จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
รอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่น่าปลาบปลื้ม ปีติยินดีของคนทั้งแผ่นดิน และเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความรู้สึกของประชาชน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ได้ประมวลรวบรวม ยกให้เป็นเรื่องของ “มวลมหาเหตุการณ์” โดยมีรายละเอียดดังนี้
มวลมหาประชาปีติ
ข่าวที่น่าปลาบปลื้มใจที่มากที่สุดในรอบปีนี้ ของพสกนิกรชาวไทย คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช กลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2556 โดย หลังต้องเข้ารักษาพระอาการประชวร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2552 โดยตลอดเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราช กลับไปยังวังไกลกังวล มีประชาชนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง
ขณะเดียวกันในวันที่ 5 ธ.ค. มวลประชาชนคนไทย ต่างได้ปลาบปลื้มปีติกันทั้งประเทศ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเนื่องในการเสด็จออกมหาสมาคมในครั้งนี้ว่า “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิต พร้อมๆ กันมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาด้วยประการต่างๆ ข้าพเจ้าขอสนองพรและไมตรีจิตเหล่านั้นด้วยใจจริงเช่นกัน บ้านเมืองของเราสงบสุขมาช้านาน เพราะเรามีความเป็นปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจทำหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มากและตั้งใจประพฤติตัว ปฏิบัติงานให้สมภาระและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย
ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป”
มวลมหาประชาชน
รอบปี 2556 ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดสำคัญเท่ากับประชาชนทั่วทุกสารทิศออกมารวมตัวแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย การก่อตัวของประชาชนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่กลุ่มหน้ากากขาว กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ แต่ยังไม่สามารถเขย่ารัฐบาลตกหอคอยงาช้างได้
ครั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจุดชนวนเรียกแขกด้วยการชงร่าง กม.นิรโทษกรรรมฉบับสุดซอย ผ่านความเห็นชอบจากสภาในวาระ 3 รวมถึงโหมไฟด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา สว.ชนิดรวบรัดตัดตอน ตกเป็นที่เอือมระอาในสังคมวงกว้าง ทำให้พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. ตัดสินใจเป่านกหวีดให้ประชาชนออกมารวมตัวคัดค้านนำไปสู่การชุมนุมที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน
ม็อบนกหวีดสามเสนปลุกเร้าให้กลุ่มประชาชนอื่นๆ แสดงเจตจำนงคัดค้านมากขึ้น โดย วันที่ 24 พ.ย.ผู้คนหลั่งไหลมาชุมนุมกันเนืองแน่น มากกว่าเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ต.ค. 2516
การแสดงพลังประชาชนจำนวนมหาศาลยังดำเนินต่อไปโดย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ได้พร้อมใจออกมาเดินตามท้องถนน 9 สายหลักใน กทม. กระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ต้องตัดสินใจประกาศยุบสภา ถึงกระนั้นการชุมนุมคงทุบสถิติเพิ่มยอดผู้ชุมนุมต่อไปโดยเฉพาะวันที่ 22 ธ.ค. ก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้ง มีมวลมหาประชาชนออกมาแสดงพลังทั่วกรุงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางตั้งสภาประชาชนทำการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง และจนถึงขณะนี้การชุมนุมของ “มวลมหาประชาชน” ยังคงดำเนินต่อไป
มวลมหาโซเชียล มีเดีย
พลังการขับเคลื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รวมถึงเว็บบอร์ดต่างๆ มีส่วนสำคัญให้มวลมหาประชาชนออกมาไล่รัฐบาล และจากการเก็บสถิติของ Zocialeye.com บริษัทเก็บข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์ก พบว่า คนไทยมีการส่งข้อความ รูปภาพ และคลิปวิดีโอ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง รวมแล้วเป็นจำนวนระหว่าง 5 แสน–1 ล้านครั้งตลอดช่วงเวลาเดือน พ.ย.–ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยทวิตเตอร์มียอดการโพสต์ข้อความสูงที่สุด 1 ล้านครั้งต่อวัน เพราะสะดวก รวดเร็ว และง่าย
ขณะที่ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ช่วงสูงที่สุด 5-6 แสนครั้งต่อวัน รวมถึงการนำเสนอคลิปวิดีโอจากสถานที่ต่างๆ ที่เกิดเหตุความรุนแรงขณะมีการชุมนุมประท้วง เช่น รอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง รอบบริเวณทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างมวลมหาประชาชนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เหตุการณ์ปลุกขวัญและกำลังใจ กิจกรรมสันทนาการ บรรยากาศการชุมนุม ทั้งหมดมีส่วนดึงดูดให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มไทยเฉย หรือไทยอดทน ตัดสินใจเดินทางออกมาร่วมชุมนุม
มวลมหากู้
แคมเปญเลือกตั้งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ชูเป็นประเด็นโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่า “เป็นรัฐบาลที่ดีแต่กู้” แต่แค่เพียงเวลาปีเศษ ที่ ยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศ กลับเป็นรัฐบาลที่สร้างสถิติขอก่อหนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศปลายปี 2554 ก็เดินหน้ากู้จากการทำงบประมาณปี 2555 ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่พังเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ จากนั้นรัฐบาลก็ขอสภาออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ ทำให้ไม่ถึงปีรัฐบาลต้องเดินหน้ากู้เงินถึง 7 แสนล้านบาท
ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลยังทำงบประมาณขาดดุลอีก 3 แสนล้านบาท และปี 2557 อีก 2.5 แสนล้านบาท เพื่อเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นภาระเงินกู้ที่รัฐบาลต้องกู้รวมกันอีก 5.5 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับภาระหนี้ส่วนแรกทำให้รัฐบาลสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศรวมกันแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งหมดยังไม่รวมกับภาระเงินกู้ในโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่การดำเนินการใน 2 ปีแรกที่ผ่านมา มีการใช้เงินไปแล้วถึง 6.8 แสนล้านบาท ขณะที่การรับจำนำในปีที่ 3 ต้องใช้เงินอีก 2.7 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะต้องมาจากเงินกู้ทั้งหมด ทำให้ภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวสูงถึง 1.05 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมภาระหนี้จากการขาดดุลงบประมาณ การออก พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ และเงินกู้ที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลทำให้รัฐบาลนี้สร้างภาระเงินกู้ให้กับประเทศเป็นยอดรวมกันถึง 2.3 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังได้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จะทำให้การสร้างภาระให้กับประเทศนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 ล้านล้านบาทในทันที
การกู้เงินจำนวนมาก ส่งผลให้ภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 ถึง ก.ย. 2556 กระทรวงการคลังรายงานว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 1.05 ล้านล้านบาท หรือ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งหนี้ของประเทศล่าสุดอยู่ที่ 5.43 ล้านล้านบาท หรือ 45.9% ของจีดีพี
มวลมหาเจ๊ง
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่สร้างความเสียหาย มีหลายโครงการ เจ๊งแรก คือ โครงจำนำข้าว ตันละ 1.5 หมื่นบาท เริ่มทำมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 และ 2555/2556 เพียงแค่ 2 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินไปแล้วทั้งกว่า 6.88 แสนล้านบาท ยังไม่รวมของปีปัจจุบัน 2556/2557 ที่ยังต้องใช้เงินอีก 2.7 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการใช้งบทำประชานิยมเพียงโครงการเดียวที่มากที่สุด โดยนักวิชาการประมาณว่าโครงการจำนำข้าวนี้จะขาดทุน และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาท
เจ๊งที่ 2 คือ โครงการรถคันแรก ซึ่งมีที่มาที่ไปคือรัฐบาลอยากจะช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เจอผลกระทบจากมหาอุทกภัย และคิดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จึงจะคืนภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ซื้อรถยนต์อีโคคาร์ สูงสุด 1 แสนบาท ภายในปี 2555 แต่โครงการรถคันแรก ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด
ทั้งนี้ เพราะการซื้อรถยนต์ได้ถูกลงทำให้ประชาชนแห่ซื้อรถทั้งที่บางคนยังมีรายได้ไม่เหมาะสมที่จะซื้อรถ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเพิ่มขึ้นจาก 50% ของจีดีพี เป็น 80% คิดเป็นเงิน 8 ล้านล้านบาท ฉุดให้ยอดการบริโภคในภาพรวมของประเทศลดลง เศรษฐกิจจึงชะลอตัวลงอย่างช้าๆ แถมยังไปทำให้คนที่จะซื้อบ้านซื้อไม่ได้ เพราะมีหนี้ต่อรายได้เต็มเพดานไปแล้ว
เจ๊งที่ 3 คือ การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ผลจากการที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง และ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง แต่งตั้งคนจากการเมืองที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในแบงก์รัฐ 2 แห่งคือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ทำให้หนี้เสียพุ่งสูงทะลุ 4.3 หมื่นล้านบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) มีหนี้เสียสูงกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จนกระทรวงการคลังต้องสั่งทำแผนฟื้นฟูเป็นการเร่งด่วน แถมยังขอให้ธนาคารออมสินเตรียมเงินไว้ให้ 7 หมื่นล้านเพื่อช่วยสภาพคล่องหากทั้งสอง ธนาคารมีปัญหา
มวลมหาแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ
บรรดาแมลงเม่าในตลาดหุ้นไทยปี 2556 ไม่ได้รอดจากกองไฟบินฉวัดเฉวียนเหนือกองไฟอย่างสวยงามเหมือนปีที่ผ่านมา ใครที่หลงเข้าไปในปีนี้ บาดเจ็บระนาวออกมา จากตัวเลขแมลงเม่าหน้าใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นมากกว่า 9.6 หมื่นคน จะรอดตายสักกี่คน ในจังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ต้นปี 2556 ดัชนีมีฐานจากปี 2555 ที่ 1,391.93 จุด ได้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล หรือมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง หรือ QE จากสหรัฐ ช่วยกันโหมตลาด กว่า 5 เดือน ขึ้นไปสูงสุด 1,643.43 จุด ( 21 พ.ค.) หรือ 251.50 จุด คิดเป็น 18%
เส้นทางตลาดสำหรับแมลงเม่าไม่ได้ส่องสว่าง แต่กลับเป็นไฟเผาแมลงเม่า เพราะจู่ๆ มาตรการ QE ก็พลิกไป-มา เลิก-เลื่อน ถอน-ถอย ตลอดทั้งปี และการเดินขบวนคนหลากสี กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีเผาแมลงเม่า ดัชนีที่ขึ้นไปสูงสุด 1,643.43 จุด วันที่ 28 ส.ค. หล่นตุ๊บลงมาต่ำสุดปีนี้ 1,275 จุด หรือร่วงจากที่เคยสูงสุด 367.67 จุด (22.37%) นักลงทุนที่ขึ้นดอย เสียหายทันที
ความร่ำรวยที่เคยมี ณ ต้นปี 11.83 ล้านล้านบาท ในปลายปี 2555 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปัจจุบัน 11.84 ล้านล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่รวมหุ้นใหม่ที่เข้ามาแล้ว นักลงทุนจนลง ดูได้จากหุ้น ปตท. ( PTT ) ขึ้นไปสูงสุด 368 บาท ปัจจุบันต่ำกว่า 300 ล้านบาท หรือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) |เคยทะลุไป 311 บาท ลงมาต่ำสุด 194 บาท สรุปทั้งปี นักลงทุนขาดทุนมากกว่า 6%
มวลมหาส่งออกฟุบ
ตัวเลขการส่งออกไทยในปี 2556 จัดเป็นปีที่มีการปรับเป้าหมายส่งออกเกือบทุกไตรมาส เนื่องจากผลกระทบทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
ไล่ตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายขยายตัวสูงถึง 8-9% ในช่วงต้นปี แต่ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออก เพื่อชดเชยต้นทุนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น จนกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อตามมา
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกภาคการส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูป ที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ทำให้ผลผลิตกุ้งภายในประเทศลดลงมากกว่าครึ่งจนการส่งออกในกลุ่มนี้ติดลบมากถึง 40% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ต้องรอลุ้นอย่างหนักว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายได้ตามเป้าหมายหรือไม่
มวลมหาของแพง
ของแพงเป็นแค่ความรู้สึก กลายเป็นวลีเด็ดรอบปี 2556 เมื่อการแถลงอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์มีอัตราเติบโตชะลอตัวลงต่อเนื่องหลายเดือน สวนทางกับความรู้สึกของประชาชน เพราะต้องควักเงินในกระเป๋ามาซื้อสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์กลับออกมาระบุว่าประชาชนคิดไปเอง ว่าสินค้าแพง
ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหาร เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2556 เมื่อการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. และการทยอยปรับราคาขึ้นของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ส่งผลต่อจิตวิทยาทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าปรับราคาสินค้าขึ้นล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ในท้องตลาดทั่วไปที่ขยับราคาจากเดิมขายจานละ 25-35 บาท มาเป็น 35-45 บาท
ผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องใช้มาตรการราคาแนะนำเมนูอาหารจานด่วนมาควบคุมสถานการณ์ และส่งร้านอาหารธงฟ้าเข้าไปแทรกแซงตลาดอีกครั้ง แต่ราคาสินค้าอาหารกลับถูกซ้ำเติมด้วยวัฏจักรของสินค้าเกษตรทั้งผักสด เนื้อหมู โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ราคาขยับขึ้นสูงสุดในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลล้มเหลวในการดูแลราคาสินค้าอย่างสิ้นเชิง
มวลมหาทุนไทยบุกเออีซี
ปี 2556 ได้มีกระแสเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 กันมาก แต่บริษัทที่มุ่งหมายขยายกิจการไปทั่วอาเซียนกลับเป็นบริษัทหน้าเดิม คือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพขยายงานไปอาเซียนอย่างต่อเนื่องจากที่เคยทำมา นั่นคือ บริษัทเครือข่ายพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเครือ บริษัท ปตท. และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
เครือซิเมนต์ไทยรุกซื้อกิจการต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2550-2556 จำนวน 57 บริษัท มูลค่าลงทุน 5.7–6 หมื่นล้านบาทและพลิกฟื้นกิจการได้หมดในจำนวนนี้เป็นการซื้อกิจการในเอเชีย 45 บริษัท ผลการรุกกิจการดังกล่าวทำให้ยอดขายของกลุ่มนี้สูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
สำหรับเครือ ปตท.ไม่น้อยหน้ารุกหนักอาเซียนในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพม่าก่อนหน้าชาติตะวันตกนานร่วม 23 ปี และเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่บริษัทจัดว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในการรุกต่างประเทศและมีหลายโครงการในนั้น
ล่าสุดร่วมทุนกับบริษัทในเครือบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย เข้าไปซื้อบริษัทในอินโดนีเซีย
นอกจากนั้น บริษัทปิโตรเคมีในเครือ ปตท.คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยังร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซียสร้างโรงงานปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ระดับโลก และยังมีโครงการร่วมทุนในการทำการตลาดและการค้า นำร่องการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ในอินโดนีเซีย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน