การลงมติเลยชะงักไป พอมีคนบอกให้ขอพระราชทานร่างกฎหมายที่มีปัญหาคืนจากพระมหากษัตริย์ก็ไม่ทำ จนกระทั่งมีคนออกมาชุมนุมถึงได้ขอถอนร่างกลับมา ไม่ได้ทำเพราะยอมรับศาลรัฐธรรมนูญแต่ทำเพราะโดนบีบกดต่างหาก

นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คนที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่อำนาจเสียงส่วนน้อย แต่เป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ รัฐสภาถึงได้รับฟังท่าที ปัญหาว่าประชาชนมีอำนาจอธิปไตยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวแทนปวงชนหรือไม่ ไม่ใช่แค่จำนวนนับ แต่ต้องตื่นตัวทางการเมืองในการออกมาแสดงเจตจำนงค์ด้วย ปรากฎการณ์ที่ประชาชนออกมาครั้งนี้ เป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทยและควรให้ความสนใจ สภาประชาชนมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องออกกฎหมายอะไร เพราะเกิดขึ้นได้โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฎให้เห็นอยู่แล้ว

จากนั้น นายปิยบุตร อภิปรายว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันธ์ แต่ก็ต้องตัดสินโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย แต่สิ่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญถามว่าต่อไปถ้ามีคำตัดสินบ้าๆบอๆต้องปฏิบัติตามด้วยหรือ

“เรื่องจำนวนคน ถ้ามวลชนอีกฝ่ายออกมาชุมนุมทุกจังหวัดล้อมกรุงเทพฯหมด แล้วบอกว่าเป็นมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่ได้ไหม ถ้ามีการตั้งสภาประชาชนแล้วมวลชนอีกฝ่ายตั้งสภาประชาชนบ้างจะทำอย่างไร ถ้าจะเอาสภาประชาชนตามมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วเอาคำว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลไปไว้ที่ไหน ถ้าจะตั้งสภาประชาชนก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน อื่นๆไม่มีทางทำได้”นายปิยบุตร กล่าว


2ขั้วนักวิชาการเสวนาวิกฤติรธน.ใครบิดเบือน

มธ.เปิดเวทีเสวนา"วิกฤติรัฐธรรมนูญใครบิดเบือน" เชิญ"กิตติศักดิ์-ปิยะบุตร"อาจารย์ที่เห็นต่าง 2 ขั้ว แสดงทัศนะ

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน ?” เพื่อเปิดให้มีเวทีแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และนายปิยะบุตร แสงกนก อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. (กลุ่มนิติราษฎร์) ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนักศึกษา อาจารย์ และบุคคลภายนอกประมาณ 500 คน สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาจนเต็มห้องประชุม

นายปิยะบุตร กล่าวว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจากความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แต่สะดุดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเพราะมีเขตอำนาจเฉพาะเจาะจงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น หากสามารถขยายเขตอำนาจได้เอง ศาลจะกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ โดยการหยิบม. 68 มาเป็นฐานในการพิจารณาทำให้เกิดปัญหา ต่อไปศาลจะสามารถเข้าไปพิจารณาได้ทุกเรื่องที่มีคนเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญ และจะทำให้เกิดความปั่นป่วน เสียดุลยภาพ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ปฏิเสธอำนาจศาล แต่ไม่ยอมรับเฉพาะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญออกมาวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบ ซึ่งเป็นการล้ำแดนรัฐสภา วิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงเกิดจากศาลรัฐธรรมนูญที่ปิดประตูไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญตามระบบ ศาลไทยไม่เคยสู้กับรัฐประหารแต่สู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

"รัฐบาลหาเสียงชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เขาพยายามแก้มาตลอดแต่ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ได้ทรยศประชาชน มีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ประชาชนอีกกลุ่มยังไว้วางใจ วิธีการวัดเสียงประชาชนจึงต้องทำผ่านการเลือกตั้งหรือประชามติ ไม่ใช่การระดมคนออกมาชุมนุม การอ้าง ม. 3 เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง"นายปิยะบุตร กล่าว

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า มุมมองที่แตกต่างเกิดจากฐานคิดที่แยกศาลรัฐธรรมนูญออกเป็นระบบกระจายอำนาจกับระบบรวมอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญไทยวางหลักให้มีกลไกในการปกป้องตัวเอง โดยให้สิทธิ์ประชาชนยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบและทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตาม ม. 68 รวมถึง ม.291 ที่ห้ามไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเสียเอง การตีความกฎหมายต้องไม่ตีความยึดตัวบท แบบมัดมือจนทำอะไรไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ป้ายห้ามเดินลัดสนาม หมายความรวมถึงห้ามวิ่งและห้ามนำรถขึ้นไปขับในสนามด้วย ดังนั้นการตีความรัฐธรรมนูญนอกจากตีความตามตัวบทอย่างเคร่งครัดแล้วยังต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย หากปล่อยให้รัฐสภาใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อย ลงคะแนนแทนกัน และใช้เอกสารปลอม โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยตาม ม.68 ประชาชนก็จะใช้สิทธิตาม ม.69 คือ ออกมารวมตัวต่อต้านวิกฤตรัฐธรรมนูญจึงเกิดจากรัฐสภาและนักการเมืองที่ต่อสู้ทางการเมืองและดำเนินการทุกอย่างให้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงประชาชน

"ต้นเหตุของวิกฤตคือสภาฯซึ่งไม่ทำตัวเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำตัวเป็นสภาฯของผู้ต้องหา เป็นผู้แทนของอาชญากร ซึ่งพูดกันอย่างกว้างขวางว่าสภาฯตกอยู่ใต้อาณัติและรับเงินเดือนจากคนบางคน แต่ไม่มีใครจัดการ จนเกิดความเสื่อมต่อความไว้วางใจ ความจริงรัฐบาลมีภูมิคุ้มกันจากความชอบด้วยระบบที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเลือกใช้เสียงข้างมากทำลายหรือฝ่าฝืนหลักนิติธรรมจนเกิดปัญหา การที่ประชาชนแสดงเจตจำนงเดินขบวนประท้วงและกดดันอย่างชัดแจ้งว่าคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมและรัฐบาล ไม่ใช่การแสดงออกของเสียงข้างน้อย แต่เป็นการสะท้อนเสียงส่วนใหญ่จนรัฐบาลและรัฐสภาต้องรับฟัง นั่นคือการก่อตัวของสภาประชาชนแล้ว"นายกิตติศักดิ์ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กิตติศักดิ์ vs ปิยบุตร ใครบิดเบือนรธน

view