สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (1)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมได้รับการแจ้งจากกรุงเทพธุรกิจที่ขอความร่วมมือให้ผู้เขียนคอลัมน์ประจำเช่นผมช่วยกันเสนอทางออกให้กับประเทศไทย

ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะการช่วยกันคิดและเสนอแนะเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะช่วยให้ประเทศหาทางออกจากสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดได้

ผมได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเมืองของไทยในบางครั้งเมื่อจำเป็นโดยโยงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ขอยอมรับว่าไม่มีความสามารถที่จะเสนอทางออกให้กับประเทศได้ แต่พอมีข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งนี้ผมขอกล่าวถึงประเด็นความไม่พอใจนักการเมืองที่นำเสนอนโยบายประชานิยมโดยมักจะมีความไม่พอใจดังนี้

1. นักการเมืองนำเงินภาษีของประชาชน (มีผู้เสียภาษีเงินได้เพียง 2 ล้านคน) มาใช้สนับสนุนนโยบายประชานิยม (แจกเงินให้กับคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีน้อย) โดยเห็นว่าเป็นการซื้อเสียงให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ

2. นโยบายประชานิยมจะทำให้ภาครัฐล่มจมและเป็นภาระของผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

3. นักการเมืองใช้อำนาจในทางที่ผิด คือเรียกเงินคอร์รัปชันทำให้ตัวเองร่ำรวยแต่ประเทศเสียหายและปลูกฝังความคิดผิดๆ ให้กับประชาชนที่ส่วนใหญ่มองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่พอรับได้

ในความเห็นของผมนั้นระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยกล่าวคือยึดเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสินนโยบายนั้นย่อมจะได้มาซึ่งนโยบายที่เก็บภาษีจากคนรวยมาให้คนจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในทุกประเทศจะมี “คนรวย” (รายได้สูงกว่าเฉลี่ย 10-15 เท่า) ประมาณ 5% แต่ “คนจน” (รายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ย) ประมาณ 60% หรือมากกว่านั้น หมายความว่านโยบายที่มาจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของเสียงข้างมากย่อมจะต้องมีนโยบายที่เก็บภาษีคนรวยเพื่อช่วยคนจนอย่างแน่นอน

ดังนั้น ประเด็นที่ควรจะต้องถกเถียงกันคือ 1.การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นควรจะลดลงให้แคบลงเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม หากลดส่วนต่างให้เหลือน้อยมากก็ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าเพราะคน “รวย” คงจะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำงานเพราะถูกเก็บภาษีไปเกือบหมด (เช่นประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่อัตราภาษีสูงสุดเท่ากับ 80%) และคน “จน” ก็คงไม่ต้องทำอะไรมากเพราะรัฐบาลโอนทรัพยากรมาให้อย่างพอเพียงจนมีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับคน “รวย” แล้ว กล่าวคือหากจะพยายามลดความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายประชานิยมก็ควรจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกันว่าการเก็บภาษีจากคนรวยไปให้คนจนนั้นควรมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ชัดเจน

2. นโยบายประชานิยมจะต้อง “ให้” อย่างมีหลักการที่ถูกต้อง เช่น การพักชำระหนี้ให้กับชาวนานั้นย่อมบั่นทอนวินัยทางการเงิน (แต่ก็ถูกโต้ว่าเวลาที่นายแบงก์มีปัญหารัฐบาลก็ทุ่มเงินกอบกู้ระบบการเงินเป็นล้านล้านบาท ซึ่งที่จริงคือการช่วยเหลือผู้ฝากเงินเป็นหลัก) หรือการ “ให้” ที่บิดเบือนกลไกตลาด เช่นการตั้งราคาจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด 50% ทำให้ชาวนาไทย (และชาวนาประเทศเพื่อนบ้าน) ผลิตข้าวขายให้รัฐและในที่สุดรัฐต้องขายข้าวดังกล่าวในราคาที่ต่ำกว่าทุนอย่างมาก ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย (เพราะผลิตสินค้าที่ขายแล้วต้องขาดทุน)

กล่าวโดยสรุป คือ ควรจะพยายามวิเคราะห์และถกเถียงกันให้ได้คำตอบว่านโยบายประชานิยมลักษณะใดที่เป็นผลเสียต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด ซึ่งจะได้ข้อสรุปว่าการโอนกำลังซื้อให้กับผู้ที่ยากจนโดยตรง เช่น หากเห็นว่าชาวนาควรมีรายได้ 20,000 บาทต่อครอบครัว เพื่อจะได้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สังคมรับได้ รัฐบาลก็ควรชดเชยรายได้ให้กับชาวนาทุกครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าว โดยสามารถปรับเพิ่มไปตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากเห็นด้วยกันในหลักการก็จะทำให้ต้องมาถกเถียงกันในรายละเอียดว่าเกณฑ์ดังกล่าวควรเป็นเท่าไหร่และจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ชาวนาอย่างไรจึงจะถูกต้องแม่นยำที่สุด เป็นต้น สำหรับการเข้าถึงบริการอื่นๆ นั้นก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน เช่น คนมีรายได้น้อยและนักเรียนสามารถรับบัตรประจำเดือนเพื่อขึ้นรถเมล์ฟรีได้ ผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำสามารถรับ “บัตรการศึกษาบุตร” จากรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรได้หรือแม่บ้านที่มีรายได้น้อยมีสิทธิได้รับ “บัตรแลกก๊าซหุงต้ม” จากรัฐบาล เป็นต้น

แน่นอนว่านโยบายประชานิยมนั้นส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและอาจบั่นทอนการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะแทนที่จะทำให้คนพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดกลับทำให้การพึ่งพาภาครัฐเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐจึงต้องจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เช่น จัดสรรทรัพยากรให้กับสาธารณสุขและการศึกษามากเป็นพิเศษเพราะจะช่วยในการสร้างอนาคตให้กับประชาชน

บางคนอาจยังรู้สึกไม่พอใจที่เป็นคนส่วนน้อยที่ต้องเสียภาษีให้คนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะ มักจะวัดภาระภาษีจากการจ่ายภาษีเงินได้ แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากที่สุดและเป็นภาษีที่เก็บคนจนมากกว่าคนรวย กล่าวคือ คนรวยและคนจนซื้อสินค้าชิ้นเดียวกัน ราคา 107 บาท จะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากันคือ 7 บาท แต่คนจนมีรายได้น้อยกว่าคนรวยมา แปลว่าคนจนถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนรวยอย่างมาก ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคตนั้นกระทรวงคลังจะต้องปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ในที่สุด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีให้กับคนจนมากกว่าคนรวยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หาทางออก ประเทศไทย

view