จะรู้ได้อย่างไร ว่าม็อบมีกี่คน?
โดย : ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การชุมนุมใหญ่หลายครั้งในเดือนนี้ มองด้วยสายตาก็เห็นอยู่ว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมหาศาล
แต่ตัวเลขที่รายงานโดยฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายผู้ชุมนุม กลับแตกต่างกันมาก วันนี้ผมจึงขอนำ“ศาสตร์ว่าด้วยการนับจำนวนผู้ชุมนุม”มาเล่าสู่กันฟังครับ
ประการแรกอยากบอกว่า การที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมร่วมกันนั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องเกิดจากการต่อต้านบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอไปเพราะคนเป็นหมื่น แสน หรือ ล้านคน ซึ่งออกมาชุมนุมนั้นอาจเกิดจากเหตุแห่งความสุขก็ได้เช่นการไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา หรือร่วมงานรัฐมงคล เช่นงานอภิเษกสมรส หรือเค้าน์ดาวน์ ต้อนรับปีใหม่ เป็นต้น
นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นการประท้วงเสมอไป เพราะผู้คนจำนวนมากอาจมาชุมนุมเพื่อฟังการปราศรัยหาเสียงครั้งสำคัญของนักการเมืองระดับแม่เหล็กบางคน ก็เป็นได้
ประการต่อมาการนับจำนวนผู้ชุมนุมในบางกรณีทำได้ไม่ยากนักเช่นการที่ผู้คนจำนวนมากเข้าไปชมกีฬาในสเตเดี้ยม เป็นต้น เพราะจำนวนที่นั่ง หรือจำนวนการขายบัตร มีความชัดเจน แต่การชุมนุมที่นับจำนวนได้ยาก คือการชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งบานออกไปตามซอกซอยต่างๆ ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ขณะนี้
ประการที่สามการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดตัวเลขของฝ่ายชุมนุม กับของฝ่ายรัฐบาล มักไม่ค่อยตรงกันซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติเช่นการชุมนุมที่ประเทศอียิปต์เมื่อกลางปีนี้ ก็ถกเถียงกันว่ามีจำนวนเท่าใดกันแน่ จึงต้องอาศัยตัวเลขที่ประเมินโดยหลายๆแหล่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นกลาง มาใช้ประกอบการพิจารณา
ศาสตราจารย์ Hannah Fry นักคณิตศาสตร์บอกว่าเมื่อปี 2550 ที่นครลอนดอน มีการชุมนุมต่อต้านสงคราม ฝ่ายตำรวจบอกว่ามีผู้ชุมนุม 10,000 คน แต่ฝ่ายชุมนุมบอกว่า 60,000 คน ต่างกันมากเป็นสัดส่วนถึง 1 ต่อ 6 และในพิธีสาบานตนของนายโอบาม่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเมินอย่างไม่เป็นทางการว่ามีจำนวนผู้ร่วมพิธี 1.8 ล้านคน แต่แหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือได้ บอกว่าประมาณ เกือบล้านคน เท่านั้น
จึงต้องคุยกันหน่อยว่าวิธีการประเมินจำนวนผู้เข้าชุมนุม ที่พอจะเชื่อถือได้นั้น เขาทำกันอย่างไร
วิธีแรกที่ได้รับความนิยมและใช้กันมาก ก็คือคำนวณพื้นที่ชุมนุมเป็นตารางเมตร แล้วคูณด้วยจำนวนผู้ชุมนุมต่อ ต.ร.ม.วิธีนี้เป็นวิทยาศาสตร์และน่าเชื่อถือ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เช่นการคำนวณพื้นที่ชุมนุมอาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะพื้นที่ชุมนุมบนท้องถนนอาจขยายออกไปตามตรอกหรือซอย ที่กระจายพอสมควร นอกจากนั้น การประเมิน“จำนวนผู้ชุมนุมต่อตารางเมตร”ก็ต้องใช้ดุลพินิจประกอบอีกด้วย
ตำราฝรั่งบอกว่า ถ้ายืนสบายๆ จะได้ 3 คนต่อ ต.ร.ม. แต่ถ้าเป็นงานแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งผู้คนแออัดมาก ให้ใช้ตัวเลข 4 คน ต่อ ต.ร.ม. ถ้าเป็นการ “นั่ง” ชุมนุม ก็ใช้ตัวเลขที่น้อยกว่านี้ เป็นต้น นอกจากนั้น ในความเป็นจริง ก็ยังมีประเด็นที่ต้องใช้ดุลพินิจที่สำคัญอีก เช่นบางส่วนของพื้นที่การชุมนุม อาจมีผู้ชุมนุมหนาแน่นมากกว่าหรือน้อยกว่าพื้นที่อื่น จึงต้องปรับจำนวนตัวคูณ เช่นปรับให้เป็น 3.5 คน หรือ 2.5 คน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะทำให้การคำนวณได้ผลลัพท์ต่างกัน
เช่นถ้าพื้นที่ชุมนุมมี 100,000 ต.ร.ม. หากใช้ตัวเลข 2.5 คน กับ 3.5 คนต่อ ต.ร.ม. ก็ทำให้ได้จำนวนผู้ชุมนุม ที่ต่างกันถึง 100,000 คนแล้ว
เท่าที่ผมทราบ นักวิชาการที่ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขอให้มาช่วยในการคำนวณก็ใช้วิธีนี้ คือคำนวณพื้นที่ชุมนุม แล้วคูณด้วยจำนวนผู้ชุมนุมต่อ ต.ร.ม.โดยปรับตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุมต่อ ต.ร.ม. ด้วยการประเมินความหนาแน่นในแต่ละเวที ตั้งแต่ต.ร.ม. ละ 1 คน 2 คน 3 คน 3.5 คน จนถึง 4 คน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจ นอกจากนั้น ยังมีข้อสมมติฐานด้วยว่า ผู้ชุมนุมที่อยู่บนฟุตบาธนั้น มีความหนาแน่นประมาณ 60% ของผู้ชุมนุมบนถนน ซึ่งตรงนี้ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็ต้องใช้ดุลพินิจกันเอาเอง ครับ
การคำนวณที่คล้ายกันอีกวิธีหนึ่ง คือการใช้ภาพถ่ายจากมุมสูง แล้วนำภาพถ่ายนั้นมา “ขีดเส้น”แบ่งออกเป็นช่องๆ แล้วนับจำนวนคนว่าในแต่ละช่องของภาพนั้น มีผู้ชุมนุมประมาณเท่าใด ตัวอย่างเช่น นับแล้วได้จำนวนช่องละประมาณ 100 คน ก็คูณจำนวนช่องทั้งหมด ด้วยตัวเลข 100 จะได้คำตอบว่ามีผู้ชุมนุมทั้งหมดจำนวนเท่าใด
วิธีนี้ก็น่าเชื่อถือ แต่ยังมีข้อจำกัดเหมือนกันคือผู้ชุมนุมไม่ได้กระจายกันอยู่ในทุกๆช่องอย่างเท่าเทียมกัน บางช่องมาก บางช่องน้อย รวมทั้งพื้นที่บางส่วนอาจจะขีดเส้นพื้นที่การชุมนุมได้ไม่ชัดเจนอีกด้วย
อีกวิธีหนึ่งคือการนับจำนวนผู้ชุมนุม ที่เดินผ่านจุดใดจุดหนึ่งเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม เช่นรอนับตามสะพาน หรือ ประตูที่พวกเขาต้องผ่าน เป็นต้น แต่วิธีนี้ก็ยุ่งยากและอาจขาดตกบกพร่องได้อีกเช่นกัน เพราะผู้ชุมนุมบางคน ก็ออกมาร่วมชุมนุมจากพื้นที่นั้นเอง ไม่ได้เดินผ่านสะพานหรือประตูนั้นเลย หรือ บางคนก็เดินผ่านสะพาน หรือประตูหลายแห่ง ก็จะเกิดการนับซ้ำ เป็นต้น
ที่ฮ่องกงวันที่ 1 ก.ค. ของทุกปีจะมีการชุมนุมต่อต้าน ในโอกาสครบรอบการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้แก่ประเทศจีน ซึ่งปี2556 นี้ตำรวจฮ่องกงบอกว่ามีผู้ชุมนุม 66,000 คน แต่ฝ่ายผู้จัดบอกว่ามี 420,000 คนต่างกันมหาศาล ผมคำนวณความแตกต่างนี้ได้สัดส่วนประมาณ 1:6 พอๆกับสัดส่วนที่นครลอนดอนที่กล่าวถึงในตอนต้นเลย (แต่นี่คงไม่ใช่สัดส่วนที่สามารถเอาไปใช้อ้างอิงได้ เสมอไปนะครับ)
Paul Yip ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินจำนวนผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงแห่งนี้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยเขาใช้วิธีนับจำนวนคนที่เดินผ่านจุด A ก่อน แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่รอสำรวจคนที่เดินผ่านจุด B เพื่อถามว่าคนๆนั้นได้เดินผ่านจุด A มาแล้วหรือไม่ ปรากฏว่าปีนี้ เขาได้ตัวเลข100,000 คน ซึ่งก็ต่างจากตัวเลขของที่ตำรวจฮ่องกง และผู้จัด ได้ระบุไว้คุณผู้อ่านก็ต้องไปคิดเอาเอง ว่าจะเชื่อตัวเลขใด
โดยสรุปคือ ไม่มีวิธีใด ที่จะคำนวณตัวเลขผู้ชุมนุมได้อย่างถูกต้องแน่นอน เราจึงต้องรับฟังประมาณการจากแหล่งต่างๆ พร้อมการประมาณด้วยสายตาของเราเอง ว่าผู้ชุมนุมน่าจะมีจำนวนประมาณเท่าใด
ถึงแม้การประเมินตัวเลขอาจไม่แน่นอน แต่ความแน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ในโลกปัจจุบันนั้น ประชาชนหูตากว้างไกลและการสื่อสารเป็นไปอย่างฉับไว การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดได้ไม่ยากนักนอกจากนั้นยังได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่งคือมีหลายเวทีมากยิ่งขึ้น พื้นที่ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่นราชประสงค์ หรือสนามบิน หรือแม้กระทั่งซอยเล็กๆห่างไกลอย่างโยธินพัฒนา 3 ก็เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น ใครที่จะทำการค้าหรือหาแหล่งที่อยู่อาศัย ก็คงต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยว่าพื้นที่ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่นั้น มีแนวโน้มที่อาจจะเกิดการชุมนุมใหญ่ในอนาคตได้หรือไม่ (ซึ่งก็คงประเมินได้ยากพอสมควร)และใครที่บอกว่าไม่สนใจการเมืองและต้องการห่างไกลจากการเมือง ก็คงพูดได้ไม่ค่อยเต็มทีแล้วละครับ
เพราะการชุมนุมทางการเมืองทุกวันนี้ อาจเข้ามาใกล้บ้านท่านได้อย่างนึกไม่ถึงเลยครับ!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน