จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
ปี 2556 ไม่มีใครโดดเด่นทรงอิทธิพลสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเทียบเท่า “มวลมหาประชาชน” อีกแล้ว
ไม่ว่าข้อถกเถียงในเรื่องจำนวนของ “มวลมหาประชาชน” จากฝ่ายต่างๆ จะเป็นอย่างไร แต่การจัดกิจกรรมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อจุดกระแสปฏิรูปประเทศต่อเนื่องกันหลายครั้ง ได้สร้างสถิติมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากสุดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปแล้ว
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลมหาประชาชนยังได้สร้างความตื่นตัว ตื่นรู้ ต่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในสังคมไทยมากมาย กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ จึงเห็นควรที่จะบันทึกให้ “มวลมหาประชาชน” ทั้งหลายเป็นบุคคลแห่งปี 2556
ทั้งนี้ “มวลมหาประชาชน” เป็นคำจำกัดความที่ถูกใช้เรียกประชาชนจากทั่วสารทิศที่หลั่งไหลมารวมตัวกันกลายเป็นคลื่นพลังประชาชนขนาดใหญ่ที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศให้พ้นการครอบงำของกลุ่มนักการเมืองที่ผูกขาดประเทศ
หากเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนคนไทยออกมาแสดงตัวเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น ส่วนใหญ่การรวมตัวของมวลชนจะเกิดขึ้นโดยการปลุกระดมจากองค์กรภาคประชาชน จุดติดบ้างไม่ติดบ้าง หรือจากกลุ่มนักการเมืองใช้วิธีกะเกณฑ์ผู้คนออกมาเรียกร้องในหลายวาระตามแต่ใบสั่งแล้วจากไป
แต่สำหรับการกำเนิดขึ้นของมวลมหาประชาชน จริงอยู่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือ “กำนันสุเทพ” เป็นแกนนำหลัก แต่แรงจูงใจในการขับเคลื่อนล้วนมาจากประชาชนที่สั่งสมความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและพฤติกรรมของ สส.พรรคเพื่อไทย
ทันทีที่รัฐบาลมีความชัดเจนผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับปลดปล่อยโซ่ตรวนให้นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ก็นำพาให้ผู้คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งในโลกโซเชียลมีเดีย กลุ่มองค์กรหลากหลายสาขาวิชาชีพซึ่งเคยหลบซ่อนอยู่ ได้ออกมาแสดงตัวเคลื่อนไหว
แทบไม่มีประเทศไหนบนโลกใบนี้ทำได้เหมือนประเทศไทยด้วยการที่ประชาชนรวมพลังสหบาทาก้าวเดินไปบนท้องถนนแสดงออกถึงการปฏิเสธรัฐบาลอย่างคึกคักนับล้านคน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 24 พ.ย. 9 ธ.ค. และ 22 ธ.ค. ซึ่งแต่ละครั้งสร้างสถิติใหม่โดยตลอด จนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย
มวลมหาประชาชนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในเรื่องรูปแบบและเป้าหมายหลายประการ เช่น ได้สร้างความต่างทางการชุมนุมด้วยการยึดหลัก สงบ สันติ อหิงสา เน้นยุทธวิธีอารยะขัดขืน ด้วยการใช้ “นกหวีด” คอยเป่าปรี๊ดๆ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐบาล
ด้านหนึ่งกล่าวกันว่า คนไทยแต่ละคนมีแค่หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้งมอบความไว้วางใจให้นักการเมืองไปทำหน้าที่แทนในสภา จากนั้นก็ไม่ต้องข้องแวะกัน ทำตัวเป็น “ไทยเฉย” แต่สถานการณ์การเมืองรอบนี้สุกงอมเกินที่จะเฉยอีกต่อไป “มวลมหาประชาชน” จึงได้สร้างปรากฏการณ์ “ไทยตื่น” ขึ้นมา เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แม้เป้าหมายของ “มวลมหาประชาชน” ที่ต้องการเดินไกลไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือการปฏิรูปการเมืองยังไม่สัมฤทธิผล เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนให้ไปเลือกตั้งสร้างรัฐบาลใหม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 จากนั้นค่อยทำการปฏิรูปการเมือง ซึ่งยังคงทำให้ “มวลมหาประชาชน” จำต้องปักหลักต่อสู้อยู่ที่ถนนราชดำเนินอย่างไม่ย่อท้อและไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด
แต่ทว่าการก่อกำเนิดของ “มวลมหาประชาชน” ครั้งนี้ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยนานัปการ ซึ่งสมควรบันทึกไว้เป็นบุคคลแห่งปี 2556
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน