สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มวลมหาเหตุการณ์ปี2556

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

รอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่น่าปลาบปลื้ม ปีติยินดีของคนทั้งแผ่นดิน และเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความรู้สึกของประชาชน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ได้ประมวลรวบรวม ยกให้เป็นเรื่องของ “มวลมหาเหตุการณ์” โดยมีรายละเอียดดังนี้

มวลมหาประชาปีติ

ข่าวที่น่าปลาบปลื้มใจที่มากที่สุดในรอบปีนี้ ของพสกนิกรชาวไทย คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช กลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2556 โดย หลังต้องเข้ารักษาพระอาการประชวร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2552 โดยตลอดเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราช กลับไปยังวังไกลกังวล มีประชาชนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง

ขณะเดียวกันในวันที่ 5 ธ.ค. มวลประชาชนคนไทย ต่างได้ปลาบปลื้มปีติกันทั้งประเทศ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเนื่องในการเสด็จออกมหาสมาคมในครั้งนี้ว่า “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิต พร้อมๆ กันมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาด้วยประการต่างๆ ข้าพเจ้าขอสนองพรและไมตรีจิตเหล่านั้นด้วยใจจริงเช่นกัน บ้านเมืองของเราสงบสุขมาช้านาน เพราะเรามีความเป็นปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจทำหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มากและตั้งใจประพฤติตัว ปฏิบัติงานให้สมภาระและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย

ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป”

มวลมหาประชาชน

รอบปี 2556 ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดสำคัญเท่ากับประชาชนทั่วทุกสารทิศออกมารวมตัวแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย การก่อตัวของประชาชนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่กลุ่มหน้ากากขาว กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ แต่ยังไม่สามารถเขย่ารัฐบาลตกหอคอยงาช้างได้
ครั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจุดชนวนเรียกแขกด้วยการชงร่าง กม.นิรโทษกรรรมฉบับสุดซอย ผ่านความเห็นชอบจากสภาในวาระ 3 รวมถึงโหมไฟด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา สว.ชนิดรวบรัดตัดตอน ตกเป็นที่เอือมระอาในสังคมวงกว้าง ทำให้พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. ตัดสินใจเป่านกหวีดให้ประชาชนออกมารวมตัวคัดค้านนำไปสู่การชุมนุมที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน

ม็อบนกหวีดสามเสนปลุกเร้าให้กลุ่มประชาชนอื่นๆ แสดงเจตจำนงคัดค้านมากขึ้น โดย วันที่ 24 พ.ย.ผู้คนหลั่งไหลมาชุมนุมกันเนืองแน่น มากกว่าเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ต.ค. 2516

การแสดงพลังประชาชนจำนวนมหาศาลยังดำเนินต่อไปโดย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ได้พร้อมใจออกมาเดินตามท้องถนน 9 สายหลักใน กทม. กระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ต้องตัดสินใจประกาศยุบสภา ถึงกระนั้นการชุมนุมคงทุบสถิติเพิ่มยอดผู้ชุมนุมต่อไปโดยเฉพาะวันที่ 22 ธ.ค. ก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้ง มีมวลมหาประชาชนออกมาแสดงพลังทั่วกรุงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางตั้งสภาประชาชนทำการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง และจนถึงขณะนี้การชุมนุมของ “มวลมหาประชาชน” ยังคงดำเนินต่อไป

มวลมหาโซเชียล มีเดีย

พลังการขับเคลื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รวมถึงเว็บบอร์ดต่างๆ มีส่วนสำคัญให้มวลมหาประชาชนออกมาไล่รัฐบาล และจากการเก็บสถิติของ Zocialeye.com บริษัทเก็บข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์ก พบว่า คนไทยมีการส่งข้อความ รูปภาพ และคลิปวิดีโอ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง รวมแล้วเป็นจำนวนระหว่าง 5 แสน–1 ล้านครั้งตลอดช่วงเวลาเดือน พ.ย.–ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยทวิตเตอร์มียอดการโพสต์ข้อความสูงที่สุด 1 ล้านครั้งต่อวัน เพราะสะดวก รวดเร็ว และง่าย

ขณะที่ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ช่วงสูงที่สุด 5-6 แสนครั้งต่อวัน รวมถึงการนำเสนอคลิปวิดีโอจากสถานที่ต่างๆ ที่เกิดเหตุความรุนแรงขณะมีการชุมนุมประท้วง เช่น รอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง รอบบริเวณทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างมวลมหาประชาชนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เหตุการณ์ปลุกขวัญและกำลังใจ กิจกรรมสันทนาการ บรรยากาศการชุมนุม ทั้งหมดมีส่วนดึงดูดให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มไทยเฉย หรือไทยอดทน ตัดสินใจเดินทางออกมาร่วมชุมนุม

มวลมหากู้

แคมเปญเลือกตั้งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ชูเป็นประเด็นโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่า “เป็นรัฐบาลที่ดีแต่กู้” แต่แค่เพียงเวลาปีเศษ ที่ ยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศ กลับเป็นรัฐบาลที่สร้างสถิติขอก่อหนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศปลายปี 2554 ก็เดินหน้ากู้จากการทำงบประมาณปี 2555 ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่พังเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ จากนั้นรัฐบาลก็ขอสภาออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ ทำให้ไม่ถึงปีรัฐบาลต้องเดินหน้ากู้เงินถึง 7 แสนล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลยังทำงบประมาณขาดดุลอีก 3 แสนล้านบาท และปี 2557 อีก 2.5 แสนล้านบาท เพื่อเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นภาระเงินกู้ที่รัฐบาลต้องกู้รวมกันอีก 5.5 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับภาระหนี้ส่วนแรกทำให้รัฐบาลสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศรวมกันแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งหมดยังไม่รวมกับภาระเงินกู้ในโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่การดำเนินการใน 2 ปีแรกที่ผ่านมา มีการใช้เงินไปแล้วถึง 6.8 แสนล้านบาท ขณะที่การรับจำนำในปีที่ 3 ต้องใช้เงินอีก 2.7 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะต้องมาจากเงินกู้ทั้งหมด ทำให้ภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวสูงถึง 1.05 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมภาระหนี้จากการขาดดุลงบประมาณ การออก พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ และเงินกู้ที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลทำให้รัฐบาลนี้สร้างภาระเงินกู้ให้กับประเทศเป็นยอดรวมกันถึง 2.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังได้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จะทำให้การสร้างภาระให้กับประเทศนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 ล้านล้านบาทในทันที

การกู้เงินจำนวนมาก ส่งผลให้ภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 ถึง ก.ย. 2556 กระทรวงการคลังรายงานว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 1.05 ล้านล้านบาท หรือ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งหนี้ของประเทศล่าสุดอยู่ที่ 5.43 ล้านล้านบาท หรือ 45.9% ของจีดีพี

มวลมหาเจ๊ง

นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่สร้างความเสียหาย มีหลายโครงการ เจ๊งแรก คือ โครงจำนำข้าว ตันละ 1.5 หมื่นบาท เริ่มทำมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 และ 2555/2556 เพียงแค่ 2 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินไปแล้วทั้งกว่า 6.88 แสนล้านบาท ยังไม่รวมของปีปัจจุบัน 2556/2557 ที่ยังต้องใช้เงินอีก 2.7 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการใช้งบทำประชานิยมเพียงโครงการเดียวที่มากที่สุด โดยนักวิชาการประมาณว่าโครงการจำนำข้าวนี้จะขาดทุน และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาท

เจ๊งที่ 2 คือ โครงการรถคันแรก ซึ่งมีที่มาที่ไปคือรัฐบาลอยากจะช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เจอผลกระทบจากมหาอุทกภัย และคิดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จึงจะคืนภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ซื้อรถยนต์อีโคคาร์ สูงสุด 1 แสนบาท ภายในปี 2555 แต่โครงการรถคันแรก ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด

ทั้งนี้ เพราะการซื้อรถยนต์ได้ถูกลงทำให้ประชาชนแห่ซื้อรถทั้งที่บางคนยังมีรายได้ไม่เหมาะสมที่จะซื้อรถ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเพิ่มขึ้นจาก 50% ของจีดีพี เป็น 80% คิดเป็นเงิน 8 ล้านล้านบาท ฉุดให้ยอดการบริโภคในภาพรวมของประเทศลดลง เศรษฐกิจจึงชะลอตัวลงอย่างช้าๆ แถมยังไปทำให้คนที่จะซื้อบ้านซื้อไม่ได้ เพราะมีหนี้ต่อรายได้เต็มเพดานไปแล้ว

เจ๊งที่ 3 คือ การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ผลจากการที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง และ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง แต่งตั้งคนจากการเมืองที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในแบงก์รัฐ 2 แห่งคือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ทำให้หนี้เสียพุ่งสูงทะลุ 4.3 หมื่นล้านบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) มีหนี้เสียสูงกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จนกระทรวงการคลังต้องสั่งทำแผนฟื้นฟูเป็นการเร่งด่วน แถมยังขอให้ธนาคารออมสินเตรียมเงินไว้ให้ 7 หมื่นล้านเพื่อช่วยสภาพคล่องหากทั้งสอง ธนาคารมีปัญหา

มวลมหาแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ

บรรดาแมลงเม่าในตลาดหุ้นไทยปี 2556 ไม่ได้รอดจากกองไฟบินฉวัดเฉวียนเหนือกองไฟอย่างสวยงามเหมือนปีที่ผ่านมา ใครที่หลงเข้าไปในปีนี้ บาดเจ็บระนาวออกมา จากตัวเลขแมลงเม่าหน้าใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นมากกว่า 9.6 หมื่นคน จะรอดตายสักกี่คน ในจังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ต้นปี 2556 ดัชนีมีฐานจากปี 2555 ที่ 1,391.93 จุด ได้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล หรือมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง หรือ QE จากสหรัฐ ช่วยกันโหมตลาด กว่า 5 เดือน ขึ้นไปสูงสุด 1,643.43 จุด ( 21 พ.ค.) หรือ 251.50 จุด คิดเป็น 18%

เส้นทางตลาดสำหรับแมลงเม่าไม่ได้ส่องสว่าง แต่กลับเป็นไฟเผาแมลงเม่า เพราะจู่ๆ มาตรการ QE ก็พลิกไป-มา เลิก-เลื่อน ถอน-ถอย ตลอดทั้งปี และการเดินขบวนคนหลากสี กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีเผาแมลงเม่า ดัชนีที่ขึ้นไปสูงสุด 1,643.43 จุด วันที่ 28 ส.ค. หล่นตุ๊บลงมาต่ำสุดปีนี้ 1,275 จุด หรือร่วงจากที่เคยสูงสุด 367.67 จุด (22.37%) นักลงทุนที่ขึ้นดอย เสียหายทันที

ความร่ำรวยที่เคยมี ณ ต้นปี 11.83 ล้านล้านบาท ในปลายปี 2555 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปัจจุบัน 11.84 ล้านล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่รวมหุ้นใหม่ที่เข้ามาแล้ว นักลงทุนจนลง ดูได้จากหุ้น ปตท. ( PTT ) ขึ้นไปสูงสุด 368 บาท ปัจจุบันต่ำกว่า 300 ล้านบาท หรือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) |เคยทะลุไป 311 บาท ลงมาต่ำสุด 194 บาท สรุปทั้งปี นักลงทุนขาดทุนมากกว่า 6%

มวลมหาส่งออกฟุบ

ตัวเลขการส่งออกไทยในปี 2556 จัดเป็นปีที่มีการปรับเป้าหมายส่งออกเกือบทุกไตรมาส เนื่องจากผลกระทบทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

ไล่ตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายขยายตัวสูงถึง 8-9% ในช่วงต้นปี แต่ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออก เพื่อชดเชยต้นทุนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น จนกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อตามมา

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกภาคการส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูป ที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ทำให้ผลผลิตกุ้งภายในประเทศลดลงมากกว่าครึ่งจนการส่งออกในกลุ่มนี้ติดลบมากถึง 40% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ต้องรอลุ้นอย่างหนักว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายได้ตามเป้าหมายหรือไม่

มวลมหาของแพง

ของแพงเป็นแค่ความรู้สึก กลายเป็นวลีเด็ดรอบปี 2556 เมื่อการแถลงอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์มีอัตราเติบโตชะลอตัวลงต่อเนื่องหลายเดือน สวนทางกับความรู้สึกของประชาชน เพราะต้องควักเงินในกระเป๋ามาซื้อสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์กลับออกมาระบุว่าประชาชนคิดไปเอง ว่าสินค้าแพง

ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหาร เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2556 เมื่อการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. และการทยอยปรับราคาขึ้นของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ส่งผลต่อจิตวิทยาทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าปรับราคาสินค้าขึ้นล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ในท้องตลาดทั่วไปที่ขยับราคาจากเดิมขายจานละ 25-35 บาท มาเป็น 35-45 บาท

ผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องใช้มาตรการราคาแนะนำเมนูอาหารจานด่วนมาควบคุมสถานการณ์ และส่งร้านอาหารธงฟ้าเข้าไปแทรกแซงตลาดอีกครั้ง แต่ราคาสินค้าอาหารกลับถูกซ้ำเติมด้วยวัฏจักรของสินค้าเกษตรทั้งผักสด เนื้อหมู โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ราคาขยับขึ้นสูงสุดในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลล้มเหลวในการดูแลราคาสินค้าอย่างสิ้นเชิง

มวลมหาทุนไทยบุกเออีซี

ปี 2556 ได้มีกระแสเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 กันมาก แต่บริษัทที่มุ่งหมายขยายกิจการไปทั่วอาเซียนกลับเป็นบริษัทหน้าเดิม คือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพขยายงานไปอาเซียนอย่างต่อเนื่องจากที่เคยทำมา นั่นคือ บริษัทเครือข่ายพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเครือ บริษัท ปตท. และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย

เครือซิเมนต์ไทยรุกซื้อกิจการต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2550-2556 จำนวน 57 บริษัท มูลค่าลงทุน 5.7–6 หมื่นล้านบาทและพลิกฟื้นกิจการได้หมดในจำนวนนี้เป็นการซื้อกิจการในเอเชีย 45 บริษัท ผลการรุกกิจการดังกล่าวทำให้ยอดขายของกลุ่มนี้สูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

สำหรับเครือ ปตท.ไม่น้อยหน้ารุกหนักอาเซียนในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพม่าก่อนหน้าชาติตะวันตกนานร่วม 23 ปี และเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่บริษัทจัดว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในการรุกต่างประเทศและมีหลายโครงการในนั้น

ล่าสุดร่วมทุนกับบริษัทในเครือบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย เข้าไปซื้อบริษัทในอินโดนีเซีย

นอกจากนั้น บริษัทปิโตรเคมีในเครือ ปตท.คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยังร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซียสร้างโรงงานปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ระดับโลก และยังมีโครงการร่วมทุนในการทำการตลาดและการค้า นำร่องการตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ในอินโดนีเซีย 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มวลมหาเหตุการณ์ปี2556

view