จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ผมเคยเสนอเล่นๆ ว่าถ้าคิดว่าทั้งหมดถึงทางตัน วิธีง่ายๆ คือทำประชามติว่ารับหรือไม่รับการเลือกตั้ง
สถานการณ์การเมืองไทยวันนี้ต้องบอกว่าผันผวนมาก จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตก็ตอบยากมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 จะมีหรือไม่ เราไม่เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้มาก่อน
ระยะเวลาที่เหลืออยู่จากวันนี้จนถึงวันที่ 2 ก.พ.ก็ถือว่าไม่ยาว แต่ไม่มีใครกล้าตอบว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถือเป็นสัญญาณลบต่อการเมืองไทยค่อนข้างมากทีเดียว
เป็นคำกล่าวของ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยอมรับตั้งแต่เบื้องต้นเมื่อถูกถามถึงบทสรุปของสถานการณ์วุ่นๆ ในบ้านเมืองว่าจะไปจบลงตรงจุดใด
แต่สิ่งหนึ่งที่ตอบได้ วิจารณ์ได้ ก็คือบทบาทของทหารต่อวิกฤติการเมืองรอบนี้ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการรัฐประหารเงียบ แต่ ดร.สุรชาติ บอกว่ายังอยู่ในกรอบที่ยอมรับได้
ทหารแสดงบทบาทเป็น facilitator คือ อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุยกันเท่านั้น บทบาทของทหารแตกต่างจากเดิม ตัวอย่างง่ายๆ ถ้านับย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่ผู้ชุมนุมบุกยึดสถานที่ราชการ จะพบว่าคำถามจากสื่อเรื่องการรัฐประหารน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นถ้าสภาพผันผวนทางการเมืองขณะนี้คือสัญญาลบ บทบาทของทหารในสถานการณ์ปัจจุบันก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาบวก อย่างน้อยทหารก็ไม่ได้แสดงความต้องการว่าจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่แสดงบทบาทเชื่อมรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้าน
คำถามคือเรายอมรับได้ไหม ถ้าเรายอมรับได้ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีเวทีกลาง หากทหารจะมีบทบาทบ้าง ความเห็นส่วนตัวผมรับได้ แต่ก็ต้องมีเส้นแบ่งว่าตราบเท่าที่ทหารไม่มีบทบาทโดยตรงในรูปของการแทรกแซงนะ ผมถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ระบุ
อียิปต์โมเดล
หากเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์อาหรับสปริง ดร.สุรชาติ เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันในบางแง่มุม
ผมเข้าใจว่านักคิดบางคนในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลคงมีเจตนาที่จะใช้อาหรับสปริงเป็นตัวแบบ และตัวแบบที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งผมเรียกว่าอียิปต์สปริง มีการชุมนุมใหญ่ของฝูงชน และทหารก็ออกมาจริง แต่ไม่ได้มีบทบาทมาก ทหารออกมาแล้วอยู่ในสภาพเหมือนกับนิ่งๆ ทั้งๆ ที่ขนาดของการชุมนุมที่ไคโรต้องยอมรับว่าใหญ่กว่าที่กรุงเทพฯเยอะ
ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลนายฮอสนี มูบารัค มีสูง และเคยรวมตัวต่อต้านกันมาแล้วหลายครั้งอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือรัฐบาลมูบารัคจะล้ม เพราะการต่อต้านที่ผ่านๆ มาไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไคโรได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงอาจมีจินตนาการต่อการเมืองในประเทศไทยคล้ายอียิปต์สปริง คือเชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ของฝูงชนที่กรุงเทพฯ จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้ แต่เอาเข้าจริงๆ อาจจะมีความแตกต่างกันพอสมควร
ดร.สุรชาติ อธิบายว่า การชุมนุมใหญ่ที่ล้มรัฐบาลได้ในประเทศไทย คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ2516 หากเทียบกับสถานกาณณ์ปัจจุบัน ความแตกต่างอย่างสำคัญ คือรัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลของไทยเมื่อปี 2516 กับรัฐบาลมูบารัคไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แรงเสียดทานและความชอบธรรมของรัฐบาลจึงมีน้อยกว่า ขณะที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีฐานเสียงสนับสนุน ซึ่งมีไม่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ
สิ่งที่เห็นชัดอีกประการหนึ่ง คือ บทบาทของทหารไทยคล้ายกับอียิปต์ คือไม่ออกมา เมื่อไม่ได้ออกมา ที่อียิปต์รัฐบาลล้มด้วยเงื่อนไขของตัวรัฐบาลเอง แต่ในกรณีของไทย ถ้าทหารยังอยู่ในสภาวะที่เห็นอยู่ปัจจุบัน และไม่เข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยตรง อย่างไรเสียรัฐบาลซึ่งถอยสุดซอยแล้วก็คงไม่ล้มลง
หนีไม่พ้นถนนสายเลือกตั้ง
นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง กล่าวอีกว่า บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ต้องเอ่ยถึงนายทหาร 2 คนที่มีบทบาทอย่างมาก คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (สองอดีตผู้บัญชาการทหารบก) ซึ่งเคยทำรัฐประหารสำเร็จเมื่อปี 2549 แต่หลังจากนั้นการเมืองไทยก็ผันผวนและเจอปัญหาหลายอย่าง
ทุกวันนี้เราไม่เห็น พล.อ.อนุพงษ์ ในสังคมไทย ผู้นำรัฐประหารคนนี้หายไปจากสังคมไทยเลย ส่วน พล.อ.สนธิ ก็อยู่ในสภาพเหมือนขับรถอยู่บนถนนสายรัฐประหาร แล้วหักพวงมาลัยยูเทิร์นแบบ 180 องศา กลับมาสู่ถนนสายเดิม วันนี้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และเล่นการเมืองในระบบ แปลว่าผู้นำทางทหารที่ตัดสินใจทำรัฐประหารเองก็ตระหนักว่า ท้ายที่สุดการเมืองไทยต้องถอยกลับสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นกลไกหลัก
ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนไปดูการยึดอำนาจเมื่อปี 2534 (โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) รัฐบาลที่ถูกโอบอุ้มจากกองทัพก็ถูกโค่นล้มในอีก 1 ปีถัดมา การรัฐประหารปี 2549 ก็มีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 ฉะนั้นไม่ว่าการเมืองไทยจะผันผวนอย่างไรก็ตาม ก็ต้องอาศัยกลไกการเลือกตั้งนั่นแหละเป็นเครื่องมือในการตัดสินความเป็นรัฐบาล
ดร.สุรชาติ ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำทางทหารในปัจจุบัน น่าจะเห็นสถานการณ์ยาวจากรัฐประหารปี 2549 และผลกระทบที่เกิดกับสถาบันกองทัพและตัวผู้นำทางทหารเอง รวมทั้งการถูกลากเข้าสู่วงจรความขัดแย้งในการล้อมปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 2553 และวันนี้กลายเป็นชนักอันใหญ่ของกองทัพด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ อาจเห็นตัวแบบของความผันผวนในโลกอาหรับที่ทหารออกมายึดอำนาจ ถ้าทำไม่สำเร็จ ความผันผวนเกิดใหญ่แน่ๆ วันนี้ตัวแบบอาหรับสปริงมีทั้งตัวแบบบวกและลบ ตัวแบบในช่วงต้น อียิปต์กับตูนีเซียเป็นตัวแบบบวก ส่วนด้านลบก็คือซีเรีย หรือแม้กระทั่งในลิเบีย แต่อาหรับสปริงนั้น เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ก็กลายเป็นสงครามกลางเมือง ผมเชื่อว่าอย่างน้อยผู้นำทางทหารไทยวันนี้มีบทเรียนพอสมควรที่จะไม่พากองทัพกลับเข้าไปสู่วังวนที่เป็นปัญหาขนาดใหญ่ให้กับตัวกองทัพเอง
เถียงกันไม่มีวันจบ
กับข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการนั้น ดร.สุรชาติ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่แปลก เพราะถ้ารัฐบาลลาออก ก็ต้องตั้งรัฐบาลรักษาการใหม่ไม่แตกต่างกัน คำถามคือใครเป็นคนตั้ง โจทย์นี้ถ้าสุดท้ายอำนาจมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ อำนาจจะไปอยู่ที่ใคร และใครคือผู้ใช้อำนาจนั้น
ผมคิดว่าในกระบวนการปกติ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยุบสภา อำนาจได้กลับไปที่ประชาชนอยู่แล้ว และประชาชนจะตัดสินโดยการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557
เขาประเมินว่า ความยุ่งยากของการเมืองไทย ณ ขณะนี้ คือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ดันข้อเสนอออกมาเป็นระยะ และไม่มีจุดจบ ล่าสุดคือต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ส่วนอีกปีกหนึ่งก็ชัดเจนว่า ทุกอย่างให้ไปสรุปกันวันที่ 2 ก.พ.2557 และต้องมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง ฉะนั้นข้อถกเถียงนี้ไม่มีวันจบ
ถ้าเรารับว่าต้องปฏิรูป ผมคิดว่าทุกคนเห็นตรงกัน แต่ระยะเวลาที่เหลือ วันนี้ถึงวันที่ 2 ก.พ.2557 เหลืออีกไม่กี่วัน ถามว่าถ้าปฏิรูปจะปฏิรูปอะไร ใครปฏิรูป และจะใช้เวลานานเท่าไร หากตอบว่าต้องปฏิรูปก่อน 2 ก.พ.2557 มันก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว ถ้ายังยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนวันที่ 2 ก.พ. ก็จะเป็นโจทย์เดียวเลยคือทำให้การเลือกตั้งไม่เกิด ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นประโยชน์
ข้อเสนอของ กปปส.นั้น ที่จริงได้จุดประเด็นใหญ่ คือ สังคมไทยต้องยอมรับวาระแห่งชาติเรื่องการปฏิรูป ซึ่งถือเป็นข้อดี แต่ก็ต้องมีความชัดเจนว่าตกลงจะปฏิรูปอะไร อย่างไร นานเท่าไร และจะดำเนินการอย่างไร ถ้าบอกทุกอย่างต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ผมว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างน้อยคำถามง่ายๆ คือ ต้องใช้เวลานานเท่าไร สมมติ 5-6 เดือน ก็เท่ากับบอกว่าการเลือกตั้งต้องถอยออกไปโดยปริยาย
คำถามคือแล้วระหว่างที่การเลือกตั้งยังไม่เกิด ใครจะทำหน้าที่รักษาการ ถ้ารัฐบาลที่อยู่ขณะนี้ต้องรักษาการ แล้วการเลือกตั้งไม่เกิด ก็จะมีเงื่อนไขตามกฎหมายอีกว่าต้องเลือกตั้งภายในกี่วัน ฉะนั้นดีที่สุดอย่างไรเสียก็ต้องยอมให้การเลือกตั้งเกิด ถ้าจะบอกการเลือกตั้งเกิดแล้วจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้แล้วไม่รับ บอกได้เลยว่าถ้าไม่รับ สุดท้ายการเมืองไทยก็สะดุดและย้อนกลับมาที่เดิม
ระวังออกจากวิกฤติไม่ได้
ต่อข้อเสนอจากบางฝ่ายที่ให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะมีภารกิจพิเศษคือปฏิรูปประเทศนั้น ดร.สุรชาติ เห็นว่า เรื่องสัตยาบันคงไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าวันนี้เราอยากปฏิรูป ก็ถือเป็นมติของสังคมไทยแล้วว่าต้องมีวาระแห่งชาติเรื่องสำคัญคือการปฏิรูป แต่ก็ต้องมีความชัดเจนเหมือนกันว่าจะปฏิรูปอะไร ขับเคลื่อนอย่างไร กรอบเวลาเท่าไร สามประเด็นนี้ต้องตอบให้ชัด
ข้อเสนอทั้งหมดต้องตัดสินใจก่อนว่าจะตกลงยืนยันเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 หรือไม่ ถ้าไม่เอา การเมืองไทยก็จะถูกผลักไปเดินในอีกเส้นทางหนึ่ง แต่ถ้าเราเชื่อว่าวิกฤติการเมืองไทยต้องแก้ในระบบ ผมคิดว่าตองยอมรับว่าการเลือกตั้งก็จะเป็นเครื่องมือหลัก ถ้าไม่เอาการเลือกตั้งเป็นวิธีแก้ปัญหาทางการเมือง ระบบรัฐสภาก็ไม่เอา ผลที่จะเกิดมันไม่ใช่แค่การเมืองไทย แต่ประเทศไทยประสบปัญหาแน่ๆ เพราะเราจะออกจากวิกฤตินี้ไม่ได้ ถ้าคน กทม.บอกว่าไม่เอาเลือกตั้ง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดยังเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและยอมรับได้
ผมเคยเสนอเล่นๆ ว่าถ้าคิดว่าทั้งหมดถึงทางตัน วิธีง่ายๆ คือทำประชามติว่ารับหรือไม่รับการเลือกตั้ง หรือทำประชามติด้วยคำถามเดียวว่าเอาแนวทางของ กปปส.หรือเอาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ถ้าตกลงกันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอมเสียสตางค์สักก้อนหนึ่งทำประชามติ เพื่อให้ปัญหาการเมืองคลายออก แล้วตัดสินด้วยมวลมหาประชาชนไทยจริงๆ ไม่ใช่มวลมหาประชาชนแค่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
ส่วนที่มีบางฝ่ายเสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ดร.สุรชาติ กล่าวว่า วิธีการนี้เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวเมื่อปี พ.ศ.2476 โดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เป็นการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่องดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แล้วก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ซ้ำยังทำให้คณะราษฎรต้องกลับมาทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งด้วย
ปัญหาใหญ่วันนี้มีภารกิจเดียว คือ ทำอย่างไรให้วิกฤติการเมืองคลี่คลายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เพราะถ้าวิกฤติยังคาราคาซัง สมมติการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เกิดขึ้น แล้วผลการเลือกตั้งออก ก็จะมีการชุมนุมไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งกันอีก และจะย้อนกลับสู่สถานการณ์ปัจจุบัน วงจรการเมืองไทยจะเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีจุดจบ และกลายเป็นคนป่วยของอาเซียนจริงๆ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน