จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (23เม.ย.) ซึ่งที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง
โหวตให้ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ...ต้องบอกว่า ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ตลาดเองก็คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า กนง. น่าจะยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ก่อน
สาเหตุที่ตลาดเงิน ประเมินว่า เสียงส่วนใหญ่ของ กนง. น่าจะโหวตมาทาง “คง” ดอกเบี้ยเป็นหลัก เพราะถ้าดูการประชุมรอบก่อนหน้า(12 มี.ค.57) ซึ่งครั้งนั้น กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ “ลด” ดอกเบี้ยลง 0.25% จะเห็นว่าการประชุมในครั้งนั้น เสียงของ กนง. ใกล้เคียงกันมาก โดยมีกรรมการ 4 เสียงให้ลด แต่อีก 3 เสียงให้คง
มาการประชุมรอบนี้ ตลาดจึงคาดการณ์ว่า กรรมการทั้ง 3 เสียงที่เคยให้ “คง” ดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ก็น่าจะยืนความเห็นเดิมเอาไว้อยู่ ที่เหลือจึงขึ้นกับว่า กรรมการอีก 4 ท่าน ที่เคยโหวตให้ “ลด” ดอกเบี้ยลง มีมุมมองต่อดอกเบี้ยที่ลดไปแล้วอย่างไร เพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือยัง ถ้ามีเสียงใดเสียงหนึ่งมองว่า “พอ” มติก็จะพลิกกลับทันที... ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ โดยกรรมการที่เคยโหวตให้ลดในครั้งก่อนมี 3 เสียงที่มองว่า เพียงพอแล้ว จึงทำให้มติในการประชุมครั้งนี้ ออกมา 6 ต่อ 1 เสียง
อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ ยังมี 1 เสียงที่มองว่า ควรตัดสินใจ “ลด” ต่ออีก 0.25% เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ... ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ในการประชุมครั้งหน้า (18มิ.ย.57) กรรมการที่เหลืออีก 6 เสียงจะมีความเห็นอย่างไร
เรื่องนี้สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มองว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” มีโอกาสที่จะ “ลด” ได้อีก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และยังช่วยลดภาระทางการเงินของภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาวะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่
แต่สำหรับความเห็นของ “แบงก์ชาติ” แล้ว ชัดเจนว่า การลดดอกเบี้ยในเวลานี้ ทำได้แค่เพียงช่วย “ปลอบประโลม” คนในประเทศไม่ให้รู้สึก “หดหู่” กับภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไปมากกว่านี้เท่านั้น ซึ่งคงไม่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากนัก เพราะปัญหาในขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากภาวะการเงิน แต่เกิดจากปัจจัยการเมือง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ “คำตอบ” สุดท้ายที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้
ผมยังจำคำชี้แจงของ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ตอบคำถามในที่ประชุม กรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ซึ่งมี “คุณคำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว.สรรหา เป็นประธานเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาได้ชัดเจน
วันนั้นในที่ประชุม มีคำถามถึง ดร.ประสาร ว่า ในภาวะที่นโยบายการคลังมีข้อจำกัด แล้วนโยบายการเงิน จะสามารถเข้าไปทดแทนได้หรือไม่ ซึ่ง ดร.ประสาร ตอบชัดเจนว่า ทำได้บ้าง แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะประสิทธิผลของเครื่องมือไม่เหมือนกัน
ดร.ประสาร บอกว่า นโยบายการเงินทำหน้าที่ได้แค่ “ประคอง” เศรษฐกิจ ซึ่งการลดดอกเบี้ยในห้วงเวลาแบบนี้ หากจะเปรียบก็เหมือนกับ การดำเนินนโยบายในระดับ “ยุทธวิธี” ไม่ใช่ระดับ “ยุทธศาสตร์” คือ ลดได้บ้างเพื่อหวังผลทางความรู้สึก ไม่ให้ผู้คนรู้สึกว่าอะไรๆ ก็มืดมนไปหมด แต่ในเชิงของยุทธศาสตร์แล้ว ถ้าจะให้เศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมาได้ ทาง “การเมือง” ก็ควรต้องไปคุยกันให้รู้เรื่อง!
ดังนั้นโดยสรุป “นโยบายการเงิน” จึงไม่ใช่ “เครื่องมือ” ที่สามารถใช้ปลดล็อกปัญหาเศรษฐกิจได้ในขณะนี้ เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่ภาคการเมือง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน