แง่มุมของกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิต
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เชื่อว่าผู้อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดก็อาจเป็นได้ มีและใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสด
และอาจเคยใช้บัตรเครดิตเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็ม ก็มี และก็เชื่อว่าผู้ใช้บัตรเครดิตหลายท่านคงอาจสงสัยว่า บัตรเครดิตคืออะไร มีความเกี่ยวพันทางกฎหมายอย่างไรระหว่างผู้ขายสินค้าหรือบริการกับผู้ถือบัตรเครดิต ที่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินสด และความเกี่ยวพันทางกฎหมายระหว่างผู้ถือบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการออกบัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือไม่ใช่ธนาคารอย่างไร
สำหรับความหมายของบัตรเครดิตนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความหมาย ไว้กว้างๆ ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของธนาคารว่า บัตรเครดิตเป็นบัตรที่ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) ออกให้แก่ผู้ถือบัตร เพื่อใช้แทนเงินสด ในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นการอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการให้แก่ ผู้ถือบัตร โดยลดการพกพาเงินสดจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกโจรกรรม
จากการที่ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินสด ก็สามารถรับสินค้ามาได้หรือใช้บริการได้ทันที หรือจากความหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ไว้ บางท่านอาจคิดว่าบัตรเครดิตเป็นธนบัตรแบบหนึ่งหรือมีค่าเป็นเงินสดตามที่ระบุไว้ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การที่ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสดนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นจากนิติกรรมและสัญญาทั้งสิ้น กล่าวคือ การใช้บัตรเครดิตจะมีผู้เกี่ยวข้องอยู่สามฝ่าย คือผู้ถือบัตรเครดิตฝ่ายหนึ่ง ผู้ขายสินค้าหรือบริการฝ่ายหนึ่ง และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่อาจเป็นธนาคารหรือมิใช่ธนาคารก็ได้อีกฝ่ายหนึ่ง
ความเกี่ยวพันและหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรเครดิตทั้งสามฝ่าย เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งเรื่องของนิติกรรมและสัญญา หนี้ และเอกเทศสัญญาลักษณะต่างๆ คือ นิติกรรมหรือสัญญาระหว่างผู้ซื้อที่ใช้บัตรเครดิตกับผู้ขาย สัญญาการใช้บัตรเครดิตระหว่างผู้ถือบัตรกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต และสัญญาระหว่างร้านค้าผู้ขายสินค้าหรือบริการกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต นิติกรรมหรือสัญญาระหว่างผู้ซื้อที่ใช้บัตรเครดิตกับผู้ขาย สินค้าหรือบริการ เป็นไปตามสัญญาในเรื่องนั้นๆ ตามปกติ เช่น หากเป็นการซื้อสินค้า ก็เป็นไปตามเอกเทศสัญญาลักษณะซื้อขาย มีข้อแตกต่างเพียงแต่ผู้ซื้อไม่ต้องชำระค่าสินค้าด้วยตนเอง โดยผู้ขายสินค้าจะไปเรียกเก็บค่าสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตตามสัญญาระหว่างผู้ขายสินค้ากับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต่อไป เป็นต้น
สำหรับหน้าที่รับผิดชอบระหว่างผู้ถือบัตรเครดิตที่ซื้อสินค้าหรือบริการโดยใช้บัตรเครดิตกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตผู้ออกบัตร นั้น มีความเห็นหลากหลาย บางท่านเห็นว่าเป็นการกู้เงิน โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม บางท่านเห็นว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี และเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้มีบทบัญญัติในเรื่องการทำนิติกรรมที่ต้องมีการชำระเงิน และได้ใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเป็นเงินสด เป็นเอกเทศสัญญาไว้ต่างหากเป็นการเฉพาะ การพิจารณาถึงหน้าที่รับผิดชอบระหว่างผู้ถือบัตรเครดิตและผู้ประกอบธุรกิจออกบัตรเครดิต จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในเรื่องนี้ไว้ ที่สามารถถือเป็นบรรทัดฐานได้หลายคดี เช่น
เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544 ที่วินิจฉัยว่า การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/34(7)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2553 ที่วินิจฉัยไว้แนวเดียวกันว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง อันเป็นการประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ แก่สมาชิก เมื่อโจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้แล้วโจทก์จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/34(7)
นอกจากนี้ก็ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยในแนวเดียวกันนี้อีกหลายคดี จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตออกเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนผู้ถือบัตรไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรในภายหลัง เป็นการที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตรับทำงานต่างๆ (ออกเงินทดรองค่าสินค้าหรือบริการ) ให้ผู้ถือบัตร ส่วนการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรในภายหลัง เป็นการเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปให้ผู้ถือบัตรในการซื้อสินค้าและบริการไปก่อน คืน ซึ่งมีผลถึงอายุความในการฟ้องคดีเช่นนี้ตามกฎหมายด้วย คือมีอายุความสองปี
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน