มติกฤษฎีกา68:9ชี้เลือกประธาน-รองวุฒิสภาไม่ขัดกม
จาก โพสต์ทูเดย์
คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่มีมติเสียงข้างมาก 68 เสียง เห็นชอบการเลือกตั้งประธาน-รองประธานวุฒิสภาไม่ขัดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมมีมติ68ต่อ9เสียงเห็นว่าการเลือกตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่สองไม่ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาพ.ศ.2557 ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่นั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีความคิดเห็นแต่เป็นเรื่องสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณากันต่อไป
นายดิสทัต กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง จากข้อเท็จจริงที่ได้ประกอบข้อกฎหมายแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่สองไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเร่งส่งความคิดเห็นกลับไปยังสำนักงานเลขธิการคณะรัฐมนตรีต่อไปตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าอย่างช้าสุดจะดำนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามว่า คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องปฎิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า ในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติว่าโดยหลักแล้วต้องถือตามความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่เป็นเพียง
เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาถึงสถานะทางกฎหมายของนายนิวัฒน์ธำรงในการนำรายชื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการหารือ จึงยังไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้
เมื่อถามว่า การจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายนิวัฒน์ธำรง แต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า หน้าที่ในการดำเนินการต่อไปนั้นมีกฎหมายกำหนดชัดเจนอยู่แล้ว คือ รัฐธรรมนูญ
นายดิสทัต กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นว่าการดำเนินการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่สองเป็นการปฎิบัติและภารกิจภายในของวุฒิสภา ดังนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะดำเนินการได้ และในข้อเท็จจริงยังพบว่ามีการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา
เมื่อถามว่า แสดงว่าสามารถใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 132(2) ว่าด้วยการให้อำนาจวุฒิสภาแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นายดิสทัต กล่าวว่า ไม่ขอตอบในคำถามนี้และไม่ขอออกความเห็น เพราะไม่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายดิสทัต กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเกี่ยวกัยผู้มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งนั้นทางคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด
ประชุมใหญ่กฤษฎีกาเห็นชอบวุฒิเลือกปธ.วุฒิ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
มติที่ปช.ใหญ่กฤษฎีกา 68:7 เคาะไฟเขียววุฒิสภาเลือกปธ.วุฒิสภา และรองปธ.วุฒิสภา2 ได้ ไม่ขัดพ.ร.ฎ.เรียกประชุม
นายดิสฐัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แถลงผลการประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกา ต่อประเด็นที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ รักษาการ ได้ส่งเรื่องมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการเพื่อให้หารือต่อประเด็นการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 57 ว่า เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 หรือไม่ เนื่องจาก มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญฯ ได้บัญญัติให้วุฒิสภาดำเนินการประชุม เพื่อพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่งคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง และ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยที่ประชุมได้เชิญผู้แทนหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาร่วมชี้แจง โดยในส่วนของผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ตอบข้อซักถามเยอะที่สุด ถึงข้อเท็จจริงในการดำเนินงานข้อกฎหมายและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นที่ประชุมที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 84 คนได้ลงความเห็นว่าการดำเนินการของวุฒิสภาต่อเรื่องดังกล่าวเป็นไปโดยชอบเพราะถือเป็นกิจการภายในของวุฒิสภา จำนวน 68 เสียง และเห็นว่าทำไม่ได้ จำนวน 9 เสียงและมีกรรมการที่งดออกเสียง 7 เสียง ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ทำความเห็นส่งไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) อย่างช้าภายในต้นสัปดาห์หน้า
นายดิสฐัต กล่าวต่อว่าในประเด็นของอำนาจการทูลเกล้ารายชื่อ ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 โดยนายนิวัฒน์ธำรงนั้นที่ประชุมไม่ได้มีการหารือ แต่ด้วยกระบวนการคาดว่าต้องเป็นตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามต่อเรื่องการปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกานั้น ที่ผ่านมามีมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้อยู่แล้ว
"ที่ประชุมมีการถกเถียงในแบบวิชาการ ว่า พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญที่เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร มีผลเป็นบทบังคับ หรือ จำกัดอำนาจของสวหรือไม่ และได้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 132 พิจารณาประกอบ ว่ามีปัญหาหรือไม่ " นายดิสทัต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าความเห็นของที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกาจะถือเป็นบรรทัดฐานให้วุฒิสภาดำเนินเรื่องใดๆ ในที่ประชุมได้หรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ว่าอยู่ในขอบเขตข้อเท็จจริง หรือความต่างอย่างไร และต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ส่วนกรณีที่วุฒิสภาจะมีอำนาจตั้งนายกฯ โดยอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 132(2) ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฏีกาไม่ได้พิจารณา และส่วนตัวไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้
'มีชัย-นรนิติ-วิษณุ'นำทีมถกปมเลือกปธ.วุฒิ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ประชุมกฤษฎีกาชุดใหญ่เริ่มแล้ว "มีชัย-นรนิติ-วิษณุ"นำทีม ถกปมเลือกประธานวุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ โดยมีนายปลั่ง มีจุล ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาประเด็นข้อกฎหมาย กรณีที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นประเด็นข้อกฎหมาย ว่าการประชุมวุฒิสภาเพื่อเอลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 หรือไม่
ทั้งนี้มีรายงานว่านางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เดินทางเข้าชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการประชุมวุฒิสภาด้วย
สำหรับการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 12 คณะ จำนวน 108 คน ซึ่งมีตัวแทนแต่ละคณะตอบรับเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประมาณ 80 คน โดยตัวแทนแต่ละคณะที่เดินทางเข้าร่วมประชุม อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมกฤษฎีกา คณะที่ 1 นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 นายสรรเสริญ ไกรจิตติ ประธานคณะกฤษฎีกาคณะที่ 7 นายสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกา เป็นต้น โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรับฟัง โดยหลังการประชุมจะมีการแถลงผลกาประชุมให้ทราบในเวลาประมาณ 16.00 น.
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน