จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
หมายเหตุ : ในการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานของสว.กับตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 พ.ค. เดชอุดม ไกรฤทธิ์ สว.สรรหา และ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อภิปรายถึงแนวทางในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตราฉบับปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550มาตรา 132 เป็นบทบัญญัติเดิมที่มาจากมาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้มาตรา 168 กำหนดให้วุฒิสภาสามารถแต่งตั้งบุคคลได้เฉพาะกกต. ปปช. แต่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่เป็นว่าให้ที่ประชุมวุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ผมจึงอยากถามว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นนะครับ และวุฒิสภาหนีหน้าที่ได้ไหม ก็ไม่ได้
ดังนั้น วันนี้ที่พวกท่านมาผมก็ขอบคุณที่ให้กำลังใจเพราะพวกเราต้องตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน ถามว่าทำไมต้องตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตั้งแต่มีมาเขาจะไม่ให้เว้นการมีนายกรัฐมนตรีนาน เรื่องอื่นเอาไว้ทีหลัง เพราะฉะนั้น ขั้นตอนทางนิติศาสตร์เขาจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายไว้แล้วว่านายกรัฐมนตรีประเทศไทยนั้นจะขาดหายไปได้ไม่เกิน 30 วันสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตั้งขึ้นมา
คราวนี้มีปัญหา ตอนที่เรายกร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ว่าถ้าไม่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไร มาตรา 132 (2) เขาถึงแก้ไขว่าการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ขอถามอีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ครับว่าเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะต้องสรรหานายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนจะมีประเด็นโต้แย้งว่าจะต้องเป็นสส.หรือไม่นั้นมันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะว่าในประเพณีในการตั้งนายกรัฐมนตรีในภาวะวิกฤติเช่นนี้จะต้องทำอย่างไร สภาพของรักษาการรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีมันไม่มี ก็ต้องเป็นไปตามประเพณีของการใช้กฎหมายเทียบเคียงหรือประเพณีของไทย คือ ต้องหารือกับประธานองคมนตรีเพราะให้ท่านเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เปิดประตูให้ประชุมวุฒิสภาวิสามัญให้วุฒิสภาประชุมได้ และสภานี้จะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
พอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเสร็จก็กราบบังคมทูล ซึ่งท่านสุรชัย ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับนายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติ ทำหน้าที่แทนประธานสภานิติบัญญัติ เมื่อปี 2516 แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ถามต่อไปว่าแล้วสภาทำอย่างไร นายกรัฐมนตรีจะมีหน้าที่เสนอคณะรัฐมนตรี และเสนอพระราชกฤษฎีกาที่จะดำเนินการต่อไป อันนั้นท่านเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หมดหน้าที่ของวุฒิสภาครับ วุฒิสภาไม่มีหน้าที่ไปไกล่เกลี่ย มีที่ไหนในรัฐธรรมนูญที่ให้เราไปไกล่เกลี่ย วุฒิสภามีหน้าที่แต่งตั้ง กลั่นกรองกฎหมาย ดังนั้น ที่เราเดินสายเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากท่านทั้งหลายว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ครับว่าต้องมีนายกรัฐมนตรี ผมเชื่อว่าเพื่อนสว.ทุกคนจะทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนถ้าจะมีความเป็นแตกต่างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่ทำเรามีปัญหาว่าจะตอบประชาชนอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้
คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะหนักมากเพราะจะเข้ามาแก้ไขข้อแตกต่าง และวางแผนว่าจะปรับปรุงหรือปฎิรูปอะไรบ้างในช่วง 6หรือ12 เดือน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะไปขอออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเคยมีมาแล้วในประวัติศาสตร์ตั้งแต่พ.ศ.2476 ก็จบครับเท่านี้เอง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน