สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปีแห่งการขัดแย้งรุนแรง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

สถานการณ์การเมืองค่อยๆ ไต่ระดับความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละฝ่ายต่างมีส่วนช่วยกันสุมไฟแห่งความขัดแย้ง จนลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า จนเส้นทางการเมืองตีบตันจนยากจะเดินหน้าฝ่าไปข้างหน้า หากพลาดพลั้งย่อมนำไปสู่ความเสียหายรุนแรง โดยรอบปีที่ผ่านมีเหตุการณ์ทางการเมืองและรวมทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์

1.เสียงข้างมากไปไม่รอด
ในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไปไม่รอดเหมือนกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ทั้งที่มีเสียงข้างมากล้นสภากว่า 300 เสียง แต่เมื่อเสียงข้างมากที่มีกลับใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะสมผ่านการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรมลบล้างคดีทุจริต ซึ่งเป็นการท้าทายหลักนิติรัฐ นิติธรรม อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มวลมหาประชาชนจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ออกมามาขับไล่รัฐบาล ในนาม “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย|ที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะตัดสินใจยุบสภา เตรียมเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น

2.เลือกตั้งเดือด
แม้ว่าการยุบสภาจะเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาการเมือง แต่ทว่าการตัดสินใจยุบสภาของนายกฯ ในครั้งนี้กลับได้เพิ่มอุณหภูมิการเมืองให้สูงขึ้น เมื่อกลุ่ม กปปส.ได้ต่อต้านการเลือกตั้งทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเดินขบวนกดดันรัฐบาลไปจนถึงการมาชุมนุมที่หน้าอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่งผลให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่หนึ่งราย จนกระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ออกไปแต่รัฐบาลได้ปฏิเสธ

3.นิรโทษกรรมสุดซอย
กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญทางการเมืองสำหรับการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” ของ “วรชัย เหมะ” อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แต่ถูกเสียงข้างมาก เล่นแร่แปรธาตุจากช่วยเหลือประชาชน มาเปิดทางล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จนกลายเป็นกระแสมวลมหาประชาชนออกมาต่อต้านแบบสุดซอย

4.ล้มสภาผัวเมีย
ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคเพื่อไทย ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปีนี้ได้ปรับแผนเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา 3 ฉบับ และกำลังเป็นปัญหาโดยเฉพาะประเด็น 1.แก้ไขที่มา สว.ที่แก้ไขให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และแก้ไขเนื้อหาเปิดโอกาสให้คู่สมรสและบุพการีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร สว.ได้ แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไข สว.มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

5.สภาผู้เสื่อมเกียรติ
ปี 2556 เป็นอีกปีที่สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สส.จำนวนมากไม่ได้ประพฤติตัวให้สมกับเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เพราะได้แสดงพฤติกรรมในระหว่างการประชุมรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรอยู่บ่อยครั้ง เช่น การยกเก้าอี้ทุ่มใส่พื้นของ เชน เทือกสุบรรณ อดีต สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ หรือการนำรองเท้าขึ้นมาบนโต๊ะของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นต้น ยังไม่นับการใช้คำไม่สุภาพ ตอบโต้ไประหว่าง สส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จนทำให้การประชุมวุ่นวายอีกหลายครั้ง

6.ปฏิรูปไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
กระแสปฏิรูปถูกจุดขึ้นตลอดรอบปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะตอบรับแต่เป็นในลักษณะผิดที่ผิดเวลาเพราะเป็นการพยายามที่จะลดกระแสต่อต้านรัฐบาลมากกว่ามุ่งปฏิรูปจริง ทำให้ชิงตั้งสภาปฏิรูปประเทศโดยให้ บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นแม่งาน ตามด้วยการเชิญโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาบรรยายเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง และล่าสุดตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ จำนวน 11 คน เพื่อลดกระแส กปปส.

7.เก้าอี้ดนตรีรัฐมนตรี
นับเป็นปีที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายตำแหน่งมากที่สุด โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับเก้าอี้ 19 ตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนการมุ่งเน้นแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นสำคัญไม่ว่าจะดึงอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มาเสริมทัพ อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน พร้อมดึงบุคคลที่เชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าร่วม ครม. อาทิ ชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม เบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง อีกทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม

8.คลิปถั่งเช่าเขย่ากองทัพ
คลิปเสียงสนทนาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ได้กลายเป็นประเด็นสั่นคลอนกองทัพและรัฐบาลอย่างรุนแรง เมื่อเนื้อหาสนทนาสะท้อนถึงความพยายามของฝ่ายการเมืองได้มีการเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงและการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านช่องทางของสภากลาโหม แต่ที่สุดแล้วทั้งฝ่ายรัฐบาลและกองทัพได้ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวช่วยกันประคับประคองจนผ่านมาได้ในที่สุด

9.ฟันทุจริตรถดับเพลิง
ในที่สุดคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงก็ได้มาถึงตอนจบในปีนี้ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่า ประชา มาลีนนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 83 พร้อมกับให้จำคุกประชาเป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยทั้งสองอยู่ในระหว่างการหลบหนีคดี

10.ปิดตำนานพญาชาละวัน
ปีนี้ยังเป็นปีแห่งการสูญเสียบุคคลสำคัญทางการเมืองด้วย อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องเสียแม่ทัพของพรรคไปถึง 2 คน คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ชุมพล ศิลปอาชา อดีตรองนายกฯ และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนั้น ยังมีการจากไปของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย รวมไปถึง ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปีแห่งการขัดแย้งรุนแรง

view