จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)
สังคมไทยไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการเข้าสู่อำนาจตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับกันทั่วไป แต่โจทย์ที่ค้างคาใจของประชาชนจำนวนมากในเวลานี้ และยังไม่เห็นความหวังที่จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ หลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา จะมีวิธีการ กลไก รูปแบบอย่างไร ในการควบคุม กำกับ และตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด) ไม่ให้เกิดปัญหาความฉ้อฉล ปัญหาคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ มุ่งแต่ประโยชน์พวกพ้อง ขาดธรรมาภิบาล ฯลฯ โดยไม่ต้องให้ประชาชนทนทุกข์ เฝ้าดูความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องอดทนรออีก 4 ปี เพื่อเลือกตั้งกันใหม่
อย่าลืมว่ากฎเกณฑ์อันเป็นธรรมชาติของความชอบธรรมของ “อำนาจ” ในระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วย (หนึ่ง) มีที่มาอันชอบธรรม (สอง) มีจุดมุ่งหมายอันชอบธรรม และ (สาม) มีวิธีการใช้อำนาจที่ชอบธรรม หากยึดถืออ้างที่มาอันชอบธรรมว่าได้รับเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง แล้วทำอะไรก็ได้โดยขาดความชอบธรรมในด้านจุดมุ่งหมายและวิธีการใช้อำนาจ ก็มีแนวโน้มที่จะนำพาประเทศหวนกลับไปสู่วงจรของปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมแบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้
สำหรับเรื่องการปฏิรูประบบการเลือกตั้งก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ยังแก้ไม่ตก ทั้งในแง่ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง และปัญหาเพิ่มเติมในช่วงหลัง คือ ปัญหาการหาเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยม เพื่อมุ่งให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงภาระปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อมีการนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติจริง
ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเวลานี้ จึงไม่ใช่ปัญหาการไม่ยอมรับระบบการเลือกตั้ง แต่เป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นต้นทางของการครอบครองอำนาจ และในด้านการคิดค้น แสวงหา การออกแบบสร้างระบบการเมือง ที่สามารถกำกับ ควบคุมการใช้อำนาจให้เกิดความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อเป็น “ความหวัง” อันหนึ่งที่จะป้องกันมิให้เราต้องวนกลับมาอยู่ในวงจรความแตกแยกและขัดแย้งเหมือนในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
ตรงนี้จึงเป็นที่มาของกระแสข้อเรียกร้อง “การปฏิรูป” ก่อนที่จะมุ่งสู่เป้าหมายการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วปลายทางร่วมกันก็คือ การเลือกตั้ง (ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาที่รื้อสร้างใหม่)
การปฏิรูปที่เริ่มเป็นข้อเสนอหลากหลายกระบวนการและขอบเขตในเวลานี้ มีทั้งในแบบ “การปฏิรูปการเมือง” เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจมีความชอบธรรม (การเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา พรรคการเมือง กระบวนการนิติบัญญัติ ฯลฯ) และ “การปฏิรูปประเทศ” ซึ่งมีขอบเขตกว้างกว่าเรื่องปฏิรูปการเมืองมาก
มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ (นโยบายพลังงาน การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ฯลฯ) เรื่องสังคม (ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน ฯลฯ) และเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (การปฏิรูประบบ EIA/EHIA การเข้าถึงฐานทรัพยากร ปฏิรูปที่ดิน การจัดการน้ำ ป่าไม้ ฯลฯ)
โจทย์ที่เป็นปัญหาตามมาเกี่ยวกับกับเรื่องนี้ และเริ่มเป็นข้อถกเถียงหารือกัน มีทั้งเรื่องการปฏิรูปจะมีขอบเขตเพียงใด เรื่องใดทำก่อน-ทำหลัง เรื่องใดควรทำก่อนเลือกตั้ง-หลังเลือกตั้ง จะมีกระบวนการและกฎกติการ่วมกันอย่างไร องค์กรใดเป็นเจ้าภาพ บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะผูกมัดการปฏิรูปกับรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร ฯลฯ รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปปัญหาในแต่ละเรื่อง
สิ่งที่พอจะทำได้ก่อนการเลือกตั้ง (ซึ่งมีเวลาไม่มากนัก แม้ว่าจะสามารถขยายการเลือกตั้งออกไปได้อีก) คือ การกำหนดออกแบบกระบวนการปฏิรูปให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งควรมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเฉพาะ โดยอาจเรียกว่า “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” หรือ “สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” หรือชื่อใดก็ได้ เพื่อรับผิดชอบดูแลกระบวนการปฏิรูป
องค์ประกอบของสภาหรือสมัชชานี้ เป็นเรื่องที่ถกเถียงหารือกันได้เพื่อหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกัน ที่สำคัญควรจัดตั้งโดยการออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้มีสถานะทางกฎหมาย มีเวลาทำงานได้ต่อเนื่องเพียงพอ (แต่ไม่ควรเกิน 2 ปี) และมีผลผูกพันต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ควรออกแบบให้สภา/สมัชชาประชาชนทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่กับโจทย์ปัญหาการปฏิรูปในแต่ละเรื่อง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค รวมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา เพื่อไม่ให้สภา/สมัชชาประชาชนกลายเป็นเวทีที่ผูกขาด รวมศูนย์อำนาจ และเกิดปัญหาแย่งชิงเข้ามาเป็นสมาชิก
หากตกลงยอมรับร่วมกันได้ว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเพียง “รัฐบาลเฉพาะกิจ” มีภารกิจพิเศษเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย (และบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่จำเป็น) มีกรอบเวลาทำงานสัก 1-2 ปี เมื่อได้ข้อสรุปยุติเรื่องกรอบและเนื้อหาการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศที่เสนอมาจากสภาประชาชน/สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ก็ยุบสภาและเลือกตั้งตามกฎกติกาใหม่ ก็จะช่วยลดปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมืองได้มาก
ไม่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิงครอบครองอำนาจระยะยาว และสร้างปัญหาต่อกระบวนการปฏิรูป ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองและสังคมในเวลานี้ ทำให้ทางออกตีบแคบลง แต่ยังไม่ใช่ทางตัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน