สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด ระบอบทักษิณ ในตลาดทุน (4): ปฏิรูปศาลเพื่อป้องปรามคอร์รัปชัน

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด "ระบอบทักษิณ" ในตลาดทุน (4): ปฏิรูปศาลเพื่อป้องปรามคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผู้เขียนสรุปข้อเสนอปฏิรูปตลาดทุนเพื่อกำจัด “ระบอบทักษิณ” ทั้งในความหมายคอร์รัปชันทางตรง และคอร์รัปชันทางอ้อม (เชิงนโยบาย) มาแล้วแปดข้อ

ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ต้องอาศัยการแก้กฎหมายหลักทรัพย์ และออกประกาศโดยผู้กำกับดูแลตลาดทุน คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

วันนี้มาดูข้อเสนอต่อศาลกันบ้าง โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตกเป็นเป้ากังขาของสังคมตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่า “ตุลาการภิวัฒน์” อย่างถูกทางและยุติธรรมมากน้อยเพียงใด

ข้อเสนอ 9. เปลี่ยนทัศนคติและแนวพิพากษาของศาลไทย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการป้องปรามคอร์รัปชัน มิใช่ยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลอย่างตายตัว

หลายคนอาจคิดว่า ศาลมีบทบาทในการปราบปรามคอร์รัปชันเพียงตัดสินคดีคอร์รัปชันให้เที่ยงธรรมก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริง ศาลมีบทบาทมากกว่านั้นมาก เพราะคำตัดสินจะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ในการตัดสินคดีต่อๆ ไปในอนาคต

วันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีบทบาทในการป้องปรามคอร์รัปชันมากกว่าเดิม ผู้เขียนเสนอว่านอกจากฝั่ง “ผู้รับ” จะต้องได้รับโทษอย่างรวดเร็วและเที่ยงธรรมแล้ว ฝั่ง “ผู้จ่าย” คือเราๆ ท่านๆ ตลอดจนบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ในภาคเอกชน วิธีแสดงความรับผิดชอบที่ดูมีเหตุมีผลที่สุดคือ ให้กรรมการและผู้บริหารบริษัทรับโทษด้วย ถ้าบริษัทติดสินบนผู้มีอำนาจโดยได้ประโยชน์ตอบแทน เช่น ติดสินบนเพื่อให้ได้รับสัมปทาน ยกเว้นว่ากรรมการและผู้บริหารจะพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็น

พูดง่ายๆ คือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากรรมการและผู้บริหารบริษัททำผิด (presumed guilty) ไม่ใช่สันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (presumed innocent) อย่างในคดีอาญาทั่วไป เพราะบริษัทไม่ใช่คน กรรมการและผู้บริหารเป็น “ตัวแทน” ของบริษัท ถ้าเกิดการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งบริษัทได้ประโยชน์ กรรมการและผู้บริหารจะไม่รับผิดชอบได้อย่างไร

หลักการข้างต้นนี้สะท้อนอยู่ในกฎหมายไทยหลายฉบับ รวมถึง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุในมาตรา 300 ว่า

“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิด...เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น”

เช่นกัน พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ. ขายตรงฯ) ก็ระบุในมาตรา 54 ว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น”

ทว่าในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ด้วยเสียง 5 ต่อ 4 ว่า มาตรา 54 ของ พ.ร.บ. ขายตรงข้างต้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรค 2 ที่กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด (presumed innocent)

แน่นอน คำวินิจฉัยฉบับนี้ไม่ได้กระทบต่อ พ.ร.บ.ขายตรงฯ เท่านั้น แต่ยังมีผลไปยังกฎหมายอื่นอีกหลายสิบหรืออาจจะถึงร้อยฉบับที่มีข้อสันนิษฐานความผิดของกรรมการและผู้บริหารโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมาตรา 300 ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วย กลายเป็นว่าบทบัญญัติเหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญ!

ไกรพล อรัญรัตน์ เนติบัณฑิตไทย เขียนบทความ “ผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 ต่อความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญา” (http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1797) วิเคราะห์อย่างละเอียด ผู้เขียนสรุปความบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

“...เท่ากับว่าวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ยอมรับและไม่รับรองความชอบธรรมในการมีอยู่ของข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาอีกต่อไป

“ผู้เขียนเห็นว่า หากเราจะให้เหตุผลเพื่อรับรองความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด ก็อาจให้เหตุผลได้ดังนี้

“1. พ.ร.บ. ขายตรงฯ มาตรา 54 รวมถึงพระราชบัญญัติอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติลักษณะเดียวกัน ไม่ได้สันนิษฐานความผิดของผู้แทนนิติบุคคลตั้งแต่แรกเริ่มคดี หากแต่โจทก์จะต้องพิสูจน์เงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) ในเบื้องต้นว่า นิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กระทำความผิดเสียก่อน จึงจะโยนภาระการพิสูจน์ (Reverse Burden of Proof) ไปให้แก่ฝ่ายจำเลย

“2. ข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด (Irrebuttable Presumption) …ผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าวก็ยังมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานว่า ตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นได้อยู่ ตามที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ให้ อีกทั้งยังมีโอกาสนำสืบพยานโต้แย้งโจทก์ว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) นั้นไม่มีอยู่จริงด้วย

“3. ในการสืบข้อเท็จจริงของจำเลยเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่ถูกสันนิษฐานตามกฎหมายนั้น นอกจากจะไม่เป็นการยากแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล เพราะข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทุกอย่างอยู่ในความรู้เห็นของผู้แทนนิติบุคคลอยู่แล้ว การนำสืบหักล้างข้อเท็จจริงของจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (Prove Beyond Reasonable Doubt) เหมือนการสืบข้อเท็จจริงของโจทก์ เพราะการสืบพยานของจำเลยเพื่อให้พ้นจากข้อสันนิษฐานนั้นเพียงสืบให้ได้น้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าฝ่ายโจทก์ (Preponderance of Evidence) ก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะเชื่อตามข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างแล้ว

“4. ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข (Basic Fact) ที่ว่านิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด กับข้อเท็จจริง ตามข้อสันนิษฐาน (Presumed Fact) ที่ถือว่าผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วยนั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล (Rational Connection) ทั้งนี้เพราะถึงแม้นิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลจะมีสถานภาพบุคคลแยกต่างหากออกจากกันก็ตามที แต่นิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติตามกฎหมาย หาได้มีความคิดและการกระทำเป็นของตัวเองไม่ การคิดและการแสดงออกของนิติบุคคลล้วนกระทำผ่านผู้แทนนิติบุคคลทั้งสิ้น หากนิติบุคคลถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว การกำหนดข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้จึงมีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว

“ผู้เขียนเห็นว่าด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้ง 4 ประการนี้ น่าจะเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปใช้อธิบายรับรองความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หากมีคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งในอนาคต”

ผู้เขียนเสนอว่า ทุกฝ่ายที่ใส่ใจกับคอร์รัปชันควรฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยข้อกฎหมายนี้ใหม่โดยเร็ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำลังลิดรอนความก้าวหน้าของการป้องปรามคอร์รัปชัน ผ่านคำวินิจฉัยซึ่งทำให้กรรมการและผู้บริหารบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้แทนของบริษัท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด ระบอบทักษิณ ในตลาดทุน (4) ปฏิรูปศาล ป้องปรามคอร์รัปชัน

view