สิทธิบัตรไทย
โดย : ปรีดา ยังสุขสถาพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การไม่ยื่นขอรับความคุ้มครองผลงานนวัตกรรมของตัวเองนั้น มีค่าเสียโอกาสซ่อนอยู่คือ อาจถูกคู่แข่งคว้าไปจดเสียเอง
ในโลกใบนี้ วิธีการที่ผู้คนใช้ในการปกป้องไอเดียและนวัตกรรมของตนเอง จากการลอกเลียนแบบโดยคนอื่นคือ “การจดสิทธิบัตร” ระบบทรัพย์สินทางปัญญามีมานานกว่า 200 ปีแล้วครับ อาจกล่าวได้ว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้วยสิทธิบัตรนั้น มีมานานพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมเลยทีเดียว พอเริ่มมีการพัฒนาก็เรียกหาความคุ้มครอง ภาครัฐก็เลยออกข้อกำหนดเรื่อง การให้สิทธิผูกขาดในการผลิตและจำหน่าย ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ความคิดนวัตกรรมนั้น จะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ เมื่อหมดระยะเวลาของการคุ้มครองตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้คนอื่นสามารถนำไปผลิตและต่อยอดได้โดยถูกต้อง
ระบบนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการมอบอำนาจสัมปทานการทำนวัตกรรมจากความคิดของตัวเองเพียงผู้เดียวเท่านั้น ตลอดอายุสัมปทานเฉลี่ยประมาณ 20 ปีพอกันแทบทุกประเทศ
ถามว่า ทำไมต้องให้สิทธิผูกขาดแล้วมีอายุจำกัด?
ความคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรนั้นมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการแพร่กระจายนวัตกรรม สนับสนุนการต่อยอด และส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศ
ถ้าหากว่าให้สิทธิผูกขาดโดยไม่มีอายุกำหนด สิ่งที่จะเกิดคือ สินค้านวัตกรรมนั้นจะมีราคาสูงอย่างไม่มีขีดจำกัด ตราบเท่าที่ยังไม่มีคนอื่นคิดของใหม่ขึ้นมาทดแทนแข่งขันได้
ดังนั้น เมื่อถึงเวลา สิทธิผูกขาดก็จะหายไป แล้วนวัตกรรมนั้นก็จะมีราคาถูกลงอย่างมาก เนื่องจากสิทธิบัตรหมดอายุแล้ว คนอื่นสามารถผลิตและจำหน่ายได้โดยถูกกฎหมาย ส่งเสริมการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้าง จากการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าว
ระบบสิทธิบัตรของประเทศไทยนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ฉบับแรกถูกตราขึ้นในปี พ.ศ. 2522 นับจนถึงปัจจุบันก็ยังมีอายุไม่ครบ 40 ปี
ทว่า เราก็ถือใช้กฎเกณฑ์การคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกันกับสากล โดยมีระยะเวลาปกป้อง 20 ปี นับจากวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนความคุ้มครอง
ปัญหาของระบบสิทธิบัตรคือ มันค่อนข้างในระยะเวลายาวนานกว่าที่จะออกสิทธิบัตร หรือภาษาทางการคือ สิทธิบัตรได้รับการอนุมัติ สภาพระหว่างก่อนได้รับการอนุมัติจึงมีเพียงคำขอเท่านั้นเอง ต่อเมื่ออนุมัติแล้ว ความคุ้มครองจึงเกิดผล และสามารถย้อนหลังกลับไปถึงวันยื่นได้
คราวนี้มันก็กลายเป็นปัญหาในแง่เทคนิค เพราะจากประสบการณ์ ใช้เวลาเฉลี่ย 4-5 ปี ตั้งแต่ยื่นคำขอจนสิทธิบัตรอนุมัติ ช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงกลายเป็นสุญญากาศที่ต้องคอยลุ้นว่า จะได้หรือไม่ได้ ต้องคอยแก้ไขคำขอให้ถูกต้องตามคำสั่งผู้ตรวจสอบ และต้องวุ่นวายกับการลงมือผลิตสินค้าตามนวัตกรรมของเราอีกต่างหาก
สมมติว่า คำขอที่เรายื่นไป ท้ายที่สุดไม่ได้รับการอนุมัติ ไม่ได้สิทธิบัตร ผลก็คือ ไม่ได้รับการคุ้มครอง เสียเวลาในการติดต่อประสานงานเสียหลายปี
ยังมีบางครั้งเราอาจยื่นคำขอไปแล้ว ปรากฏว่า มีคนเลียนแบบสินค้าของเรา เราก็ยังไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ในตอนนั้นทันที เพราะความคุ้มครองยังไม่เกิด จนกว่าสิทธิบัตรได้รับการอนุมัตินั้นแหละ ถึงจะสามารถเรียกร้องความเสียหายได้เต็มที่ แต่ผู้ที่ลอกเลียนเราอาจปิดบริษัทหนีไปไหนต่อไหนแล้วก็ได้ แทนที่เราจะสามารถโฟกัสกับการผลิตนวัตกรรมของเรา กลับต้องมาไล่ตามคู่ความให้เป็นคดี เสียทั้งเงินทั้งเวลา
นอกจากนี้ ยังมีบางทีเราคิดค้นนวัตกรรมได้ในปีนี้จริง แต่พออีกสองปีข้างหน้า เทคโนโลยีมันเปลี่ยน ทำให้เราต้องพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาอีกต่อเนื่อง หรือไม่ก็คู่แข่งของเราสามารถผลิตนวัตกรรมออกมาก่อนหน้าเราได้ก่อนภายในช่วงระยะเวลาไม่นาน เท่ากับว่า การยื่นคำขอสิทธิบัตรเมื่อสองปีที่แล้ว แทบจะเป็นโมฆะไป เพราะเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่าได้ออกมาแทนที่ ต่อให้เราได้สิทธิบัตรจริงอีกสองปีข้างหน้า ก็ไม่มีประโยชน์เสียแล้ว
ด้วยเหตุหลายอย่างที่กล่าวมานี้ ทำให้เจ้าของนวัตกรรมหลายต่อหลายราย ไม่ค่อยนิยมจดสิทธิบัตรกันนัก ด้วยสาเหตุใหญ่ที่สุดคือ กลัวเสียเวลา ส่วนใหญ่นั้นค่อนข้างเข้าใจดีถึงความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพียงแต่พวกเขาอาจรู้สึกว่า ไม่คุ้มที่จะเอาเวลาทำมาหากิน หรือเอาเงินไปจ้างมืออาชีพให้มาช่วย ซึ่งในวงการสิทธิบัตรนั้น มืออาชีพที่จะช่วยยื่นได้มีราคาค่าตัวที่นับว่าแพงเอาการ ต่อให้สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ก็ตาม
ถ้าอย่างนั้น เรายื่นจดสิทธิบัตรกันทำไม หรือว่า ประเทศไทยเรานั้น กระบวนการราชการมันช้าเสียจนทำให้เราต้องใช้เวลานานมาก
ความจริงแล้ว ระยะเวลาก่อนสิทธิบัตรอนุมัติของไทย ไม่ได้ยาวนานกว่าชาวบ้านชาวช่อง สิ่งที่เป็นปัญหาของไทยคือ เรามีเจ้าหน้าที่น้อยมาก ในสหรัฐหรือญี่ปุ่นนั้น มีเจ้าพนักงานทำหน้าที่ตรวจสอบในหลักหลายหมื่นคน ส่วนบ้านเรามีเพียงหลักสิบเท่านั้น งานทั้งหลายจึงค่อนข้างหนักสำหรับหน่วยงานตรวจสอบมาก
ส่วนการที่คิดว่า เสียทั้งเงินทั้งเวลา ดังนั้น อย่าไปยื่นเลย ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะการไม่ยื่นขอรับความคุ้มครองผลงานนวัตกรรมของตัวเองนั้น มีค่าเสียโอกาสซ่อนอยู่คือ อาจถูกคู่แข่งคว้าไปจดเสียเอง ทำให้เรากลายเป็นคนลอกเลียนแบบ ทั้งที่เราอาจเป็นเจ้าแรกที่คิดได้ด้วยซ้ำ
บางครั้งอาจทำมาค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับคู่ค้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาค่อนข้างจะเคร่งครัดกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามา และอาจถามว่า สินค้านวัตกรรมนี้มีการจดทะเบียนคุ้มครองหรือยัง เพราะเขากลัวว่า เราอาจไปละเมิดคนอื่นมาหรือว่า พอขายของแล้วถูกคนอื่นเอาไปเลียนแบบ การป้องกันล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เมื่อคู่ค้าเรียกร้องมาแล้วเราไม่มีหรือไม่ยอมทำให้ อาจส่งผลให้การค้านั้นล้มเหลวก็เป็นไปได้
ในแง่ของกลยุทธ์แล้ว ผมจึงมักจะเสนอและแนะนำท่านผู้ประกอบการว่า ควรยื่นจดถ้าหากว่านวัตกรรมของท่านยังไม่น่าจะปรับปรุงโดยเร็ววัน ประมาณภายในหนึ่งปี จะมีความเหมาะสมที่จะยื่นคำขอสิทธิบัตร ยอมเสียเวลาสักนิด ย่อมมีประโยชน์กว่าทำเพิกเฉย
สุดท้ายแล้ว การมีสิทธิบัตร ต่อให้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม แต่บริษัทก็จะมีประวัติของการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของการสร้างชื่อเสียงแล้ว นี่เป็นสิ่งที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าการโฆษณาลอยๆ สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ดี
ลองพิจารณาดูครับ สิทธิบัตรไทย หากท่านสนใจลองสอบถามข้อมูลได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน