Stress Test ธนาคารกลางสหรัฐ
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จากบันทึกการประชุมธนาคารสหรัฐเดือนธันวาคม 2013 กล่าวเตือนไว้ว่า "มีความกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของเฟด
อันเนื่องมาจากความเสียหายจากเงินทุนในอนาคต"
ในจังหวะเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังลดการซื้อสินทรัพย์ระยะยาว หรือ QE Tapering นั้น มีคำถามว่า ณ วันนี้ ที่งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด มีขนาดสูงที่สุดกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โอกาสของความเสี่ยงที่พอร์ตของเฟดจะมีขนาดเป็นลบนั้น มีมากน้อยเพียงใด บทความนี้ต้องการตอบคำถามดังกล่าว
จากในอดีต การทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test นั้น มักจะเป็นการประเมินหามูลค่าความเสียหายสูงสุดของพอร์ตโฟลิโอที่ทำการวิเคราะห์ อย่างไรก็ดี ข้อเสียของวิธีดังกล่าวคือจะไม่ทราบถึงความเสียหายของพอร์ตที่ขนาดต่างๆ ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ในบทความนี้ จะใช้การทดสอบที่แสดงโอกาสมากน้อยของความเสียหายดังกล่าวในระดับต่างๆ ด้วย
ก่อนอื่นขออธิบายถึงความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอเฟดที่มีพันธบัตรอยู่กว่าร้อยละ 60 ว่าความเสี่ยงหลักที่ต้องพิจารณาคือ ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย โดยแบ่งเป็น 2 ความเสี่ยงย่อย ได้แก่ ความเสี่ยงจากงบดุล และ ความเสี่ยงจากรายได้ โดยความเสี่ยงแรก หมายถึงการที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีระดับสูงขึ้นทำให้มูลค่าของพันธบัตรที่เฟดถือไว้มีมูลค่าที่ลดลง ซึ่งจะต้องหักเป็นส่วนที่ขาดทุนหากเฟดทำการขายพันธบัตร สำหรับความเสี่ยงอย่างหลัง เป็นความเสี่ยงที่รายได้ของเฟดจะลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เฟดต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรสูงขึ้น ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นเร็ว ก็อาจต้องทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของเฟดในส่วนนี้เป็นศูนย์ก็เป็นได้
จากงานวิจัยของเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ดังรูปที่ 1 พบว่าเส้นบนสุดหมายถึงค่าคาดการณ์มูลค่าตลาดของพันธบัตรสหรัฐในอนาคตที่โอกาสมูลค่าจริงจะมีค่ามากหรือน้อยกว่ามีอยู่เท่าๆ กัน จากรูปจะเห็นได้ว่าโอกาสที่ค่าคาดการณ์ของมูลค่าตลาดของพันธบัตรสหรัฐที่เฟดถืออยู่จะต่ำกว่าค่า Face value ในปี 2015 มีอยู่น้อยกว่าร้อยละ 5 นั่นหมายความว่าในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเข้าใกล้ศูนย์อยู่ในตอนนี้ ความเสี่ยงจากงบดุลค่อนข้างจะมีน้อย
สำหรับความเสี่ยงจากรายได้ของเฟดนั้น สามารถวิเคราะห์ได้จากความจริงที่ว่าแหล่งเงินของเฟดได้ใช้ทุนสำรองตามกฎหมายที่ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อการซื้อพันธบัตรและตราสารที่ใช้สินเชื่อบ้านในการค้ำประกันในโครงการ QE นั่นคือ เฟดต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์จากการฝากสำรองดังกล่าวกับเฟด ในขณะที่ได้รับดอกเบี้ยจากพันธบัตรและตราสารอื่นๆ จากโครงการ QE ในตอนนี้ดอกเบี้ยรับมีมูลค่าสูงกว่าดอกเบี้ยจ่าย ทั้งนี้เฟดนำเงินที่เหลือไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ และส่วนทุนของเฟด ทีนี้หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐค่อยๆ สูงขึ้น กำไรสุทธิจากดอกเบี้ยดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นขาดทุนสุทธิได้เช่นกัน
คำถามที่น่าสนใจคือโอกาสมีมากแค่ไหน จากรูปที่ 2 พบว่าโอกาสที่จะเกิดสุทธิจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของเฟดภายในปี 2018 มีอยู่ร้อยละ 5 ทว่าโอกาสมีอยู่ไม่น้อยในช่วงปี 2020 ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างนานจนสมมติฐานอื่นๆ ในการวิเคราะห์อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้
หากจะพิจารณาดูว่าโอกาสที่กำไรสุทธิจากส่วนดอกเบี้ยของพันธบัตรมีอยู่มากน้อยเพียงใดให้ลองพิจารณารูปที่ 3 โอกาสที่จะเกิดการขาดทุนเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นแนวโน้มมีอยู่เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
โดยสรุป แม้เฟดจะกังวลถึงความเสียหายจากเงินทุนของตนเอง แม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ทว่าโอกาส ณ นาทีนี้ถือว่ายังมีไม่มากเท่าไรนักครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน