ความรับผิดของนิติบุคคลในคดีคอร์รัปชัน
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 และได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 จึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ สาระสำคัญโดยสรุปคือ ประเทศสมาชิกจะต้องตรากฎหมายบัญญัติให้การคอร์รัปชันเป็นความผิดทางอาญา เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การยักยอกหรือการฉ้อฉลทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น มาตรา 26 ของอนุสัญญาดังกล่าว บัญญัติให้รัฐภาคีจะต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับระบบกฎหมายของตน ให้นิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดคอร์รัปชันตามที่ระบุในอนุสัญญา จะต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครองต่อการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นด้วย การกำหนดให้นิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จะต้องรับผิดดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนต่อความรับผิดของบุคคลธรรมดาที่กระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ การกำหนดบทลงโทษนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้คำนึงถึงประสิทธิผลจากบทลงโทษ ไม่ว่าเป็นการลงโทษที่เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้กระทำความผิดทางอาญา และบทลงโทษที่ไม่ใช่ทางอาญา รวมทั้งการลงโทษทางการเงิน
กฎหมายที่กำหนดให้การคอร์รัปชันเป็นความผิดทางอาญา ของประเทศไทย ได้บัญญัติไว้นานแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง คือ หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน บางมาตรา เช่น มาตรา 143 มาตรา 144 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกือบทั้งหมวด เช่น มาตรา 147 มาตรา 148 มาตรา 149 มาตรา 150 มาตรา 151 มาตรา 152 มาตรา 153 มาตรา 154 มาตรา 155 มาตรา 156 มาตรา 157 และลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม มาตรา มาตรา 167 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม มาตรา 200 มาตรา 201 มาตรา 202
จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวข้างต้น จะมีกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดได้ คือ ความผิดตามลักษณะ 2 หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และลักษณะ 3 หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม คือ การให้สินบนเจ้าพนักงาน และเนื่องจากโดยสภาพของนิติบุคคลไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานได้ จึงไม่อาจกระทำความผิดหรือเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามลักษณะ 2 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ ลักษณะ 3 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหากนิติบุคคลได้มีการกระทำเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดได้ (เทียบเคียงจากคำพิพากษาฎีกาที่ 2196/2521 ที่ 1586/2530 และที่ 7768/2548)
ข้อต้องพิจารณาต่อไปคือ ตามกฎหมายไทย นิติบุคคลกระทำความผิดทางอาญาได้หรือไม่ และการลงโทษทางอาญากับนิติบุคคล จะลงโทษอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้มีบทบัญญัติที่ระบุถึงการกระทำความผิดของนิติบุคคลไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ใช้คำว่า “ผู้ใด” ซึ่งหมายถึงบุคคลธรรมดาและหมายความรวมถึงถึงนิติบุคคลด้วย และเมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ที่กำหนดให้ส่งหมายเรียกบุคคลคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายเฉพาะมากมายหลายฉบับได้กำหนดให้ลงโทษนิติบุคคลที่กระทำความผิดไว้โดยตรง เช่น พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 กฎหมายศุลกากร ประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เป็นต้น รวมถึง ศาลฎีกาก็เคยพิพากษาลงโทษนิติบุคคลมาแล้ว แม้กฎหมายนั้นไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงให้นิติบุคคลต้องรับโทษทางอาญา เช่น ลงโทษปรับบริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์ฐานหมิ่นประมาท ลงโทษปรับบริษัทที่ขนข้าวออกนอกเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
นอกจากนี้ ศาลฎีกาก็ได้เคยมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานได้ว่า นิติบุคคลอาจรับผิดทางอาญาร่วมกับบุคคลธรรมดาได้ ถ้าการกระทำผิดทางอาญานั้น กรรมการดำเนินงานกระทำไปเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลตามที่จดทะเบียนไว้ และเพื่อให้นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า นิติบุคคลกระทำความผิดทางอาญาได้
ส่วนการลงโทษนิติบุคคลนั้น เนื่องจากนิติบุคคลเป็นบุคคลสมมุติ โดยสภาพ จึงไม่อาจลงโทษจำคุกนิติบุคคลได้ โทษทางอาญาที่จะลงโทษนิติบุคคลได้คือโทษปรับเท่านั้น ส่วนการลงโทษทางปกครอง ที่สำคัญคือการปรับทางปกครอง ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ถูกลงโทษจะต้องชำระเป็นเงินเหมือนโทษปรับทางอาญา แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือผู้ถูกลงโทษทางปกครองไม่ถือว่าเป็นผู้ได้รับโทษทางอาญา แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติโทษทางปกครองไว้ในประมวลกฎหมายอาญาหรือและกฎหมายเฉพาะที่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด จึงยังไม่อาจลงโทษปรับทางปกครองแก่นิติบุคคลในคดีคอร์รัปชันได้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน