ระบบเลือกตั้ง กับทางออกของประเทศ (1)
โดย : ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สภาวะตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราในปัจจุบันเหมือนกับว่าจะตีบตันพอสมควร
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มประชาชนที่คัดค้านระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ต่างก็ยืนกรานถึงความชอบธรรมของฝ่ายตนเองเป็นหลัก และยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ในเร็ววัน
ความเห็นที่ไม่ตรงกัน นำมาซึ่งการโต้แย้งในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าควรจะมีก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือมีการเลือกตั้งก่อนจึงจะมีการแก้ไข ประเด็นเรื่องระยะเวลาจึงกลายเป็นประเด็นโต้แย้งที่ยังไม่มีข้อยุติอีกข้อหนึ่ง
จึงใคร่ขอแสดงความเห็นในสองเรื่องนี้พร้อมๆ กันเพื่อให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าน่าจะมีทางออกอย่างอื่นที่ไม่ใช่การโต้แย้งในประเด็นเดิมๆ ที่ทั้งสองฝ่ายยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ ซึ่งประเด็นแรกและถือเป็นประเด็นสำคัญก็คือเรื่องของระบบเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีความเหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบันหรือไม่เพียงไร และสมควรจะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบผสมตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วยระบบเสียงส่วนใหญ่ (First Past the Post /Majority Vote) จำนวนสองในสาม ผสมกับแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ (Party List) อีกหนึ่งในสาม มาเป็น ระบบสัดส่วนที่แท้จริง (True Proportional Representatives) ทั้งประเทศ โดยไม่ต้องมีสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต อีกต่อไป
ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญใดที่ดีที่สุด และ ไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่สมบูรณ์แบบที่สุด สิ่งที่เรามองหาจึงน่าจะมาจาก รัฐธรรมนูญที่เลวน้อยที่สุด และระบบเลือกตั้งที่มีความเป็นธรรมกับประชาชนทุกหมู่เหล่าในสังคมมากที่สุด มากกว่าที่จะพยายามหาสิ่งที่ดีและสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งไม่มีในโลก
รัฐธรรมนูญก็ดี ระบบเลือกตั้งก็ดี จะต้องมีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตและกรอบวัฒนธรรมประเพณีของสังคมประเทศ เพราะทั้งสองอย่างเป็นเรื่องของการวางกรอบกติกาเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองร่วมกัน เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับและปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจมากกว่าด้วยความอึดอัดใจ และแน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบไหนหรือระบบเลือกตั้งในรูปแบบใด ก็อย่าคาดหวังว่าทุกคนในสังคมจะเห็นด้วยทั้งหมด
ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า ระบบสัดส่วน (Proportional Representation) ได้ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศเช่นเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล โดยบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กเช่นอิสราเอลใช้ระบบนี้โดยไม่แยกเป็นภูมิภาค ฉะนั้น ระบบสัดส่วนของอิสราเอลจึงเหมือนระบบบัญชีรายชื่อบัญชีเดียวของเราที่ใช้บัญชีเดียวทั้งประเทศ แต่ในประเทศอื่นเช่นที่เยอรมันมีการแบ่งออกตามแคว้นต่างๆ และแต่ละแคว้นก็จะมีบัญชีรายชื่อเฉพาะแคว้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือมีหลายบัญชี
ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการนำเอาประเด็นบัญชีรายชื่อแบบแบ่งเป็นภูมิภาคมาพิจารณา แต่ความที่สภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นพยายามที่จะสร้างความสมดุลในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้จำนวนสมาชิกสภาระบบสัดส่วนที่เท่าๆ กันจึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทับซ้อนในหลายพื้นที่ที่มีความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างมาก และทำให้เกิดข้อโต้แย้งอันชัดเจนว่าสมาชิกสภาผู้แทนแบบสัดส่วนจะเป็นผู้แทนที่เป็นปากเสียงของภูมิภาคที่ตนได้รับการเลือกตั้งได้อย่างไร และในที่สุดก็ตกไปและกลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั้งประเทศเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปัญหาเดิมๆ ก็ตามมา
เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งที่ต้องการให้ทุกพรรคมีโอกาสที่จะได้ผู้แทนในแต่ละภูมิภาคตามสัดส่วนของประชาชนที่เลือกพรรคเหล่านั้น จึงขอเสนอให้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนเป็นดังนี้
1. ให้แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นภูมิภาคตามที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดขณะนี้มีอยู่ 9 ภาค ภูมิภาคเหล่านี้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมือนกันและใกล้ชิดกันมาช้านานจึงไม่มีปัญหาเรื่องความแตกต่างในวิถีการดำรงชีวิตและความต้องการพื้นฐานมากนัก
2. ในการแบ่งภาคไม่ต้องพยายามกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนแต่ละภาคให้เท่ากัน บางภาคที่มีประชาชนมากก็ควรจะมีสมาชิกสภาผู้แทนมากตามสัดส่วนของจำนวนประชากรตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
3. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครต้องส่งให้ครบจำนวนและมีรายชื่อสำรองไว้อีกเท่าตัว อาทิ ภูมิภาคที่มีสมาชิกสภาได้ 10 คน ก็ต้องส่งบัญชีรายชื่อทั้งสิบคนบวกกับรายชื่อสำรองอีก 10 คน รวมเป็น 20 คน เพื่อให้สามารถขยับผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน