สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อเท็จจริงปะทะสนามไทย-ญี่ปุ่น

ข้อเท็จจริงปะทะสนามไทย-ญี่ปุ่น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปากคำ"นักข่าว-ตร.-ช่างภาพ"ไขปมปะทะเดือดสนามไทย-ญี่ปุ่น

คลี่คลายไป "เปราะ" หนึ่ง คือ เรื่อง"ชายชุดดำ" บนดาดฟ้ากระทรวงแรงงานที่สุดท้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมายอมรับว่า เป็น "ตำรวจ" แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาใจ สำหรับเหตุการณ์ปะทะที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา

วันดังกล่าวเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองที่ไปลงชื่อสมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อไว้ และพรรคการเมืองที่เข้าไปสมัครไม่ได้ แต่ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ดินแดง และกองปราบฯ ให้มาจับสลากหมายเลข

วันนั้น กกต.สามารถดำเนินการให้พรรคการเมืองจับสลากได้ แต่เป็นการจับสลากท่ามกลางการยิงแก๊สน้ำตา เสียงปืน เสียงประทัดยักษ์ จากการปะทะกันของฝ่ายผู้ชุมนุม และตำรวจ ซึ่งสุดท้ายมีผู้เสียชีวิตไปฝั่งละคน

ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น ซึ่งไปเฝ้าทำข่าวตั้งแต่เช้า เล่าว่า วันนั้นไปถึงที่หน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นประมาณ 7 โมงเช้า พร้อมๆ กับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มแรกที่เดินทางไปโดยรถชนิดต่างๆ มีนายอมร อมรรัตนานนท์ เป็นแกนนำอยู่บนรถเครื่องเสียง

"พอมาถึง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ไปออกันอยู่ที่บริเวณประตู 2 เพราะเป็นประตูใหญ่ของสนามกีฬา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นวัยรุ่นก็เริ่มปีนกำแพง ไปนั่งบนขอบรั้ว บางคนใช้บันไดพาด บางคนก็ปีนเลย พอปีนรั้ว ตำรวจก็ประกาศเตือน ห้ามบุกรุก ถ้าบุกจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง แต่ผู้ชุมนุมที่เป็นวัยรุ่นก็ไม่ฟัง หยิบขวด หยิบไม้ เศษไม้แถวนั้นขว้างเข้าใส่ตำรวจ แกนนำคือนายอมร ก็พยายามประกาศเตือนให้ใจเย็นๆ แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ไม่ฟัง จากนั้นรถเครื่องเสียงของนายอมรก็ขยับไปอยู่ที่ประตูหนึ่ง ที่อยู่ห่างกันประมาณ 100 เมตร"

ต่อมาผู้ชุมนุมใช้รถ 6 ล้อที่มีเครนยกด้านหลังมาคล้องเสารั้ว จนล้มลงมา 3 ต้น ตำรวจจึงเริ่มยิงแก๊สน้ำตาชุดแรก 3-4 ลูก พอตำรวจเริ่มยิงแก๊สน้ำตาออกมาที่ประตู 2 กลุ่มวัยรุ่นจึงขยับไปอยู่ระหว่างประตู 1-2 แล้วก็ขว้างปาสิ่งของเข้าไปใส่ตำรวจอีก บางคนเอาถังดับเพลิงฉีดเข้าไปแล้วก็เขวี้ยงถังเข้าไป ตำรวจก็ยิงแก๊สน้ำตาออกมา

ประมาณ 8 โมง รถเครื่องขยายเสียงของนายอมร ได้เคลื่อนออกจากบริเวณนั้น โดยบอกว่าจะไปปฏิบัติอีกภารกิจ บริเวณประตู 1-2 จึงไม่มีแกนนำอยู่ หลังจากนั้นการเผชิญหน้าก็รุนแรงมากขึ้น บรรยากาศตอนนั้นคือ ผู้ชุมนุมก็ขว้าง ตำรวจก็ยิงแก๊สไม่หยุด ยิงตลอด แรกๆ ก็ยิงชุดละ 3-4 ลูก หลังจากนั้นก็หลายลูกขึ้น แต่ละชุดจะพักประมาณ 5 นาที แล้วก็ยิงอีก

ผู้สื่อข่าวเนชั่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้นไปจนถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดช่วงการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ได้ยินเสียงตำรวจประกาศเตือนผู้ชุมนุมเพียงครั้งเดียว คือ ก่อนที่จะยิงแก๊สน้ำตาชุดแรกออกมา

หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงเตือนอีก ผิดจากการเผชิญหน้าในการชุมนุมปกติที่ผ่านมาที่ตำรวจจะประกาศเตือนผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ บางครั้งตำรวจกับแกนนำผู้ชุมนุมก็จะเจรจาหยอกล้อกัน แต่วันนั้นไม่มีเลย ฝั่งตำรวจก็ไม่มี ฝั่งผู้ชุมนุมก็ไม่มีแกนนำอยู่

"ตอนนั้นมั่วมาก ผู้ชุมนุมขว้างขวด ขว้างไม้ บางคนก็ปาประทัดยักษ์ ยิงหนังสติ๊กเข้าไป ตำรวจก็ยิงแก๊ส ยิงกระสุนยาง และยิงหนังสติ๊กออกมาด้วย เพราะผู้ชุมนุมหลายคนโดนลูกนอตที่บอกว่ามาจากด้านใน ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างก็โกรธกัน บรรยากาศตอนนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ"

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่สนามไทยญี่ปุ่นในวันดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ อธิบายถึงสาเหตุที่ฝ่ายตำรวจประกาศเตือนกับผู้ชุมนุมได้เพียงครั้งเดียวว่า เนื่องจากรถเครื่องเสียงถูกผู้ชุมนุมทำลายในช่วงที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไป อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการไม่มีรถเครื่องเสียงสื่อสารกับกลุ่มผู้ชุมนุมจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์บานปลาย "ที่เป็นอย่างนั้น เพราะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งตั้งใจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น"

ด.ต.นิกร ทองเพชร ผบ.หมู่ร้อย 1 กก.1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) หนึ่งในชุดตำรวจที่ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้ากระทรวงแรงงาน ที่ถูกเรียกว่าเป็น "ชายชุดดำ" เล่าว่า เวลา 10.10 น. ตนได้รับมอบหมายให้ขึ้นไปสังเกตการณ์ที่ชั้น 4 ของกระทรวงแรงงาน เพื่อสังเกตความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านถนนมิตรไมตรี

ตนกับเจ้าหน้าที่ 10 นาย ที่ขึ้นไปบนดาดฟ้า มีเพียงแก๊สน้ำตา ปืนลูกซองใช้ยิงกระสุนยาง ตนได้ยิงแก๊สน้ำตายิงลงมาเพื่อนระงับเหตุ ช่วงที่ยิงแก๊สน้ำตานั้นได้เล็งไปจุดว่างไม่ยิงเข้ากลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้แก๊สน้ำตาฟุ้งกระจาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาภายในสนามกีฬา

หลังจากยิงแก๊สน้ำตาแล้วก็ลงมาชั้นล่าง แต่ผู้ชุมนุมพยายามเข้ามาในอาคารมีการขว้างประทัดยักษ์ เข้าหาตำรวจ ตนก็กลับเข้าไปบนตึกใหม่อีกครั้งก็เห็นผู้ชุมนุมยังมีจำนวนมาก ตนก็ยิงแก๊สน้ำตาลงมาอีก 1 ลูก จากนั้นก็ลงมาข้างล่างอีก จนกระทั่งครั้งที่ 3 เวลาประมาณ 12.00 น.ก็วิ่งขึ้นไปบนตึกอีกครั้ง ตอนนั้นก็ได้ยินเสียงประทัดยักษ์ ขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจอยู่ จึงยิงแก๊สน้ำตาไปอีก 2 ลูก จากนั้นก็ลงมาด้านล่างก็พบเพื่อนตำรวจถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่แก้มกระสุนทะลุ 1 นาย

ขณะที่ "ช่างภาพสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง" เล่าว่า "เช้าวันนั้นประมาณเจ็ดโมงกว่า ผมเฝ้าดูความเคลื่อนไหวอยู่บริเวณประตู 2 มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะไปเปิดประตูเพื่อเข้าไปในสนามกีฬา ทันใดนั้นได้มีการยิงแก๊สน้ำตามาจากด้านในสนามมาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอก

มีการขว้างปาแก๊สน้ำตาที่ยิงออกมาจากด้านในเข้ากลับคืนไปเป็นระยะ มีการยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุมอย่างหนาแน่น ไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ในระยะประมาณ 50 เมตร ตามต้นไม้ เสาไฟ จะมีทั้งผู้ชุมนุมและช่างภาพข่าวเบียดกันอยู่ ณ จุดนี้ภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงมีช่างภาพข่าวที่รู้จักกันโดนกระสุนยางถึง 4 คนรวมทั้งตัวผมด้วย"

"ช่วงบ่ายมีการปะทะกันหนักและรุนแรงขึ้น มีเสียงปืนดังเป็นชุดเป็นระยะๆ มีการทำลายกำแพงเพื่อที่จะเข้ามาในสนามจากผู้ชุมนุมในหลายๆ จุด เจ้าหน้าที่ก็ป้องกันอย่างเต็มที่ มีผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ถูกหามเข้ามาในสนามเป็นระยะๆ มีเสียงปืนดังเป็นชุดๆ ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ว่าจากฝ่ายใด มีการรับและรุกจากผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลามีการทำลายรถเจ้าหน้าที่จากผู้ชุมนุมเมื่อรุกเข้ามาในสนามกีฬาได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่รุกกลับไป ก็มีการทำลายรถผู้ชุมนุมคืนเช่นกัน จนเวลาเย็นถึงค่ำก็ยังมีเสียงประทัดยักษ์ เสียงปืน และการยิงแก๊สน้ำตาอยู่เป็นระยะๆ"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อเท็จจริง ปะทะสนามไทย-ญี่ปุ่น

view