สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4ปัจจัยชี้ขาดคดีเลือกตั้ง

จาก โพสต์ทูเดย์

ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การเมืองกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเมื่อในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมอ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่2 ก.พ. เป็นโมฆะ พร้อมกับปัญหาใน 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัคร สส.ซึ่งเป็นคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัยว่าการแก้ปัญหานี้จะต้องทำอย่างไร

ดูทิศทางของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน โดยหากเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความเห็นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยคำร้องของ กกต.ในปัญหา 28 เขตเลือกตั้งอีก แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่โมฆะก็จะต้องให้ทางออกกับการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งต่อไป ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะจัดลำดับการพิจารณาอย่างไร

ขณะเดียวกัน จากการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่19 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นได้ในระดับหนึ่งว่าปัจจัยชี้ขาดว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการยื่นคำร้อง

ทั้ง กกต.และ ครม.พยายามนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาหักล้างในชั้นศาลรัฐธรรมนูญว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น

ในทางกลับกันถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะกระทำได้เฉพาะการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดวันเลือกตั้งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีแนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นแย้งกับ ครม.และ กกต.เพราะเมื่อวันที่8 พ.ค. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 วางแนวเอาไว้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการจัดการเลือกตั้งได้ และเป็นช่องทางที่นำไปสู่การวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งเมื่อปี2549 ต่อไป

ประเด็นที่ 2 : การนับคะแนนเลือกตั้งหลังจากปิดการลงคะแนนเมื่อวันที่2 ก.พ.

พรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดินได้โน้มน้าวให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้เห็นในระหว่างการไต่สวนเมื่อวันที่19 มี.ค.ว่า การนับคะแนนในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งที่ กกต.ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ครบทุกเขตเลือกตั้งเป็นการทำให้การออกเสียงลงคะแนนอันเป็นหัวใจของใช้สิทธิออกเสียของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เป็นความลับตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยอธิบายและยกตัวอย่างประกอบว่า "เมื่อการเลือกตั้งยังไม่สามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ แต่กลับมีการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเปิดเผย แน่นอนว่าจะส่งต่อการเลือกตั้งในเขตอื่นๆด้วย"

ไม่เพียงเท่านี้ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเช่นกันหลังจาก "สุพจน์ ไข่มุกด์"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการสอบถามรองนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ด้วยตัวเองในทำนองว่า"การนับผลคะแนนของผู้สมัครอาจถือเป็นมูลเหตุจูงใจ ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่จะตามมาภายหลังรู้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนี้ได้กี่คะแนน และมีเหตุจูงใจทำให้ต้องไปเติมคะแนน อยากถามรองนายกฯ ว่าตรงนี้ถือหลักสำคัญหรือไม่"

ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯหักล้างว่า "ภายหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนเลือกตั้งทุกครั้งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการนับผลการลงคะแนน และไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเอาไว้ว่าความลับของการลงคะแนนคือ ในการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง"

ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร หากศาลเห็นว่าการนับคะแนนเมื่อวันที่2 ก.พ. ไม่ถูกต้อง เพราะต้องจัดการเลือกตั้งทุกเขตให้แล้วเสร็จก่อน แน่นอนว่าการเลือกตั้งต้องโมฆะทั้งระบบไม่สามารถเป็นโมฆะในบางเขตเลือกตั้งได้ เหมือนกับที่เคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อปี2549 เป็นโมฆะทั้งหมด แม้ว่าในบางเขตเลือกตั้งในขณะนั้นจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการลงคะแนนก็ตาม

ประเด็นที่ 3 : การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระหว่างการจัดการเลือกตั้ง

นับเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็น เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มีการต่อสู้อย่างหนักกันพอสมควร โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและ กกต.ยืนยันในชั้นศาลรัฐธรรมนูญว่า การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง เพราะรัฐบาลมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะที่เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประกอบกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.มีลักษณะของการนำทรัพยากรและบุคลากรของรัฐมาใช้ผ่านกลไกการตั้งศูนย์รักษาความสงบ ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4)

รองนายกฯ พยายามแก้ข้อหาโดยอ้างถึงสถานการณ์ความเป็นจริงด้วยการชี้ให้เห็นว่า แม้ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อกำหนดออกมาที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกัน แต่ในข้อ 1 ของข้อกำหนดดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้การชุมนุมที่เป็นลักษณะของการหาเสียงเลือกตั้งสามารถกระทำได้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้ พ.ร.ก. เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองแต่ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

ประเด็นที่ 4 : ปัญหาการไม่มีผู้สมัคร สส.ใน 28 เขตเลือกตั้ง

การวินิจฉัยประเด็นนี้มีความน่าสนใจตรงที่คำร้องที่ กกต.ได้ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้มีสอบถามในทำนองว่า "หากต้องตรา พ.ร.ฎ. เพื่อดำเนินการให้มีการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง การตราพ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะสามารถกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เฉพาะ 28 เขตเลือกตั้งหรือกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในทุกเขตเลือกตั้ง" ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะโดยอาศัยเหตุจากปัญหาของ 28 เขตเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับมุมนี้พอสมควร จะเห็นได้ว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายท่าน โดยเฉพาะ "ทวีเกียรติมีนะกนิษฐ" ที่ได้ถามในเชิงอภิปรายแสดงความเห็นว่า กกต.น่าจะใช้อำนาจของตัวเองขยายวันรับสมัครออกไปได้ ก่อนที่ วรภัทร วงศ์ปราโมทย์ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต.จะตอบยืนยันว่ากกต.ได้มีความเห็นตรงกันแล้วว่า การแก้ไขปัญหานี้ไม่มีทางอื่นนอกจากการออกพ.ร.ฎ.ใหม่เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดบัญญัติทางออกว่าหากไม่มีผู้สมัคร สส.ในบางเขตเลือกตั้งแล้ว กกต.จะต้องทำอย่างไร

หากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นตาม กกต.ด้วยการให้แนวทางการแก้ไขปัญหา 28 เขตเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการผ่านการตรา พ.ร.ฎ.ทั้งประเทศก็จะไม่ต่างอะไรกับการให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะไปโดยปริยาย

แต่ถึงกระนั้นที่สุดแล้วไม่ว่าคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาแนวทางใด แน่นอนว่าย่อมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในทางการเมืองที่ล้วนมีผลต่อรัฐบาล พรรคการเมือง และ กปปส.ทั้งสิ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัจจัยชี้ขาด คดีเลือกตั้ง

view