จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สรัญญา จันทร์สว่าง
ปัญหาการเมืองยืดเยื้อเป็นปัจจัยสำคัญ บั่นทอนความเชื่อมั่นการบริโภค และการลงทุน ดัชนีชี้วัดต่างๆ ส่งสัญญาณในแนวทางเดียวกัน
คือ ชะลอและทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แทบมองไม่เห็นสัญญาณบวก แรงขับเคลื่อนล้วนอยู่ในอาการ "สะดุด" โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ กระทบการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตาม ยิ่งภาวะสุญญากาศรัฐบาลและไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายเมื่อไร อย่างไร ดีที่สุดคือประคองตัวเอง บริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีเป็นเกราะป้องกันตัวเอง
การจัดการสภาพคล่อง นาทีนี้สำคัญยิ่งไล่ตั้งแต่ "ภาคครัวเรือน" ต้องประเมินรายรับ รายจ่าย ภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายสำรองกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ ลุกขึ้นปัดฝุ่น "บัญชีครัวเรือน" กันอีกครั้งยังไม่สาย!! ยิ่งกลุ่มที่ใช้ "เงินอนาคต" ล่วงหน้าไปถึงไหน "ดอกเบี้ย" ยิ่งก้าวไปไกลกว่าหลายเท่าตัว พันธนาการรายได้ให้หมดไปกับภาระค่าดอกเบี้ยที่ไม่อาจใช้จ่ายเพิ่มทั้งสิ่งจำเป็นและสิ่งพึงใจได้เลยทีเดียว
ขณะที่ "ภาคธุรกิจ" สภาพคล่อง!! ถือเป็นลมหายใจของธุรกิจ จะบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอและรองรับการดำเนินธุรกิจได้รอดปลอดภัยจำเป็นยิ่ง แม้ยอดขายชะลอตัว กระทบผลกำไร หรืออาจขาดทุนบ้าง แต่หากไม่ขาดสภาพคล่อง ยังสามารถชำระหนี้ได้จะด้วยวิธีการใดก็ตามแต่ ธุรกิจก็ยังอยู่ได้ ยกเว้นขาดทุนสะสมนานวันเข้าไม่อาจเลี่ยงผลกระทบได้เช่นกัน
ภาวะที่ตลาดชะลอตัวโอกาสสร้างยอดขายเติบโตมีน้อย ไม่เพียงต้องปรับแผนการใช้ "งบประมาณการตลาด" ให้สอดรับสถานการณ์ ผู้ประกอบการต้องทบทวนการใช้เม็ดเงิน การลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม การบริหารจัดการงานส่วนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพล้วนย้อนกลับมาสู่สภาพคล่องทางธุรกิจทั้งสิ้น ตั้งแต่ภาคการผลิต วัตถุดิบ แรงงาน การบริหารสินค้าคงคลัง การบริหารลูกค้า ลูกหนี้ การขยายธุรกิจ ฯลฯ
การรักษาสภาพคล่องท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ต้องควบคุม เข้มงวดไปถึงการลดการสูญเสีย การป้องกันการทุจริต การใช้เทคโนโลยีทันสมัย การพัฒนาหรือเพิ่มช่องทางขายใหม่ การขยายฐานลูกค้า การจัดลำดับความสำคัญของงาน การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น การบริหารแหล่งเงินทุน แหล่งเงินกู้ การบริหารสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่ก่อให้เกิดรายได้ เรียกว่าใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้กระทั่งการรีไฟแนนซ์ หากเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
สำหรับสถานะประเทศไทยแขวนอยู่บนความเสี่ยง!! จากนโยบายประชานิยมทั้งรถคันแรก โครงการจำนำข้าว ซึ่งใช้เม็ดเงินมหาศาลสะเทือนฐานะการเงินไม่น้อย "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย" ที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศได้รับผลกระทบเต็มๆ จากปัญหาการเมืองไทย แม้มีสัญญาณบวกจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระตุ้นความเชื่อมั่นขยับขึ้นมาบ้างแต่ยังไม่ 100% เวลานี้อยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อ "ฟื้นหรือไม่ฟื้น" หากฟื้นตัวกลับมาเติบโตแน่นอนว่าธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายภาคส่วนทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ขนส่ง สินค้าและบริการต่างๆ ย่อมรับอานิสงส์ตามไปด้วย แต่หากไม่ฟื้นและตลาดซบเซาย่อมเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกการค้า การลงทุนอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน "ขุมทอง" ของนักลงทุนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามายึดพื้นที่ ขยายอาณาจักรการค้าปูทางสร้างรายได้กลับประเทศ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังมองไม่เห็น "แสงสว่าง" ของข้อยุติ นับวันจะยิ่งฉุด "ความแข็งแรง" ของประเทศไทยลงทุกขณะ เปิดทาง "คู่แข่ง" พร้อมฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางโอกาสรอบบ้าน แม้กระทั่งในบ้าน ความได้เปรียบของไทย ในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียนของไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก!!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน