สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อำนาจหน้าที่ศาลรธน.ในการวินิจฉัยสถานภาพนายกฯ-รมต-รักษาการ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เขียน ธีระวิทย์

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของสว. (สมาชิกวุฒิสภา) 28 คน ที่ยื่นเรื่องผ่านประธานวุฒิสภาขอให้วินิจฉัยสถานภาพของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ ม. 268 โดยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (20 ก.พ. 57) ซึ่งตัดสินให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นฝ่ายแพ้คดีตามความแจ้งแล้วนั้น ฝ่ายรัฐบาล ศอ.รส. และผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้ประสานเสียงกับกลุ่มชนคนเสื้อแดงของระบอบทักษิณออกมาวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ตอบโต้กันอย่างอื้อฉาวกับฝ่ายตรงข้าม ประเด็นสำคัญๆ ที่ข้าพเจ้าจะขอนำมาวิเคราะห์ในที่นี้มี 7 ข้อดังนี้

1.ประเด็นคำร้องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่?

เรื่องการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั้น ศาลปกครองได้ตัดสินคดีไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ได้ระบุความผิดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ทำ สั่งให้เพิกถอนคำสั่งย้ายนายถวิล และคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้แก่นายถวิลย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งย้ายในเดือนกันยายน 2554 ซึ่งมีผลทำให้นายถวิลได้กลับไปรับตำแหน่งเดิมตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2557 แต่ความผิดที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำยังมิได้รับโทษแต่ประการใดเลย

ถ้านายถวิลต้องการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับโทษทางอาญา (ซึ่งก็ยังไม่สายเกินไป) ก็ต้องไปทำข้อกล่าวหายื่นต่อป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีฟ้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้เป็นความผิดชัดเจนแล้ว (ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด) เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์และ/หรือคณะอาจต้องรับโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนที่สว.กลุ่ม 28 ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 นั้น ผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 182 (7) หรือไม่ เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ได้บริหารราชการโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ ม. 268 และ ม. 266 คือ ทำการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง คือ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การทำผิดรัฐธรรมนูญเช่นนั้น ต้องรับโทษทางการเมืองอย่างไร มีใครบ้างที่จะต้องรับโทษ ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวเกี่ยวกับสถานภาพของรัฐมนตรีรักษาการ ผู้ใช้อำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของศาลรัฐธรรมนูญ

2.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการรับคำร้องหรือไม่?

เมื่อผู้ร้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง ก็ต้องรับและพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง แต่จะตัดสินอย่างไรนั้นเป็นคนละประเด็น

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลแย้งว่า นางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีได้พ้นจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา (9 ธ.ค. 56) ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรรับคำร้อง “คนตายแล้วตายอีกไม่ได้” ข้ออ้างนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรียังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ ยังคงควบคุมกลไกอำนาจรัฐ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาดว่า คนที่ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญแล้ว (ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด) ยังมีอำนาจคุมกลไกอำนาจรัฐ ปกครองประเทศในฐานะรักษาการต่อไปได้หรือไม่ นี่เป็นการพิจารณาโทษทางการเมืองสำหรับผู้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

3.เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว รัฐมนตรีรักษาการจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่ไม่ว่ากรณีใดๆ หรือไม่?

มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่นั้นใช้กับกรณีการเปลี่ยนรัฐบาลตามปรกติ แต่ถ้ามีกรณีพิเศษ ตามมาตรา 182 ความเป็น

รัฐมนตรีย่อมต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีตัวจริง หรือรัฐมนตรีรักษาการก็ตาม และการสิ้นสุดของรัฐมนตรีตามมาตรานี้จะไม่มีสิทธิที่จะอยู่ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 ได้

ส่วนวันสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรักษาการย่อมเป็นไปตามเงื่อนไของแต่ละกรณี เช่นตายตามมาตรา 182 (1) ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อวันตาย ลาออกตามมาตรา 182 (2) ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อวันลาออกเป็นต้น

การกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 182 (7) 267, 268 หรือ 269 ซึ่งเป็นประเด็นตรงตามกรณีนี้ คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อำนาจหน้าที่ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 268 และ 266 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ และ/หรือคณะรัฐมนตรีคนอื่นย่อมต้องสิ้นสุดลงเมื่อมีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี หรือเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ตามแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลยพินิจ

4.ประเด็นการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี จะมีผลเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีหรือทั้งคณะรัฐมนตรี?

ข้อนี้เป็นประเด็นที่ผู้ร้องได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ก็อาจจะระบุด้วยว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (1) ด้วย ถ้าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีหลักฐานชัดเจนว่าการสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีทำโดยมติคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสมัยนั้น (กันยายน 2554) ก็อาจจะตัดสินตามข้อเท็จจริงให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมในสมัยนั้นที่ไม่ท้วงติงคัดค้านพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด

กรณีนี้ จึงต่างกับกรณีของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี (เมื่อ 9 ก.ย. 51) เพราะไปรับเงินหรือประโยชน์จากสถานีโทรทัศน์รายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ม. 267 และ 182 นั่นเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีทำผิดรัฐธรรมนูญเฉพาะตัว

5.ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สถานภาพของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทั้งคณะ ผู้หมดอำนาจจะมีอำนาจแต่งตั้งผู้รักษาการแทนได้หรือไม่?

ประเด็นมีว่า คนทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญมีอำนาจชอบธรรมในการแต่งตั้งคนอื่นให้ทำหน้าที่แทนหรือไม่?

ความผิดของผู้ถูกร้องได้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 และศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 คำตัดสินนั้นให้มีผลย้อนหลังถึงการกระทำผิดได้เกิดขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ และ/หรือคณะรัฐมนตรี อาจจะสิ้นสุดลงย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 หรือวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา (20 ก.พ. 57) ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีอำนาจมอบอำนาจอันมิชอบต่อให้รองนายกรัฐมนตรี หรือแต่งตั้งรัฐมนตรีรักษาการแทนต่อไปได้ เพราะคนทำผิดรัฐธรรมนูญซ้ำซาก สิ้นสถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้แล้ว หรือขาดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการต่อไป

6.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชอบธรรมหรือไม่?

ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยคดีนี้แล้ว รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญกฎหมายฝ่ายรัฐบาลออกมาพูดและเขียนสอดคล้องต้องกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” “ฝ่าฝืนหลักนิติธรรม” ฯลฯ เหตุผลที่พวกเขาอ้างที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าจะต้องออกภายใน 1 ปี หลังประกาศใช้ (24 ส.ค.50)

ความจริงประเด็นนี่คนที่จะถูกลงโทษไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐสภาเพราะรัฐบาลที่รับใช้ระบอบทักษิณที่คุมเสียงข้างมากให้รัฐสภาเกือบตลอดเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ข้อเท็จจริงมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไปให้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2551 แต่รัฐบาลสมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ได้ดองเรื่องไว้จนถึงปัจจุบัน โดยเหตุดังกล่าว และโดยเหตุที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 204-217 ได้วางกรอบการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลไว้ค่อนข้างละเอียด (มาตรา 211-217) ศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 300 วรรคสุดท้ายออก “ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยพ.ศ. 2550” ซึ่งใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายฝ่ายรัฐบาลยังออกมาข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือด และถ้าทำคำวินิจฉัยออกมาจะไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
พวกนี้ลืมไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ทำตามอำนาจและหน้าที่ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ วินิจฉับคดีตามกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ม. 216 วรรค 5 บัญญัติไว้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ส่วนผลที่ตามมาเพราะเหตุอื่นๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับผิดชอบ

7.สรุปและความเห็น

ศาลรัฐธรรมนูญมีฐานะชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรมที่จะต้องรับคำร้องและพิจารณาวินิจฉัยคดีของ “สว.กลุ่ม 28” ที่ยื่นมาโดยประธานวุฒสภา นางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจโดยมิชอบในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีรักษาการซึ่งต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 182 (7) และมีผลทำให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตาม ม. 180 (1) ความเป็นรัฐมนตรีตัวจริงกับรัฐมนตรีรักษาการต้องรับโทษในการกระทำผิดเหมือนกัน

ปัญหามีว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรักษาการที่ว่างลง ต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งรองลงไปรักษาการแทนโดยอัตโนมัติ หรือจะปล่อยให้ตำแหน่งว่างลง ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะชี้ทางออกให้ก็ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติให้ไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คืออาจจะใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย (ม. 3) และในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีนี้ ให้วินิจฉัยกรณีนี้ไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ม. 7) ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอนุโลมให้วุฒิสภา ทำหน้าที่แทนรัฐสภาในยามวิกฤต ตามนัยของรัฐธรรมนูญ ม. 122 เลือกนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล จัดตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว ตามนัยของรัฐธรรมนูญ ม. 172, 173 ก็ได้ กรณีเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปัจจุบัน ซึ่งหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ยุบสภาไปแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อำนาจหน้าที่ศาลรธน. การวินิจฉัย สถานภาพนายกฯ รมต.รักษาการ

view