จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2556 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 82.3% จากปี 2551 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่เพียง 55.1%
และจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ระบุว่า แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 84% ของจีดีพีในสิ้นปี 2557
ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน เกิดจากอัตราการเติบโต "รายได้" ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของตัวเลขหนี้สิน รวมทั้งทิศทางการออมของคนไทยก็อยู่ในอัตราที่ต่ำลง
ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการบริโภค วัตถุนิยม ทำให้คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการจับจ่ายเกินตัว รู้สึกว่าสร้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นเรื่องปกติ ขณะที่มีความรู้พื้นฐานหรือทักษะในการจัดการทางการเงินที่ต่ำ ทำให้มีการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น
และจากที่ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินของประชาชน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสียในระบบเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งที่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นเคยและน่าจะรู้จักดี
แต่ปัญหาคือ "คนไทย" ส่วนใหญ่รู้แต่การ "ใช้เงิน" แต่ขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน จนถึงความรู้พื้นฐานทางการเงิน
สะท้อนจากรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2556 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการศึกษาทักษะทางการเงินของคนไทย โดยใช้แนวสำรวจของ OECD ซึ่งครอบคลุมการวัด 3 ด้านคือ ด้านความรู้ทางการเงิน, ด้านพฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน
ผลสำรวจพบว่า คนไทยมีคะแนนทักษะทางการเงินเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 58.5 ของคะแนนเต็ม ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศที่ร่วมโครงการของโออีซีดี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 62.3
นอกจากนี้รายงานยังสรุปว่า คนไทยไม่มีความรู้ทางการเงินอย่างถ่องแท้ โดยมีคนไทยมากกว่าครึ่งไม่เข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น, นโยบายคุ้มครองเงินฝาก และยังมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อ หรือการคำนวณเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการให้ "ความรู้ทางการเงิน" (Financial Literacy) ที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของทุกคน แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
"ความรู้ทางการเงิน" ที่ว่านี้หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ วินัยทางการเงิน รู้จักการวางแผน และสามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี เพื่อทำให้ตนเองมีสุขภาพทางการเงินที่ดี
ประกอบกับทุกวันนี้ธุรกิจการเงินมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสร้างหนี้มากขึ้น ขณะที่นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนอาจได้รับข้อมูล หรือมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง
ดังนั้น การสร้างรากฐานของเศรษฐกิจประเทศให้แข็งแรง จำเป็นต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องการเงินให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้ก็มีการผลักดันให้ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความรู้เรื่องทางการเงินตั้งแต่เด็ก ๆ เฉกเช่นเดียวกับการสอนให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ เพื่อสร้างสุขภาพการเงินที่แข็งแรงของประชาชนและประเทศ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน