จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม
การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา และการตอบรับ
ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ชนิดไม่ทันข้ามคืน ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีบทบาทการเป็นผู้นำในตลาดได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงทั้ง 2 ขา นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดทันทีทันควัน และตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพในเย็นย่ำ ค่ำวันเดียวกันนั่นเอง สวยงามผิดจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่แม้ต้นทุนการเงินจากธนาคารกลางลดลง แต่แบงก์ก็ยังดื้อแพ่งที่จะยืนดอกเบี้ยไว้มั่น นั่นไม่ใช่เพราะความเป็นเด็กดีแบบข้ามคืนหรือเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องปรับลดลงเช่นนั้นดอก
แต่สาเหตุหลักที่แบงก์ไม่รีรอเพราะไม่อยากแบกต้นทุนไว้อีกแล้ว ในภาวะที่สินเชื่อแทบไม่เติบโต หลายแห่งเร่งปรับลดเป้าหมายสินเชื่อกันยกใหญ่ สภาพคล่องที่เคยตุนเอาไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมากำลังจะเป็นม่ายขันหมาก หลังจากทิศทางเศรษฐกิจเริ่มเซื่องซึม การบริโภคไม่เกิดการลงทุนไม่มี โดยเฉพาะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความหวังที่จะเห็นการลงทุนเกิดขึ้นตามมาจากโครงการดังกล่าวก็ต้องพับแผนไปตาม ๆ กัน ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะสวมรอยเป็นเด็กดีแบบเนียน ๆ ตบเท้าพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยสนองนโยบายกันเรียงแถวทีเดียว
แตกต่างจากปีก่อน ๆ ที่ทุกธนาคารเร่งระดมเงินฝากกันแข่งอย่างรุนแรงเพื่อรอคอยการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดอกเบี้ยเงินฝากจึงไม่สามารถปรับลดลงได้เพราะการแข่งขัน แม้นาทีนี้จะยังมีนายแบงก์ที่มองว่าการแข่งขันเงินฝากยังคงมีอยู่แม้จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา แต่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะมาจากแบงก์เล็กแทบทั้งนั้น ส่วนแบงก์ใหญ่นั้นหรือ เวลานี้พูดกันแต่เรื่องทำอย่างไรกับเงินฝากที่มีอยู่ดี
การลดดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้น แต่ลดกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว หากดูเงินฝากโปรแกรมพิเศษที่แบงก์เคยชูดอกเบี้ยสูงล่อใจก่อนหน้านี้ มีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่ง แอบลดดอกเบี้ยเงินฝากลงเพื่อปรับลดต้นทุนเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่เคยได้ดอกเบี้ยสูงก็ถูกปรับลดลงไปก่อน
ในอีกด้านของดอกเบี้ย คือดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ หากเทียบจากต้นเดือนธันวาคม 2556 ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารใหญ่ที่ลดลง 0.125% หมายความว่ารายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ลดลงไปแล้ว 0.125% เพราะมีผลทันทีนับจากประกาศดอกเบี้ยมีผลบังคับใช้ แต่เทียบไม่ได้กับดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับลดลงทั้งฝากออมทรัพย์ที่ทำให้ต้นทุนของธนาคารมีผลลดลงทันทีเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเงินฝากออมทรัพย์จะไม่ใช่เงินฝากทั้งหมดของแบงก์ แต่ก็จ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้าในระดับต่ำมาก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 0.50% และเพราะต้นทุนการเงินต่ำกว่าเงินฝากประจำจึงถือเป็นฐานเงินฝากสำคัญของแบงก์ที่ต้องการให้มีสัดส่วนสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่จะมีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 50% ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ปรับลดลง 0.125% ก็จริงแต่แบงก์ใหญ่ ก็มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำในระดับสูงว่านั้น หรือบางแห่งปรับลดลงไปรวมแล้วมากกว่า 0.60% แล้วจากปลายปีที่ผ่านมา
กล่าวคือรายได้ที่ลดลง 0.125% จากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อทำตัวเป็นเด็กดี สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจและลดภาระต้นทุนของลูกค้า แต่เมื่อพิจารณาต้นทุนที่ลดลงจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับลดลงตั้งแต่ 0.10-0.65% หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ประเภทและจำนวนเงินฝากของเรา ๆ ท่าน ๆ มองดูแล้วยังไงแบงก์ก็มีแต่ได้เปรียบ ดังนั้นไม่ว่าจะเหตุผลสวยหรูใด ๆ ก็แล้วแต่ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ล้วนตั้งอยู่บนคำว่า “กำไร”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน