จาก โพสต์ทูเดย์
ประธานสถาบันคีนันหวั่นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่ง 85%แนะจัดทำวาระแห่งชาติน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า มี 3 กลุ่มที่น่าเป็นห่วงเรื่องการก่อหนี้สูง คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่ยังหารายได้ไม่ได้ แต่กลับมีการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย เป็นกลุ่มที่มีหนี้สูงอย่างน่าตกใจ กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น รับจ้าง ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอจะกระทบกับรายได้จนชักหน้าไม่ถึงหลัง และกลุ่มสุดท้าย คือ เกษตรกร ที่มีรายได้ต่ำและต้องพึ่งพาฤดูกาลธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดย 3 กลุ่มนี้ขาดความถนัดด้านบริหารเงิน และมีความเสี่ยงที่จะหันไปพึ่งพาเงินนอกระบบ
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ของคนไทยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากนโยบายกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ และวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยที่ยังฟุ่มเฟือย ไม่เก็บออมก่อนใช้จ่าย สะท้อนถึงความรู้การบริหารเงินที่อ่อนด้อย จนทำให้จำนวนคนออมเงินน้อยลง และอาจส่งผลต่อความไม่พร้อมในการเกษียณอายุ ไม่มีรายได้เพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ ทั้งที่ต้องเตรียมไว้เพราะสวัสดิการผู้สูงอายุของประเทศไม่ดีพอทัดเทียมกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ ต้องการเสนอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลจัดทำเป็นวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการให้ความรู้ประชาชนในด้านการบริหารเงิน เนื่องจากพบว่า มีคนไทยที่ไม่ตระหนักด้านการเงินไม่น้อยกว่า 16 ล้านคนหรือคิดเป็น 26% ของจำนวนประชากร สะท้อนมายังภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงถึง 82.3% ของจีดีพี สูงที่สุดในเอเชีย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ การให้ความรู้ด้านการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะแก่ประชากรที่อยู่ในระดับฐานรากที่เข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้น้อย
"หนี้ครัวเรือนค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ระดับ 70% แต่ของไทยสูงกว่า 82% อยู่ในโซนสีแดงที่อันตรายมากต้องแก้ปัญหาด่วน ทุกวันนี้ธุรกิจการเงินมักจะให้ความสำคัญเรื่องความมั่งคั่งซึ่งเหมาะกับกลุ่มที่มีรายได้กลางถึงสูง ซึ่งควรจะต้องดูแลกลุ่มฐานรากมากขึ้นด้วยเพราะถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ" นายปิยะบุตร กล่าว
ด้านนายรัชชพล เหล่าวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท มิราเคิล ครีเอชั่น ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนกว่า 82% ของจีดีพี คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 9.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังมีปัญหาทางการเมือง ไม่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว การชำระหนี้ของประชาชนก็จะมีปัญหาไปด้วย โดยเห็นสัญญาณจากลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ที่ชำระล่าช้า 30-90 วัน มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ และเสี่ยงจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หากเศรษฐกิจโตต่ำ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะปรับขึ้นไปถึง 85% ในปีนี้
"ความจริงรัฐบาลควรเป็นพระเอกในการจัดทำวาระแห่งชาติเรื่องความรู้การเงินเพื่อลดหนี้ครัวเรือน แต่ด้วยความเป็นนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราจึงเห็นนักการเมืองมักชูนโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งเป็นตัวการให้ตัวเลขก่อหนี้สูงขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากนี้ อยากจะให้ช่วยดำเนินการพัฒนาทักษะการเงินแก่ประชาชนอย่างจริงจังด้วย" นายรัชชพล กล่าว
ทั้งนี้ ทางออกของปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ควรน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ และควรฝังดีเอ็นเอวิธีคิดนี้ให้แก่คนรุ่นใหม่ด้วย เพราะทัศนคติและอุปนิสัย มีผลถึง 80% ที่ทำให้คนไทยใช้เงินไม่เหมาะสม โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาหากอยู่ในสังคมบริโภคนิยมตั้งแต่ยังเรียน แม้จะออกมาทำงานแล้วก็จะเจอกับดักหนี้สินไม่จบสิ้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาและเป็นแนวทางที่ยอมรับของสังคมไทยมากที่สุด
นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานทางการเงิน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือกระทรวงการคลัง ต่างมีโครงการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน แต่ผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งมองว่าข้อจำกัดคือการสื่อสารหรือการใช้ศัพย์ที่เข้าใจยาก จึงอยากแนะนำให้หาสโลแกนง่ายๆ สั้นๆ ที่เข้าถึงประชาชนระดับฐานรากให้รู้ชัดเจนว่า อย่าใช้เงินเกินตัว
ด้านนายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ยอมรับว่า ในช่วงไตรมาสแรกมีลูกค้าเริ่มชำระหนี้ล่าช้าเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าภาพรวมทั้งระบบ แต่ก็ทำให้ธนาคารได้เห็นสัญญาณว่าลูกค้าเริ่มได้มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ภาระหนี้สินสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากขาดทักษะความรู้ทางการเงิน ซึ่งมูลนิธิซิตี้ได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซียทำโครงการวิจัย คนไทยก้าวไทย ใส่ใจการเงิน เพื่อหาทางออกปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยจะใช้เวลา 3 ปีในการรวบรวมข้อมูล และจะนำผลสรุปที่ได้เสนอให้รัฐบาลจัดทำเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน