สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถวิล-เปลี่ยนศรี-มือบอมบ์เหมาลำ-ไล่ตระกูลชิน

โปรดเกล้าฯ-ถวิล-กลับนั่งเลขาฯสมช

จาก โพสต์ทูเดย์

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ "ถวิล" กลับดำรงตำแหน่ง เลขาฯสมช. ให้ "ภราดร" นั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ

เมื่อ28 เม.ย.57 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีและเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี ข้าราชการพลเรือนสามัญ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2554 ตามประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 นั้น

เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีที่ นายถวิล ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมต่อศาลปกครอง เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 ที่ให้ นายถวิล ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2554

บัดนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 ที่อนุมัติรับโอนและแต่งตั้ง นายถวิล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 และให้ นายถวิล ได้กลับสู่ตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2554 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2557 อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบในการที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 181(1) ตามลำดับ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีผลให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 ที่ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2554 เป็นอันถูกเพิกถอนไป และนายถวิล กลับไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เช่นเดิม

นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ข้าราชการพลเรือนสามัญ พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2557


ถวิล-เปลี่ยนศรี-มือบอมบ์เหมาลำ-ไล่ตระกูลชิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์ / ปริญญา ชูเลขา

ไม่น่าเชื่อว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ได้คืนเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่อาจชี้เป็นชี้ตายให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจพ้นสภาพยกเข่ง กระทั่งส่งผลให้การเมืองไทยเดินเข้าสู่โหมด “สุญญากาศ” เต็มรูปแบบ

กรณีนี้จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งย้าย ถวิล เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองและเครือญาติตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้นำร่องชี้ขาดไว้ก่อนหน้านี้

ดังนั้น การแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อปี 2554 ด้วยการขยับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร. ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สมช. และเตะโด่ง ถวิล พ้นทางไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 จะเป็นตำนานการเมืองที่คลาสสิก

ด้วยถัดมาไม่นาน รัฐบาลชุดเดียวกันนี้ได้ย้าย พล.ต.อ.วิเชียร อีกรอบ ไปนั่งปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดทางให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ขึ้นคร่อมเก้าอี้เลขาธิการ สมช.

ยิ่งคลาสสิกมากขึ้นหากทราบว่า ปรีดา พัฒนถาบุตร คือ “อา” ของ พล.ท.ภราดร ผู้ซึ่งชักนำ ร.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร นายตำรวจติดตามในขณะนั้น เข้าสู่ถนนการเมือง

อดีตที่เปิดทางให้ร้อยตำรวจเอกทะยานเข้าสู่เก้าอี้ผู้นำอย่างยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา กำลังตามมาปิดเกมการเมืองตระกูลชินวัตรด้วย เพราะการใช้อำนาจอันมิชอบของ ยิ่งลักษณ์ ในวันนี้หรือไม่...ยังต้องลุ้นคำตัดสินของศาล

อย่างไรก็ดี คดีของ ถวิล ที่ไปอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นชนวนระเบิดทางการเมืองช่วงเดือน พ.ค. และจะเป็นเงื่อนไขการ “เผด็จศึก” หรือ “แตกหัก” ของม็อบสองสี ระหว่างกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. ที่ได้นัดดวลพลังกันไว้ล่วงหน้าในวันที่ศาลนัดชี้ขาดคดี

ตัว ถวิล ยังทึ่งต่อผลพวงที่ตัวเองได้ยื่นต่อสู้คดี เขาไม่คาดคิดว่าจะกลายเป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์หรือจะกลายเป็น “ฮีโร่” ในสายตาของ กปปส. แต่ถึงที่สุดคดีย้าย ถวิล อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายในการโค่นล้มระบอบทักษิณก็เป็นได้

...ย้อนไปดูช่วงเวลาอันเจ็บปวดของ ถวิล หลังจากต้องหลุดจากเก้าอี้

“2 ปี 6 เดือนที่ถูกย้าย แต่ละวันๆ นั่งตบยุงอย่างเดียว จนทำให้รู้สึกว่าตัวเองเกษียณไปแล้ว บางครั้งเผลอคิดว่าตัวเองเป็นอดีตข้าราชการ เพราะไม่มีอะไรให้ทำ ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมหมด ในแต่ละวันผมกินเงินเดือนข้าราชการไปเปล่าๆ ยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกผิดเสียด้วยซ้ำ

“ผมตัดสินใจสู้ เพราะมั่นใจว่าสังคมเห็นชัดว่าผมถูกรังแกจริงๆ กรณีย้ายผมเพื่อให้ญาติตัวเองขึ้นมาเป็น ผบ.ตร แต่บางครั้งก็ท้อ เพราะเพื่อนๆ ข้าราชการด้วยกันก็บอกว่าสู้ไปก็แพ้เปล่าๆ เพราะไปสู้กับนายกรัฐมนตรี ยิ่งคนตระกูล (ชินวัตร) มีเครือข่ายเยอะ สู้ไปก็ไม่มีโอกาสชนะ เพราะคนอย่างนายกฯ ย่อมแพ้ไม่ได้ บางครั้งผมก็รู้สึกเขวเหมือนกัน แต่ยังมั่นใจว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่จริง จึงกัดฟันสู้ต่อจนมาถึงวันนี้”ถวิล เล่าความรู้สึก

ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็คืนความเป็นธรรมให้ ถวิล ซึ่งผลของคดีนี้ถูก ไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา พร้อมคณะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ครม. ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

“ในวันนี้ผมไม่ได้ยินดีหรือเสียใจด้วยที่รัฐบาลโดนอย่างนี้ โดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้คิดจะไปฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลอาญา หรือศาลแพ่ง เพราะผมไม่อยากได้เงินจาก ยิ่งลักษณ์ สักบาทเดียวก็ไม่เอา เสียเวลาเปล่าๆ คิดอย่างเดียวคืออยากกลับไปทำงาน ส่วนผลของคดีจะออกมาอย่างไรผมไม่ได้รับรู้ด้วย เพราะรัฐบาลนี้จะตายยกรัง หรือตายยกเข่ง หรือจะมาสะดุดขาตัวเองตายเอาง่ายๆ กับคดีข้าราชการตัวเล็กๆ อย่างผมก็เป็นได้ใครจะไปรู้”

“เพราะแม้แต่มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมกันเป็นแสนหรือเป็นล้านๆ คน ก็เคยทำกันมาแล้ว มากันไม่รู้กี่ครั้ง ปิดกรุงเทพมหานครก็ทำมาแล้ว แต่ ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ไป แต่กรณีของผมอาจจะโป้งเดียวจอด รัฐบาลตายยกเข่งเหมาลำก็เป็นได้ หากจะเป็นไปเช่นนั้นก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่รัฐบาลนี้ได้เคยทำไว้กับผม”ถวิล ระบุ

ถวิล ย้ำหนักแน่นว่า คดีนี้เป็นคดีประโยชน์สาธารณะ เป็นสิทธิของข้าราชการคนหนึ่งที่จะฟ้องเอาผิดต่อผู้บังคับบัญชาได้ หากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่เป็นธรรม แม้บุคคลคนนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ก็ต้องรับผิดชอบและรับโทษได้เช่นกัน

“ผมไม่ได้ไปสะดุดหัวแม่ตีนใครในรัฐบาลชุดนี้จนทำให้ฝ่ายใดโกรธหรือเกลียดชัง แต่ที่ต้องมาชดใช้กรรมกันอยู่จนมาถึงทุกวันนี้เป็นเพราะย้ายผม และผมไปร้องต่อศาลปกครองเมื่อ 2 ปีก่อน

“ตั้งแต่รัฐบาลตระกูลชินวัตรนี้เข้ามาบริหารประเทศ เขาจะเอาใครไปอยู่ที่ไหนก็ทำได้ตามอำเภอใจ เหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่ปี 2544-2545 โดยเฉพาะโจทย์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ค้างรอเป็น ผบ.ตร.อยู่ ตอนผมเป็นเลขาธิการ สมช. เคยโหวตเลือก ผบ.ตร. 2 ครั้ง ครั้งแรก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

“ครั้งที่สอง คือคนที่มาแย่งตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ของผม คือ พล.ต.อ.วิเชียร ดังนั้นเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาก็คือความต้องการดันคนของตัวเองขึ้นมาในตำแหน่งที่ตัวเองใฝ่ฝันมานานแล้ว และเวลาไม่รอท่าอีกแล้ว ภายในปีนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ต้องเกษียณ ก็เลยเป็นเหตุให้ ยิ่งลักษณ์ เพ่งเล็งเอาคนที่ขวางอยู่ออกให้หมด

“นั่นคือ เอา พล.ต.อ.วิเชียร ออก แต่โดยความเป็นจริงเอา พล.ต.อ.วิเชียร ออกยากมาก เพราะมีกฎหมายตำรวจป้องกันคุ้มครองอยู่ จึงต้องเจรจาต่อรองกัน แม้ผมจะไม่รู้ว่าเขา (นายกรัฐมนตรีกับ พล.ต.อ.วิเชียร) ดีลอะไรกัน แต่หลังจากนั้น พล.ต.อ.วิเชียร ได้เป็นเลขาฯ สมช. แล้วยังได้เป็นประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าได้เป็นเลขาฯ สมช. ตามมากับแพ็กเกจชุดใหญ่มากมาย จึงทำให้เรื่องราวต่างๆ จบลงโดยง่าย

“เมื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ตกลงจะมา สมช. นายกฯ ก็ต้องทำให้ตำแหน่ง สมช.ว่างลง นั่นคือเตะโด่งผมออกไป ก่อนหน้าผมโดนเด้ง ท่านวิเชียรยังยืนยันกับผมว่า ผม (พล.ต.อ.วิเชียร) จะสู้ เพราะมีกฎหมายตำรวจคุ้มครอง แต่สุดท้ายกลับดีลกันลงตัว สุดท้ายก็มาที่ผม รัฐบาลก็ต้องเตะผมออกไปเป็นที่ปรึกษา

“สิ่งที่ พล.ต.อ.วิเชียร คิดว่าเลขาฯ สมช.จะมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับ ผบ.ตร. หรือไม่นั้น ต้องถามว่ามีศักดิ์ศรีในแง่ไหน ในแง่ที่เป็นตำแหน่งที่พอใจและรับดีลได้หรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องของผมไว้วินิจฉัย เพราะเหตุผลชัดเจนว่าการโยกย้ายผมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเครือญาติ โดยเป็นไปตามที่เขา (รัฐบาล) ล็อกไว้ เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลมีวาระตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร.อยู่แล้ว ใครยืนขวางต้องเขี่ยออกให้หมด”

อย่างไรก็ตาม ถวิล ไม่ให้น้ำหนักสาเหตุถูกโยกย้ายเพราะอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช.ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชุดนี้ หรือเพราะเป็นคนทำงานอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งมีกรณีพิพาทกับคนเสื้อแดง เพราะอยู่กันอีกหลายคนแต่ก็ไม่ถูกย้าย

“เช่น นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษก็อยู่ แต่ปัจจุบันเป็นข้าราชการระดับสูงคนสำคัญในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายข้อหากบฏกับแกนนำ กปปส.ในขณะนี้ แม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ. ก็อยู่ คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่เด้งคนเหล่านี้ แต่เจาะจงมาที่ผม

“ช่วงที่ผมทำงานกับ ศอฉ. ผมก็ไม่ได้ออกตัวแรงเหมือน ธาริต ทำ ท่านต่างหากที่ออกตัวแรงและเป็นเป้ามากกว่า รัฐบาลสั่งอะไรทำได้หมด ในตอนนั้นผมแถลงการณ์ในนาม ศอฉ.เพียงครั้งเดียว คือเรื่องระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแกนนำ นปช. เรื่องอื่นๆ ไม่ได้เข้าไปยุ่ง

ถามตรงๆ...เพราะเป็นคนตรังบ้านเดียวกับนายกฯ ชวน หรือไม่ จึงถูกเพ่งเล็งว่าไม่เป็นพวก “ผมเกิดเพชรบุรี แต่ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ตรังตั้งแต่เด็ก แหลงใต้ยังไม่แข็งแรงเหมือนคนใต้”ถวิล เล่าอย่างอารมณ์ดี

“ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ ไปแก้ต่างศาลปกครองว่าโยกย้ายผม เพราะผมมีความรู้ความสามารถงานด้านความมั่นคง จึงสมควรได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น คือที่ปรึกษานายกฯ เพื่อจะได้ไปช่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่เป็นความจริง โกหกทั้งเพ

“แม้แต่ศาลปกครองสูงสุดเองก็ยังไม่เชื่อ เพราะรู้ดีว่าเลขาธิการ สมช. เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เป็นตำแหน่งลอยๆ ขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าด้วยซ้ำไป อีกเหตุผลที่ถือเป็นการกระทำความผิดคือการที่รัฐบาลชุดนี้โยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อแต่งตั้ง พล.ท.ภราดร เป็นเลขาฯ สมช. แทน ถือเป็นการทำลายระบบราชการอย่างรุนแรง

“ตัวอย่างนี้สะท้อนถึงการดิ้นรนวิ่งเต้นเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง เพราะเป็นการโยกย้ายข้ามหน่วยราชการ จากข้าราชการทหารมาเป็นข้าราชการพลเรือน โดยปกติตามระเบียบข้าราชการทำไม่ได้ ยกเว้นมีพลังไฮซูเปอร์พาวเวอร์ทางการเมืองจริงๆ จึงจะทำได้ และ พล.ท.ภราดร ก็เดินมาในแนวทางนี้”

ถวิล ฝากเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์กับรัฐบาลในอนาคตว่าระบบข้าราชการมีรากเหง้า แต่ละคนอยู่ในองค์กรมายาวนานในฐานะข้าราชการประจำ ฝ่ายการเมืองเข้ามาอยู่ไม่เกิน 4 ปีก็ไป

แม้อำนาจนายกฯ จะโยกย้ายข้าราชการคนใดก็ได้ แต่ต้องเป็นธรรมและถูกต้อง แต่หากโยกย้ายด้วยอคติส่วนตัวและผลประโยชน์ทางการเมือง คนระดับนายกรัฐมนตรีก็มีสิทธิผิดและโดนลงโทษได้เช่นกัน

ชีวิตมีหมายเหตุ 2 ปี 6 เดือนแค่ฝันไป

ชัยชนะของถวิลในวันนี้ควรถูกจารึกไว้เป็นบทเรียนสำคัญแก่นักการเมืองและข้าราชการด้วยกัน ฝ่ายการเมืองที่คิดจะรังแกข้าราชการต้องยับยั้งชั่งใจและคิดให้หนักเพราะกรณีของถวิลจากนี้จะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

...หมายถึงนายกรัฐมนตรีทำอะไรผิดก็ยังถูกลงโทษสั่งสอนได้เหมือนกัน

“ที่สำคัญผมต้องการสั่งสอนข้าราชการด้วยกันเองกับพวกที่ใช้วิธีลัดใช้วิธีใต้ดินวิ่งเต้นเข้าสู่ตำแหน่งได้รับบทเรียนบ้าง อย่าง พล.ท.ภราดร เป็นเลขาธิการ สมช. คนที่ 17 และ พล.ต.อ.วิเชียร เป็นเลขาธิการ สมช.คนที่ 16 ทั้งสองคนนี้ได้รับบทเรียนอันสำคัญแล้ว

“อย่างน้อยที่สุดประวัติการรับราชการของพวกเขาย่อมมีรอยด่างพร่อยแล้ว เพราะเป็นบุคคลที่ถูกลบชื่อออกจากทำเนียบผู้บริหาร สมช. โดยไม่มีชื่อหรือรูปถ่ายอันทรงเกียรติบนผนังทำเนียบผู้บริหารนับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรียกเลิก มติ ครม.แต่งตั้งโยกย้ายเลขาธิการ สมช.ทั้ง 2 คน

“ดังนั้นจึงมีหมายเหตุว่าตลอดช่วง 2 ปี 6 เดือน เลขาธิการ สมช. ยังคงหยุดอยู่คนที่ 15 คือ ผม ชื่อ ถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการ สมช.  ย้อนหลังกลับไปตามคำสั่งศาลปกครอง ผมไม่เคยนั่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ พล.ท.ภราดร เองก็ไม่เคยนั่งเลขาธิการ สมช. พล.ต.อ.วิเชียรก็ไม่เคยนั่ง

“เพราะตามคำสั่งศาลผมยังไม่เคยลุกจากเก้าอี้เลขาธิการ สมช.คนที่ 15 เลย ดังนั้นชีวิตจึงมีหมายเหตุในวงเล็บว่าทั้ง พล.ท.ภราดร และ พล.ต.อ.วิเชียร แค่ฝันไปว่าเคยได้นั่งเป็นเลขาธิการ สมช. คนที่ 16 และ 17 พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าผมยังเป็นเลขาธิการ สมช. อยู่เหมือนเดิม” ถวิลเล่าออกรสจนหัวเราะกันร่วน

...นี่เป็นความภาคภูมิของข้าราชการระดับสูงที่ไม่ยอมค้อมตัวให้ความไม่ถูกต้อง  

จะกลับมาล้าง"สมช."ใหม่

ผู้นำรัฐบาลรักษาการชุดนี้ไม่ขอสังฆกรรมกับ ถวิล เปลี่ยนศรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงในข้อหาเป็นกบฏ เพราะไปขึ้นเวที กปปส. ซึ่งถวิลโต้ว่า “รัฐบาลชุดนี้จะทำงานกับผมได้หรือเปล่ามากกว่า เพราะหลักการทำงานของผม คือ สิ่งใดเป็นเรื่องของ ครม.หรือนายกรัฐมนตรีก็ว่ากันไป ยิ่งนายกรัฐมนตรีและ ครม.ไม่มายุ่งกับผม ยิ่งดีใหญ่ เพราะผมจะได้ทำหน้าที่ในขอบเขต สมช.ได้เต็มที่

“ผมมีสิทธิขึ้นเวที กปปส. เพราะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และนอกเวลาราชการผมก็มีสิทธิด่ารัฐบาลได้เหมือนกัน หากรัฐบาลทำไม่ดี อยากถามกลับจริงๆ ว่าผมนี่เหรอคือ ‘กบฏ’ ทั้งๆ ที่ผมทำงานด้านความมั่นคงมาตลอดชีวิตราชการ 30 กว่าปี”

ถวิล ไม่แคร์ว่านายกฯ จะมอบนโยบายการทำงานอะไรให้หรือไม่ แต่ได้กลับ สมช.เมื่อไหร่ (รอโปรดเกล้าฯ) จะเข้าไปรื้อฟื้นการทำงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ละเลยกลับมาทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

“ผมจะประชุมฝ่ายความมั่นคงทุกสัปดาห์เพื่อผลักดันนโยบาย อาทิ นโยบายการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยสู้รบทางสงคราม จากพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดน 4 จังหวัด 9 ศูนย์อพยพ ในเชิงนโยบายจะต้องผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับ เพราะทางรัฐบาลไทยไม่อาจยินยอมให้คนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานได้

“ที่สำคัญสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปจากเดิม และขอย้ำนี่คือประโยชน์ของลูกหม้อ เพราะได้เห็นพัฒนาการของปัญหามาโดยตลอด จึงได้มีการเตรียมการออกข่าวให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ตื่นตัวได้รับรู้

“น่าสงสารองค์กรเพราะงานเหล่านี้หยุดไปนาน หรือการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน ตั้งแต่เรื่องการปักปันเขตแดน การอพยพเข้า-ออก การขนอาวุธ หรือการลักลอบขนย้ายสิ่งผิดกฎหมาย หน้าที่ สมช.คือการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่ปัญหาพื้นที่พักพิงในหลายๆ จุดกลายเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธ ยาเสพติด หรือกลายเป็นแหล่งพักพิงสนับสนุนอาหารและยารักษาโรคแก่กองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลประเทศพม่า

“จนกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมของผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยจากพม่าชาวกะเหรี่ยง ดังนั้น ท่าทีของประเทศไทยต้องระมัดระวัง เพราะกระทบต่อความสัมพันธ์และอธิปไตยประเทศเพื่อนบ้าน ในเชิงนโยบายต้องสมดุล กล่าวคือการผลักดันคนเหล่านี้กลับไปต้องสร้างความมั่นใจว่าคนเหล่านี้ไม่ถูกกดขี่เป็นแรงงานทาสหรือถูกฆ่าตาย หรือต้องไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ว่านโยบายบางระดับของฝ่ายไทยเข้าไปสนับสนุนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โดยมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจนนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน เช่น แรงงานข้ามชาติ ป่าไม้ เป็นต้น

“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโรฮิงยา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในพม่า อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ หรือกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ ที่สงขลาที่มีความขัดแย้งระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์ โดยสหรัฐและจีน ปัญหาดังกล่าวมีหลายปัจจัยเข้ามาแทรกซ้อน

“การทำงานทาง สมช. ต้องเข้าไปประสานงาน จะใช้แนวทางเดิม คือ ลักลอบเข้ามาแล้วผลักดันกลับไปเพียงอย่างเดียวอย่างที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการอยู่ไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงชุมชนในพื้นที่และความปลอดภัย

“จึงต้องมีการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบอย่างมาก ทั้งหมดนี้คืองานที่เป็นผลประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและนายกรัฐมนตรีเองด้วย เพราะต้องแสดงท่าทีต่อประชาคมโลก”

ถวิล ประกาศว่างานแรกในตำแหน่ง สมช. ที่สำคัญคือจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองเลขาธิการ สมช. เพื่อนสนิท พล.ท.ภราดร ที่ดึงข้ามห้วยเข้ามา เนื่องจากมีการนำพาองค์กรไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง “นั่นคือพยายามให้ สมช. เป็นตัวตั้งตัวตีเป็นตัวแทนจัดซื้ออาวุธที่จะนำไปใช้งานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลค่าโครงการนับหมื่นล้านบาท ถือเป็นการกระทำผิดหลักการ สมช.ชัดเจน

"เพราะ สมช. เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่เน้นแนวทางสันติวิธี สมช. ไม่ใช่หน่วยงานฝ่ายปฏิบัติการ ก่อนหน้านี้กรรมาธิการการต่างประเทศเคยเรียกไปสอบ แต่หยุดไป ผมเข้ามาจะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาสอบอีกรอบ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดและเหลวไหลสิ้นดี มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้...คนทำมีเจตนา...เพราะ สมช.ไม่มีหน้าที่ไปออกสเปกจัดซื้ออาวุธ”ถวิล กล่าว

นอกจากนี้ ถวิล ระบุอีกว่า หลังได้ตำแหน่งคืนจะไปสะสางโครงสร้างการทำงานหลังถูก พล.ท.ภราดร นำองค์กรไปผูกโยงกับการเมืองมากเกินไป และในช่วงที่ พล.ท.ภราดร มาอยู่ ไม่เคยประชุมฝ่ายความมั่นคงด้านอื่นเลย ยกเว้นทำงานตามที่ฝ่ายการเมืองมอบหมาย

“ทำให้เกิดความบกพร่องเสียหายและงานด้านความมั่นคงหลายเรื่องถูกละทิ้ง โดยเฉพาะงานข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ ที่ไปมุ่งเน้นข่าวกรองด้านยุทธวิธีที่เป็นงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ มุ่งใช้ข่าวกรองสนองประโยชน์ทางการเมือง

“เช่น เส้นทางท่อน้ำเลี้ยง ใครอยู่เบื้องหลังหนุนม็อบ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ สมช.ที่ต้องนำไปใช้และไม่เป็นประโยชน์ในทางนโยบายด้วย ผมทราบว่า พล.ท.ภราดร เสนอข้อมูลข่าวกรองไม่ตรงไปตรงมา มักจะไม่ป้อนข้อมูลที่รัฐบาลไม่สบายใจเสียมากกว่า เช่น รัฐบาลถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และยุบสภาผู้ชุมนุมกลับบ้านแน่ แต่ที่ไหนได้ กปปส.ยกระดับขับไล่รัฐบาล เพราะไม่เป็นมืออาชีพการประเมินต่างๆ จึงผิดพลาด ยิ่งผู้นำมีจุดอ่อนเรื่องการตัดสินใจ ยิ่งพากันไปตายเหมาเข่งเหมาลำ

“ในแง่ส่วนตัวผมพยายามไม่เอะอะวุ่นวายกับคุณยิ่งลักษณ์อีก จะไม่ฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร้องถอดถอน หรือตั้งทนายความดำเนินคดีความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 หรือสามารถยื่นฟ้องแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากนายกฯ ได้ แต่ไม่คิดจะทำ เพราะเหลืออายุราชการอยู่แค่ 6 เดือน จึงตั้งใจกลับไปทำงานมากกว่า”

สำหรับอนาคตหลังจากนี้แม้จะเนื้อหอมจนมีหลายพรรคการเมืองชวนไปสมัคร สส. แต่เจ้าตัวบอกว่าขอทำหน้าที่เลขาธิการ สมช.ให้จบก่อน หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจ “แต่ที่แน่ๆ ผมไม่คิดไปทำงานเพื่อหวังรวย ผมไม่ยึดติดเรื่องตัวเงิน เพราะเงินบำนาญที่ได้รับไว้ใช้ในยามแก่เพียงพออยู่แล้ว แต่จะขอทำงานด้านการกุศลมากกว่า

“ผมอยากกลับไปให้ความรู้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในชนบทบ้านเกิด เพราะตัวเองเกิดและเติบโตจากเด็กบ้านนอกจึงเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ดี ทราบดีถึงความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัด ที่มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งผมจะกลับไปพัฒนาสนับสนุนโรงเรียนเก่าๆ ที่เคยร่ำเรียนมาให้รุ่นน้องๆ ได้รับในสิ่งที่ดี”

นี่คือปณิธานชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ภายหลังลุกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. คนที่ 15 หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ เข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถวิล เปลี่ยนศรี มือบอมบ์ เหมาลำ ไล่ตระกูลชิน

view