สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาตรการสร้างความไว้วางใจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

เราอยู่ในท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะก้าวพ้นไปได้โดยง่าย บางตำราบอกว่าให้ลงไปสู่ก้นบึ้งก่อน ให้บอบช้ำถึงที่สุดก่อน ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นก่อน แล้วจึงถึงเวลาที่จะตั้งคำถามว่า ทะเลาะกันอย่างนี้เป็นความทุกข์ของใคร ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครมีความสุขหรือได้ประโยชน์บ้างไหม เมื่อนั้นแหละที่ความขัดแย้งจะถึงจุดสุกงอม ภาคีความขัดแย้งจึงจะเปลี่ยนใจ จากการมุ่งเอาชนะ มาหาทางร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แต่ผมภาวนาว่า เราไม่ต้องรอให้ถึงก้นบึ้งได้ไหม

ทั้งนี้เพราะเรามีจุดร่วมกันมากพอไม่ใช่หรือ เราพูดเรื่องประชาธิปไตยเหมือนกัน เราพูดเรื่องความรักชาติเหมือนกัน เราปฏิเสธคอร์รัปชั่นเหมือนกัน เราพูดว่าได้เวลาแล้วที่จะปฏิรูปการเมือง แม้รายละเอียดจะต่างกันแต่หลักใหญ่พอจะไปกันได้มิใช่หรือ ข้อแตกต่างที่สำคัญคือใครจะเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูป เราไม่ไว้วางใจกันในเรื่องนี้ ถึงจะบอกให้เป็นเจ้าภาพร่วมอย่างเท่าเทียมกันก็ตอบว่าไม่เชื่อ ผมจึงคิดว่าก่อนที่จะหันหน้ามาคุยกัน ขอให้พยายามลดความไม่ไว้วางใจกันบ้างจะได้ไหม

เรื่องความไว้วางใจที่ขาดหายไม่ใช่ว่าจะฟื้นคืนโดยง่าย เพราะเราจะนึกถึงแต่เรื่องที่เขาไม่ทำตามที่พูด ต่างฝ่ายต่างยกตัวอย่างได้มากมายว่าอีกฝ่ายเคยบิดพลิ้วเรื่องอะไรมาแล้วบ้าง เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2557 คุณสุรีย์ฝากเอกสารมาให้ผม ด้านหนึ่งของเอกสารมีคติพจน์ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ความว่า

“การตำหนิติเตียนผู้อื่น แม้เขาจะผิดจริงหรือไม่ผิด ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นควรพิจารณาตัวเองจะดีกว่า”

ผมคิดว่าคติพจน์นี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมาตรการสร้างความไว้วางใจ มาตรการเช่นนี้เริ่มที่เรา โดยเราพิจารณาว่ามีอะไรที่เราพอจะทำได้ เพื่อเป็นการลดความระคายเคือง หรือความเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เราไม่ต้องรอให้เขาขยับก่อน เราขยับได้เลย เราไม่ต้องตั้งเงื่อนไขว่าถ้าเราขยับแล้ว เขาต้องขยับตอบแบบต่างตอบแทน ถ้าเราทำตามที่ตั้งใจหรือทำตามที่พูดในทางที่ดีบ่อยๆ ครั้ง ภาคีความขัดแย้งตลอดจนสาธารณชนก็จะเห็นความจริงใจและความเชื่อถือได้ของเรามากขึ้น

ผมขอทดลองเสนอตัวอย่างของมาตรการสร้างความไว้วางใจมาเพื่อโปรดพิจารณาดังนี้

มาตรการของฝ่ายรัฐบาล

1.ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมองได้ว่าการประกาศใช้เช่นนี้มุ่งหวังที่จะใช้อำนาจจากการออกคำสั่งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อกดดันผู้ชุมนุมหรือสลายชุมนุมถ้าสบโอกาส แต่เมื่อประกาศแล้ว ปรากฏว่าก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงควรยกเลิกเสีย

2.ลดการกล่าวโทษ รวมทั้งการขู่ดำเนินคดีกับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำ กปปส.

3.เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้ที่ใช้อาวุธทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระแล้ว แต่ปราศจากผลการดำเนินการอย่างเป็นผลให้เห็นเป็นตัวอย่าง

4.วางมาตรการป้องกัน เช่น ตรวจตราบริเวณโดยรอบสถานที่ชุมนุมโดยมีระยะห่างพอสมควร เพื่อมิให้มีการพกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณดังกล่าว หากจับกุมผู้พกพาอาวุธได้ ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลว่า เป็นเหตุเพราะปัจเจกบุคคลหรือมีขบวนการใดจงใจสร้างความปั่นป่วน

5.ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มเติมในจุดที่อาจมีผู้ใช้ความรุนแรง เพื่อป้องปรามและอาจใช้เป็นพยานหลักฐานหรือประกอบการขอหมายจับผู้ต้องสงสัยว่าใช้ความรุนแรง

6.สนับสนุนหน่วยงานราชการที่ไม่จำเป็นต้องเข้าข้างรัฐบาล เช่น หน่วยงานวิชาการหรือหน่วยงานสันติศึกษา หรือสภาพัฒนาการเมือง ให้หน่วยงานนั้นทำหน้าที่เปิดรับฟังความคิดเห็นว่าควรปฏิรูปการเมืองในเรื่องใด โดยใคร อย่างไร และเมื่อไร การรับฟังความคิดเห็นควรกระทำอย่างกว้างขวาง ผ่านสื่อทุกชนิด รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่หน่วยงานดังกล่าวจะทำหน้าที่จัดหมวดหมู่|ความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ และรายงานผลต่อสังคมเป็นระยะๆ

7.เปิดพื้นที่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ให้ฝ่ายค้าน ฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายผู้เห็นด้วยและเห็นต่างจากรัฐบาล ให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวาง

มาตรการของฝ่าย กปปส.

1.ยืนยันและปฏิบัติตามคำกล่าวที่ว่า “ขอคัดค้านการเลือกตั้งแต่ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง” โดยพร้อมปรึกษาหารือและร่วมมือกับ กกต. เพื่อแก้ไขอุปสรรคในเรื่องนี้

2.สำหรับสถานที่ราชการที่ กปปส.ได้เคลื่อนขบวนไปปิด เช่น คล้องโซ่ใส่กุญแจไว้ ก็พร้อมที่จะปรึกษาหารือกับหน่วยราชการนั้นๆ ดังเช่นที่ได้ปรึกษาหารือกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้สามารถเปิดทำงานและให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

3.พร้อมปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ในเรื่องมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

4.ลดการใช้วาจา ที่เป็นการกล่าวโทษเกินกว่าเหตุ ส่อเสียด และส่อให้เกิดความเกลียดชัง

มาตรการของพรรคการเมือง

1.พร้อมทบทวนนโยบายการต่อสู้ทางการเมือง โดยยึดมั่นในวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.จัดให้มีการถกแถลงร่วมกับฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม ในเรื่องสำคัญๆ ของการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งวิธีที่จะนำไปปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งนี้ตามแบบอย่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ริเริ่มไว้แล้วในเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่น

3.เสนอมาตรการการปรับปรุงพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกพรรคใน (ก) การตัดสินใจว่าพรรคจะส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ (ข) การคัดสรรบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง (ค) การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการบริหารประเทศของพรรค (ค) การที่สมาชิกจะสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของพรรค มากกว่าที่จะหวังแต่ให้พรรคสนับสนุนสมาชิก

การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ย่อมต้องใช้เวลา แต่ที่สำคัญคือต้องมีความอดทน เพียรพยายาม พร้อมรับความเสี่ยงอย่างมีสติ เปิดความคิดให้กว้างให้ไกลให้สร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี ไม่ควรมีคำว่าสายเกินไปหรือรอไว้ก่อน เพราะเราสามารถเริ่มสร้างความไว้วางใจได้แต่บัดนี้ แล้วจะได้หันหน้ามาคุยกันต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มาตรการ สร้างความไว้วางใจ

view