สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ กรณี 2 เอา 2 ไม่เอา

ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ กรณี"2 เอา 2 ไม่เอา

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี
       คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า
       
       เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ของคนกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันแล้วตั้งชื่อแปลกๆ ว่า กลุ่ม“เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” (ซึ่งคงไม่ไปเกี่ยวอะไรกับคำพูดของใครบางคนที่เคยพูดตอนวิกฤตน้ำท่วมว่า “เอาอยู่”) ออกแถลงการณ์จนเป็นที่ฮือฮาทั้งในคำแถลงการณ์และรายชื่อ หน้าตาของสมาชิกกลุ่มที่หลายคนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงนักวิชาการ นักกิจรรมและในทางสังคมวงกว้าง
       
       ต้องยอมรับว่า บางท่านเป็นอาจารย์ของผมเอง บางท่านเป็น Idol ในยามวัยรุ่นของผม และผมก็ยังเคารพในความคิดของท่านเหล่านั้น จวบจนปัจจุบัน รวมทั้ง มีบางคนในนั้น ผมไม่เคยให้เครดิตทางความคิดของพวกเขาเลย
       
       ผมลองกลับมานั่งอ่าน “แถลงการณ์เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” โดยทำใจให้สงบ และรู้สึกชื่นชมกับบทนำของแถลงการณ์ของกลุ่มนี้ที่เริ่มต้นเกริ่นนำว่า...
       
       “แถลงการณ์เครือข่าย2เอา2ไม่เอาคัดค้านรัฐประหาร ความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย ท่ามกลางภาวะวิกฤตการเมืองที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ และการรัฐประหารรวมทั้งทำลายโอกาสในการปฏิรูปประเทศ บนวิถีทางประชาธิปไตย พวกเรา "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ วิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ จึงมีจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อประชาชนทุกฝ่ายดังนี้…”
       
       ผมรู้สึกชื่นชม มีความหวังกับบทเกริ่นนำนี้ หลังจากนั้น ผมจึงตั้งคำถามง่ายๆว่า
       
       ข้อคิดเห็นของแถลงการณ์นี้จะช่วยหาทางออกให้กับสังคมได้จริงหรือไม่?
       
       ผมพบว่าแถลงการณ์นี้ มีหลักการที่สวยงามมาก 4 ข้อ และเป็นหลักการที่หากใครก็ตามปฏิเสธแม้เพียงข้อเดียว ก็สมควรที่จะได้รับการประณามอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
       
       เป็นหลักการที่หากแถลงกันในภาวะสังคมที่มีความเป็นปกติสุข แถลงการณ์นี้สามารถยึดเป็นหลักที่ต้องตอกประดับประทับลงในแท่งศิลาอัน ศักดิ์สิทธิ์วางไว้ใจกลางเมืองกันเลยทีเดียว
       
       แต่เมื่อแถลงการณ์นี้ถูกนำออกมานำเสนอในสภาพสังคมไทยยามที่ “ไม่ปกติ” เช่นนี้ ในยามที่ “กลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กปปส.) ประกาศเชิญชวน “มวลมหาประชาชน” เข้าร่วมดำเนินกิจกรรม Bangkok Shutdown ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557 ผมกลับพบว่าแถลงการณ์ฉบับนี้อุดมไปด้วยความมีอคติ แฝงความเจ้าเล่ห์ ซ่อนเร้นสมมติฐานที่มุ่งโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง และเป็นการหลอกเอาผู้บริสุทธิ์ทางวิชาการบางท่านถูกดึงเข้าไปเป็นพรรคพวก สนับสนุนแถลงการณ์ของกลุ่มนี้ได้อย่างน่าเวทนา
       
       ลองดูข้อเสนอของพวกเขานะครับ
       
       - ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ (1) -
       
       "1. คัดค้านการรัฐประหาร พวกเราคัดค้านความพยายามแก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยวิถีทางนอกระบบ การรัฐประหาร ไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่าย ต่างๆได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ระหว่างผู้ก่อการรัฐประหารกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่มิอาจ เยียวยา"
       
       ข้อสังเกตของผม: ผมขอถามว่าใครเห็นด้วยกับรัฐประหารบ้าง?
       
       ผมคิดว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยอย่างแน่นอน
       
       แต่ทำไม กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” จึงเล่นประเด็น “รัฐประหาร” นี้?
       
       ใช่หรือไม่ ยอมรับหรือไม่ ว่า กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” กำลังพยายามชี้นำ/ยัดเยียดให้สังคมคิดไปว่า พวก กปปส. และมวลมหาประชาชนคือกลุ่มที่เรียกร้องต้องการการรัฐประหาร?
       
       ทั้งๆที่ ผมเองไม่เคยเห็นแกนนำ กปปส. หรือ มวลมหาประชาชนคนใดจะออกมาเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร มีแต่พวกเขาออกมาประกาศว่าจะทำการ “ปฏิวัติโดยประชาชน”
       
       ผมได้ยินแต่สิ่งที่พวกเขาพยายามเรียกร้องให้ "ข้าราชการ" และ "กองทัพ" ทำตัวเป็นกลาง ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน
       
       แต่กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” พยายามบิดเบือนประเด็นแบบเนียนๆ แสร้งแปลงความหมายของ “การปฏิวัติประชาชน” ไปเป็น “การรัฐประหาร”
       
       สมาชิกบางคนในกลุ่มคงรู้สึกไม่สบายใจ ครั้นเนื้อครั้นตัวที่ตัวเองไม่ได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือเป็น “แกนนำ” ในการดำเนินการ “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งนี้ ใช่หรือไม่?
       
       แต่การที่ กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ทำเช่นนี้ ถือเป็นการฉวยกาส “ตีกิน” ทำตัวเป็น ฮีโร่ และชี้นำให้เกิดการตีความเข้าใจกลุ่มมวลมหาประชาชนอย่างผิดๆ โดยพยายามติดป้ายตีตราอย่างเนียนๆว่า พวก กปปสและมวลมหาประชาชนกำลังเรียกร้องหรือเปิดทางให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร
       
       การออกมาแถลงเช่นนี้ แทนที่จะสร้างสรรค์ กลับกลายเป็นการปั่นหัวผู้คนต่างกลุ่มให้เกิดความเข้าใจผิด และยังเป็นการเปิดช่องชี้นำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
       
       ถามว่า การออกมา แถลง “คัดค้านการรัฐประหาร” นี้ ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายหรือไม่?
       
       ผมไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น นอกจากคนออกมาแถลงได้ “ดูดีขึ้น” เท่านั้นเอง
       
       - ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ (2) -
       
       “2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ พวกเราคัดค้านการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะมาจากประชาชนกลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอยืนยันว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดย สันติเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่ไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรง และบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุข ของสังคม จะต้องเป็นไปตามหลักสากลไม่กระทำเกินกว่าเหตุ และระมัดระวังอย่างถึงที่สุดไม่เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน”
       
       ข้อสังเกตของผม: ผมขอถามว่า ใครเห็นด้วยกับ “ความรุนแรง” บ้าง? แน่นอน ย่อมไม่มีใครต้องการความรุนแรง
       
       แล้ว กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” จะมาออกแถลงการณ์สั่งสอนประชาชนไปทำไม?
       
       ผมไม่อยากคิดไปว่า กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” กำลังพยายามสอดใส่ชี้นำความคิดของผู้คนไปทางที่ว่า พวก กปปส. และมวลมหาประชาชน นี่แหละที่มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ใช่หรือไม่?
       
       ที่ไม่อยากคิดหนักไปกว่านั้นก็คือ กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” กำลังพยายาม “โยนขี้” ให้สังคมคิดไปว่า ความรุนแรงที่ผ่านมาคือสิ่งที่พวก กปปส. และมวลมหาประชาชนก่อให้เกิดขึ้น ใช่หรือไม่?
       
       ทั้ง 2 ข้อข้างต้นคือสิ่งที่ผมไม่อยากคิดเลย
       
       แต่ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมคิดและอยากตั้งคำถาม กับพวกกลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” นั่นคือ...
       
       - เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - การไล่ทุบตีรถยนต์นายก/รองนายก เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - การใช้กำลังมวลชนเข้าล้มการประชุมอาเซียน นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - การยกพวกไปกรีดเลือด แล้วเอาเลือดไปทาหน้าบ้านของคนอื่น นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - การล้อมปราบนักศึกษา ที่ ม.รามคำแหง นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - การที่คนที่เรียกตัวเองว่า นปช. เสื้อแดง เที่ยวไปไล่ทุบไล่ตีประชาชนกลุ่มอื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกับตน ทั้งที่ เชียงใหม่ อุดรธานี ปทุมธานี ฯลฯ นั้น ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       - ฯลฯ
       
       ทั้งหมดข้างต้นนั้น กลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ท่านคิดว่า เป็น “ความรุนแรง” หรือไม่?
       
       ถ้าท่านบอกว่า “ไม่ใช่ความรุนแรง” ก็ถือว่าจบ (แล้วไม่ต้องมีหน้ามาสอนเรื่องคัดค้านการใช้ความรุนแรงอีกนะ)
       
       แต่ถ้าท่านบอกว่า “ใช่ มันคือความรุนแรง”
       
       ผมก็ขอถามท่านคำเดียวว่า “แล้วตอนนั้น พวกท่านไปมุดหัว ปิดปากอยู่ที่ไหน แล้วทำไมเพิ่งมาเสนอหน้าออกแถลงการณ์ตอนที่ กปปส. กำลังจะจัดชุมนุมใหญ่
       
       ท่านมี วาระซ่อนเร้นอะไรหรือ?”
       
       - ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ (3) -
       
       “3. เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคนที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใด สามารถละเมิดได้ และต้องดำเนินไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการการแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ
       
       ข้อสังเกตของผม: ใครไม่เห็นด้วยกับการ “เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ”?
       
       ข้อนี้ผมถือว่าเป็นข้อที่ชัดเจนมากว่า ท่านกำลังใช้ประเด็นเรื่อง “การเลือกตั้ง” มามุ่งเล่นงานและทำลายความน่าเชื่อถือ ความชอบธรรมของกลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน ที่กำลังมุ่งขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ. และผมก็ไม่มีอะไรจะไปขัดแย้งกับคำแถลงการณ์ข้อนี้ของท่าน เพราะเท่าที่ผมติดตามมาความเคลื่อนไหวมาก็พบว่า กลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน กำลังมุ่งขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จริง!
       แต่ท่านไม่ลอง (หรือไม่พยายามจะ) คิดดูสักนิดหรือครับว่า “ทำไมกลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน จึงมุ่งขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ.?”
       
       ถามว่า กลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน นับล้านคนเหล่านี้ เขาไม่อยาก/ไม่ต้องการการเลือกตั้งหรือ? ก็คงจะไม่ใช่
       
       แล้วทำไม เขาจึงไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้?
       
       คนมีระดับสติปัญญาเหนือมนุษย์ดุจเทพเช่นพวกท่าน น่าจะบรรลุคำตอบได้เพียงไม่กี่แค่เศษเสี้ยววินาที
       
       อย่างไรก็ตาม ผมอยากตั้งคำถามเน้นไปที่ ประโยคสุดท้ายของแถลงการณ์ของท่านที่ว่า “ทั้งนี้ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการการแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ
       
       ผมอยากเรียนถามท่านว่า “แล้วหากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.นี้ หาได้ช่วยแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ ทว่ารังแต่จะนำพาความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาสู่สังคมไทย ดังเช่น ที่เกิดขึ้นแล้วที่บังคลาเทศ ท่านยังอยากยืนยันเสนอให้มีการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. นี้หรือไม่?”
       
       ถ้าพวกท่านตอบว่า “ใช่ ขอยืนยันให้จัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. แม้มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงก็ตาม”
       
       ผมขอให้ท่าน กลับไปอ่าน ข้อเสนอข้อที่ 2 ของท่าน และช่วยตอบผมด้วยว่าท่านยังเชื่อในหลักการข้อที่ 2 ของท่านหรือไม่?
       
       - ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ (4) -
       
        “4. สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีประชาธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่มไม่สามารถเป็นหลักประกันว่า จะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปจึงต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย เช่น ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา การทำประชามติ รวมถึงการติดตามตรวจสอบกดดันรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคมเป็นต้น
       
       พวกเราเห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคม ที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงโดยไม่กีดกั้นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เคารพในความแตกต่างหลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตามเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำสังคมไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมาก และ เผด็จการเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ เครือข่ายจะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป”

       
       ข้อสังเกตของผม: ใครไม่เห็นด้วยกับการ “สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีประชาธิปไตย”?
       
       ข้อนี้ถือเป็นอีกข้อที่ชัดเจนมากว่า ท่านกำลังมุ่งเล่นงานกลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่มไม่ สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน” ถือได้ว่าเป็นข้อความที่เป็นการมุ่งโจมตีแนวคิด “สภาประชาชน” ของกลุ่ม กปปส. อย่างมีนัยสำคัญ
       
       เสร็จแล้วท่านก็ทำการ มอบอำนาจ ให้กับ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” เสร็จสรรพเลย
       
       ผมเองคิดว่า ท่านนักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ในกลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ก็ไม่ใช่พวกอ่อนเยาว์ไร้ประสบการณ์ เขี้ยวเล็บของท่านล้วนโง้งยาวและแหลมคม แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเกิด อะไรขึ้น ท่านจึงเกิดอาการหน่อมแน้ม ไร้เดียงสา โลกสวยงามขึ้นมาในบัดดล เห็นบรรดานักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพวกใสซื่อบ้องแบ้ วร่วมใจพร้อมกันสัญญาที่จะเข้ามาทำการปฏิรูปประเทศไทยมิให้เกิดการเหลื่อม ล้ำ ไร้การทุจริตคอรัปชั่น บริการฉับไว รับใช้ประชาชน อยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาสังคมอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว
       
       หลายปีที่ผ่านมา ท่านไม่รู้จัก ไม่รับรู้ ไม่เห็นฤทธิเดชเล่ห์เหลี่ยม วิชามารขั้นเทพใดๆของพวกนี้เลยหรือ?
       
       หลักการและข้อเสนอของท่านในข้อนี้นั้น มันช่างสวยงามศิวิไลซ์ จนคนบ้านๆอย่างผมคงไม่กล้าหาญชาญชัยไปต่อล้อต่อกรกับปัญญาชน “หัวก้าวหน้า” อย่างท่านได้
       
       แต่ที่ผมเห็นว่าแถลงการณ์ของท่านในข้อนี้นั้น น่าสนุกตื่นตาตื่นใจเอามากๆ ก็คือ การพยายามรักษาหล่อเลี้ยงบทบาทและอำนาจของกลุ่ม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” นี้ไว้ได้อย่างเนียนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่ว่า “ทั้งนี้ เครือข่ายจะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป”
       
       พูดง่ายๆ คือ
       
       “กปปส. จงถอยออกไป เรา ‘กลุ่มเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา”’ มาแล้ว จงให้ “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ทำเรื่องปฏิรูปเอง”
       
       “เรา ‘กลุ่มเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา’ คือผู้เชี่ยวชาญ (เจ้าพ่อ) แห่งการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมตัวจริงเสียงจริง ส่วนพวก กปปส. ที่เคลื่อนไหวกันอยู่ตอนนี้ มันคือ ปฏิรูปเทียม”
       
       แถมด้วยการประดิษฐ์คำเท่ๆ ที่กลุ่มนี้ถนัดเหลือเกิน นั่นคือ
       
       “การจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วม”
       
       อ่านถึงตรงนี้แล้ว มีความรู้สึกในใจว่า
       
       “แหม หมกเม็ดได้อย่างร้ายกาจจริงๆนะเธอ”
       
       - จบ -
       
       “สุดท้าย "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" เชื่อมั่นว่าสังคมไทยสามารถก้าวข้าม และออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้โดยไม่ต้องนองเลือดหากประชาชนและกลุ่มการเมืองทุก ฝ่าย เคารพและยอมรับกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ตระหนักว่าเราต้องอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความเห็นต่าง เพราะทุกคนมีความเสมอภาคกันในฐานะเจ้าของประเทศ และมีสิทธิที่เท่าเทียมในการร่วมกันปฏิรูปสังคมไทย”

       
       ข้อสังเกตของผม: ถือเป็นการปิดแถลงการณ์ได้อย่างสวยสดงดงาม แบบ “ฟินาเล่” (Finale) สมศักดิ์ศรีของนักคิดทฤษฎีเจ้าแห่งหลักการระดับตำนาน
       
       เรียกได้ว่า หากใครไม่ได้อ่านความซ่อนเร้นเจ้าเล่ห์ระหว่างบรรทัดในข้อเสนอของพวกเขา ก็คงอินน้ำหูน้ำตาไหล ชื่นชมยกย่องต้องเสนอชื่อให้ไปแข่งขันชิงรางวัลโนเบลสันติภาพกันเลยทีเดียว แล้วก็หามานั่งด่าพวก กปปส.และมวลมหาประชาชนกันหูดับตับไหม้
       
       สำหรับผมแล้ว มีความรู้สึกเดียวคือ รู้สึกเหม็นขี้ฟันพวกท่านเต็มทีแล้ว (ว่ะ)
       ผมไม่เห็นว่าแถลงการณ์และข้อเสนอของท่านจะได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์อะไร แถมยังเป็นการเติมไฟและเชื้อเพลิงราดซ้ำลงไปอีก
       
       ผมเห็นใจกันแต่คนบริสุทธิ์บางท่านที่ไปถูกหลอกล่อให้ไปเสนอหน้าลงชื่อในวันนั้น จะเสียเกียรติประวัติไปอีกยาวนาน
       
       ทำไมผมคิดเช่นนั้นหรือ?
       
       ก็เพราะประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากทิ้งไว้ในที่นี้ก็คือ ขอให้ท่านดู “โปสเตอร์เชิญชวน” ของกลุ่มนี้ข้างล่างนี้ แล้วตั้งคำถามว่า
       
       “อะไรคือประเด็นสำคัญที่กลุ่มนี้ชูและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด?”
       
       ใน 4 ประเด็นที่กลุ่มนี้เสนอ ผมเห็นเขาชูประเด็นหลักๆ อยู่เรื่องเดียวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด
       
        “อย่าให้ใครแย่งสิทธิของเราไป 2 กุมภาต้องมีเลือกตั้ง”
       
       หากมองเผินๆ ผมคิดว่าหลายคนคงคิดว่า…
       
       “นี่คือ ประกาศโฆษณาของรัฐบาลรักษาการณ์ปัจจุบัน”
       
       หรือว่า... กลุ่มเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา แท้จริงแล้วคือ
       
       “โฆษกรัฐบาลสายวิชาการ”
       
       ผมไม่อยากคิดและเชื่อเช่นนั้น จริงๆ
       
       จบปะ


แฉกลุ่ม “2 เอา 2 ไม่เอา” สุดเลอะ ให้หยุดรุนแรง แต่ “นิธิ” ยุ “ปู” ใช้กองกำลังจัดการ กปปส.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

อดีตโฆษก กกต.เย้ย กลุ่ม “2 เอา 2 ไม่เอา” ถูกโห่ตรึม ใช้ภาษาไม่สุภาพ โลโก้ส่อผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง ระบุแนวคิดนักวิชาการ นักปราชญ์ในกลุ่มไปคนละขั้ว สร้างวาทกรรม “ไม่เอาความรุนแรง” เพื่ออำพราง แต่ “นิธิ” คนในแก๊งสุดอำมหิต เขียนบทความยุ “ยิ่งลักษณ์” ใช้กองกำลังทั้งหมดของรัฐ จัดการมวลชน กปปส.ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น
       
       นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล นักวิชาการอิสระ อดีตโฆษก กกต.โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วันนี้ (13 ม.ค.) ใจความว่า “2 เอา 2 ไม่เอา” โดนจริงๆ ครับ โดนโห่นะ ฮากันตรึม ใครหนอเป็นฝ่ายครีเอทีฟให้ หนึ่งคือภาษาที่ใช้ ฟังไม่สุภาพเลย เหมือนตอนนายกฯพูดว่า “เอาอยู่” แล้วในที่สุดก็ “เอาไม่อยู่” คราวนี้ท่านนักปราชญ์ทั้งหลาย “เอาใจ” นายกฯหรือไงครับ แต่ผมว่ายังไงก็ “เอาไม่อยู่”
       
       สองคือโลโก้ที่ใช้ สร้างความสับสนครับ ผิดกาลเทศะ อาจผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่นับถือบูชากันนักโดยไม่ตั้งใจ 2 บน 2 ล่าง ตรงกับวันเลือกตั้งที่เจาะจงต้องเลือกวันนี้กันให้ได้
       
       จะหัวเด็ดตีนขาดก็เลื่อนไม่ได้ (กลุ่ม ดร.พวงทอง) ถ้าใช้เป็นโปสเตอร์รณรงค์แนวคิดไปทั่ว จะไปก่อกวนให้การรณรงค์กาบัตรดี บัตรเสียของ กกต.วุ่นวาย เพราะบัตรดีต้องกากบาทเท่านั้น กาเครื่องหมายถูกเป็นบัตรเสีย กาทั้งสองเครื่องหมายยิ่งแย่เลย ผลอีกประการคือ โลโก้นี้เป็นผลเสียต่อพรรคถิ่นกาขาว และผู้สมัครที่ได้หมายเลข 2 ผู้ใช้สิทธิ์อาจกาถูก กาผิด ทำให้บัตรเลือกตั้งเสีย พรรคถิ่นกาขาวฟ้องร้องเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอาได้ครับ
       
       สามคือเนื้อหาหลักที่สำคัญๆ ถูกบิดเบือนโดยเฉพาะเมื่อมาสรุปสั้นๆ ว่า “เอา” “ไม่เอา” เช่น “เอาการเลือกตั้ง”
       
       ฟัง ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คือต้องเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาฯ เลื่อนไม่ได้เด็ดขาด แต่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ บอกถ้าเลื่อนได้ก็ดี อย่ายึดกฎหมายตายตัวจนไม่ยืดหยุ่นถ้าเห็นๆ อยู่ว่าจะเกิดหายนะ แต่ประเทศไทยเราต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งประการนี้ ผมไม่เห็นว่า “2 เอา” กับ “มวลมหาประชาชน” จะขัดแย้งอะไรกัน ฝ่ายหลังก็ประกาศชัดเจนว่าต้องมีการเลือกตั้ง แถมเลือกมากกว่าเดิมคือจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย เพราะฉะนั้น “เอาเลือกตั้ง” เห็นตรงกัน ที่ขัดกันคือ กลุ่ม ดร.พวงทอง เห็นตามรัฐบาลว่าต้องเลือก 2 กุมภาฯ แต่มวลมหาประชาชนให้เลือกหลัง 2 กุมภาฯ ขอปฏิรูปก่อน
       
       กลุ่ม “2 เอา” ที่เห็นผ่อนปรนตามมวลมหาประชาชนก็คงมี ขอให้มีช่องทางเจรจากันได้บ้าง แต่การนำเสนอผ่านสื่อ ความเห็นเกือบจะเป็นแนวของกลุ่ม ดร.พวงทอง ด้านเดียว เนื่องจากสื่อของรัฐและเอกชนอิงชินวัตรจะเสนอแต่ “เอาเลือกตั้ง 2 กุมภา” ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ต้องการติงว่า การใช้ “เอา” “ไม่เอา” สั้นๆ ทำให้ความหมายบิดเบือน และทรรศนะของนักวิชาการบริสุทธิ์จำนวนหนึ่ง จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
       
       สี่คือไม่แน่ใจว่า “2 เอา 2 ไม่เอา จะเอายังไงกันแน่” เครือข่าย “2x2” บอก ไม่เอาการใช้ความรุนแรงทุกรูปแแบบ แต่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์ราษฎรของ 2x2 เขียนไว้ในมติชนว่า กลุ่มสุเทพกับมวล (มหาประชา) ชน--[วงเล็บตามนิธิ] เป็นพวกอาชญากร เป็นอันธพาลการเมืองและซ่องโจร กระทำเรื่องเลวร้ายกว่าการรัฐประหารของทหาร นิธิจึงแนะยิ่งลักษณ์ว่า รัฐจะเจรจากับอาชญากรไม่ได้ “คุณยิ่งลักษณ์ต้องใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งโดยผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผ่านการใช้กองกำลังทั้งหมดของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่จำเป็น (ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำอยู่อย่างเหมาะสมในวันที่ 28 ธ.ค.)” ข้อความในเครื่องหมายคำพูดเป็นของนิธิคำต่อคำครับ
       
       นิธิยังย้ำอีก “แม้ต้องใช้มาตราการแข็งกร้าวก็ตาม (โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น)” และ “หากจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงเด็ดขาดก็ต้องใช้ (แต่อย่าทำเกินกว่าเหตุ)” “2x2” เห็นว่า ที่นิธิยุยงยิ่งลักษณ์ทั้งหมด ไม่ใช่ความรุนแรงหรือครับ ตกลงจะเอาหรือไม่เอาความรุนแรงครับ ดร.ที่มีชื่อระดับโลกหลายท่านที่เชิดชูสันติ อหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรงใน 2x2 เห็นด้วยกับนิธิหรือครับ
       
       “ไม่เอาความรุนแรง” คือความปรานีในวงเล็บว่า (โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น) กับ (อย่าทำเกินกว่าเหตุ) หรือครับ ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่ครับ จึงไม่เกินกว่าเหตุ ไม่เกินร้อย ไม่เกินพัน หรืออย่าให้เกินห้าพันนะ เดี๋ยวพวกโลกสวยจะตกใจ เอาไงดีครับ “ไม่เอาความรุนแรง” เป็นแค่วาทกรรมอำพรางใช่ไหมครับ “2 ไม่เอา” ทำไมถึงอำมหิตโหดเหี้ยมจังครับ


ร่วมกันทำให้เลือกตั้งแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ

"สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์"ร่อนบทความ ร่วมกันทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

ประชาธิปไตยเป็นวิธีการระงับความขัดแย้งที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา โดยมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ คำจำกัดความของประชาธิปไตยที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ จึงมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair election) เป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ ประโยคที่ว่า “การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้” จึงเป็นประโยคสำคัญในแถลงการณ์ของเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งผมร่วมลงชื่อด้วย

ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังมีประโยคที่สำคัญอีกประโยคหนึ่งคือ “เราควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ” ในความเข้าใจของผม ประโยคดังกล่าวสะท้อนแนวคิดที่ว่า การเลือกตั้งเป็นเพียง “วิธีการ” ในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่สำคัญและมีความหมายมาก แต่ก็ไม่ใช่ “เป้าหมาย” โดยตัวของมันเอง

โดยนัยนี้ หากการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แต่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น จนถึงขั้นเกิดความรุนแรง เราก็น่าจะพิจารณาดูว่า สมควรต้องทำอะไร เช่นเลื่อนการเลือกตั้งออกไปสักระยะ เพื่อลดการเผชิญหน้าทางการเมืองลงก่อน โดยวิธีการต่างๆ รวมทั้งเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองไปด้วยหรือไม่

การเลือกตั้งและการปฏิรูปเป็นประเด็นที่ผู้ที่ร่วมในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการและประชาสังคม ไม่ได้มีความคิดเห็นตรงกันทั้งหมดในรายละเอียด แม้ว่าจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนกันคือ การยึดหลักการและแนวทางของประชาธิปไตย การคัดค้านการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย

ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยเหตุผลที่ผมก็เคารพคือ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยอ้างว่าจะต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน จะเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง และทำลายกติกาประชาธิปไตย ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความต้องการที่จะรักษาสิทธิในการเลือกตั้งของตนไว้ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์Respect My Vote ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งผมด้วย มีความเห็นว่า การมุ่งเดินหน้าเพื่อจัดการเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ไม่ว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมาก็ตาม ก็น่าจะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน ส่วนตัวผมคิดว่า การเลือกตั้งโดยที่คู่ขัดแย้งที่สำคัญอีกฝ่ายหนึ่งคือทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และกปปส. ไม่ยอมรับ จะไม่ทำให้ความขัดแย้งลดลงและช่วยให้เราออกจากจุดอับทางการเมืองได้ ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหมือนที่เกิดในบังคลาเทศ

จริงอยู่เราอาจกล่าวได้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมในการเลือกตั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ผมไม่เห็นว่า ลำพังการกล่าวโทษเช่นนั้น จะทำให้เราออกจากจุดอับในปัจจุบันได้อย่างไร

ผมเชื่อว่า ภาพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นก็คือ ในเวลาอีกไม่นานเกินไป จะมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างแท้จริง

จากความแตกต่างกันดังกล่าว ข้อความที่ทุกฝ่ายในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ยอมรับร่วมกันคือ “เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญมีช่องทางให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เราก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ แต่เราไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง เพียงเพราะมีฝ่ายใดไปขัดขวาง

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า เราควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้นดังนี้คือ หนึ่ง การเลื่อนต้องเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อทำให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง สอง ต้องไม่เลื่อนออกไปนานเกินสมควร เช่น ไม่ควรเกิน 4-5 เดือน สาม ต้องเป็นการเลื่อนเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อยๆ สี่ ในระหว่างนี้ รัฐบาลโดยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ควรเริ่มกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งในครั้งนี้ เช่น การวางกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเสียงข้างมาก เพื่อให้เสียงข้างน้อยมั่นใจได้ว่า สิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของเขาจะไม่ถูกลิดรอนอย่างไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่า หากมีสัญญาณที่น่าเชื่อถือว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติก็จะเกิดได้มากขึ้น

ในประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งนี้ ผมไม่คาดหวังว่า ผู้ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “2 เอา 2 ไม่เอา” ทุกท่านจะเห็นด้วยกับผม ซึ่งผมก็จะเคารพความเห็นท่านต่อไป และยินดีที่จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับทุกท่านอย่างฉันมิตร บนความเชื่อที่ว่า การร่วมพูดคุยโดยไม่ด่วนตัดสินกัน เป็นแนวทางในการระงับความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกัน

หากพวกเรานักวิชาการและประชาสังคม ซึ่งน่าจะไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้ เราจะไปคาดหวังให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนได้เสียมหาศาลในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ เจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยได้อย่างไร?

ผมหวังว่า ทุกฝ่ายจะตระหนักว่า ถึงอย่างไรพวกเราก็จะต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป โดยไม่สามารถขจัดผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากเราไปได้ และเมื่อตระหนักเช่นนี้ เราก็จะมุ่งหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศร่วมกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเจ้าเล่ห์ทางวิชาการ 2 เอา 2 ไม่เอา

view