จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย/นิติพันธุ์ สุขอรุณ
“23 ธ.ค.จะได้สมัครเลือกตั้งหรือไม่” “จะมีวันที่ 2 ก.พ. เพื่อให้คนไปเลือกตั้งหรือเปล่า”
ประโยคคำถามสั้นๆ สองประโยคนี้ผุดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบริบทการเมืองในเวลานี้ หลังจากเกิดสภาพความขัดแย้งแบบสุดโต่งทั้งสองขั้วระหว่างคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเพื่อเปิดทางให้เกิดการปฏิรูปการเมืองก่อน กับรัฐบาลที่บอกว่าการเลือกตั้งต้องมีขึ้นตามกฎหมาย
เมื่อความขัดแย้งกำลังเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะคนกลางที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งพลอยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากไปด้วย เพราะจะต้องเป็นด่านแรกที่จะต้องเจอกับแรงปะทะจากฝ่ายรัฐบาลและ กปปส.
“ประวิช รัตนเพียร” ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่ง 1 ใน 5 เสื้อ กกต.มาสดๆ ร้อนๆ ให้สัมภาษณ์กับ “โพสต์ทูเดย์” ถึงแรงกดดันที่ต้องเตรียมรับมือเอาไว้ว่า ตอนแรกคิดว่างานใหญ่งานแรกของ กกต.ชุดใหม่ คือการจัดการเลือกตั้ง สว.ทั่วประเทศในช่วงเดือน มี.ค. 2557 กว่าจะถึงวันนั้น กกต.ชุดใหม่จะมีเวลาสัก 3 เดือนก่อนเจองานใหญ่ แต่ปรากฏว่าพอยังไม่ทันเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการก็เกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาเสียก่อน ทำให้ต้องมาทำงานใหญ่อย่างการจัดเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศทันที แต่ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะ กกต.ยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มีไม่บ่อยครั้งนักที่ กกต. ทั้ง 5 คน ไม่ว่าจะเป็นชุดไหนจะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนกับ กกต.ชุดนี้ ที่ระบุ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งจะนำมาสู่ความวุ่นวาย
ในมุมนี้ได้รับคำอธิบายจากกรรมการ กกต.ผู้นี้ว่า “จริงๆ ก็ไม่ได้บอกว่าให้เลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราเห็นว่าการเลือกตั้งทั่วไปถือเป็นการเลือกตั้ง|ระดับประเทศและเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ ที่ให้ประชาชนแสดงเจตจำนงพร้อมกันหมดทั้งประเทศ การเกิดสภาพความขัดแย้งที่เป็นอยู่เมื่อ กกต.เห็นอย่างนี้เราจะไม่สะท้อนกลับไปยังสังคมบ้างเลยหรือ แต่ไม่ได้หมายความว่า กกต.ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป”
“วันที่ 23 ธ.ค.เป็นวันที่จะมีการรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อครั้งแรก แต่ว่าเรายังเห็นสภาพความแตกต่างทางความคิดที่สุดขั้ว อันหนึ่งบอกว่าการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินต่อไป มิเช่นนั้นกติกาบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร อีกฝั่งหนึ่งบอกชัดเจนอีกว่าไม่ได้หรอก ปล่อยให้เลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะต้องปฏิรูปก่อน ให้เวลาเท่าไหร่ก็ว่าไป
...สภาพอย่างนี้มีความแยกกันอยู่ชัดเจน ดังนั้น กกต.ในฐานะคนที่ต้องเตรียมการเลือกตั้ง จึงต้องการสะท้อนออกมาว่าเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปกติการเลือกตั้งทั่วไปถือเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้วที่ต้องจัดการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ได้คนที่จะมาเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เมื่อมาเจอสภาพแบบนี้โอกาสที่การเลือกตั้งจะราบรื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”
ประวิช ย้ำในข้อเสนอของ กกต.ที่นำไปสู่ทางออกว่า อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการคุยกัน แต่ กกต.ไม่บังอาจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะขอให้เลื่อนการเลือกตั้ง มันเป็นหน้าที่ที่ กกต.ต้องทำ คำว่าคุยกันไม่ได้หมายความว่าต้องเลื่อนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
“อย่าเอาตัวเลข 2 ก.พ.เป็นที่ตั้ง เพราะจะทำให้อีกฝ่ายที่บอกว่าควรเลื่อนเลือกตั้งไม่ยอมคุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าเอาเลข 2 ก.พ.มาขีดวงตัวเราเองไว้และเราจะไม่คุยกัน อย่าให้เป็นอย่างนั้น คุยกันเถอะครับ การคุยกันเท่านั้นถึงจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเราจะไปอย่างไร เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยได้”
แสดงว่าถ้าเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในบรรยากาศลักษณะนี้ กกต.มองว่าอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงบางอย่างเกิดขึ้น? ประวิช ตอบว่า มันคาดเดาไม่ได้เลย มันเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เราประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ซึ่ง กกต.ได้เตรียมเอาไว้แล้ว เช่น วันเลือกตั้งจะมีผู้สมัครเข้ามาหรือไม่ อย่างที่บางพรรคการเมืองบอกว่าจะไม่สมัคร ซึ่งถ้าเกิดไม่มาสมัครจะทำอย่างไร ไปจนถึงความปลอดภัยของสถานที่ในการเลือกตั้ง
“...ถ้าไม่มีคนมาสมัครเลย เราจะไม่มีสิทธิไปเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. แต่จะรายงานกลับไปยังรัฐบาลว่าเราได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอนอย่างไรบ้าง ประกาศรับสมัครไปแล้ว สถานที่รับสมัครพร้อมแต่ไม่มีคนมาสมัคร ทำให้ กกต.ต้องหารือไปยังรัฐบาล อำนาจหน้าที่ในการเลื่อนเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ยกเว้นเกิดกรณีภัยพิบัติก็ยังอยู่ในอำนาจในการแก้ไขของ กกต.
เมื่อเราพูดถึงการเลือกตั้งหมายความว่ากำลังพูดถึง 9.7 หมื่นหน่วยเลือกตั้ง เฉพาะกรรมการประจำหน่วยประมาณ 1 ล้านคน ไม่นับรวมอื่นๆ ที่พรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้ามาสังเกตการเลือกตั้ง และยังมีกระบวนการล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักร กระบวนการเหล่านี้จะมีผลกระทบเชื่อมโยงถึงทั้งหมด”
ในสภาพที่เป็นเช่นนี้แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่ “ประวิช” ก็ยังยืนว่า กกต.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป
“อย่างเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ภายหลัง กกต.แถลงจุดยืนกรรมการทั้ง 5 คนเรียบร้อยก็ได้ไปประชุมกับประธาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศตามขั้นตอนของกฎหมาย มันหยุดไม่ได้หรอกครับ กฎหมายกำหนดอย่างนี้ กกต.มีหน้าที่อย่างนี้ กกต.ก็ต้องทำหน้าที่ แต่ในการทำหน้าที่เรามานั่งกันอยู่เป็นคนกลางที่ต้องทำหน้าที่เราจะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ต้องยึดมั่นความเป็นกลาง แต่ควรมีมุมเล็กๆ ที่เราจะสะท้อนให้ประชาชนเห็นและให้ฝ่ายการเมืองได้เห็น”
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างทางก่อนถึงวันที่ 23 ธ.ค. หรือวันที่ 2 ก.พ. 2557 ใช่ว่า กกต.จะละเลยเพื่อมุ่งเน้นแต่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จเรียบร้อยเพียงอย่างเดียว แต่ กกต.ได้เตรียมเครื่องมือที่เรียกว่า “การเลือกตั้งสมานฉันท์” มาใช้กับการเลือกตั้งในรอบนี้ เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้มีความตึงเครียดลดลงด้วย
โดยประวิชขยายความถึงกลไกดังกล่าวว่า กระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์หมายถึง การที่ กกต.จะเชิญพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงแข่งขันในทุกระดับมาคุยเพื่อลดความขัดแย้งในทางสังคม มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้เกิดการคิดว่าตัวเองจะแพ้ไม่ได้ เพราะการแข่งขันการทำความดีเพื่อให้ประชาชน สุดท้ายประชาชนก็ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและใช้เสียงข้างมาก ดังนั้น ในที่สุดกระบวนการเลือกตั้งถ้าเรายังถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการได้มาซึ่ง ตัวแทนของพี่น้องประชาชนก็ต้องเดินหน้าไปตามนี้
“กกต.ยินดีจัดเวทีให้พูดคุยกัน เพราะระยะหลังเห็น ว่าถ้าเวทีไหนกลุ่มไหนจัดกลุ่มนั้นจะไม่ไปร่วม กกต.มีกระบวนการเลือกตั้งสมานฉันท์ ยอมรับนะครับว่าเป็นเรื่องที่คุยกันยาก แต่เราจะไม่คุยกันเหรอ ทางออกที่มันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเสนอให้ทำสัตยาบัน ก็ล้วนเกิดจากการพูดคุยของคนที่มีส่วนร่วมแทบทั้งสิ้นที่อยากเห็นว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การเลือกตั้งเรียบร้อย และตกลงกันแค่ไหนได้ คำตอบก็จะตามมา”
“อยากเห็นกระบวนการพูดคุยกันมากที่สุด ไม่อยากให้เกิดในลักษณะที่ว่าฉันคิดอย่างนี้ถูกและลงไปเลือกตั้งจะเกิดอะไรก็ต้องเกิด คิดแบบนี้มันง่ายไป ถามว่าทุกคนเห็นปัญหาหรือไม่ ตอบได้ว่าทุกคนก็เห็นปัญหา เมื่อเห็นแล้ว ก็น่าจะมานั่งคุยกัน”
กรรมการ กกต.ท่านนี้ได้สรุปในเชิงเปรียบเปรยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ขนาดสงครามโลกสุดท้ายต้องหาวิธีพูดคุยกัน ยังไงก็ต้องคุยกัน คนอยู่ด้วยไม่มีทางทำอย่างอื่นนอกจากต้องคุยกัน เวลานี้ผมเห็นว่าทุกคนก็พยายามช่วยกันอยู่แต่มันยังไม่คลิกเท่านั้น โดย กกต.พร้อมจะเป็นตัวกลาง แต่ถ้าเขาไม่เข้ามาคุยก็ไม่มีประโยชน์”
ประชาธิปไตยมีมากกว่า 4 วินาที
ด้านหนึ่งกับการเกิดกระแสไม่ไว้วางใจการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยในเวลานี้ 'ประวิช' ที่มีอีกสถานะหนึ่ง คือ นักรัฐศาสตร์ ยังยอมรับตามตรงว่า "มันอธิบายยาก ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้มันไม่ได้เพิ่งเกิด มันมีพัฒนาการมานานแล้ว"
"ในทางรัฐศาสตร์กระบวนการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนมีการคิดกันมากันเป็นพันปี แต่ความแตกต่างของการได้ตัวแทนมาของแต่ละประเทศและสังคมไม่เหมือนกัน สังคมส่วนใหญ่ก็ต้องผ่านกระบวนการให้ประชาชนใช้ตัวแทน ไม่ว่าจะระบบใด เช่น มีจำนวนสส.บัญชีรายชื่อมากหรือน้อย หรือไม่มีระบบบัญชีรายชื่อเลย"
...แม้กำลังมีการตั้งคำถามถึงความไม่บริสุทธิ์ของการเลือกตั้ง ไม่อยากเชื่อถือการเลือกตั้งแบบนี้ ทุกอย่างดูไม่ดีไปหมด แต่กระบวนการเลือกตั้งของเราไม่ถึงขนาดที่บอกได้ว่าไม่ได้เรื่อง ประเทศไทยพัฒนากันมามากพอสมควรแล้ว การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็มีทูตานุทูตต่างชาติมาสังเกตการณ์ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาคงไม่ได้รับการรับรองมาโดยตลอด"
เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้กระบวนการเลือกตั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้นั้น 'ประวิช' ในฐานะที่เป็นกกต.รับผิดชอบงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ตอบแบบไม่ลังเลว่า "ความร่วมมือจากประชาชน"
กกต.ผู้มากประสบการณ์ในด้านการเมือง อธิบายเพิ่มเติมว่า งานนี้คืองานร่วมกันของคนทั้งประเทศ โดยสิ่งที่ได้ตามมาคือ ปัญหาการทุจริตน้อยลงทันที สมมุติว่าในวันเลือกตั้ง ทุกคนเอาใจใส่ทั้งหมดแวะเวียนไปดูหน่วยเลือกตั้ง หรือก่อนหน้านั้นพบการหาเสียงผิดวิธี ทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตานั่นแหละคือหัวใจจริงๆ ยืนยันว่า กฎหมายเขียนดีอย่างไร ถ้าขาดความร่วมมือจากประชาชนก็ยากที่จะประสบความโปร่งใส"
กกต.ที่ผ่านมาก็บังคับใช้กฎหมายพิจารณาแต่ละกรณีด้วยความเป็นธรรม แต่เราจะไปกล่าวหาใครโดยไม่มีหลักฐานหรือไม่มีการตรวจสอบคงไม่ได้ กกต.ก็ทำหน้าที่ได้เท่าที่กฎหมายมีให้อยู่อย่างที่เห็น ส่วนการพูดว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็ยังคงพูดกันมาตลอด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพในการปกป้องสิทธิ์และไม่ยอมให้ใครมาทำผิดกฎหมาย"
...ที่สำคัญขอให้ใช้สิทธิ์ของตัวเองให้ดีอย่างมีวิจารณญาณ ทุกคนจะรวยหรือจนมีสิทธิ์เท่ากันในวันเลือกตั้งจะอยู่บ้านคฤหาสน์หรือบ้านกระต๊อบก็ได้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเท่ากัน และความหมายของคนไทยไม่ได้หมดลงใน 4 วินาที เพราะยังมีกระบวนการติดตามตรวจสอบได้อีกหลังจากนั้นผ่านกลไกองค์กรอิสระ ผมยังเชื่อว่าถ้าประชาชนร่วมกันลงมาเป็นเจ้าภาพจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จ"
แค่แก้กฎหมาย "ปฏิรูป" ไม่สำเร็จ
“การปฏิรูปประเทศไทย” นับเป็นอีกกระแสหนึ่งที่มาแรงอยู่ในขณะนี้ โดยทุกฝ่ายไม่เว้นแม้แต่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือรัฐบาลก็ต่างเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องได้รับการปฏิรูป ทั้งนี้ การปฏิรูปส่วนหนึ่งในมุมของ กปปส.เห็นว่ากฎหมายเลือกตั้งจะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เป็นเครื่องมือจัดการปัญหาทุจริตตั้งแต่ต้นทาง ซึ่ง ประวิช รัตนเพียร ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ
“พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.ฉบับปัจจุบันถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีมากฉบับหนึ่ง แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดลงอยู่ที่การปกป้องสิทธิของตัวเอง และให้รู้ว่านี่เป็นการหาตัวแทนเข้าไปทำงานแทนประชาชนทั้งการใช้อำนาจของรัฐ การวางยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศต่อไป
...กฎหมายต่อให้เขียนดีเท่าไหร่ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่กฎหมายเก่าจะใช้ไม่ได้ กฎหมายเก่าเขียนไว้ดีแล้ว แต่หัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจในสิทธิของตัวเองเพื่อจะได้ออกมาปกป้องและพิทักษ์สิทธิตัวเอง”
มองว่ากระบวนการซื้อสิทธิขายเสียงมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างไร? ประวิช ประเมินว่า การใช้สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการไปใช้สิทธิที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่มีผู้ไปใช้สิทธิประมาณ 70% นอกจากนี้กระบวนการจัดการเลือกตั้งและความโปร่งใสและกฎหมายเลือกตั้งของไทยยังสามารถเป็นต้นแบบให้ได้ในอีกหลายประเทศ เรามั่นใจในความเป็นมืออาชีพของเราในการจัดการเลือกตั้ง
“แต่สิ่งที่ยังติดอยู่คือการซื้อสิทธิขายเสียง เพราะยังเต็มไปด้วยข้อครหา ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องสร้างกระบวนการให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ที่มีการสื่อสารพัฒนาไปมาก ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้ด้วยการกดนิ้ว ทำให้ใครจะมาซื้อเสียงตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนในอดีต
...ความตื่นตัวทางการเมืองวันนี้มีมากในทุกหัวระแหง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันหยิบเอาสภาวะที่เกิดขึ้นและความไม่เข้าใจต่างๆ มาเป็นประโยชน์เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าทุกครั้งที่เดินเข้าไปเลือกตัวแทนของประชาชนมีความหมายถึงอนาคตของประเทศ”
ประวิช ขมวดว่า ภายใต้กติกาที่มีอยู่ ถ้ามีกลไกช่วยจากประชาชน ก็เชื่อมั่นว่าจะเดินไปได้ ส่วนใครเห็นช่องว่างตรงไหนเพิ่มว่าจะต้องปฏิรูปหรือดำเนินการอย่างใดก่อนก็ว่าไป แต่ไม่ถึงขนาดที่กลไกไม่ดี มันอยู่ที่คนมากกว่าอยู่ที่กฎหมาย ถ้าคนตื่นตัวก็มั่นใจว่าปัญหาทุจริตการเลือกตั้งจะเบาลง
“การเลือกตั้งที่ปราศจากความโปร่งใส ผมถือว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของความล้มละลายความเชื่อมั่นของประเทศ เรามีกฎหมายแรงๆ เยอะแยะ แต่สุดท้ายถ้าไม่มีคนลงไปบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาอีก ดังนั้นการตื่นตัวของประชาชนจึงมีความสำคัญยิ่ง”
ขณะเดียวกัน ประวิช ยังคิดว่าปัญหาความขัดแย้งส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งเมื่อครั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินเหนือได้ทำการพิจารณาและเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขไปพอสมควร
“สิ่งที่เป็นปัญหาคือรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนจะมีสิทธิเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยเฉพาะสิทธิที่ควรได้รับจากแนวนโยบายแห่งรัฐและส่วนอื่นๆ แต่ปรากฏว่าประชาชนจะได้สิทธิดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายประมาณ 300 ฉบับ แต่ยังไม่มีการดำเนินการออกมา ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิในส่วนนี้ โดยที่ผ่านมาได้พยายามเร่งรัดไปยังหน่วยงานภาครัฐแล้ว และพบว่าได้มีการขยับกันพอสมควร เช่น กฎหมายบางฉบับอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น”
หากรัฐบาลใหม่ในอนาคตเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการทำให้ประชาชนได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญมากขึ้นจะช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งลดลง? ประวิช แบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ก็มีโอกาสส่วนหนึ่ง แต่จะถึงขนาดที่ว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่น้อยลงเลยหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการใช้กฎหมายอย่างเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด อีกทั้งสังคมมันเปลี่ยนทุกวันด้วย ทำให้ต้องพิจารณาควบคู่กันไป”
นอกเหนือไปจากการแก้ไขกฎหมายที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศแล้ว ทว่า “ประวิช” กลับมองมาสู่จุดเริ่มต้นว่าการแก้ไขปัญหาของชาติได้ดีที่สุดอยู่ที่การสร้างระบบคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ มีคำอธิบายจากผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ว่า “บางครั้งเรามักชื่นชมในบางประเทศที่มีเหตุการณ์นิดเดียวคนที่ต้องรับผิดชอบก็ลาออกทันที ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบอย่างนั้นได้ต้องมาจากระบบคุณธรรมจริยธรรมที่ปลูกฝังกันมาในใจ ถ้าคนผ่านกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดก็จะทำให้คุณธรรมออกมา”
“...กระบวนการหล่อหลอมต้องใช้เวลาพอสมควรเป็นชั่วอายุคน ไม่เหมือนกับเวลาที่|อยากได้คอมพิวเตอร์ที่ถ้ามีเงินก็ไปซื้อหามาได้ทันที บางประเทศที่เรายกย่องว่าเป็นตัวอย่างยังต้องผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน สำหรับประเทศไทยมาระยะหลังมีการพูดถึงคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งการตื่นตัวของประชาชนขณะนี้จะต้องพลิกให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศให้ได้”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน