สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (3)

หาทางออกให้กับประเทศไทย (3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในครั้งที่แล้วผมเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยใน 3 ด้าน

คือ การลดคอร์รัปชัน การปฏิรูประบบการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ และการกำหนดกรอบนโยบายประชานิยม ซึ่งผมอยากให้นำไปสู่ข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้จริงและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการทำประชามติทั้งนี้เราจะต้องยอมรับว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่ควรจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปี ข้างหน้านั้นเป็น “การลงทุนระยะยาว” หมายความว่าประเทศไทยคงจะต้องยอมรับสภาพที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะต้องเป็นเรื่องรองและนักลงทุนอาจต้องชะลอการลงทุนเพื่อรอให้การเมืองและความปรองดองของประเทศไทยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหวังว่าพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยลำดับของเศรษฐกิจโลกจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ประมาณ 4% ต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ในส่วนของแนวทางการปฏิรูปนั้นผมเสนอให้ปฏิรูปเพียง 3 ด้านเพื่อให้กระชับและสามารถทุ่มเทกำลังและทรัพยากรให้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงการลดคอร์รัปชันก่อน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นเรื่องที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและถูกโยงกับการซื้อเสียง กล่าวคือ มีการกล่าวหาว่านักการเมืองซื้อเสียงเพื่อเข้ามากินหัวคิวในการจัดสรรงบประมาณและทำให้เกิดการต่อต้านการทำโครงการขนาดใหญ่ เพราะกลัวเรื่องคอร์รัปชันซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลสะดุดและ/หรือเชื่องช้ากว่ากำหนดเอาไว้อย่างมาก

ผมเห็นว่าเราควรเน้นมาตรการเพื่อลดคอร์รัปชันมากกว่ามาตรการจับและลงโทษหลังจากที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว บางคนอาจมองว่าการเพิ่มโทษจะทำให้คนไม่กล้าโกง แต่งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อสรุปว่าการเพิ่มโทษไม่ลดการทำผิดมากนักแต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผลนั้นมีผลในการลดการทำความผิดมากกว่า อย่างไรก็ดี กระบวนการยุติธรรมนั้นจำต้องใช้เวลานานเพื่อมิให้คนบริสุทธิ์ถูกทำโทษ (ตามที่กล่าวกันว่าผิดพลาดโดยปล่อยคนผิดไป 10 คนดีกว่าผิดพลาดโดยลงโทษคนบริสุทธิ์ 1 คน) ดังนั้น ผมจึงคิดว่าควรเน้นการหาวิธีการลดการคอร์รัปชันมากกว่า ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะดังนี้

1. กำหนดให้ทางการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกประการในทุกกรณี ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ ให้กำหนดลงใน KPI ของทุกหน่วยงานว่าหากมีการปฏิเสธการให้ข้อมูลกับสาธารณชนมากครั้งเท่าไหร่ ในหนึ่งปีให้เป็นคะแนนลบสำหรับหน่วยงานนั้นๆ

2. การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่นั้นควรสร้างเงื่อนไขและ TOR ให้มีบริษัทชั้นนำในสาขานั้นๆ อย่างน้อย 3 บริษัทยื่นประมูลโครงการ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่มีกำหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่มีศักยภาพบางคนจะจำได้ว่ากรณีทุจริตเครื่อง CTX ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นเราได้ข้อมูลมาจากการทำผิดกฎหมายของสหรัฐ ดังนั้น โครงการขนาดใหญ่ของไทยนั้นคงจะต้องมีความโปร่งใสเพียงพอที่บริษัทจากประเทศสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ยื่นซองประมูลแข่งด้วยจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ มิฉะนั้นก็ควรจะแก้ไขกฎเกณฑ์จนกระทั่งมีการยื่นประมูลจากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงในจำนวนที่เหมาะสม

3. เมื่อปี 2555 ธนาคารโลกจัดอันดับให้ไทยมีคุณภาพบรรษัทภิบาล (Corporate Governance-CG) เป็นอันดับ 3 ของเอเชียและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน (Asean Capital Markets Forum-ACMF) ได้จัดให้ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน (ข้อมูลจากหนังสือ “บรรยง พงษ์พานิช: คิด” ซึ่งจะตีพิมพ์ปลายปี 2556) หมายความว่าหากคนไทยสร้างระบบธรรมาภิบาลที่มีมาตรฐานสากลได้ในภาคเอกชน ทำไมเราจะทำให้ภาครัฐมีธรรมาภิบาลไม่ได้? ที่สำคัญคือการนำเอามาตรการกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่บังคับใช้กับบริษัทในตลาดทุนมาบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจของไทยทั้งที่เป็นภาคการผลิตและภาคการเงิน (ธนาคารของรัฐ) เช่น การกำหนดให้ต้องถูกตรวจสอบบัญชีและเปิดเผยข้อมูลทุกไตรมาสโดยสำนักงานตรวจสอบบัญชีชั้นนำของเอกชนก็น่าจะลดการทุจริตได้อย่างมาก ทั้งนี้ ต้องเข้าใจร่วมกันว่าภาครัฐนั้นมีอำนาจควบคุมทรัพยากรของเศรษฐกิจไทยที่กว้างขวางมากเช่น

3.1 รัฐบาลเก็บภาษีปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 18% ของจีดีพี (11 ล้านล้านบาท) ในขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจ (ในด้านการธนาคาร พลังงานไฟฟ้า โทรคมนาคม ฯลฯ) ก็มีรายได้มูลค่าใกล้เคียงกัน แปลว่าในเชิงของกระแสเงินจากรายได้นั้นภาครัฐรับผิดชอบกับเงินปีละ 4 ล้านล้านบาท

3.2 ในเชิงของทรัพย์สินนั้นยิ่งมีมูลค่ามากกว่านี้อีกหลายเท่า เช่น สินทรัพย์ของธนาคารรัฐ (ซึ่งส่วนใหญ่คือการระดมเงินฝากจากประชาชนมาปล่อยกู้) ก็เท่ากับ 4 ล้านล้านบาทแล้ว นอกจากนั้นมูลค่าหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (ส่วนใหญ่คือพลังงาน) ก็มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท หมายความว่าการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีที่เข้มงวดสำหรับรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินโดยละเอียดทุกไตรมาส น่าจะช่วยลดปริมาณของการคอร์รัปชันได้อย่างมีนัยสำคัญ

4. การอนุมัติใบอนุญาตของภาครัฐที่เป็นการให้ประโยชน์โดยเฉพาะการให้ประโยชน์ในรูปของการผูกขาดนั้นจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด และหากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจการพาณิชย์ก็ควรที่จะเปิดประมูลใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อให้ผลประโยชน์กลับสู่รัฐ เช่น ปัจจุบันที่มีการประมูลทะเบียนรถยนต์เลขตอง เลขเดี่ยว ฯลฯ ควรจะนำมาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยอาจรวมถึงใบอนุญาตให้เปิดธุรกิจใหม่ซึ่งใบอนุญาตมีอยู่จำกัด แทนที่จะปล่อยให้เป็นอำนาจของหน่วยงานที่อาจนำไปสู่การเรียกเงินใต้โต๊ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หาทางออกให้กับประเทศไทย (3)

view